‘เจ้าอุบลวรรณา’ Working Woman แห่งล้านนา เมื่อคิดจะรัก ต้องกล้าหักด่านฐานันดร

เพ็ญสุภา สุขคตะ

หมายเหตุ : บทความนี้เผยแพร่ครั้งแรกในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ.2555

เมื่อเอ่ยถึงชื่อของ “เจ้า(หญิง)อุบลวรรณา” (เอกสารบางเล่มเขียนแบบบาลีว่า “อุบลวัณณา”) เชื่อว่าคนทั่วไปมักไม่ค่อยคุ้นหู ผิดกับชื่อของ “เจ้าดารารัศมี” เนื่องจากองค์หลังนี้ได้เข้ามามีบทบาทเชื่อมสายสัมพันธ์ระหว่างล้านนากับสยามสมัยรัชกาลที่ 5 ในฐานะ “พระราชชายา” จากเมืองเหนือ

แต่สำหรับนักประวัติศาสตร์ท้องถิ่นล้านนาแล้ว ทันทีที่ได้ยินชื่อเจ้าอุบลวรรณา ก็มักปิดตาเห็นภาพของนักธุรกิจหญิงเหล็กผู้ถนัดการเจรจาหว่านล้อม

ซึ่งขัดแย้งกับภาพจอมนางเจ้าเสน่ห์ผู้ถวิลหาความรักโรแมนติก อย่างสุดขั้ว

 

อุบลวรรณา “เจ้าน้า” ของดารารัศมี

ทั้งพระราชชายา เจ้าดารารัศมี และเจ้าอุบลวรรณา ต่างก็มีชีวิตร่วมสมัยกัน แถมยังเป็นญาติสนิทชิดเชื้อกันอีกด้วย กล่าวคือเจ้าอุบลวรรณามีศักดิ์เป็นน้าแท้ๆ ของเจ้าดารารัศมี เนื่องจากเป็นน้องสาวของเจ้าแม่ทิพเกสร พระมารดาของเจ้าดารารัศมี

ไม่มีบันทึกหลักฐานถึงวันเดือนปีเกิดและวันพิราลัยที่แน่ชัด แต่สันนิษฐานว่าน่าจะเกิดปี พ.ศ.2388 อันเป็นการคำนวนจากหลักฐานภาพถ่าย และคาดเดาเอาว่าน่าจะเกิดหลังพี่สาวสัก 3-4 ปี เนื่องจากเจ้าทิพเกสรประสูติปี 2384

ส่วนการเสียชีวิตนั้นยังเป็นปมปริศนา จากเจ้าหญิงผู้เฉิดฉายในวงสังคมเชียงใหม่ อยู่ๆ เรื่องราวข่าวคราวก็เงียบหายไปดื้อๆ

แถม ดร.ชี้ก (Dr.Cheek) หมอสอนศาสนาชาวอเมริกัน หนึ่งในเพื่อนที่สนิทสนมกับเจ้าหญิงยังเปิดเผยว่า เจ้าอุบลวรรณาถูกปลิดชีพด้วยยาพิษ แต่ไม่ระบุว่าเป็นการฆ่าตัวตายหรือใครลอบทำร้าย

เจ้าอุบลวรรณาถือเป็นราชธิดาองค์รองของพระเจ้ากาวิโลรสสุริยวงษ์ เจ้าหลวงเชียงใหม่องค์ที่ 6 (2399-2413) แต่ชาวล้านนานิยมเรียกว่า “เจ้าชีวิตอ้าว” ทั้งนี้ เพราะหากหลุดคำว่า “อ้าว!” ออกมากับใครเมื่อไร หมายความว่าอ้ายอีผู้นั้น “งานเข้า” ถึงขั้นหัวขาด!

ส่วนพระมารดาของเจ้าอุบลวรรณาคือ “แม่เจ้าอุสาห์” หรือ “อุษาเทวี”

ต่อมาเจ้าทิพเกสรพี่สาวได้เป็นชายาของพระเจ้าอินทวิชยานนท์ เจ้าหลวงเชียงใหม่ องค์ที่ 7 ทำให้เจ้าอุบลวรรณามีศักดิ์เป็น “เจ้าน้า” ของ “หญิงอึ่ง” หรือเจ้าดารารัศมี และเมื่อเจ้าพี่ทิพเกสรจากโลกนี้ไปในปี พ.ศ.2427 เจ้าอุบลวรรณาได้รับหลานสาวคือเจ้าดารารัศมีมาอุปการะ

เส้นทางชีวิตรักของน้า-หลานร้าวรันทดไม่ต่างกัน ฝ่ายหลานถูกส่งไปถวายตัวกับพระพุทธเจ้าหลวง รัชกาลที่ 5 ท่ามกลางมเหสีหม่อมห้ามนางในนับร้อย ส่วนฝ่ายน้าก็ตกพุ่มหม้ายตั้งแต่ยังสาว แสวงหารักอีกกี่ครั้งก็จบไม่เคยลง

 

หญิงมั่น Working Woman แห่งล้านนา

มีพระบิดาเป็นเจ้าหลวงเชียงใหม่องค์ที่ 6 มีพี่เขยเป็นเจ้าหลวงเชียงใหม่องค์ที่ 7 ในวัยเด็กเคยติดตามเจ้าพ่อไปเข้าเฝ้าพระเจ้าแผ่นดินกรุงสยามหลายครั้ง เติบโตและใช้ชีวิตอยู่ท่ามกลางชนชั้นปกครองสูงสุดของเมืองเชียงใหม่ซะขนาดนั้น จะไม่ให้กลายเป็น “หญิงมั่น” อย่างไรไหว

เจ้าอุบลวรรณาเป็นสตรีที่มีบุคลิกงามสง่า พูดภาษาอังกฤษคล่องปรื๋อ ขยับทำอะไรแม้เพียงนิดเดียวก็มักเป็นข่าวเกรียวกราว ไม่ว่าจะเปิดโรงงานทอผ้า ด้วยการออกแบบลวดลายผ้าทอที่ประดิษฐ์ขึ้นมาใหม่เอง

หรือความที่ชอบคลุกคลีสนิทสนมกับเหล่ามิชชันนารี ใจป้ำถึงขนาดเคยให้อาคันตุกะต่างถิ่นยืมช้างทรงพร้อมควาญและอุปกรณ์ล่าสัตว์ไปใช้ท่องเที่ยวศึกษาวิถีชีวิตชุมชนจนบางรายขอยืมเป็นเดือน ไปไกลถึงเขตพม่า เชียงตุง ก็ไม่เคยหวงของ

เล่นเอาพระประยูรญาติต่างใจหายใจคว่ำ เกรงว่าเจ้าอุบลวรรณาอาจจะยอม “รับเชื่อ” เป็นคริสเตียนเข้าสักวันหนึ่ง

นอกจากจะน้ำใจกว้างขวาง ไม่ประหวั่นพรั่นพรึง กล้าจำนรรจากับฝรั่งมั่งค่าแล้ว จากบันทึกในหนังสือเรื่อง “เดินทางหนึ่งพันไมล์บนหลังช้างในรัฐฉาน” (A Thousand Miles on an Elephant in the Shan States) เผยแพร่ปี พ.ศ.2433 เขียนโดยนายวาณิชชาวอเมริกันชื่อ “ฮอลต์ แฮลเล็ต” (Holt Hallett) ได้กล่าวถึงเจ้าอุบลวรรณาว่า

“เป็นเจ้าหญิงที่ฉลาดเฉลียว เจ้าเสน่ห์ พูดเก่ง ความจำดี ชอบเล่าเรื่องประวัติศาสตร์โบราณให้ชาวต่างชาติฟังอย่างสนุกสนาน สามารถจดจำเกร็ดเล็กเกร็ดน้อย เช่น เรื่องพระนางจามเทวีมาถ่ายทอดอย่างออกรสชาติ”

หากเรียกเป็นภาษาสมัยก่อนก็หนีไม่พ้นตำแหน่ง “ดาวสังคม” แต่ภาษาสมัยนี้ก็ต้องใช้ว่าเป็นสุดยอดของ “แฟบ หรือ เซเล็บ”

 

“ม้าขี่-ร่างทรง” อุบายวิธีสกัดคู่แข่งทางการค้า

สาธุคุณ “ลิลเลียน เจ.เคอร์ทิส” (Lillian J. Curtis) หมอสอนศาสนาชาวอเมริกันเคยกล่าวถึงภาพรวมของแม่ญิงล้านนาว่า

“มีความขยันพากเพียร ฉลาดมากกว่าผู้ชาย เธอสามารถควบคุมสามีและมีสิทธิที่จะขับไล่สามีได้ตามใจชอบ ผู้หญิงคนเมืองมีความมั่นคงด้านกฎหมาย สังคม และเศรษฐกิจมากกว่าผู้หญิงชาวสยาม”

คำกล่าวนี้น่าจะเป็นภาพสะท้อนให้เห็นภาพของเจ้าอุบลวรรณาได้เป็นอย่างดี นอกจากจะอยู่ในฐานะ “เซเล็บ” แล้ว เจ้าอุบลวรรณายังมี “อาณาจักรทางการค้า” อันไพศาลเป็นของตนเอง คล้ายกับ “แม่เลี้ยง” ในยุคนี้

นอกเหนือจากโรงทอผ้าซิ่นซึ่งส่วนใหญ่เป็นงานถนัดของกุลสตรีศรีล้านนาแล้ว เจ้าอุบลวรรณายังคุมกิจการพาณิชย์แข่งขันกับพ่อค้าชายทั้งชาวล้านนา อังกฤษ และพม่า อีกหลายกิจการ อาทิ ธุรกิจค้าไม้ โรงงานไม้แกะสลัก โรงผลิตเครื่องเขิน การค้าทางไกลกับพ่อค้าวัวต่าง (ทั้งจีนฮ่อ ไทใหญ่) การยื่นความจำนงขอรับสัมปทานรางรถไฟ และโรงต้มเหล้า

ธุรกิจสุดท้ายคือโรงต้มเหล้านี้ ได้กลายเป็นที่ฮือฮาในหน้าประวัติศาสตร์ เนื่องจากช่วงนั้นมีกลุ่มพ่อค้าชาวจีนรวมตัวกันผูกขาดการต้มเหล้า แน่นอนว่าย่อมกระทบกระเทือนต่อธุรกิจโรงเหล้าของเจ้านายฝ่ายเหนือที่มีมาก่อนด้วย ครั้นจะไปบอกกล่าวร้องขอพ่อค้าชาวจีนให้แบ่งพื้นที่ลูกค้ากันบ้างตรงๆ ก็กระดากปาก

สิ่งเดียวที่เจ้าอุบลวรรณาสามารถใช้สกัดพ่อค้าจีนมิให้เหิมเกริมมากไปกว่านี้ได้ ก็คือการอาศัย “ร่างทรง” หรือที่ชาวเหนือเรียกว่า “ม้าขี่” อันเป็นกโลบายที่แยบยลยิ่ง

เรื่องทรงเจ้าเข้าผีนี้เป็นศาสตร์ลี้ลับที่สร้างความงงงวยให้แก่ชาวต่างชาติในเชียงใหม่ยุคนั้นพอสมควร อยู่ๆ ก็บอกว่า ณ บัดนี้ เสด็จเจ้าชีวิตอ้าว หรือเจ้าพ่อได้มาประทับทรงในร่างของนางแล้ว ด้วยเสียงที่ดุดันเยี่ยงชาย แววตาเขม็งเกร็ง ก็สร้างความตื่นตระหนกน่าสะพรึงกลัวให้แก่พ่อค้าคนจีนและหมอสอนศาสนาได้ไม่น้อย

ม้าขี่หรือร่างทรง ที่เจ้าอุบลวรรณาอ้างว่าเป็นเสด็จเจ้าชีวิตอ้าวนั้น ได้ฝากมาบอกว่า วิญญาณของท่านพิโรธยิ่งนัก มิได้ไปผุดไปเกิด ตราบที่พ่อค้าชาวจีนยังผูกขาดการต้มเหล้าในเชียงใหม่ ให้ระวังว่าจะเกิดเหตุร้ายแรงถึงขั้นเจ็บไข้ได้ป่วย หากใครยังฝ่าฝืนต้มเหล้าต่อไป ครั้งนี้แค่ตักเตือนสั่งสอนเบาะๆ ก่อน

หลังจากนั้น เจ้าหลวงเชียงใหม่ อินทวิชยานนท์ ก็สามารถออกคำสั่งยกเลิกการอนุญาตให้คนจีนผูกขาดต้มเหล้าได้โดยไม่มีใครกล้าต่อกร

สำทับด้วยการที่เจ้าอุบลวรรณารีบออกมาพูดกลบเกลื่อน เนื่องจากตนก็มีโรงต้มเหล้า เพื่อไม่ให้ใครคิดว่าการเป็นม้าขี่นั้นทำไปด้วยเจตนาแอบแฝง ในทำนองว่า “การผูกขาดการต้มเหล้านั้นสมควรยกเลิกเสีย เพราะเป็นการเบียดเบียนประชาชน ทำให้เก็บภาษีมากเกินไป”

สมกับที่เกิดมาเป็นขัตติยานีศรีล้านนาโดยแท้ นอกจากจะเล่นงานเชือดคู่แข่งทางการค้าไปให้พ้นมือพ้นเท้าแบบเหี้ยมนิ่มแล้ว ยังพูดจาได้กินใจไพร่ฟ้าประชาชนให้คล้อยเคลิ้มอีกต่อหนึ่งด้วย

 

รักโรแมนติกที่จบไม่ลง

ชีวิตส่วนตัวของเจ้าอุบลวรรณานั้นกลับขลุกขลัก ไม่ประสบความสำเร็จต่างไปจากความเป็นมืออาชีพด้านธุรกิจ ทรงอยู่ในฐานะหม้ายตั้งแต่วัยสาว สมรสครั้งแรกกับ “เจ้ามหาวงศ์” ไม่มีการบันทึกถึงสาเหตุแห่งการหย่าร้าง ว่าอย่างไร และเมื่อไหร่

ทราบแต่เพียงคร่าวๆ จากรายงานของหมอสอนศาสนา “แดเนียล แมกกิลวารี” (Daniel Mc Gilvary) ว่า ปี พ.ศ.2425 เมื่อแรกรู้จักกับเจ้าอุบลวรรณา ก็อยู่ในฐานะหม้ายแล้ว (หากสมภพในปี 2388 จริง ตอนนั้นก็น่าจะมีอายุราว 37 ชันษา) นอกจากนี้ ยังระบุว่าธิดาสาวองค์โตของเจ้าอุบลวรรณากำลังให้กำเนิดบุตร ก็แสดงว่าเจ้าอุบลวรรณามีฐานะเป็น “ยาย” ในวัยเพียง 37 ปี ซึ่งไม่ใช่เรื่องแปลกสำหรับคนยุคนั้น ที่นิยมให้ลูกสาวแต่งงานในวัยไม่เกิน 18

ในฐานะที่แมกกิลวารีเป็นแพทย์ด้วย เขาได้บันทึกว่า เมื่อปี พ.ศ.2410 ลูกคนหนึ่งของเจ้าอุบลวรรณาเสียชีวิตด้วยโรคระบาด ซึ่งไม่ทราบแน่ชัดนักว่าเป็นลูกหญิงหรือชาย อย่างไรก็ดี ถือเป็นหลักฐานที่ทำให้เราทราบว่า เจ้าอุบลวรรณามีบุตร-ธิดาอย่างน้อย 2 คน

ในขณะที่หนังสือเรื่อง “เดินทางหนึ่งพันไมล์บนหลังช้างในรัฐฉาน” นายแฮลเล็ต กล่าวถึงการที่เจ้าอุบลวรรณาได้พา “เจ้าสุขเกษม” ซึ่งเป็นลูกชายคนหัวปี พร้อมด้วยหลานสาวคือเจ้าดารารัศมี ไปเยี่ยมเขา โดยเด็กทั้งสองน่าจะมีอายุห่างกันสัก 2 ปี แสดงว่าตอนนั้นเจ้าดารารัศมีอยู่ในความดูแลของเจ้าน้าแทนที่เจ้าแม่ซึ่งพิราลัยแล้ว

“เจ้าสุขเกษม” ที่นายแฮลเล็ต เอ่ยนามคนนี้เป็นคนละคนกับ “เจ้าน้อยศุขเกษม” ในตำนานรักมะเมียะ ซึ่งเป็นโอรสของพลตรีเจ้าแก้วนวรัฐ เจ้าหลวงเชียงใหม่องค์สุดท้าย

แถมนายแฮลเล็ตยังบันทึกต่อไปอีกด้วยว่า บิดาของเจ้าสุขเกษมนั้นเป็นสามัญชน ไม่ได้มีเชื้อเจ้า จึงไม่เป็นที่ยอมรับของชายาพระเจ้าเชียงใหม่ (เจ้าทิพเกสร) เท่าใดนัก ส่วนธิดาของเจ้าอุบลวรรณาเพียงองค์เดียวที่เกิดจากสามีคนแรก ได้สมรสกับเจ้าสิงห์คำ ลูกคนโตของเจ้าราชบุตร

สิ่งที่น่าสนใจก็คือ แฮลเล็ตบันทึกเรื่องความรักของเจ้าอุบลวรรณากับชายธรรมดาที่ไม่ได้เป็นพวกเจ้าอีกหลายคน ถือเป็นเรื่องน่าสนใจ แต่นักประวัติศาสตร์กระแสหลักพยายามไม่พาดพิงถึง ทั้งๆ ที่น่าจะหยิบยกมาเป็นอุทาหรณ์ของเจ้าหญิงใจเด็ดที่กล้าแหกกฎมณเฑียรบาล

หลังจากเจ้ามหาวงศ์ และพ่อของเจ้าสุขเกษมแล้ว เจ้าอุบลวรรณาก็แอบแต่งงานเงียบๆ กับพ่อค้าไม้สักชาวพม่าซึ่งเป็นคนในบังคับอังกฤษผู้หนึ่ง แต่แล้วพระประยูรญาติก็ใช้กฎเหล็กของฐานันดรมากีดกั้นสกัดรักครั้งที่ 3 ไปให้พ้นจากวงจรชีวิต

เจ้าอุบลวรรณาไม่ยอมแพ้ต่อชะตากรรม ยังปลูกต้นรักใหม่กับพ่อค้าพม่าสามัญชนอีกคน และกำลังวางแผนแอบนัดพบกันในคืนเดือนมืด แต่แล้วหม่องผู้นั้นก็ถูกวิสามัญฆาตกรรมแบบ “ฆ่าตัดตอน” เสียก่อน เจ้าอุบลวรรณาเป็นเดือดเป็นแค้นยิ่งนัก เฝ้าตามสืบหาตัวฆาตกรด้วยความฟูมฟายอยู่นานหลายปี ในที่สุดก็ครองโสดเป็นหม้ายเนื้อหอมตลอดกาล

เมื่อเอ่ยถึง “เจ้าอุบลวรรณา” นามนี้ได้กลายมาเป็นไอดอลของแม่ญิงล้านนาผู้ต่อสู้ชีวิตบนลำแข้งลำขาตัวเองโดยปราศจากสามี แบบ Single Mom รักอิสระ เสรี ปลดปล่อยตัวตนออกจากขื่อคาจารีตและกฎเกณฑ์อันคร่ำครึ!