สุจิตต์ วงษ์เทศ : ยึดอำนาจ ในรัฐสุโขทัย

เมืองสุโขทัยแรกสถาปนาบริเวณวัดพระพายหลวง พุทธสถานแบบมหายาน อยู่ทางทิศเหนือ นอกกำแพงเมืองเก่าสุโขทัย มีปรางค์สามองค์ตั้งอยู่บนฐานเดียวกัน เหมือนปรางค์สามยอดเมืองละโว้ (ลพบุรี)

“กรุงสุโขทัยเป็นเมืองขึ้นอาณาจักรกัมพูชา กษัตริย์กัมพูชาส่งขุนนางเขมรชื่อขอมสบาดโขลญลำพงไปปกครองกรุงสุโขทัย”

เป็นประวัติศาสตร์แห่งชาติของไทยที่ใช้เป็นทางการ และคนไทยท่องจำขึ้นใจสืบมาช้านาน

แต่ตามหลักฐานแล้ว เป็นเหตุการณ์แย่งอำนาจ ยึดอำนาจกันเองในหมู่เครือญาติ

ขอมสบาดโขลญลำพง

ขอมสบาดโขลญลำพงในประวัติศาสตร์สุโขทัย ไม่ใช่ใครที่ไหน ที่แท้ก็เป็นวงศ์เครือญาติของกษัตริย์รัฐสุโขทัยศรีสัชนาลัย

ดังนั้น ชื่อขอมสบาดโขลญลำพงในจารึกวัดศรีชุม จึงมิได้หมายถึงขุนนางชาวเขมรจากกัมพูชา

จากร่องรอยความสัมพันธ์ระหว่างรัฐละโว้ (ลพบุรี) กับบ้านเมืองตอนบน เช่น สุโขทัย ศรีสัชนาลัย ทุ่งยั้ง ฯลฯ ชื่อขอมสบาดโขลญลำพง ควรหมายถึงผู้มีอำนาจหรือเจ้าเมืองใดเจ้าเมืองหนึ่งในเขตอิทธิพลของรัฐละโว้ (ลพบุรี) ซึ่งเป็นวงศ์เครือญาติเดียวกันกับตระกูลศรีนาวนำถุมแห่งรัฐสุโขทัยนั่นเอง

ยึดอำนาจสุโขทัย

จารึกวัดศรีชุมเริ่มกล่าวถึงพ่อขุนศรีนาวนำถุมว่า “ประดิษฐานพระศรีรัตนมหาธาตุ” มีความหมายเท่ากับมีการเปลี่ยนแปลงทางศาสนาและการเมือง จากลัทธิมหายานไปนับถือลัทธิเถรวาทแบบลังกา

ขณะเดียวกันก็มีแนวโน้มว่าใกล้ชิดกับบ้านเมืองทางทิศตะวันตกมากขึ้น เช่น รัฐสุพรรณภูมิ และรัฐมอญ-พม่า

เป็นเหตุให้ขอมสบาดโขลญลำพงยอมไม่ได้ ต้องยึดอำนาจเมืองสุโขทัยและเมืองศรีสัชนาลัย แล้วขอมสบาดโขลญลำพงก็ได้ครองอำนาจทั้งเมืองสุโขทัยและเมืองศรีสัชนาลัย

ศึกชิงเมืองศรีสัชนาลัยสุโขทัย

พ่อขุนผาเมืองเป็นเจ้าครองเมืองราดและเมืองลุม แต่ไม่มีหลักฐานว่าพ่อขุนบางกลางหาวเป็นเจ้าครองเมืองใด

พ่อขุนบางกลางหาววางแผนร่วมกับพ่อขุนผาเมือง เพื่อขับไล่ขอมสบาดโขลญลำพงจนสำเร็จ ได้สุโขทัยคืนมา

พระยาลิไทยยึดอำนาจประหารศัตรู

ประวัติศาสตร์สุโขทัยอีกตอนหนึ่ง มักกล่าวกันว่าพระมหาธรรมราชาลิไทยทรงเลื่อมใสในศาสนาและมิได้เป็นนักรบ ทำให้รัฐสุโขทัยแตกแยก

ที่จริงรัฐสุโขทัยแตกแยกอยู่แล้วก่อนที่พระยาลิไทยจะขึ้นครองราชสมบัติ บ้านเมืองต่างๆ ที่เคยอยู่ในอำนาจ เช่น เมืองพระบาง (นครสวรรค์) เมืองเชียงทอง (ตาก) เมืองบางพาน (กำแพงเพชร) ฯลฯ จึงแยกตนเป็นอิสระ

นอกจากนั้นยังเกิดการแตกแยกในวงศ์เครือญาติของราชสำนักอีกด้วย ดังมีหลักฐานอยู่ในจารึกวัดป่ามะม่วงที่ จ. สุโขทัย บรรยายเรื่องราวการเสด็จขึ้นครองราชย์ของพระยาลิไทย เมื่อ พ.ศ. 1890 ว่า

“เสด็จนำพลพยุหเสนาทั้งหลายออกมาจากเมืองศรีสัชชนาลัย…มีพระบัณฑูรให้ไพร่พลทั้งหลาย…เข้าระดมฟันประตูประหารศัตรูทั้งหลาย…บัดนั้นจึงเสด็จพระราชดำเนินเข้าเสวยราชย์…ไอสูรยาธิปัตย์ในเมืองสุโขทัยนี้แทนพระบิดาพระอัยกา…”

หมายความว่าพระยาลิไทยเสด็จขึ้นครองราชย์เป็นกษัตริย์รัฐสุโขทัย ด้วยการยกกองทัพจากเมืองศรีสัชนาลัยเข้าระดมฟันประตูเมืองสุโขทัย แล้วประหาร “ศัตรู” แล้วปราบดาภิเษกเป็นเจ้าครองรัฐสุโขทัย

ยึดอำนาจ เป็นประเพณี

มีกรณีตัวอย่างร่วมสมัยในกรุงศรีอยุธยา ระหว่างราชวงศ์อู่ทองกับราชวงศ์สุพรรณภูมิที่เป็นเครือญาติและแย่งอำนาจกันอยู่หลายรัชกาลจนเป็นประเพณี

สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 ในราชวงศ์อู่ทอง (จากละโว้) เป็นเครือญาติกับขุนหลวงพ่องั่วในราชวงศ์สุพรรณภูมิ (จากสุพรรณบุรี) แล้วทรงร่วมกันสถาปนากรุงศรีอยุธยาขึ้น

หลังจากสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 (พระเจ้าอู่ทอง) สวรรคต สมเด็จพระราเมศวรผู้เป็นราชโอรสได้สืบราชสมบัติ เป็นเหตุให้ขุนหลวงพ่องั่วไม่พอพระทัย จึงยกกองทัพจากเมืองสุพรรณบุรีมายึดอำนาจขึ้นเสวยราชย์เป็นกษัตริย์กรุงศรีอยุธยา แล้วส่งสมเด็จพระราเมศวรไปครองเมืองลพบุรี

สองราชวงศ์นี้ผลัดกันแย่งอำนาจมาหลายรัชกาล จนถึงสมัยสมเด็จพระนครินทราธิราชแห่งราชวงศ์สุพรรณบุรียึดอำนาจเอากรุงศรีอยุธยามาจากสมเด็จพระรามราชาแห่งราชวงศ์อู่ทอง แล้วให้เนรเทศสมเด็จพระรามราชาไปอยู่กัมพูชา ราชวงศ์สุพรรณภูมิจึงครองอำนาจที่กรุงศรีอยุธยาโดยเด็ดขาดแต่บัดนั้นเป็นต้นมา

สองตระกูลในรัฐสุโขทัย

บรรยากาศทางการเมืองของรัฐสุโขทัยก็น่าจะคล้ายคลึงกัน คือมีปัญหาในการขึ้นเสวยราชย์ ระหว่งตระกูลศรีนาวนำถุมกับตระกูลศรีอินทราทิตย์

การที่เจ้าศรีศรัทธาผู้เป็นขุนศึกใหญ่เชื้อสายตระกูลศรีนาวนำถุมต้องออกบวชแล้วต้องธุดงค์ออกไปนอกเขตรัฐสุโขทัยเป็นเวลานาน ย่อมไม่ใช่เหตุการณ์ปกติ

เมื่อประมวลเข้ากับเหตุการณ์การเสด็จขึ้นครองราชย์ของพระยาลิไทย ที่ต้องระดมพลจากเมืองศรีสัชนาลัยเข้าฟันประตูและประหารศัตรู ก็ยิ่งแสดงให้เห็นชัดเจนว่ามีปัญหายุ่งยากทางการเมือง และอาจหมายความว่าเมืองสุโขทัยในระยะนั้นอยู่ในอำนาจของฝ่ายตรงข้าม คือ “ศัตรู” พระยาลิไทยจึงต้องสู้ปราบปรามเพื่อยึดอำนาจ เมื่อ พ.ศ 1890

ครั้นขึ้นเสวยราชย์แล้ว พระยาลิไทยยังต้องปราบปราม “สรลวงสองแคว” ของตระกูลศรีนาวนำถุมอีก หลังจากนั้นจึงขยายอำนาจเข้าไปลุ่มน้ำป่าสักถึงเมืองราดเมืองลุม และเมืองอื่นๆ

ดังนั้น “ศัตรู” ที่แท้จริงและพระยาลิไทยสามารถกำราบปราบปรามได้เกือบหมดสิ้น ก็คือกลุ่มเครือญาติในตระกูลศรีนาวนำถุมนั่นเอง

สุโขทัยถูกยึดโดยอยุธยา

สรุปว่า ตระกูลศรีอินทราทิตย์กำจัดตระกูลศรีนาวนำถุมได้สำเร็จ แต่ตระกูลศรีอินทราทิตย์ก็จะต้องเผชิญหน้ากับตระกูลใหญ่จากกรุงศรีอยุธยาต่อไป

จนในที่สุดรัฐสุโขทัยก็ถูกผนวก หรือถูกยึดเป็นส่วนหนึ่งของรัฐอยุธยา (ซึ่งเติบโตมีพัฒนาการมาก่อนรัฐสุโขทัย) แตกต่างจากประวัติศาสตร์แห่งชาติที่ว่าสุโขทัยล่มสลาย จึงเกิดอยุธยา