“จอบแรกครูบา”จุดเริ่มขบวนประชาชน สร้างถนนขึ้น “ดอยสุเทพ” เพียง 5 เดือน 22 วัน

เพ็ญสุภา สุขคตะ

วันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2477 เวลา 10 นาฬิกา ชาวล้านนาไม่มีวันลืมเลือน เพราะเป็นวันที่ครูบาเจ้าศรีวิชัยได้เริ่มปักจอบลงดินเป็นปฐมฤกษ์ในการสร้างทางขึ้นดอยสุเทพ

“จอบแรกครูบา” สำคัญอย่างไร หรือมันคือจุดเริ่มต้นขบวนการขับเคลื่อนของภาคประชาชน?

ทำไมต้องย้ายเส้นทางขึ้นดอย(จากหลังมอมาหน้ามอ)

ผู้จุดประกายความคิดในการสร้างทางขึ้นสู่ดอยสุเทพให้แก่ครูบาเจ้าศรีวิชัยคือ “หลวงศรีประกาศ” สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเชียงใหม่คนแรก ซึ่งเพิ่งกลับจากพม่าและได้เห็นการประดับสายไฟบนพระเจดีย์
กับอีกท่านคือ พลตรีเจ้าแก้วนวรัฐ เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่องค์สุดท้าย ที่ได้มาขอคำปรึกษาจากครูบาเจ้าศรีวิชัย ด้วยความคิดที่ว่า หากบนดอยสุเทพมีการประดับประดาด้วยไฟฟ้า ก็น่าจะสร้างความตระการตาให้แก่คนต่างถิ่นที่มาเยือนเมืองเชียงใหม่ไม่น้อย

แสดงว่ายุทธศาสตร์แผนโปรโมทการท่องเที่ยวมีมาแล้วตั้งแต่เมื่อ 80 ปีก่อน!

พระธาตุดอยสุเทพสร้างขึ้นในสมัยพระญากือนา พ.ศ. 1929 และบูรณะในสมัยพระเมืองเกษเกล้า พ.ศ. 2081 ยุคหลังนี้ได้ปรับเปลี่ยนรูปทรงเป็นเจดีย์ 12 เหลี่ยมอย่างที่เห็น

ยุคที่พม่าปกครองล้านนา เส้นทางสู่ดอยสุเทพถูกทิ้งรกร้างมานานหลายศตวรรษ การขึ้นไปกราบนมัสการพระธาตุฯ ในยุคฟื้นฟูเมืองต้องปีนป่ายเขาอย่างยากลำบาก

เดิมเส้นทางขึ้นสู่ดอยสุเทพนั้น ไม่ได้เริ่มต้นจากวัดศรีโสดาเหมือนปัจจุบัน แต่เป็นทางด้านหลังของวัดสวนดอกที่ค่อยๆ ไต่เขาลาดขึ้นทีละน้อย ผ่ายวัดอุโมงค์ วัดป่าแดง วัดฝายหิน แล้วมาบรรจบกับธารน้ำไหลเชี่ยวที่วัดผาลาด

เหตุที่ใช้เส้นทางนี้ ก็เพราะพระบรมสารีริิกธาตุที่นำขึ้นไปประดิษฐานบนดอยสุเทพนั้น เกิดขึ้นจาก “ปาฏิหาริย์” ของการแตกองค์ออกมาอีกเสี่ยงหนึ่งของพระบรมสารีริกธาตุที่พระญากือนาเตรียมจะบรรจุในเจดีย์วัดสวนดอก จึงได้อัญเชิญองค์ใหม่ขึ้นหลังช้างเสี่ยงทาย จากนั้นช้างก็มุ่งหน้าขึ้นสู่ดอยสุเทพโดยมีจุดเริ่มต้นที่วัดสวนดอก

แล้วไฉนครูบาเจ้าศรีวิชัยจึงไม่ใช้เส้นทางเดิม (คือเส้นหลังมอ – มอ ย่อมาจาก ม.ช. ไม่ใช่เส้นหน้ามอ แบบปัจจุบัน)

แม้ครูบาเจ้าศรีวชัยจะอ้างว่า “การที่เลือกเส้นทาง (หน้ามอ) นี้ก็เพราะนิมิตฝันเห็นชีปะขาวจูงมือท่านมายืนด้านนี้” แต่ดิฉันสันนิษฐานว่า นั่นเป็นเพียงการตัดบทเพื่อเลี่ยงคำอธิบาย แท้จริงแล้วครูบาเจ้าศรีวิชัยต้องการ “คิดใหม่ทำใหม่ สร้างทางสายใหม่ใช่หรือไม่?”

เหตุที่ระยะทางขึ้นสู่ดอยสุเทพอันยาวไกลนั้น ครูบาเจ้าศรีวิชัยได้เตรียมแผนก่อสร้างวัดไว้ 4 แห่ง เรียงรายอยู่ริมทางตั้งแต่จุดเริ่มต้นไปจนถึงยอดดอย กอปรด้วยวัดโสดาบัน (ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็นวัดศรีโสดา) วัดสกิทาคามี (อยู่ที่ม่อนเถรจันทร์ หรือห้วยขุนผีบ้า ห่างจากวัดศรีโสดา 4 กิโลเมตร น่าจะหมายถึงวัดผาลาด) วัดอนาคามี (กำหนดว่าจะสร้างที่ม่อนพญาหงส์ แต่ยังไม่ทันได้สร้างครูบาก็ถูกทางการดำเนินคดีเสียก่อน) และวัดอรหันตา หมายถึงวัดพระธาตุดอยสุเทพนั่นเอง

เพื่อจะสื่อความหมายถึงขั้นตอนแห่งการบรรลุธรรมทั้ง 4 ขั้น เป็นมรรควิถีในการตัดสังโยชน์ หลุดพ้นจากความทุกข์เข้าถึงพระนิพพาน

หากครูบาเจ้าศรีวิชัยยังคงยืนหยัดใช้เส้นทางสายเดิมแล้วไซร้ ท่านเลี่ยงไม่ได้เลยที่ต้องผ่านวัดเก่าแก่ที่เคยรุ่งเรืองมาตั้งแต่ยุคล้านนามากมาหลายวัด คงยากที่จะให้กำหนดวัดนั้นๆ เป็นหนึ่งในเส้นทางอริยมรรคตามที่ท่านวางไว้

อยากให้ชาวเชียงใหม่ช่วยกันจินตนาการสักหน่อยได้ไหมคะว่า ถ้าสมมติครูบาเจ้าศรีวิชัยเลือกใช้เส้นทางขึ้นดอยสุเทพเป็นเส้นหลังมอสายเดิม ไม่ใช่เส้นทางปัจจุบันคือหน้ามอ ป่านนี้การจราจรอันคับคั่ง ความเจริญร้านรวงอันคึกคัก รวมทั้งห้างดังเมญ่าที่ตั้งตระหง่านแยกรินคำ จักยังคงอยู่ที่ถนนสายหน้ามอเหมือนปัจจุบันหรือไม่?

ยืนยัน 9 พฤศจิกายน
ไม่ง้อเจ้าคณะจังหวัดเชียงใหม่

ครูบาเจ้าศรีวิชัยเสนอโครงการที่สร้างความตื่นตระหนกให้แก่ ส.ส. และเจ้าผู้ครองนครทั้งสอง ด้วยการ “สร้างถนนขึ้นสู่ดอยสุเทพ” แทนที่การนำเอาสายไฟฟ้าไปติดตั้ง อันเป็นแสงวาวแค่วูบไหว หาได้เกิดประโยชน์อันใดแก่สาธุชนที่ปรารถนาการจาริกแสวงบุญไม่

แนวคิดดังกล่าวสร้างความหนักใจให้แก่เจ้าแก้วนวรัฐและหลวงศรีประกาศไม่น้อย มิอาจปิดตาเห็นภาพได้เลยว่าจักสามารถหาเม็ดเงินจำนวนมหาศาลมาได้ด้วยวิธีใด ยิ่งเชียงใหม่เป็นหัวเมืองรอบนอกในสายตาของชาวสยาม โอกาสที่ส่วนกลางจะส่งช่างสำรวจมาประมาณการ เอาเฉพาะแค่ค่าปักเสาไฟฟ้าขึ้นดอยสุเทพก็ต้องร้องเพลงรอตั้งนานสองนานอยู่แล้ว

เป็นไงก็เป็นกัน วันที่ 9 พฤศจิกายน ปี 2477 เป็นวันที่ครูบาเจ้าศรีวิชัยกำหนดด้วยตัวท่านเองว่าต้อง “ลงจอบแรกเอาฤกษ์เอาชัย” ท่ามกลางเสียงทักท้วงจาก “ครูบาเถิ้ม โสภา” (ผู้มีความเชี่ยวชาญด้านโหราศาสตร์ อดีตเคยอยู่วัดแสนฝาง ถูกเจ้าแก้วนวรัฐส่งตัวมาเฝ้าดูแลพระธาตุดอยสุเทพ) ท้วงว่าวันนั้นเป็นวันเสีย อีกทั้งพระผู้ใหญ่ในเชียงใหม่หลายรูปไม่ว่าง

“ทางอาจสร้างสำเร็จตามกำหนด แต่จะมีปัญหาเหตุร้ายตามมาไม่จบไม่สิ้น” ครูบาเถิ้มเห็นว่าควรหาฤกษ์ใหม่ พร้อมทั้งแนะนำว่าวันลงฤกษ์ควรนิมนต์พระเถระผู้ใหญ่ในเชียงใหม่ทั้งสายมหานิกายและสายธรรมยุตมาสวดชัยมงคลคาถาร่วมด้วย

ทว่าครูบาเจ้าศรีวิชัยไม่สนใจ มองว่าการสร้างทางสายนี้เป็นเรื่องของมวลชนชาวบ้าน ไม่ใช่เรื่องของพระผู้ใหญ่ ครูบาเจ้าศรีวิชัยขอยืนยันฤกษ์เดิม ให้เหตุผลว่าหากเป็นช่วงอื่นท่านจะติดรับนิมนต์ไปบูรณปฏิสังขรณ์วัดอีกหลายแห่งในเขตอำเภอเชียงดาว (คือมีกำหนดนัดหมายต้องไปบูรณะวัดถ้ำเชียงดาว และวัดอื่นๆ ในช่วงเดือนตุลาคม 2477)

พร้อมอธิบายว่า แค่ให้ครูบาเถิ้มเป็นผู้นำสวดชัยมงคลคาถาเพียงรูปเดียวก็น่าจะพอ

เหตุการณ์นี้ สะท้อนถึงสถานการณ์ว่า น่าจะยังคงมีความขัดแย้งกันอยู่ระหว่างครูบาเจ้าศรีวิชัยกับพระเถระผู้ใหญ่ของเชียงใหม่-ลำพูน ดังที่หลวงศรีประกาศ เล่าไว้ในประวัติถนนขึ้นดอยสุเทพ ว่า ระยะนั้นครูบาเจ้าศรีวิชัยกับคณะสงฆ์เชียงใหม่มีเรื่องไม่เข้าใจกันอยู่บ้าง

เมื่อครูบาเถิ้มยินยอมตกลงตามนั้นแล้ว “เถ้าแก่โหงว” คหบดีนายวาณิชแห่งเมืองเชียงใหม่ จึงรับเป็นเจ้าภาพจัดพิมพ์ใบปลิวบอกข่าวการสร้างทางขึ้นดอยสุเทพจำนวน 50,000 ใบ พลตรี เจ้าแก้วนวรัฐ สั่งพิมพ์เพิ่มอีก 50,000 ใบ

ถนนสายนี้สร้างด้วยนางฟ้า-เทวดา

ใบฎีกาบอกบุญเขียนเป็นคำคร่าว “นางบัวจีน ชานะมูล” เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2533 มีอายุ 64 ปี ได้ท่องจากความทรงจำให้บุตรสาว “โสภา ชนะมูล” ฟัง บันทึกไว้ในวิทยานิพนธ์ ระดับปริญญาโท เรื่อง “ครูบาศรีวิชัย ตนบุญแห่งล้านนา” ดังนี้

“…ท่านสามองค์นา ศรัทธาเก๊าเหง้า
ได้ไปนิมนต์ ต๋นบุญท่านเจ้า….
หลวงศรีแต่งไจ้ ใบแพร่ดีก๋า
ไปทั่วนานา บ้านนอกคอกห้วย
ข้าราชการ และ… (ถ้อยคำตกไปหนึ่งพยางค์) หน้าส้วย
ท้าวขุนมูลนาย พรั่งพร้อม
ไพร่ราษฎร มีใจเหลิงน้อม
ตังหนุ่มเฒ่า ญิงจาย
ไทจิ๋นและเจ๊ก ยางเงี้ยวตังหลาย
ไพร่ขุนมูลนาย ชราแก่เฒ่า…”

ในวันเริ่มพิธี ครูบาเถิ้มเป็นผู้ประกอบพิธีขึ้นท้าวทั้งสี่ คือการบูชาเทพยดาอารักษ์ทั้ง 4 องค์ ได้แก่ 1. คนธรรพณ์ (ท้าวธตรฐ) รักษาโลกทางทิศตะวันออก 2.พญานาค (ท้าววิรูปักษ)์ อยู่ทางทิศตะวันตก 3. กุมภัณฑ์ (ท้าววิรุฬหก) อยู่ทางทิศใต้ และ 4. ยักษ์ หรือกุเวร (ท้าวเวสสุวรรณ) อยู่ทางทิศเหนือ
หลังจากครูบาเถิ้มทำพิธีแล้ว พลตรี เจ้าแก้วนวรัฐ เป็นผู้ลงจอบแรก ถัดมามีคณะเจ้านายฝ่ายเหนือ หลวงศรีประกาศ คุณนายเรือนแก้ว ภรรยาหลวงศรีประกาศ

พระสงฆ์ (หมายถึงพระสงฆ์ในคณะของครูบาเจ้าศรีวิชัย) สวดชยันโต ครูบาเจ้าศรีวิชัยประกาศต่อหน้าประชาชนที่ไปประชุมว่า

“การนี้เป็นการใหญ่ จะสำเร็จได้จะต้องมีเทพบุตรและเทพธิดามาช่วย”

ระยะทางจากน้ำตกห้วยแก้วสู่ดอยสุเทพนั้นยาวถึง 12 กิโลเมตร หลายคนแอบฉงนใจว่าครูบาเจ้าศรีวิชัยจะทำสิ่งที่ยากเข็ญให้สำเร็จได้จริงแค่ไหน แต่ไม่มีใครกล้าเอ่ยปากถามว่า “นางฟ้ากับเทวดา” ที่ครูบาอ้างนั้นอยู่หนใดหรือ?

เมื่อมีคนถามถึงเทพบุตรเทพธิดาที่จะลงมาช่วย ท่านก็ชี้ไปที่ผู้ชาย ผู้หญิงที่มาร่วมงาน

ในหนังสือของครูบาชัยยะวงศาพัฒนา หรือพระครูพัฒนกิจจานุรักษ์ บันทึกถึงบุคคลที่ร่วมเหตุการณ์ตอนนี้ว่า

“…แล้วอยู่ถึงเดือนยี่ ออก 3 ค่ำ วันพฤหัสบดี (อันที่จริง วันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2477 ตรงกับ ขึ้น 3 ค่ำ วันศุกร์ ปีจอ) มีครูบาเจ้าศรีวิชัย พระชัยยะวงศาพัฒนา พระยาพหลพลพยุหเสนา หลวงศรีประกาศ ภายนอกมีพ่อเจ้าแก้วนวรัฐเป็นประธาน พากันไปที่ตีนดอยสุเทพทางลุ่ม…”

เรื่อง พลเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา (พจน์ พหลโยธิน) นายกรัฐมนตรี (ดำรงตำแหน่งระหว่างวันที่ 27 มิถุนายน 2476 – 21 ธันวาคม 2480) ที่มาร่วมงานลงจอบแรกนั้น ปรากฏในเอกสารของ พระอานันท์ พุทฺธธมฺโมว่า ท่านนำรถยนต์ไปรับครูบาเจ้าศรีวิชัยที่วัดพระสิงห์ และเป็นผู้ลงจอบแรก บริเวณหน้าอนุสาวรีย์ครูบาเจ้าศรีวิชัยในปัจจุบัน โดยพระอานันท์ได้ข้อมูลมาจากการสัมภาษณ์ตนเฒ่าคนแก่อดีตเจ้าอาวาสวัดบ้านปาง และเหล่าเครือญาติของครูบาเจ้าศรีวิชัยที่อาศัยอยู่แถววัดบ้านปาง วัย 80-90 ตั้งแต่เมื่อปี 2530

“…ครูบาเจ้าศรีวิชัยลงมือเริ่มแรกขุดทางขึ้นดอยสุเทพ พ่อเจ้าแก้วนวรัฐลงขุดตาม (พ่อเจ้า หรือ เจ้าพ่อ เป็นคำนำหน้าใช้เรียกเจ้าเมือง) พลเอก พระยาพหลพลพยุหเสนาขุดตาม หลวงศรีประกาศก็ขุดตาม พระชัยยะวงศา ก็ขุดตาม ทีละรูปทีละคน ท่านละ 3 ครั้ง ก็กลับมาที่วัดสวนดอก ส่วนพระชัยยะวงศากับศรัทธาที่ไปด้วยกันพากันกลับเมืองตื๋น แล้วไปวัดจอมหมอกที่เดิม…”

เมื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงแล้ว พบว่าขณะนั้นครูบาชัยยะวงศาพัฒนามีอายุเพียง 22 ปี และเอกสารดังกล่าวครูบาชัยยะวงศาพัฒนาไม่ได้เขียนด้วยตัวท่านเอง แต่เป็นคำบอกเล่าย้อนหลังเมื่อมีผู้ไปขอสัมภาษณ์เมื่อตอนที่ท่านอายุมากแล้วราว 80 ปีเศษ

แน่นอนว่าประธานฝ่ายสงฆ์คือครูบาเจ้าศรีวิชัย ตามธรรมเนียมปฏิบัติท่านควรเป็นผู้ลงจอบแรก (พอเป็นพิธี) แต่ในที่นี้เราพบแต่เพียงประธานฝ่ายฆราวาสคือพลตรี เจ้าแก้วนวรัฐ ซึ่งมีภาพปรากฏอย่่างแพร่หลายว่าท่านเป็นผู้ลงจอบแรกจริง สอดคล้องกับเอกสารร่วมสมัยในยุคนั้นที่ระบุว่าเป็น พลตรี เจ้าแก้วนวรัฐ ทั้งสิ้น

 

รวมพลคนสร้างถนนขึ้นดอยสุเทพ

ณ แผ่นดินที่ลงจอบแรกนี้ต่อมาได้กลายเป็นที่ประดิษฐานอนุสาวรีย์ครูบาเจ้าศรีวิชัย ผลงานปั้นชิ้นเยี่ยมของศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี

ในช่วงสัปดาห์แรกหลังจากทำพิธีลงจอบแรกไปแล้วนั้น คนที่มาช่วยงานยังมีน้อยอยู่ วันแรกผ่านไปอย่างเงียบหงอย ท่ามกลางคนที่เสียสละมาช่วยงานบุญเพียง 20 ชีวิต ทั้งๆ ที่ได้แจกใบปลิวกระจายข่าวนี้ไปมากกว่า 100,000 แผ่น เหตุเพราะเป็นช่วงฤดูเก็บเกี่ยวพอดี

แต่แล้ววันที่สองกลับมีผู้คนหลั่งไหลเพิ่มขึ้นมากกว่าวันแรกหลายเท่าตัว ผ่านไปเพียง 7 วัน ชาวเชียงใหม่-ลำพูนก็แห่มาปักหลักนอนที่ตีนดอยสุเทพไม่น้อยกว่า 2,000คน ทั้งพ่อค้า ข้าราชการ ทหาร ตำรวจ ชาวบ้าน ชาวดอย แต่ละคนพกพาข้าวปลาอาหาร ชะแลง มีดพร้า จอบ เสียม ขวาน ค้อน อีเตอร์ แต่ละวันขนคนมาสลับสับเปลี่ยนเป็นขบวนรถยาวเหยียดไม่น้อยกว่า 100 คัน

ต่อจากนั้นอีก 15 วัน เมื่อผู้คนทราบข่าวเรื่องการสร้างทางขึ้นดอยสุเทพ จึงค่อยๆ ทยอยกันเดินทางมาจากทั่วทุกสารทิศ ต่างมาขออาสาเป็นเจ้าภาพหรือมีส่วนร่วมในการทำทาง ขอแบ่งบุญคนละครึ่งวาบ้าง วาหนึ่งบ้าง มากกว่านั้นบ้าง ตลอดทั่วทั้งภูเขามีเจ้าของผู้จับจองไปจนถึงบันไดนาค

ผ่านไปไม่กี่เดือน เริ่มมีคนมาช่วยงานไม่ต่ำกว่า 5,000 คนต่อวัน เกิดการแย่งยื้อในการขุดขนถมทางให้เรียบ จึงต้องสร้างข้อตกลงกันว่า ให้ขุดได้เพียงคนละ 1 วา เท่านั้น เพื่อจะได้กระจายงานให้ทั่วถึงทุกคน ผู้รับทำทางโดยมากนอนค้างในที่ที่ตนรับทำทางนั้น เวลาเย็นข้าราชการเลิกจากงาน นักเรียน ครู เลิกจากเรียนหนังสือ ต่างเดินเท้าขึ้นไปเที่ยวดูการทำงาน ผู้ที่ไปเที่ยวเห็นเขาทำงานกันก็บังเกิดศรัทธา ได้ช่วยขุดดินและลากดินลงข้างห้วย เป็นบรรยากาศที่สนุกสนาน

บุคคลที่อาสามาช่วยงานประกอบด้วยคนทุกชาติพันธุ์ ทุกเพศทุกวัย ทุกกลุ่มทุกชั้นชน สามารถจำแนกได้เป็นกลุ่มใหญ่ๆ ได้ดังนี้

1. กลุ่มพระภิกษุสามเณร 2. กลุ่มชาวเขาและชาวบ้าน
3. กลุ่มคหบดีพ่อค้าประชาชน 4. กลุ่มเจ้านายและข้าราชการ

เมื่อหลวงศรีประกาศเห็นคนแห่กันมาแน่นขนัด ก็ตกอกตกใจว่าจะหาข้าวปลาที่ไหนมาเลี้ยงคนเหล่านี้่ ครั้นสองเดือนผ่านไป หลังจากที่ชาวบ้านเกี่ยวข้าวเสร็จ ชาวเชียงราย ลำปาง พะเยา แพร่ น่าน อุตรดิตถ์ สุโขทัย ตาก พิษณุโลก แม่ฮ่องสอน รวมไปถึงชาวพม่าจากมะละแหม่ง เชียงตุง ต่างมุ่งหน้าสู่น้ำตกห้วยแก้วจนมืดฟ้ามัวดิน พกจอบสะพายขวานมาร่วมสร้างทางโดยไม่เห็นแก่เหน็ดเหนื่อย

ในแต่ละวัน พ่อค้าแม่ขายกลางเวียงเชียงใหม่ต่างยกหม้อยกไหมานึ่งข้าวโขลกน้ำพริกแจก ชาวไร่ชาวนาทั่วภาคเหนือนำข้าวโพด ถั่ว งา เผือก หอม กระเทียม พริก ข้าวเหนียวมาเต็มคันรถทุกวัน กระทั่งครูบาต้องสั่งให้สร้างยุ้งฉางข้าวไว้สองหลังสำหรับเก็บเสบียงเลี้ยงผู้คน ณ บริเวณหน้าวัดศรีโสดา ซึ่งเปรียบเสมือนศูนย์บัญชาการ

การโคจรมาพบกันครั้งแรกของ
“สามครูบาแห่งลำพูน”

ห้วงเวลาสำคัญยิ่งที่ีประวัติศาสตร์ต้องจารึก ก็คือการที่ “สามครูบานักบุญผู้ยิ่งใหญ่ชาวลำพูน” ได้โคจรมาพบกันอย่างพร้อมหน้าพร้อมตาเป็นครั้งแรก เมื่อต้นปี พ.ศ. 2478

“พระชัยยะวงศาภิกขุ” หรือที่รู้จักในนามครูบาชัยยะวงศาพัฒนา (ครูบาวงค์) แห่งวัดพระพุทธบาทห้วยต้ม ขณะนั้นเป็นพระหนุ่มด้วยวัย 22 ปี ได้เดินทางมาสมทบกับ “ครูบาอภิชัยขาวปี” (ขณะนั้นอายุ 46 ปี ส่วนครูบาเจ้าศรีวิชัยอายุย่าง 57 ปี) ผู้เป็นศิษย์เอกของครูบาเจ้าศรีวิชัย มีสำนักอยู่ที่วัดพระบาทตะเมาะ (ก่อนที่จะย้ายไปสร้างวัดพระพุทธบาทผาหนาม) ทั้งสองพาชาวกะเหรี่ยง (นักวชิาการนิยมเรียก “ปกาเกอะญอ”) ติดตามมาด้วยกลุ่มใหญ่

ครูบาเจ้าศรีวิชัยได้สัพยอกต่อเจ้าแก้วนวรัฐและหลวงศรีประกาศว่า “นี่ไงเล่า เหล่านางฟ้าเทวดาที่จะช่วยงานมาถึงแล้ว”

เหตุที่ชาวกะเหรี่ยงจากลี้ แม่ทา เสริมงาม อมก๋อย ดอยเต่า ฮอด สบเมย แม่ระมาด กลุ่มที่ติดตามครูบาอภิชัยขาวปีมีจำนวนมากถึง 500 ชีวิต ผนวกกับกลุ่มที่ศรัทธาพระชัยยะวงศาก็มีไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน ชาวเขาทั้งสองกลุ่มนี้ถือเป็นกำลังหลักในการอุทิศแรงงานอย่างสมบุกสมบันและเสี่ยงภยันตรายบนโขดเขินช่วงที่วิบากยิ่ง

ครูบาเจ้าศรีวิชัยมอบหมายให้ครูบาอภิชัยขาวปีควบคุมดูแลการก่อสร้างจากเส้นทางตอนล่างสุดคือจากวัดโสดาบัน มาจนถึงช่วงที่สองคือวัดสกิทาคามี ส่วนครูบาวงค์ควบคุมเส้นทางช่วงถัดไป เริ่มจากต้นธารของน้ำตกห้วยแก้วไปจนถึงวัดอนาคามี

สำหรับเส้นทางช่วงสุดท้ายจากวัดอนาคามีไปถึงเชิงบันไดนาคของพระธาตุดอยสุเทพ ซึ่งเป็นช่วงที่ภูเขาสูงชันสลับซับซ้อน เต็มไปด้วยความเสี่ยงจากก้อนหินใหญ่ที่คอยกลิ้งตัวหล่นลงมา และสัตว์ร้ายนานาชนิดนั้น มอบหมายให้ “ขุนกันชนะนนถี” (หรือปัจจุบันเขียนว่า ชนะนนท์) เดิมชื่อ “ส่างกะณะ” คหบดีค้าไม้ชาวไทใหญ่จากพม่า เป็นพ่องานรับผิดชอบ

ขุนกันชนะนนท์ เป็นผู้ออกทุนทรัพย์ ตัดถนนบริเวณโค้งหักศอกก่อนถึงวัดพระธาตุดอยสุเทพ 1 กิโลเมตร บริเวณโค้งหักศอกนี้ เป็นภูเขาหินสูงชัน ป่ายปีนยากลำบากอย่างยิ่ง ครูบาเถิ้มและขุนกันชนะนนท์ช่วยกันกำกับให้ชาวกะเหรี่ยงขนหินมาถมธารน้ำตก เพื่อสร้างสะพานหินข้ามช่องหว่างเขาสุดท้ายที่จะถึงเนินภูเขาอันเป็นที่ตั้งของวัดพระธาตุดอยสุเทพ

เดิมนั้นคณะสำรวจเห็นว่าควรตัดอ้อมถนนไปยังม่อนสนที่ตั้งอยู่ตรงข้ามกับดอยสุเทพ (บ้านนิมมานนรดีปัจจุบัน) แต่ครูบาเถิ้มเห็นสมควรให้ตัดตรงไปบรรจบกับทางเดินเก่าเลย (ทางเดินเท้ามุมโค้งขุนกัน) ผ่านศาลาน้ำบ่อเต่า ที่ไม่เคยเหือดแห้ง ขุนกันชนะนนท์ยินดีรับทำถนนช่วงที่ยากที่สุดพร้อมออกทุนทรัพย์ส่วนตัวจนสำเร็จ จึงได้รับการตั้งชื่อเป็นเกียรติแก่ผู้ที่สร้างว่า “โค้งขุนกัน” ปัจจุบันลูกหลานได้จัดสร้างรูปหล่อ แล้วประดิษฐานไว้ที่โค้งขุนกัน เพื่อเป็นอนุสรณ์แห่งคุณงามความดีและความเพียรของท่าน

พระชัยยะวงศามีอายุห่างจากครูบาเจ้าศรีวิชัยถึง 35 ปี เคยปรนนิบัติรับใช้และฝากตัวเป็นลูกศิษย์ตั้งแต่สมัยยังเป็นเณรน้อยคราวที่ครูบาเจ้าศรีวิชัยมาเป็นประธานบูรณะวัดพระธาตุแก่งสร้อยกลางลำน้ำปิง และพระชัยยะวงศาก็เคยอยู่ในเหตุการณ์สลดสังเวชใจ เมื่อได้เห็นฝ่ายปกครองยัดเยียดข้อหาสารพัด จับครูบาอภิชัยขาวปีสึกต่อหน้าต่อตาใต้ต้นไม้ตายซากที่แม่ระมาด

แต่ไม่เคยเลยสักครั้งที่ครูบาทั้งสามจักโคจรมาร่วมบุญกันอย่างพร้อมหน้าพร้อมตา หากไม่ใช่งานสร้างทางขึ้นดอยสุเทพ

เป็นที่ทราบกันดีถึงฉายาของครูบาอภิชัยขาวปีว่าเป็นเสมือน “มือขวา” ของครูบาเจ้าศรีวิชัย และคงไม่ผิดนักหากจะกล่าวว่าครูบาชัยยะวงศาพัฒนาก็เทียบได้ดั่ง “มือซ้าย” เช่นกัน ท่านทั้งสองพร้อมที่จะเคียงบ่าเคียงไหล่ ไม่ว่าครูบาเจ้าศรีวิชัยจะถูกใส่ร้ายป้ายสีทางการเมืองกี่ครั้งครา หรือประสบความลำบากขณะก่อสร้างเสนาสนะในถิ่นทุรกันดารเพียงใดก็ตาม

ด้วยปณิธานและบารมีธรรมอันมุ่งมั่นของครูบาทั้งสาม คือแรงขับเคลื่อนให้ฟันฝ่าคลื่นมรสุมผ่านพ้นวิกฤติไปได้ในทุกสถานการณ์

ครูบาอภิชัยขาวปี และครูบาชัยยะวงศาพัฒนา มีหน้าที่ทำระเบิดหินเปิดทางทำถนน ในหนังสืออนุสรณ์งานบำเพ็ญกุศลครบรอบสตมวารของพระครูพัฒนกิจจานุรักษ์ (ครูบาชัยยะวงศาพัฒนา) กล่าวถึงการที่ท่านได้นำยาง (ชาวกะเหรี่ยง) มาช่วยครูบาอภิชัยขาวปี ระเบิดหิน ว่า

“…ครั้นแล้วก็ลงมาช่วยครูบาอภิชัยขาวปีตัดหัวหิน เอากระเทียมกรีดชักแนวแล้วเอาน้ำมันไขวัวเจียดทาตามรอยกระเทียม แล้วหาฟืนมาถมมากๆ แล้วก็เอาไฟเผาจนไฟจะวอดแล้วให้หมู่กะเหรี่ยงหาน้ำมารดไฟและหินร้อนนั้นพร้อมกัน หินผานั้นก็แตกออกเป็นเสี่ยงๆ ส่วนหินแตกนั้นให้กะเหรี่ยงขนออกก่อสร้างสะพานหินต่อ….”

ตอนระเบิดหินนั้น ครูบาชัยยะวงศาพัฒนา อายุ 22 ปี จำพรรษาอยู่วัดจอมหมอก เมืองตื๋น ตำบลแม่ตื่น อำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่

วิธีการระเบิดหินนี้ พ่ออุ๊ยสี แสนอุ่น เล่าให้ฟังว่า เจาะหินลงไปเป็นรูลึกไปสัก 3 กำมือต่อกัน ใส่ดินปืนที่ทำกันเอง แล้วจุดไฟ หินจะแตกละเอียด

แรงงานสำคัญในการสร้างถนนครั้งนี้ ที่ทำให้งานลุล่วงไปด้วยดีคือ ชาวกะเหรี่ยง ทั้งชาวกะเหรี่ยงที่ติดตามครูบาอภิชัยขาวปี และที่ติดตามครูบาชัยยะวงศาพัฒนา ดังที่ครูบาเจ้าศรีวิชัยกล่าวแก่ครูบาชัยยะวงศาพัฒนาว่า

“หาหมู่ยางขึ้นไปขุดทางตรงทัดที่ทางโค้ง ขึ้นไปหาห้วยแก้วปู้นเทอะ”

ครูบาชัยยะวงศาพัฒนาก็พาหมู่ยางและไท แปงตูบ (สร้างกระต๊อบ) อยู่เป็นที่แล้ว ก็ขุดทางขึ้นไปได้เป็นช่วงๆ ไปเลยถึงน้ำบ่อเต่า แล้วลงมาช่วยครูบาอภิชัยขาวปีตัดหิน

หลวงศรีประกาศ เล่าพ้องกันว่า “ยางมาช่วยทำสะพาน สะพานยางใช้หินก้อนใหญ่ๆ เอาเรียงจากก้นห้วยซ้อนกันมาจนพ้นน้ำ หินที่ซ้อนกันอยู่นั้นน้ำไหลลอดได้ ตอนซ้อนหินที่สูงพ้นน้ำแล้ว เอาดินถมจนให้เสมอถนนเป็นสะพาน”

ครูบาเจ้าศรีวิชัยมีฐานะเป็นตนบุญในความเชื่อของชาวกะเหรี่ยง ที่เห็นว่าท่านเป็นผู้รู้ในปรากฏการณ์เหนือธรรมชาติ ตลอดจนสามารถช่วยเหลือพวกเขาได้เมื่อต้องประสบกับภาวะฝนแล้ง การเคารพครูบาเจ้าศรีวิชัยทำให้การทำมาหากินของพวกเขาอุดมสมบูรณ์ และทำให้มีฝนตกต้องตามฤดูกาล ดังปรากฏในข้อความที่ พระดวงดี อินฺทสโม (2592) เขียนถึงชาวกะเหรี่ยงที่นับถือครูบาเจ้าศรีวิชัยว่า

“…การที่คนโยญาณสามานย์นอกพระพุทธศาสนา บ่รู้จำศีลกินทานสักเทื่อ (เตื้อ-ครั้ง) ก็พากันมาหื้อทาน อุปัฏฐากภิกขุองค์นี้ ก็เพราะบุญญานุภาพแห่งท่าน ได้กระทำพ่ำเพ็งยังทานบารมี ศีลบารมีที่ท่านได้กระทำมา หากไม่ชักนำเอาคนอยู่ที่มืด หื้อเข้ามาอยู่ที่แจ้งด้วย ท่านจักหล้างได้โปรดคนทั้งหลาย เหมือนหนึ่งพระพุทธองค์ได้ช่วยชักนำเอาคนแลสัตว์ดิรัจฉาน อันบ่รู้ภาษามนุษย์ ออกจากที่มืดสู่ที่แจ้งนั้นแล…”
ในสายตาของชาวกะเหรี่ยง สถานะของครูบาเจ้าศรีวิชัย เปรียบได้ดั่งเทวดาองค์หนึ่ง ดังเห็นได้จากขบวนติดตามครูบาเจ้าศรีวิชัย ตามเส้นทางที่ท่านไปบูรณปฏิสังขรณ์

“…พวกยางแผ้วถาง แปงหอไว้ท่า (รอ) สักการท่านบูชา…หื้อท่านครูบาตามแบบของยางเป็นมหาปาง ส่วนยางอยู่ตีกลองค้องสว่าเซิงมองเสียงเนืองนองค้องสว่า กลองหน้อยห้อยบ่าใส่สายสะพาย กอยเขาควายเป่าอวายหว้อหว้อง สนั่นถูกต้องมโนตา แหนแห่ครูบา ผุยผาบข้าวตอก ริมทางดอกรุกขปัตตา ถนนมีคอก ปิดเลี้ยวเผ้วกวาด…”

แรงงานชาวกะเหรี่ยงนี้เวลาติดตามครูบาเจ้าศรีวิชัยไปก่อสร้างที่ใด จะไม่รับเงินเป็นค่าตอบแทนเพราะหวังเอาบุญเป็นที่ตั้ง

ภูมิปัญญาของชาวกะเหรี่ยง ผู้เป็นกำลังหลักสำคัญ ทั้งกลุ่มที่ติดตามครูบาอภิชัยขาวปีมากกว่า 500 ชีวิต และที่ติดตามครูบาชัยยะวงศาพัฒนา มาอีกไม่น้อยนั้น ต่างก็ใช้วิธี แยกกันเดินขึ้นดอยเป็นหมู่ๆ หมู่ ละ 20, 30 หรือ 40 คน แต่ละหมู่จะมีเครื่องดนตรีที่เรียกว่า “กอย” คล้ายแตรมีรูปโค้งเหมือนเขาควาย สานด้วยไม้ไผ่ทายางรัก เป่าเสียงดังและเสียงเบาได้ เป็นเครื่องดนตรีเฉพาะของชาวกะเหรี่ยง รวมทั้งจะพกฆ้อง 1 ใบ กลอง 1 ใบ ปาน (กังสดาล) 1 ใบ ฉาบ 1 คู่ ระหว่างทางขึ้นดอยจะเป่ากอยตีฆ้องกลองไปเป็นที่สนุกสนาน แท้จริงแล้วประโยชน์ของกอยก็คือ เพื่อใช้เป็นการให้สัญญาณเมื่อเดินไปถึงทางแยก คนนำทางจะเป่ากอยช่วยไม่ให้ผู้คนที่เดินตามหลังหลงทาง ขณะเดียวกันเสียงของมันยังช่วยไล่สัตว์ร้ายในป่าให้แตกกระเจิงไปอีกด้วย

เสร็จก่อนกำหนด 8 วันสู่อนุสรณ์แห่งความทรงจำนิรันดร์กาล

งานสร้างถนนใช้เวลาเพียง 5 เดือน 22 วัน จากเดิมที่ครูบาเจ้าศรีวิชัยตั้งใจไว้ว่าไม่เกิน 6 เดือน ก็บรรลุผลสำเร็จ มีพิธีฉลองในวันที่ 30 เมษายน 2478 โดยครูบาเจ้าศรีวิชัยนั่งรถของเถ้าแก่โหงวเปิดทางเป็นคันแรกจากวัดศรีโสดาไปจนถึงขั้นบันไดนาควัดพระธาตุดอยสุเทพ

เป็นงานบุญที่ชาวล้านนาเกิดความปีติใจ ร่วมฉลองกันยาวนานถึง 15 วัน 15 คืน

ในขณะที่ภาครัฐ นอกจากจะไม่ได้ช่วยเหลืองบประมาณแม้แต่บาทเดียวแล้ว ยังส่งเจ้าหน้าท่ีมาจ้องจับผิดปรักปรำว่าครูบาเจ้าศรีวิชัยอุกอาจปลุกระดมมวลชนให้บุกรุกป่าสงวน ซ้ำตั้งตนเป็นผู้วิเศษเรี่ยไรเงินชาวบ้านอันผิดวินัยสงฆ์

เสร็จจากงานฉลองได้เพียง 10 กว่าวัน ครูบาเจ้าศรีวิชัยถูกจับกุมตัวไปดำเนินคดีอีกเช่นเคย ถือเป็นการทดสอบบารมีธรรมครั้งสำคัญยิ่งและอาจเป็นครั้งสุดท้าย เพราะต่อจากนี้ไป ขบวนการประชาชนพร้อมแล้วที่จะต่อกรกับความอยุติธรรม ไม่ว่าหน้าอินทร์หน้าพรหมที่ไหน

ในเมื่อพลังประชาชนกลุ่มนี้กล้าเสี่ยงตายเงื้อมมือเอาถนนไปวางทอดบนยอดดอยมาแล้ว ก็คงไม่มีอะไรที่น่าเลวร้ายไปกว่าการปล่อยให้คนมีอำนาจกระทำการหักหาญน้ำใจรังแกผู้บริสุทธิ์ได้อีก

ระหว่างที่ครูบาเจ้าศรีวิชัยถูกกักบริเวณสอบสวนที่วัดทุงยู เชียงใหม่ (เป็นวัดที่ตั้งสำนักงานเจ้าคณะจังหวัดในขณะนั้น) ขบวนประชาชนได้พร้อมใจกันไปมะรุมมะตุ้มด่าทอคณะสงฆ์ที่รับคำสั่งจากมหาเถระสมาคมจนแน่นขนัดเต็มลานวัด เจ้าคณะจังหวัดเชียงใหม่หวาดกลัว “ม็อบนักบุญ” ถึงกับต้องย้ายตัวท่านลงไปกักขังที่กรุงเทพฯ แทนเพื่อลดแรงกดดันจากคนในท้องถิ่น

ถือเป็นปรากฏการณ์ที่ควรค่าแก่การศึกษาและตั้งคำถามยิ่งว่า หากไม่มี “จอบแรกครูบา” จะมี “จุดเริ่มขบวนประชาชน” หรือไม่