‘ลอยกระทง’ มีครั้งแรกสมัย ร.3 สระน้ำในเมืองเก่าสุโขทัย ไม่ขุดไว้ลอยกระทง | สุจิตต์ วงษ์เทศ

ลอยกระทงที่ทำสืบเนื่องถึงทุกวันนี้ เริ่มมีครั้งแรกสมัย ร.3 ยุคต้นกรุงรัตนโกสินทร์ น่าเชื่อว่าได้แบบจากจีน (เคยอธิบายแล้วก่อนหน้านี้)

แล้วสร้างคำอธิบายใหม่ให้ดูสมจริง โดยอ้างอิงย้อนยุคถึงสุโขทัย 3 เรื่อง ดังนี้

1. นางนพมาศ ริเริ่มประดิษฐ์กระทงทำจากใบตอง (กล้วย) ก่อนหน้านั้นไม่มี

2. พระร่วงเจ้ากรุงสุโขทัย ทรงลอยกระทงครั้งแรก ก่อนหน้านั้นไม่มี

3. ลอยกระทง เนื่องในศาสนาพุทธ เพื่ออุทิศบูชาพระพุทธบาทซึ่งประดิษฐานยังนัมมทานที

สมุดไทยดำเรื่องนางนพมาศ ซึ่งกรมพระสมมตอมรพันธุ์ รับสั่งว่าเป็นลายพระหัตถ์ ร.3 (เจ้าพระยารัตนบดินทร์ มอบให้หอพระสมุดวชิรญาณ)

“หนังสือเรื่องนางนพมาศ ซึ่งฉันเข้าใจว่าพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชนิพนธ์”

(สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงมีลายพระหัตถ์ จาก Cinnamon Hall ที่ Penang เมื่อวันที่ 28 มีนาคม พ.ศ.2479 ถึงพระยาอนุมานราชธน ในหนังสือ ให้พระยาอนุมาน : มูลนิธิเสฐียรโกเศศ-นาคะประทีป จัดพิมพ์ เมื่อ 14 ธันวาคม 2521 หน้า 56)

หลักฐานประวัติศาสตร์โบราณคดีไม่สนับสนุนคำอธิบายทั้ง 3 เรื่องนั้น [รายละเอียดมีในหนังสือ ไม่มีนางนพมาศ ไม่มีลอยกระทง สมัยสุโขทัย สำนักพิมพ์มติชน พิมพ์ครั้งที่สาม พ.ศ.2545] จะสรุปมาดังนี้

1. นางนพมาศเป็นหนังสือมีนิยายแต่งใหม่สมัย ร.3 เป็นคู่มือลูกสาวผู้ดีที่ถวายตัวเข้ารับราชการในวัง เป็นสนมนางบำเรอ

2. ลอยกระทง สมัยกรุงเทพฯ สืบจากลอยโคมในน้ำไหล สมัยอยุธยา ซึ่งมีพัฒนาการจากพิธีกรรมขอขมาน้ำและดิน ยุคดึกดำบรรพ์

3. ลอยกระทง มีรากเหง้าเนื่องในศาสนาผี ไม่พุทธ แต่สมัยหลังโยงให้เกี่ยวกับพุทธ

2

กระทงใบตองเก่าสุดในกัมพูชา

ภาชนะใส่เครื่องเซ่นผีของราชสำนักกัมพูชา พัฒนาเป็นกระทงใบตอง ราว พ.ศ.1750 จากเดิมใช้กาบกล้วยและวัสดุลอยน้ำอื่นๆ

กระทงใบตอง มีในภาพสลักบนระเบียงปราสาทบายน (นครธม) แบ่งภาพสลักเป็น 2 ส่วนบนพื้นที่เดียวกัน คือ ส่วนบนกับส่วนล่าง

ส่วนบน สลักเป็นรูปพระราชากับเจ้านาย อยู่บนเรือลอยน้ำ มีฝูงปลาและไม้น้ำ

ส่วนล่าง สลักเป็นรูปสตรีคล้ายนางสนมกำนัล 6 คน นั่งคุกเข่าราบกับพื้น บ้างพนมมือ บ้างประคองกระทง บ้างยกกระทงใบตองขึ้นจบหน้าผาก กระทงจีบเหมือนที่เรียกกันว่าบายสีปากชาม

เอกสารเก่าของกัมพูชาสมัยหลังๆ เรียกพิธีเดือน 12 ว่าลอยประทีป และไหว้พระแข (แข แปลว่า พระจันทร์)

สระน้ำในเมืองเก่าสุโขทัย ไม่ขุดไว้ลอยกระทง

สุโขทัย เมืองแล้งน้ำ ตั้งบนที่ดอนเชิงเขา จึงต้องขุดตระพังเก็บน้ำ

ตระพังในเมืองเก่าสุโขทัย เป็นสระน้ำศักดิ์สิทธิ์ประจำวัดกับวัง เพื่อกักเก็บน้ำไว้ใช้ในชีวิตประจำวัน ไม่ได้ขุดไว้ลอยกระทง หรือเผาเทียนเล่นไฟ

ลอยกระทง เป็นประเพณีของบริเวณที่ราบลุ่ม มีน้ำไหล

“การเสริมสร้างประเพณีใหม่ๆ ขึ้น ณ แหล่งโบราณสถาน เพื่อวัตถุประสงค์ทางการท่องเที่ยว เช่น การจัดลอยกระทงที่สุโขทัย มิใช่ความผิด——-

แต่ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องควรได้ตระหนักถึงความจริงทางประวัติศาสตร์ที่เราต้องรับผิดชอบส่งต่อให้สาธารณชน ว่าประเพณีนี้ที่สุโขทัยเป็นของปรุงแต่งขึ้นในปัจจุบันนี้เท่านั้น

ไม่เคยมีหลักฐานใดๆในประวัติศาสตร์สุโขทัย ว่าการลอยกระทงเป็นประเพณีรื่นเริงของชุมชนซึ่งตั้งหลักแหล่งอยู่ในที่แล้งน้ำโดยธรรมชาติ จนต้องจัดระบบหาทางนำน้ำมาใช้ ซึ่งเราได้เห็นประจักษ์พยานจากสิ่งก่อสร้างบนผิวดินอันปรากฏร่องรอยอยู่ชัดเจน”

(ธิดา สาระยา : การอนุรักษ์สุโขทัยฯ ในวารสารเมืองโบราณ ปีที่ 13 ฉบับที่ 3 กรกฎาคม-กันยายน 2530 หน้า 22)

ขอขมาธรรมชาติ ในศาสนาผี

ลอยกระทง มีต้นทางจากประเพณีพิธีกรรมประจำฤดูน้ำหลากท่วมท้น เนื่องในศาสนาผี ราว 3,000 ปีมาแล้ว เพื่อขอขมาเจ้าแม่ที่สิงอยู่ในน้ำและดิน (ก็คือขอขมาธรรมชาติ) ปีละครั้ง

ยุคดั้งเดิม พิธีขอขมาเริ่มเมื่อน้ำหลากท่วมราวกลางเดือน 11 ต่อเนื่องถึงเดือน 12 แล้วสิ้นสุดพิธีเมื่อน้ำค่อยๆ ลดเมื่อเดือนอ้าย (เดือน 1)

ต่อมาเปลี่ยนไปเริ่มก่อนกลางเดือน 12 ไม่มีกำหนดเลิกเมื่อไร? แต่ปัจจุบันกำหนดตายตัววันเดียวคือกลางเดือน 12

เหตุที่ต้องขอขมาก็เพราะคนเราเชื่อว่าได้ล่วงเกินเจ้าแม่และดื่มกินข้าวปลาอาหารเลี้ยงชีวิตตลอดปีจากน้ำและดิน

เจ้าแม่ คือ ผีน้ำ ผีดิน ที่สิงอยู่ในน้ำและดิน บางทีเรียกว่าผีเชื้อ แต่คนบางกลุ่มออกเสียงเป็นผีเสื้อ (คำว่าเชื้อ ออกเสียงเป็น เสื้อ)

มีร่องรอยอยู่ในคำสอนของพวกไทดำ (ในเวียดนาม) ว่า “กินข้าวอย่าลืมเสื้อนา กินปลาอย่าลืมเสือน้ำ”

“กินข้าว อย่าลืมเสื้อนา” หมายความว่าเมื่อกินข้าวอย่าลืมผีเจ้าแม่ที่สิงอยู่ในท้องนา ซึ่งปลูกข้าวเติบโตออกรวงมีเมล็ดให้คนกิน

“กินปลา อย่าลืมเสื้อน้ำ” หมายความว่าเมื่อกินปลาก็อย่าลืมผีเจ้าแม่ที่สิงอยู่ในน้ำ