เพิ่งรู้! ข้อปฏิบัติสำหรับอาการ “ลมผิดเดือน”ของ “ผู้หญิงล้านนา” หลังคลอด

อ่านเป็นภาษาล้านนาว่า “ลมผิดเดือน”

ลมผิดเดือน เป็นอาการที่เกิดกับสตรีหลังคลอดแล้วไม่ปฏิบัติตามข้อห้ามและข้อปฏิบัติ ซึ่งวัฒนธรรมล้านนาเรียกว่า “อยู่เดือน” หรือ อยู่ไฟ

โบราณว่าสาเหตุของการเจ็บป่วยด้วยโรคลมผิดเดือนเนื่องมาจากการ “กินผิด สาบผิด อยู่ผิด” ในช่วงเวลาหลังคลอดบุตร ทำให้เลือดลมภายในร่างกายแปรปรวนเกิดอาการไม่สบายซึ่งจะเกิดตามมาแบบเรื้อรังไม่หายขาด

อาการของ “ลมผิดเดือน” ได้แก่ วิงเวียนศีรษะ คลื่นไส้อาเจียน ปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ ในข้อในกระดูก บวมบริเวณใบหน้า เป็นต้น

อาการดังกล่าวเกิดขึ้นได้ทั้งระหว่างอยู่ในเดือน หลังออกเดือนหรือแม้แต่อายุมากขึ้น

การคลอดบุตรในอดีตจึงถือเป็นเรื่องใหญ่และสำคัญอย่างยิ่งสำหรับผู้เป็นแม่ ครอบครัวและชุมชน

ในวัฒนธรรมล้านนามีข้อปฏิบัติสำหรับผู้หญิงหลังคลอดหรือภาษาล้านนาเรียกว่า “แม่ก๋ำเดือน” ที่มีทั้งการรักษาและการป้องกันสุขภาพในระยะยาวของแม่และเด็ก

แนวคิดของคนล้านนาเชื่อว่าสตรีในขณะที่ตั้งครรภ์ไปจนถึงขณะคลอดระบบเลือดลมภายในร่างกายจะเสียสมดุล โดยเฉพาะภาวะหลังคลอดเนื่องจากการเสียเลือดมากระหว่างคลอด

ดังนั้น ภาวะดังกล่าวจึงต้องมีวิถีการปฏิบัติอย่างเคร่งครัด เพื่อให้แม่และลูกมีชีวิตอยู่รอดปลอดภัย ไม่เจ็บไม่ไข้ไม่เสียชีวิตขณะคลอดหรือหลังคลอด

การอยู่เดือนของ “แม่ก๋ำเดือน” มีการปฏิบัติคล้ายกับพระสงฆ์ที่อยู่กรรม คือการอดทนอดกลั้นที่จะไม่ทำอะไรตามใจตน

แบ่งออกเป็น 2 อย่างคือ

การอยู่เดือนไฟ คือ แม่ก๋ำเดือนจะอยู่ข้างกองไฟตลอด โดยสามีจะเป็นคนที่สร้างแม่ชีไฟ คือกระบะสี่เหลี่ยมที่ใส่ดินเหนียวเอาไว้ ความกว้างของกระบะนั้นแล้วแต่จะสร้างขึ้น เมื่อใส่ดินเหนียวแล้วก็จะมีก้อนเส้าตั้งข้างบน เพื่อเอาไว้เป็นที่ต้มยา หรือว่านน้ำให้แม่ก๋ำเดือนกินและก็มีแคร่ไม้ไผ่สำหรับแม่ก๋ำเดือนนอนอยู่

ทั้งหมดนี้จะสร้างอยู่ในห้องๆ หนึ่งสำหรับแม่ก๋ำเดือนระยะหลังมาเห็นว่าการอยู่เดือนไฟนั้นยุ่งยาก ไม่ค่อยสะอาดเท่าที่ควรและก็มีการแยกห้องครัว หรือว่าแม่ชีไฟออกจากตัวบ้าน

การอยู่เดือนไฟจึงมีความนิยมน้อยลงเปลี่ยนมาเป็นการอยู่เดือนแบบไม่มีกองไฟ

ในช่วงที่อยู่เดือนนี้ห้ามแม่ก๋ำเดือนลงเรือนตอนหัวค่ำหรือว่าตอนกลางคืน เพราะว่าแผลจากการคลอดหรือว่าร่างกายยังไม่เข้าที่เข้าทางไม่แน่น เรียกว่า “ส่าห่าง” ทำให้ผีมองเห็นเครื่องในได้ถนัด

และการที่แม่ก๋ำเดือนต้องโพกหัวอยู่ตลอดเวลานั้นเพราะป้องกันลมขึ้นหัวและยังต้องมีผ้าที่คาดท้องเพื่อป้องกันท้องใหญ่และหย่อน

จะมีการรักษาแผลจากการคลอดไปด้วย โดยใช้หัวไพลตำกับเกลือพอกบาดแผลเอาไว้

สาเหตุการเกิดอาการลมผิดเดือนเกิดจากการผิดสำแดง (อาการแพ้) กับสิ่งแวดล้อมของหญิงที่คลอดบุตร 3 ประการ ได้แก่

1. การ “กินผิด” หมายถึง พฤติกรรมการกินของหญิงหลังคลอดบุตรขณะที่อยู่เดือนรับประทานอาหารแสลงและอาหารที่เย็น หรือยาที่แสลงกับโรค กับธาตุ เช่น ของหมักดอง อาหารที่มีกลิ่นแรง เช่น น้ำปู ปลาร้า กะปิ เนื้อสัตว์ เนื้อวัวเนื้อควาย เป็นต้น ทำให้เกิดอาการผิดสำแดง ในลักษณะต่างๆ เช่น วิงเวียนศีรษะ คลื่นไส้อาเจียน ปวดตามข้อ กล้ามเนื้อ ในรายที่เป็นรุนแรงอาจเป็นอัมพาตได้

2. การ “สาบผิด” หมายถึง สภาวะที่ร่างกายของหญิงหลังคลอดบุตรยังไม่แข็งแรงเนื่องจากเลือดลมที่ไม่ปกติ จึงทำให้มีภูมิต้านทานของร่างกายน้อยเมื่อได้รับกลิ่นหรือสูดดมกลิ่นไอควันที่เป็นพิษที่แสลงกับเลือดลม เช่น กลิ่นเผาขยะ กลิ่นควันรถยนต์ กลิ่นน้ำหอม กลิ่นสารเคมี เป็นต้น ทำให้เกิดอาการแพ้กลิ่นโดยทันที เช่น วิงเวียนศีรษะ คลื่นไส้อาเจียน ปวดศีรษะอย่างแรง ปวดตามข้อ กล้ามเนื้อ หน้ามืดตาลาย แน่นหน้าอก ผื่นขึ้น บวมบริเวณใบหน้า ในรายที่เป็นรุนแรงอาจชักสลบ ลิ้นกระด้างคางแข็ง

3. การ “อยู่ผิด” หมายถึง อาการแพ้ที่เกิดจากการที่หญิงหลังคลอดบุตรอาบน้ำเย็นหรือถูกน้ำเย็นซึ่งสภาวะร่างกายยังอ่อนแอและไม่สามารถปรับอุณหภูมิในร่างกายให้รับความเย็นของน้ำและสิ่งแวดล้อมภายนอกจึงทำให้เกิดอาการแพ้ เช่น หนาวสั่นผิดปกติ ปวดตามกล้ามเนื้อส่วนต่างๆ ของร่างกาย ในข้อในกระดูก เมื่ออากาศเย็นจัดจะทำให้มีอาการปวดศีรษะอย่างรุนแรง มือเท้าเย็นอยู่ตลอดเวลา โดยอาการเจ็บป่วยที่เกิดขึ้นนั้นเกิดจากการที่เลือดลมหรือธาตุลม ภายในร่างกายแปรปรวนทำให้เกิดการติดขัดของลมภายในร่างกายตามพื้นที่ว่างในกล้ามเนื้อและเส้นเอ็น การผิดสาบและการอยู่ผิดจะรักษายากกว่าการกินผิด

ปัจจุบันเป็นยุคสมัยของการคลอดในโรงพยาบาล สตรีหลังคลอดมักไม่เห็นความสำคัญของการดูแลรักษาสุขภาพของตนเองหลังคลอด โดยไม่ปฏิบัติตามข้อห้ามและข้อปฏิบัติทางวัฒนธรรมที่สั่งสมมาแต่อดีต

ทำให้เกิดอาการเจ็บป่วยเป็น “ลมผิดเดือน” กันมากขึ้น