มุมมองเกี่ยวกับ “ความรักชาติ” โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์

นิธิ เอียวศรีวงศ์

นิธิ เอียวศรีวงศ์ : ชาติ…ยอดรัก

“ความรักอันใด แม้รักเท่าไหน ยังไม่ยั่งยืน

เช่นรักคู่รัก แม้รักดั่งกลืน ยังอาจขมขื่น คืนได้ภายหลัง

แต่ความรักชาติ รักแสนพิศวาส รักสุดกำลัง

ก่อเกิดมานะ ยอมสละชีวัง รักจนกระทั่ง หมดเลือดเนื้อเรา…”

ภายใต้เผด็จการทหารหลัง 2490 สืบมาจนแก๊งสามจอมพล สฤษดิ์-ถนอม-ประภาส เพลง “รักชาติ” ของหลวงวิจิตรวาทการถูกเปิดในวิทยุราชการทุกวัน และวันละหลายครั้ง เพราะ “ชาตินิยม” เป็นความชอบธรรมที่เหลืออยู่เพียงอย่างเดียวของระบอบเผด็จการทั้งหลาย

เนื้อเพลงนี้ถูกผู้ที่ต่อต้านจอมพล ป. และหลวงวิจิตรฯ ล้อเลียนในทำนองว่า ความรักชาติถูกทำให้กลายเป็นความรักโรแมนติกระหว่างหนุ่ม-สาว เพราะถ้อยคำที่แสดงความรักชาติทั้งหมดในเนื้อเพลงใช้เป็นคำรำพันของชายหนุ่มแก่หญิงสาวก็ได้เหมือนกัน

แต่นักวิชาการในปัจจุบันหลายคนยอมรับว่าความรักโรแมนติกของหนุ่ม-สาวนั่นแหละคือแบบจำลองที่ใกล้เคียงที่สุดของความรักชาติในลัทธิชาตินิยม อันเป็นลัทธิที่เพิ่งเกิดมีในโลกไม่กี่ร้อยปีมานี้เอง

(แตกต่างจากความรักบ้านเกิดเมืองนอน หรือ patriotism ซึ่งก็คือรักลูกรักเมียวงศาคณาญาติและเพื่อนฝูงเพื่อนบ้านกับวิถีชีวิตที่เคยชิน ดังความรู้สึกของชาวบ้านบางระจัน เป็นอารมณ์ความรู้สึกซึ่งมีมาแต่โบร่ำโบราณในทุกสังคมมนุษย์)

แม้ว่าตัวลัทธิแทบไม่มีหลักการอะไรที่ลึกซึ้งพอจะอธิบายแจกแจงได้ แต่ลัทธิชาตินิยมอาศัยการปลุกเร้าอารมณ์ความรู้สึกทั้งที่มีมาก่อนแล้ว และสร้างอารมณ์ความรู้สึกใหม่ๆ ขึ้น เพื่อก่อกำเนิดและผดุงลัทธิชาตินิยมเอาไว้ เช่น ความรักหวงแหนถิ่นฐานบ้านเกิดดังที่กล่าวแล้ว ก็ใช้เป็นส่วนหนึ่งของอารมณ์ความรู้สึกของชาตินิยมได้ ความรักพวกพ้องถูกขยายออกเป็นความรักที่มีต่อเพื่อนร่วม “ชาติ” ซึ่งเพิ่งถูกนิยามขึ้นใหม่ว่าคือใครบ้าง

และอย่างที่อาจารย์เบน แอนเดอร์สันได้ชี้ให้เห็นแล้วว่า ส่วนใหญ่จนเกือบทั้งหมดของ “เพื่อนร่วมชาติ” คือคนที่เราไม่รู้จัก ไม่เคยเห็นหน้า ไม่มีอะไรเกี่ยวกันเลย (หรือเกี่ยวเท่ากับคนที่ไม่ใช่ “เพื่อนร่วมชาติ” ซึ่งอยู่พ้นเขตแดนออกไป) เพียงแต่เราถูกทำให้จินตนากรรมว่ามีอยู่จริง และเกี่ยวกับเราอย่างแนบแน่น ดังนั้น ปัญหาคือ ลัทธิชาตินิยมจะสร้างอารมณ์ความรู้สึกของผู้คนที่พึงมีต่อ “เพื่อนร่วมชาติ” ที่จับต้องไม่ได้เหล่านี้อย่างไร คำตอบคือสร้างขึ้นโดยเทียบเทียมกับความรู้สึกใหม่ของ “ความรัก” ระหว่างหนุ่ม-สาวนี่แหละ

เพราะความรู้สึกใหม่นี้มีพลังกำกับพฤติกรรมของบุคคลอย่างมากจนน่าอัศจรรย์

เบน แอนเดอร์สัน

ผมเรียกความรักประโลมโลกย์ระหว่างหนุ่ม-สาวเช่นนี้ว่าเป็นความรู้สึกใหม่ เพราะมันใหม่จริงๆ คือคนแต่ก่อน (ประมาณคริสต์ศตวรรษที่ 17 ขึ้นไป) ไม่มีอารมณ์ความรู้สึกแบบนี้ หากบังเอิญเกิดมีขึ้นในนิยาย ก็อธิบายมันไม่ได้ ต้องอธิบายด้วยไสยศาสตร์เวทมนตร์ เช่น ปู่เจ้าสมิงพราย หรือปะตาระกาหลา หรือแรงบุญแรงกรรมแต่อดีตชาติ

ความรักประโลมโลกย์แบบนี้ประกอบด้วยบุคคลที่เป็นปัจเจกอย่างสุดโต่งสองคน เป็นปัจเจกเพราะหลุดลอยออกมาจากเงื่อนไขอื่นๆ ในชีวิต (หรือสังคมที่เป็นจริง) เช่น โรเมโอและจูเลียต ต่างดิ้นรนให้หลุดจากข้อผูกมัดของตระกูลซึ่งเป็นศัตรูกันมาหลายชั่วโคตร คุณหญิงกีรติใน “ข้างหลังภาพ” มีสามีแล้ว เช่นเดียวกับภัคคินีใน “แผ่นดินของเรา”

ยิ่งกว่าข้อผูกมัดส่วนบุคคล ความรักประโลมโลกย์ยังติดปีกให้บุคคลบินข้ามข้อผูกมัดของศาสนา, ชนชั้น และชาติพันธุ์ได้อย่างอิสรเสรี

เช่นเดียวกับความรู้สึก “รักชาติ” ที่ลัทธิชาตินิยมสร้างขึ้น เพราะชาติไม่สัมพันธ์เชื่อมโยงกับกลุ่มคน ไม่ว่าจะเป็นศาสนิก, อาชีพ, เพศ, เชื้อสาย, ฐานันดร ฯลฯ ดังนั้น ชาติจึงถือว่าพลเมืองทุกคนเป็นปัจเจกและพึงได้รับความรักจากชาติเท่าๆ กันและเหมือนๆ กัน สังคมอาจยกย่องคนบางกลุ่มบางเหล่าให้มีเกียรติสูงกว่าคนอื่น แต่ชาติไม่มอบหัวใจของตนให้แก่ใครในกลุ่มคนเหล่านั้นเป็นพิเศษ เพราะชาติไม่มองคนเป็นกลุ่ม หากมองเป็นคนๆ ไป หรือมองเป็นปัจเจก

ในทางกลับกัน พลเมืองก็พึงมีความรู้สึกต่อชาติเป็นปัจเจกเหมือนกัน ต่างรักชาติอย่าง “แสนพิศวาส” ดังเพลงของหลวงวิจิตรฯ จึงพร้อมจะยอมเสียสละทุกอย่างเพื่อชาติได้จน “หมดเลือดเนื้อเรา” ไม่ว่าจะเป็นเชื้อสายวงศ์ตระกูล, ชนชั้น หรือแม้แต่ถิ่นฐานบ้านเกิดของตนเอง

ปัจเจกจึงมีปีกบินไปรักชาติได้ข้าม “กลุ่ม” ที่ตนสังกัดอยู่ ไม่ต่างจากความรักประโลมโลกย์ของหนุ่ม-สาว

ความรักขนาดที่สามารถอุทิศตนให้แก่ชาติได้เช่นนี้ ไม่มีความรู้สึกอะไรของมนุษย์จะเทียบได้มาก่อน ยกเว้นความรู้สึกที่มีต่อศาสนา (พระเจ้า, ศาสดา, พระคัมภีร์ ฯลฯ) ด้วยเหตุดังนั้น เมื่อลัทธิชาตินิยมเกิดขึ้น จึงมักต้องเผชิญกับคู่แข่งที่น่ากลัวคือศาสนา

วิธีที่ชาติจะเอาชนะศาสนาได้มีอยู่สองวิธี นั่นคือ หากศาสนาเคยเป็นใหญ่และอิสระจากรัฐ เมื่อชาติแย่งรัฐมาได้แล้ว ก็แยกรัฐออกจากศาสนา แล้วปล่อยให้ศาสนาต่อสู้เอาตัวรอดเองอย่างหนึ่ง หรืออย่างที่สอง หากศาสนาเคยเป็นรองรัฐมาก่อน ก็ผนวกรวมเอาศาสนามาเป็นส่วนหนึ่งของชาติ แล้วคอยกำกับให้ศาสนาต้องส่งเสริมชาติตลอดไป

กว่าที่ชาติจะแย่งชิงคนจากครอบครัว, ชนชั้นหรือศาสนาให้ออกมาเป็นปัจเจก เพื่อรักชาติโดยตรงเพียงอย่างเดียวนั้น ต้องผ่านความลังเลต่อสู้และเจ็บปวดมาไม่น้อย สะท้อนให้เห็นในนิยายที่ลูกซึ่งเป็นตำรวจต้องไปจับพ่อซึ่งเป็นโจร เมียซึ่งต้องประกาศให้ลงโทษผัวฐานทรยศต่อชาติ ฯลฯ

ความรักประโลมโลกย์ของหนุ่ม-สาวที่จำลองมาเป็นความรักชาตินั้นมีอันตรายอยู่เหมือนกัน เพราะความรักระหว่างปัจเจกบุคคล แม้มีความแน่นแฟ้นพอจะเสียสละให้แก่กันได้ทุกอย่างแล้ว ยังมักมีสำนึกความเป็นเจ้าของแฝงอยู่อย่างชัดเจนด้วย เพราะฉันรักเธอสุดหัวใจ เธอจึงต้อง… อย่างนั้น อย่างนี้… ให้คุ้มกับความรักที่ฉันได้ให้เธอไป ชาติก็โดนอย่างเดียวกัน

ดังนั้น เมื่อชาติกลายเป็นที่รักสุดหัวใจของพลเมืองแล้ว พลเมืองไม่วายต้องการเข้าครอบครองชาติเพื่อให้เป็นไปตามความปรารถนาของตน ยิ่งรักชาติมากก็ยิ่งอยากเป็นเจ้าของมาก และมักจะ “เจ้ากี้เจ้าการ” กับชาติ แม้ในเรื่องที่ครั้งหนึ่งไม่มีใครเห็นว่าสำคัญนัก เช่น เมื่อดิกชันนารีฝรั่งบอกว่ากรุงเทพฯ เป็นเมืองที่เต็มไปด้วยโสเภณี คู่รักของชาติพากันโกรธแค้น เคลื่อนไหวกดดันจนกระทรวงการต่างประเทศต้องส่งหนังสือประท้วงบริษัทที่ทำดิกชันนารีนั้น หรือเมื่อนายกฯ ไทยพูดภาษาอังกฤษไม่เป็น ได้แต่ชัวร์, ชั่วร์, ชั้วร์, ไปเรื่อย คู่รักของชาติจำนวนมากก็รู้สึกอับอายขายหน้า ว่าทำให้ชาติอันเป็นคู่รักของตนเสียหน้า อาจเป็นที่ดูถูกเหยียดหยามของคนชาติอื่นได้

ก็เป็นเจ้าของนี่ครับ จะให้ทนตากหน้าไปกับคู่รักแบบนี้ได้อย่างไร

ชาตินิยมซึ่งเผด็จการทหารมักใช้เป็นเครื่องให้ความชอบธรรมแก่ตนเอง แม้ทำให้คนยอมรับอำนาจเถื่อนของกองทัพ แต่ก็สร้างภาระขึ้นแก่เผด็จการเหมือนกัน

มักเชื่อกันว่า ความรักประโลมโลกย์ของหนุ่ม-สาวนั้นเป็นความรู้สึกตามธรรมชาติของมนุษย์ มีมาตั้งแต่แรกมีมนุษย์บนโลก และจะมีตลอดไปชั่วกัลปาวสาน ความรักชาติของลัทธิชาตินิยมก็เหมือนกัน มักอ้างว่าเป็นความรู้สึกหรือสำนึกตามธรรมชาติ มีมาแต่บรมสมกัลป์ เพราะไปอ้างความรู้สึกอื่นเป็นความรักชาติของชาตินิยมไปหมด (เช่น ความรักถิ่นฐานบ้านเกิด – patriotism ดังที่กล่าวแล้ว) และจะมีอยู่เช่นนี้ไปชั่วกัลปาวสานเหมือนกัน (แต่เพียงแค่เป็นสมาชิก WTO อย่างเดียว ก็ต้องลดหรือเปลี่ยนสำนึกความเป็นเจ้าของชาติไปตั้งแยะแล้ว)

การแต่งงานแบบคลุมถุงชนเป็นที่รังเกียจของความรักประโลมโลกย์ เพราะความรักประโลมโลกย์เรียกร้องให้ปัจเจกต้องมีเสรีภาพในการเลือกด้วย ว่ากันว่าจะได้ทำให้เกิดความรักที่มั่นคงถาวร ชาติก็อ้างเสรีภาพในการเลือกเช่นกัน เพียงแต่ก่อนที่พลเมืองจะใช้เสรีภาพนั้น ชาติขอเวลาในการกล่อมเกลาเยาวชนด้วยวิธีอันแนบเนียนต่างๆ ก่อน จนในที่สุดทุกคนก็เลือกจะเป็นคู่รักของชาติโดยรู้สึกว่าได้เลือกโดยอิสรเสรีแล้ว เราอาจรู้สึกว่าได้เลือกคู่รักคนนี้อย่างอิสรเสรีเสียยิ่งกว่าเลือกศาสนาด้วยซ้ำ

แต่อิสรเสรีจริงหรือไม่นั้นยกไว้ก่อน แม้แต่การแต่งงานก็เช่นกัน นิตยสารเพลย์บอยเคยสำรวจคู่สมรสในสหรัฐแล้วพบว่า กว่าครึ่งของผัว-เมียในเขตเมือง มีบ้านอยู่ห่างกันไม่เกิน 3 บล๊อกตอนเป็นหนุ่ม-สาว ตกลงเราเลือกคู่โดยเสรี หรือเลือกภายใต้เงื่อนไขอย่างใดอย่างหนึ่งกันแน่ก็ไม่ทราบเหมือนกัน แต่ความรู้สึกว่าได้เลือกโดยเสรีนั้นสำคัญมาก เพราะทำให้สามารถประกาศได้ว่า “ลูกจีนรักชาติ”

อย่างไรก็ตาม ความรักประโลมโลกย์แบบหนุ่ม-สาวในโลกสมัยปัจจุบัน ถูกท้าทายด้วยความเปลี่ยนแปลงมากขึ้น เช่น ถึงรักกันปานจะกลืนจะกินก็ไม่จำเป็นต้องแต่งงานกัน การแต่งงานซึ่งครั้งหนึ่งเป็นจุดจบของความรักหวานฉ่ำอาจไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งที่ขาดไม่ได้เสียแล้ว แม้แต่การมีเพศสัมพันธ์ก็อาจไม่ใช่จุดหมายของความรักประโลมโลกย์เสียแล้ว (อย่างที่เขาว่ากันว่าหญิง-ชายญี่ปุ่นปัจจุบันเป็นอย่างนั้น) ถ้าอย่างนั้นความรักหนุ่ม-สาวกับความรักเพื่อนฝูงก็ไม่ต่างอะไรกัน

ความรักชาติแบบชาตินิยมกำลังถูกท้าทายในโลกสมัยใหม่เหมือนกัน มี “คนใหม่” หลากหลายซึ่งเรียกร้องความรักประโลมโลกย์จากผู้คนแข่งกับชาติ ซ้ำ “คนเก่า” ยังอาจฟื้นคืนชีพมายั่วยวนใจผู้คนให้หันมารักแทนชาติด้วย ดังที่อาจารย์เกษียร เตชะพีระ เขียนในเฟซบุ๊กของท่านว่า “…ทว่านอกจากความกลัว คนเราก็มีความรักด้วย รักตัวเอง รักครอบครัว รักญาติมิตร รักส่วนรวม รักความถูกต้องเป็นธรรม…”

ในภาษาของผม ความรักอย่างแรกคือ patriotism หรือความรักถิ่นฐานบ้านเกิดซึ่งมนุษย์มีมาแต่โบราณ ก่อนจะมีชาติขึ้น ส่วนอย่างหลังคืออุดมการณ์ทางสังคมและการเมือง ซึ่งเกิดขึ้นมาช่วงชิงความภักดีของผู้คนจากชาติในโลกสมัยใหม่ (แทนศาสนาซึ่งรัฐ “เอาอยู่” ไปนานแล้ว) เช่น มาร์กซิสต์, การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม, สันติภาพ, ประชาธิปไตย ฯลฯ

ด้วยเหตุดังนั้น ประสิทธิภาพของลัทธิชาตินิยมในการแสวงหาความชอบธรรมแก่เผด็จการทหารจึงได้ผลน้อยลง ซ้ำร้ายไปกว่านั้น คนที่รู้จักความรักอยู่อย่างเดียวคือรักชาติ โดยไม่รู้จักความรักอื่นๆ ที่คนในโลกปัจจุบันต่างแบ่งปันความรักจากชาติไปให้ จึงกลายเป็นคนโง่แบบไร้เดียงสา (ignorant ไม่ใช่ dumb) และกลายเป็นตัวตลกประจำชาติไปอย่างน่าสมเพช