ปริศนาโบราณคดี : 65 ปี “โยนบก” 6 ตุลา “โยนบาป”

เพ็ญสุภา สุขคตะ

65 ปี “โยนบก” 6 ตุลา “โยนบาป”

เดือนตุลาคม นอกจากจะเป็นสัญลักษณ์ของการต่อสู้ทางการเมืองในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของกระบวนการเรียกร้องประชาธิปไตยที่เรารู้จักกันดี 2 เหตุการณ์สำคัญ คือ 14 ตุลาคม 2516 กับ 6 ตุลาคม 2519 ซึ่งเหตุการณ์แรกในปีนี้ครบรอบ 45 ปี แล้วนั้น

ยังมีอีกหนึ่งเหตุการณ์สำคัญที่เกิดขึ้นในช่วงเดือนตุลาคม ซึ่งหากนับระยะเวลามาจนถึงปัจจุบันนี้ก็มีอายุครบ 65 ปีพอดี เหตุการณ์นั้นคือ การจับนักคิดนักเขียนนักขับเคลื่อนประชาธิปไตยนามอุโฆษของเมืองไทย “จิตร ภูมิศักดิ์” ทำการ “โยนบก” ในหอประชุมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ซ้ำเหตุการณ์อัปยศ 6 ตุลา 2519 หรือที่เรียกแบบขมขื่นว่า “วันปิดประตูตีแมว” “วันฟาดเก้าอี้” หรือ “วันโยนบาป” ได้อุบัติขึ้นอีกครั้งอย่างลอยนวล ราวกับเป็นแผ่นเสียงตกร่อง ที่ผู้แสดงกลุ่มเดิมยังสะใจไม่พอกับเหตุการณ์ “โยนบก” จิตร ภูมิศักดิ์ เมื่อเดือนตุลาคม 2496

หนังทั้งสองเรื่องนี้ แท้ก็คือการลงทัณฑ์อย่างรุนแรงของกลุ่มคนผู้กลัวการสูญเสียอำนาจ ที่กระทำต่อบุคคลที่คิดเห็นต่างทางการเมือง ดังวลีที่ว่า

“ผิดไปจากนี้ มิใช่เรา!”

จาก “โยนน้ำ” สู่ “โยนบก”

เดิมนั้นธรรมเนียมการลงโทษนิสิตจุฬาฯ ที่ประพฤติตนผิดแบบแผนของสถาบัน (บางคณะ) รุ่นพี่มักจะทำโทษรุ่นน้องที่แหกคอก ด้วยการจับไป “โยนน้ำ” ที่สระบัวใหญ่หน้าเสาธง ติดถนนพญาไทด้านหน้ามหาวิทยาลัย

อย่างไรก็ดี นิสิตเก่าหลายคนบอกว่าอย่าเรียกการกระทำเช่นนี้ว่า “ธรรมเนียม” หรือ “ประเพณี” เลย เพราะมันฟังดูยิ่งใหญ่เกินไป ควรใช้คำว่า “ศาลเตี้ย” จะเหมาะสมกว่า

แต่ก็ใช่ว่าเหตุการณ์ “โยนน้ำ” นี้จะเกิดขึ้นได้ง่ายๆ หรือบ่อยครั้ง เพราะมันค่อนข้างสุ่มเสี่ยงต่อความเป็นความตายไม่น้อย หากคนที่ถูกโยนน้ำเกิดว่ายน้ำไม่เป็นขึ้นมา ใครจะรับผิดชอบ?

จุดนี้เอง ทำให้มีนิสิตคนหนึ่งกล้าเขียนบทวิจารณ์ “ประเพณีโยนน้ำ” ของชาวจุฬาฯ ว่าสมควรยกเลิกไปได้แล้ว เพราะมันล้าสมัย ป่าเถื่อน หากบทความชิ้นนั้นมันถูกเก็บอยู่บนหิ้งหนังสือก็คงจบ จิตร ภูมิศักดิ์ ก็คงไม่ต้องพบกับเหตุการณ์ “โยนบก”

ทว่า มันเป็นหนึ่งใน “บทความต้องห้าม” ที่ได้รับการตีพิมพ์ในวารสารประจำปีของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยถือเอาวัน “ปิยมหาราช” 23 ตุลาคม ของทุกปีเป็นวันออกวารสาร

ซึ่งปี 2496 “จิตร ภูมิศักดิ์” นิสิตชั้นปี 3 คณะอักษรศาสตร์ รับหน้าที่เป็นบรรณาธิการหรือที่เรียกกันยุคนั้นว่า “สาราณียกร”

นอกเหนือจาก “บทความต้องห้าม” เรื่องการไม่เห็นด้วยกับประเพณีโยนน้ำแล้ว ในฐานะสาราณียกร จิตร ภูมิศักดิ์ ยังกล้าเปิดพื้นที่รับพิจารณาตีพิมพ์ “บทความขบถ” ที่ท้าทายอำนาจรัฐ ชนชั้นศักดินา และสถาบันหลักๆ เช่น ชาติ ศาสนา อีกหลายบทความ อาทิ

บทวิจารณ์ของนักเขียนอเมริกัน เปิดโปงความเสื่อมโทรมของสังคมไทยที่แอบลักลอบค้าฝิ่น และการฉ้อราษฎร์บังหลวงของรัฐบาล แปลโดย วรรณี นพวงศ์

เรื่อง “แปรวิถี” โดย ศรีวิภา ชูเอม เป็นการรวบรวมแนวคิดของนักปฏิวัติในฝรั่งเศส เช่น วอลแตร์ และรูสโซ

บทความของ “ประวุฒิ ศรีมันตระ” เรื่อง “ใครหมั่นใครอยู่ใคร เกียจคร้านตายเสีย” โดยยกเอาบาทสุดท้ายของโคลงสี่สุภาพที่กรมประชาสัมพันธ์ใช้ประณามชาวบ้านคนทุกข์คนยากมาเป็นชื่อบทความ เป็นการตอบโต้มุมมองที่ว่าคนจนคือ “ผู้เกียจคร้าน” ด้วยรัฐบาลกำลังชี้นำประชาชนให้หันไปยกย่องสดุดีพวกมั่งมีศรีสุขว่าเป็นเพราะพวกเขามีความขยันขันแข็ง

บทความของประวุฒิได้ชักชวนให้นิสิตน้อมรำลึกถึงกรรมกร คนงานที่สร้างตึกจุฬาลงกรณ์ และคุณของประชาชนผู้เสียภาษี

หนึ่งในบทกวีที่ จิตร ภูมิศักดิ์ ขอมาร่วมตีพิมพ์ในวารสารมีชื่อว่า “ในนิมิต” แต่งโดยกวีหญิงคนสำคัญ “อุชเชนี” (นิด นรารักษ์/ประคิน ชุมสาย ณ อยุธยา) ก็พลอยถูกวิจารณ์ว่าเป็นกวีที่ชอบเรียกจันทร์ข้างแรมว่า เคียวเดือน (ในชิ้นขอบฟ้าขลิบทอง ไม่ใช่ชิ้นในนิมิต) เหตุเพราะสัญลักษณ์ “ฆ้อน-เคียว” นั้นเป็นคำล่อแหลม จึงถูกเหมารวมจากสาวกลัทธิอนุรักษนิยมประณามว่าเป็น “กลอนคอมมิวนิสต์”

เพื่อโค้งเคียวเรียวเดือนและเพื่อนโพ้น

เพื่อไผ่โอนพลิ้วพ้อล้อภูผา

เพื่อรวงข้าวพราวแพร้วทั่วแนวนา

เพื่อขอบฟ้าขลิบทองรองอรุณ

แต่ชนวนสำคัญที่ทำให้วารสารเล่มนั้นไม่สามารถคลอดได้ตามกำหนด ซ้ำถูกสั่งแบนตั้งแต่อยู่ในโรงพิมพ์ คือผลงานสามชิ้นของ จิตร ภูมิศักดิ์ เอง กอปรด้วย

เรื่องสั้น “ขวัญเมือง” เนื้อหาสะท้อนภาพผู้หญิงที่ยึดมั่นในภารกิจทางประวัติศาสตร์และการเมืองเป็นเป้าหมายของชีวิต

บทกวี “เธอคือหญิงรับจ้างแท้ใช่แม่คน” จิตรใช้นามปากกว่า “ศูล ภูวดล” เป็นบทกวีสะท้อนปัญหาสังคมชายหญิงที่หลงระเริงในกามารมณ์จนเกิดตั้งครรภ์ โดยไม่รับผิดชอบลูกที่เกิดมา

และชิ้นสุดท้าย ชื่อยาวเหยียด 4 บรรทัด ใช้นามปากกาว่า “นาครทาส” รู้จักและเรียกกันใหม่ว่า “ผีตองเหลือง” ไม่ใช่งานเขียนแนวมานุษยวิทยา และไม่เกี่ยวกับชนเผ่ามลาบรีที่ อ.เวียงสา จ.น่าน แต่อย่างใด

หากเป็นการเปรียบเทียบ ภิกษุที่ประพฤติตนผิดพระธรรมวินัย อาศัยผ้าเหลืองหลอกเรี่ยไรเงินบุญจากผู้ศรัทธาอย่างไร้สติ ไม่ต่างอะไรไปจาก “ผี” ในคราบ “ผ้าเหลือง”

งานสองชิ้นหลัง ถูกตั้งข้อกล่าวหาอย่างรุนแรง ว่าดูถูกคนเพศแม่และหมิ่นศาสนา ทั้งสองสิ่งนี้เป็นพฤติกรรมที่น่าหวาดกลัวของพวกฝักใฝ่คอมมิวนิสต์

เมื่อภาพรวมของวารสารเกือบทั้งหมดค่อนข้าง “ฉีกแนว” ไปจากขนบเดิมๆ ที่เคยทำกันมา จิตรจึงถูกสภามหาวิทยาลัยตั้งคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิสอบสวน

ผลการสอบสวนสรุปว่า จิตร ภูมิศักดิ์ มีความเลื่อมใสในระบอบลัทธิคอมมิวนิสต์ สภาจึงส่งเรื่องต่อไปยังตำรวจสันติบาล

ฝ่ายปกครองตั้งข้อกล่าวหาซ้ำว่าจิตร “มีความโน้มเอียงไปในทางคอมมิวนิสต์” และ “มีการกระทําที่ขัดต่อนโยบายของรัฐบาลไทยและสหรัฐอเมริกา”

วันที่ 23 ตุลาคม 2496 เป็นปีที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมีอายุครบรอบ 36 ปี แต่กลับไม่มีวารสารประจำปีออกมาแจกจ่ายให้แก่นิสิตดังเช่นทุกปี

จิตร ภูมิศักดิ์ ในฐานะสาราณียกร ทั้งๆ ที่อุตส่าห์ลงทุนยอมงดสอบกลางปีและเหนื่อยยากเดินหาทุนจัดพิมพ์วารสารเพิ่มจากงบฯ เดิมด้วยตัวเอง หวังให้หนังสือออกมามีคุณภาพเป็นที่พอใจของเพื่อนนิสิต กลับต้องกลายเป็นจำเลยของชาวจามจุรีโดยไร้ข้อแม้ เขาถูกบังคับให้ขึ้นเวทีชี้แจงถึงเบื้องหลังของการที่วารสารถูกแบน ในช่วงบ่ายของวันที่ 28 ตุลาคม ณ หอประชุมจุฬาฯ

แน่นอนว่าฝ่ายตรงข้ามย่อมไล่ต้อนตั้งแต่เรื่อง “หน้าปก” ที่ผิดแปลก เหตุเพราะวารสารทุกฉบับที่ผ่านๆ มาล้วนแต่อัญเชิญพระบรมฉายาลักษณ์ของล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ 5 มาเป็นภาพปก

ซึ่งจิตรแก้ต่างว่า ลงซ้ำบ่อยครั้งแล้ว น่าจะเปลี่ยนเป็นสัญลักษณ์อื่น เช่น รูปพระเกี้ยว อันเป็นตราประจำพระองค์ กับลายเซ็นพระราชหัตถเลขาว่า สยามินทร์ มาลงแทนบ้าง

จิตรจำต้องแถลงชี้แจงข้อข้องใจทีละประเด็น ถึงเหตุผลว่านึกพิเรนทร์อย่างไรจึงกล้านำบทความล่อแหลมแต่ละชิ้นเหล่านั้นมาตีพิมพ์ในวารสารประจำปีอันทรงเกียรติ

ในขณะที่กำลังอธิบายถึงบทความการต่อต้านประเพณี “โยนน้ำ” ได้มีนิสิตคณะวิศวกรรมศาสตร์กลุ่มหนึ่ง กระโจนขึ้นเวทีท่ามกลางเสียงเชียร์ของนิสิตฝ่ายนิยมโซตัส ตะโกนว่า “โยนน้ำ โยนน้ำ โยนน้ำ”

อา! บทความ “โยนน้ำ” ชิ้นนี้ช่าง “เข้าทาง” ฝ่ายตรงข้ามอย่างเหมาะเหม็ง นัยว่าเบื้องแรกนั้นคนกลุ่มนี้คิดจะลงโทษจิตรด้วยการจับไป “โยนน้ำ” (ตามประเพณี?)

แต่แล้วเมื่อเสียงตะโกนว่า “โยนน้ำ” แผ่วหายไป กลับมีเสียงแทรกขึ้นมาแทนว่า “โยนบก โยนบก โยนบก!” ไม่ทันไร ร่างของจิตรก็ถูกจับรวบเหวี่ยงโยนลงมาจากเวทีสูง ร่วงลงสู่พื้นหอประชุม

จิตรหมดสติ ถูกหามไปตรวจร่างกายที่โรงพยาบาลเลิดสิน และกลับไปพักรักษาตัวอยู่ที่บ้านนาน 4 เดือน ถูกสั่งพักการเรียน 1 ปีเต็มๆ ทั้งยังต้องไปให้การกับตำรวจทุกๆ สัปดาห์

สองในสามของนิสิตที่ก่อเหตุ “โยนบก” ถูกลงโทษด้วยระบบโซตัสสองมาตรฐาน เพียงแค่ให้เดินลงไปลุยสระน้ำครึ่งตัว ส่วนอีกคนเส้นใหญ่จึงลอยนวลไม่ถูกลงทัณฑ์ใดๆ

จาก “โยนบก” ถึง “โยนบาป”

โศกนาฏกรรม “โยนบก” ของ จิตร ภูมิศักดิ์ ถูกกลบให้ลบเลือนหายไปกับกาลเวลานานกว่าสองทศวรรษ กระทั่งได้รับการหยิบมาปัดฝุ่นกล่าวขานถึงใหม่ในช่วงเหตุการณ์ 14 ตุลา 16 จนถึง 6 ตุลา 19

ชีวิต ข้อคิด งานเขียน วีรกรรมของ จิตร ภูมิศักดิ์ เปรียบเสมือน “โคมชัย” ส่องไสวชี้ทางให้แก่นิสิต นักศึกษา ปัญญาชนรุ่นหลังให้ก้าวเดินตาม

แต่แล้วเหมือนฟ้าดับดาว โคมชัยมิดมืด

6 ตุลาคม 2519 วิธีการกำจัดคนที่คิดเห็นต่างไปจากระบอบอำมาตยาธิปไตย ได้หวนกลับมาร่ายมนต์ปีศาจอีกครั้ง

นั่นคือการ “โยนบาป” หลังจากปฏิบัติการหฤโหดหรรษ์ไม่ว่าจะเป็น “ผูกคอห้อยต่องแต่งใต้ต้นมะขาม” “ฟาดเก้าอี้” “เผานั่งยาง” “ลากประจานทั่วลานสนาม” ได้บังเกิดขึ้นท่ามกลางคนมุงดูหัวร่อร่า ไม่รู้หนาวรู้ร้อน

ราวกับเป็นประเพณีของอำมาตย์ คนสั่งฆ่าที่ชอบ “โยนบก-โยนบาป” ให้แก่ผู้ตายและผู้ร่วมชุมนุมว่าเป็นพวก “ผีคอมมิวนิสต์”

จับ จิตร ภูมิศักดิ์ “โยนบก” ยังไม่พอ ซ้ำเคย “โยนบาป” ให้ อาจารย์ปรีดี พนมยงค์ มาแล้ว กระทั่งถึงคราวของ “ชายชุดดำ”