ปริศนาโบราณคดี : ถอดรหัส ‘ม้าทรง’ พระบรมรูปพระเจ้าตาก ทำไม ‘หางชี้’ ทั้งที่ยืนนิ่ง

เพ็ญสุภา สุขคตะ
อนุสาวรีย์พระเจ้าตากสินมหาราช วงเวียนใหญ่ ธนบุรี กรุงเทพฯ

หมายเหตุ : บทความนี้คัดส่วนหนึ่งมาจากบทความเต็มชื่อ “รฦกพระเจ้าตาก ปริศนาวันประสูติ-สวรรคต ถอดรหัสหางม้าทรงพระบรมรูป” เผยแพร่ครั้งแรกในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 23 ธันวาคม 2554

อนุสรณ์เครื่องรฦกถึงวันพระเจ้าตาก ก็คืออนุสาวรีย์พระบรมรูปทรงม้าที่วงเวียนใหญ่ ฝั่งธนบุรี ผลงานการออกแบบของ “อาจารย์ฝรั่ง” สุภาพบุรุษแห่งเมืองฟลอเรนซ์ มีชื่อไทยว่า ศ.ศิลป์ พีระศรี ผู้ก่อตั้งมหาวิทยาลัยศิลปากร

น่าแปลกไหม อนุสาวรีย์หล่อตั้งแต่ปี 2480 ยุคพระยาพหลพลพยุหเสนา แต่กว่าจะได้ติดตั้งต้องใช้เวลาต่อสู้กับกลุ่มอำมาตย์เก่าอยู่นานถึง 17 ปี มาสำเร็จเอาในปี พ.ศ.2497 ยุครัฐบาล จอมพล ป.พิบูลสงคราม

และแม้จะทำพิธีเปิดอนุสาวรีย์อย่างเป็นทางการไปแล้ว แต่ก็ยังไม่วายถูกขุนนางผู้ดีในยุคนั้นทั้งสายสถาปนิก นักวิจารณ์ศิลปะ และสัตวแพทย์หลายท่านเอาชนะคะคานโจมตีในเรื่องไม่เป็นเรื่องของม้าทรง

เหตุเพราะม้ายืนตรง แต่กลับทำหางชี้สูงไม่ลู่ลง เหล่า “อีหลีด” โวยวายจนเป็นข่าวลงหนังสือพิมพ์หน้าหนึ่งหลายฉบับว่า เป็นม้าที่ดูอุบาทว์ ประดักประเดิด สี่ขายืนสงบนิ่งไม่ได้ทำท่ากระโจนสักนิด แต่กลับยกหางสั่นเหมือนพวกขี้ครอกขึ้นวอ ท่าเช่นนี้เหมือนม้ากำลังจะขี้ (ขออภัย การตอบโต้ของอีหลีดยุคนั้นเขาใช้คำว่า “ขี้” ชัดเต็มปากเต็มคำ) อาจารย์ศิลป์โดนรุมประณามว่ามั่วนิ่มนั่งเทียนปั้น

อันที่จริงแล้ว มิใช่ว่าอาจารย์ศิลป์จักไม่รู้เรื่องกายวิภาคของม้าเลย ตรงข้ามท่านให้ความสำคัญกับม้าทรงชิ้นนี้เสียยิ่งกว่างานปั้นชิ้นใดๆ ถึงกับลงทุนปีนนั่งร้านที่มีความสูงกว่าสามเมตรขึ้นไปปรับแต่งแก้ไขปั้นดินจนถึงพอกปูนทุกขั้นตอนในโรงหล่อ หลังจากที่ให้ลูกศิษย์ช่วยกันหล่อปั้นตามแบบแล้ว เป็นเหตุให้ท่านพลัดตกลงมาจากนั่งร้าน จนแขนขาหักต้องเข้าเฝือกอยู่หลายเดือน
พระเจ้าตาก

นอกจากนี้แล้ว อาจารย์ศิลป์ยังครุ่นคิดถึงเรื่องสายพันธุ์ของม้า ว่าควรเป็นชนิดใด ต้องไม่ใช่ม้าอาหรับ ม้าออสเตรเลีย หรือม้านอร์แมน หากแต่ต้องเป็นม้าไทยเท่านั้น และเมื่อเป็นม้าไทย อาจารย์ศิลป์ก็ต้องกำหนดส่วนสัดให้แตกต่างไปจากม้าเทศที่เคยศึกษามาจากยุโรป

ปัญหาก็คือ พวกที่วิจารณ์นั้นคือกลุ่มผู้ลากมากดีสยามที่ดูถูกชาวจีนว่าเป็นคนต่างด้าว จึงจ้องแต่จะทับถมเกียรติภูมิของพระเจ้าตากสินผ่านการกดหางม้าทรงไว้มิให้เผยอผยองพองขน อาจารย์ศิลป์จึงถูกบีบให้กลายเป็นหนังหน้าไฟไปโดยปริยาย

ความตั้งใจแรกของอาจารย์ศิลป์นั้น ท่านต้องการนิรมิตม้าทรงของพระเจ้าตากในท่าผาดโผนโจนทะยานกำลังออกศึก เชื่อกันว่าหากไม่โดนกระแหนะกระแหนคอยจิกคอยตอดเป็นระยะๆ พระบรมราชานุสาวรีย์ของพระเจ้าตากสินนั้น คงจะต้องมีความงามสง่าสมชายชาติอาชาไนย ดุจเดียวกับอนุสาวรีย์ของพระเจ้านโปเลียนมหาราชที่กรุงปารีส หรือไม่ก็ต้องละม้ายกับรูปม้าทรงของจักรพรรดิทราจันแห่งกรุงโรม ณ ประเทศอิตาลี แผ่นดินมาตุภูมิของอาจารย์ศิลป์โน่นเทียว

ข้อมูลที่ได้รับการเปิดเผยจากเอกสารต่างชาติก็คือ เมื่อครั้งที่มีการจ้างวานศิลปินชาวฝรั่งเศสหล่อพระบรมรูปทรงม้าของรัชกาลที่ 5 นั้น ทางสยามต้องการให้ม้าทรงอยู่ในท่ายกขาหน้าเหมือนม้าของนโปเลียน แต่ทางโรงหล่อที่ยุโรปแย้งกลับมาว่า ท่าม้าเผ่นผยองหรือยกขาหน้าตามธรรมเนียมสากลมีไว้สำหรับจักรพรรดิที่เป็นนักรบเท่านั้น

โรงหล่อกรุงปารีสมีความเห็นว่า รัชกาลที่ 5 ไม่ใช่กษัตริย์นักรบยกทัพทำสงครามด้วยพระองค์เอง จึงไม่อาจสร้างรูปทรงม้าในท่าเผ่นโผนตอบสนองความต้องการของผู้จ้างได้ จึงปั้นในท่าขี่ม้าสงบนิ่งตามที่เราเห็น

“สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชกู้ชาติ” วาดโดย สนั่น ศิลากรณ์ พิมพ์ครั้งแรกเป็นปกนิตยสารฟ้าเมืองไทย ปีที่ 17 ฉบับที่ 875 วันพฤหัสบดีที่ 26 ธันวาคม พ.ศ.2528
“สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชกู้ชาติ” วาดโดย สนั่น ศิลากรณ์ พิมพ์ครั้งแรกเป็นปกนิตยสารฟ้าเมืองไทย ปีที่ 17 ฉบับที่ 875 วันพฤหัสบดีที่ 26 ธันวาคม พ.ศ.2528

แต่สำหรับพระเจ้าตากสินมหาราช อาจารย์ศิลป์ท่านเป็นคนยุโรป จึงย่อมเข้าใจเรื่องนี้ค่อนข้างดี เมื่อเริ่มต้นก็ได้ปั้นม้าผาดโผนโจนทะยานอย่างออกรสชาติ แต่แล้วสุดท้ายอำนาจพิเศษบางอย่างได้เข้ามากำกับ ไม่ต้องการให้มหาราชพระองค์นี้ดูโดดเด่นเกินหน้าเกินตาพระรูปทรงม้าที่มีอยู่เดิม ทำให้ต้องแก้ไขพิมพ์เขียวของม้าทรงถึง 5 ครั้ง

เมื่อไม่สามารถบันดาลให้ม้าทรงยกขาหน้าได้ดั่งที่ควรจะเป็น อาจารย์ศิลป์จึงแอบซ่อนรหัสนัยไว้ที่หางของมันให้ชี้ตระหวัดขึ้น เป็นภาพของม้าที่อยู่ในอิริยาบถเคร่งเครียด พร้อมที่จะออกวิ่งทะยานอยู่ทุกขณะ รอแต่ว่าเมื่อไหร่องค์จอมทัพจักกระชับบังเหียนให้สัญญาณเท่านั้น

พลันม้าทรงก็พร้อมที่จะกระโจนไปข้างหน้าอย่างไม่รั้งรอ ปากเผยอจนเห็นฟันและหางที่เป็นพวงชี้สูงนั้น นับว่าสอดคล้องแล้วกับความตื่นคะนองของม้าศึก

อุปมาดั่งนักมวยหรือเสือที่กำลังจ้องจับเหยื่อมักเขม็งเกร็งกล้ามเนื้อ ย่อมดูมีพลังดุดันน่ากลัวมากกว่าเมื่อมันตะปบเหยื่อได้แล้ว เหล่าอีหลีดจึงไม่ควรมาแหย่หาเรื่องตัดหางม้าทิ้ง เพื่อหล่อใหม่แล้วให้ท่อนหางของมันลู่ลีบยืนจ๋องอย่างไร้ศักดิ์ไร้ศรี