“สุกำศพ” อีกขั้นตอนหนึ่งในงานพระราชพิธีพระบรมศพหรือพระศพ

สุกำศพ เป็นอีกขั้นตอนหนึ่งในงานพระราชพิธีพระบรมศพ หรือ พระศพ ซึ่งมักไม่เป็นที่ทราบกัน อาจเนื่องด้วยเป็นเรื่องภายในราชสำนักและเกี่ยวข้องกับเจ้าหน้าที่โดยเฉพาะฝ่าย อย่างเจ้าพนักงานสนมพลเรือนและเจ้าพนักงานภูษามาลา คำว่า สุกำ และ สุกำศพ มีความหมายตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน ดังนี้

สุกำ เป็น คำนาม หมายถึง เครื่องขาวแต่งศพ

สุกำศพ เป็นคำกริยา หมายถึง อาการที่เจ้าพนักงานภูษามาลาหรือเจ้าพนักงานสนมพลเรือนเอาผ้าขาวห่อศพ และใช้ด้ายดิบมัดตราสัง แล้วบรรจุศพลงโกศ หรือ หีบ ซึ่งมีกระดาษฟางปูรองรับ เช่น เจ้าหน้าที่จะสุกำศพ , ทำสุกำศพ ก็ว่า เช่น เมื่อทำสุกำศพเสร็จแล้ว เจ้าหน้าที่ก็ยกโกศ หรือ หีบ ขึ้นตั้ง

ดังนั้นคำว่า สุกำ จึงมีความหมายทั้ง เครื่องสำหรับแต่งศพ และ ขั้นตอนในการห่อศพกับบรรจุศพ หากเปรียบเทียบกับของสามัญชนทั่วไปก็คือ การแต่งตัวให้ศพ และ ห่อผ้าขาวมัดตราสังลงหีบศพ สำหรับราชสำนักขั้นตอนนี้จะมีความสลับซับซ้อนมากกว่า โดยเริ่มต้นภายหลังการสรงน้ำพระบรมศพ หรือ พระศพ เจ้าพนักงานภูษามาลา จะเชิญเครื่องพระมหาสุกำ หรือ เครื่องพระสุกำ สำหรับแต่งพระบรมศพ หรือ พระศพ ซึ่งจะเรียกต่างกันตามพระอิสริยยศ บางครั้งเรียกผิดเพี้ยนเป็น เครื่องกรุกกรำ ก็มี หากเป็นพระมหากษัตริย์เครื่องพระมหาสุกำ จะมีความอลังการสมพระเกียรติยศ

จากหนังสือ ธรรมเนียมพระบรมศพและพระศพเจ้านาย โดย ดร.นนทพร อยู่มั่งมี สำนักพิมพ์มติชน หน้า31