ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 10 - 16 สิงหาคม 2561 |
---|---|
คอลัมน์ | มองไทยใหม่ |
ผู้เขียน | นิตยา กาญจนะวรรณ [email protected] |
เผยแพร่ |
การ์ด กับ การ์ด
ในภาษาไทยกลาง คำว่า “การ์ด” ในประโยคว่า “ตั้งการ์ดไว้บนโต๊ะ” ถ้าคำว่า การ์ด หมายถึง “บัตรเชิญในโอกาสต่างๆ” คำนี้จะออกเสียงวรรณยุกต์อะไร
คำตอบคือ วรรณยุกต์ตรี เพราะคำนี้ออกเสียงในระดับเดียวกับคำว่า กว๊าน แป๊ด แปล๊บ ทั้งๆ ที่ไม่มีรูปวรรณยุกต์กำกับ แต่ออกเสียงตามความนิยม โดยออกเสียงคำตายเป็นเสียงตรี หรือเอก ในที่นี้นิยมเสียงตรี
โดยทั่วไปการออกเสียงวรรณยุกต์ต่างกันไม่น่าจะทำให้ความหมายต่าง เช่น นิวยอร์ก จะออกเป็นเสียงตรี [ย้อก] หรือ เอก [หยอก] ก็ยังเป็นคำเดียวกัน คำนี้ถ้าอ่านตามรูปเขียนจะเป็น [ยอก] แต่ไม่เป็นที่นิยม
คำว่า การ์ด ต่างจากคำว่า นิวยอร์ก ตรงที่ว่า คำที่มีเสียงวรรณยุกต์ต่างกัน ก็มีความหมายต่างกันไปด้วย
ส่วนคำว่า การ์ด ในวงการคอมพิวเตอร์ เช่น “การ์ดจอ” นิยมออกเป็นเสียงตรี เช่นเดียวกับ “การ์ดเชิญ” โดยอาจจะอนุโลมว่ามีรูปร่างเป็นแผ่นเช่นเดียวกันก็ได้
การ์ด ที่หมายถึง “บัตรเชิญในโอกาสต่างๆ” ออกเสียงตรี แต่ การ์ด ในคำว่า “ตั้งการ์ด” ซึ่งหมายความว่า “ตั้งท่า” หรือ “จ้องท่า” กลับออกเสียงเอก เหมือนกับคำว่า กาด จาด ดาด ตาด บาด ปาด อาด
ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น
คําว่า การ์ด ที่หมายถึง “บัตรเชิญในโอกาสต่างๆ” นั้น มาจากคำภาษาอังกฤษว่า card แต่คำว่า การ์ด ในคำว่า “ตั้งการ์ด” นั้น มาจากคำภาษาอังกฤษว่า guard
อันที่จริง คำว่า card กับ guard ในภาษาอังกฤษนั้นออกเสียงต่างกัน สัทอักษรกำกับเสียงอ่านใน Cambridge Pronouncing Dictionary ก็ให้ไว้ต่างกัน ดังนี้
card /kA:d/ /kA:rd/
guard /gA:d/ /gA:rd/
เสียงแรกเป็นเสียงแบบอังกฤษ ส่วนเสียงหลังเป็นเสียงแบบอเมริกัน ซึ่งต่างกันเล็กน้อยคือ เสียงแบบอเมริกันมี r ด้วย แต่เสียงแบบอังกฤษไม่มี ส่วนตัว c กับตัว g นั้นออกเสียงต่างกันอย่างแน่นอน แต่เนื่องจากในภาษาไทยไม่มีอักษรตัวใดที่ออกเสียงเหมือน g ซึ่งออกเสียงคล้าย ก แต่เป็นเสียงก้องหรือโฆษะ จึงอนุโลมใช้ตัว ก แทนเช่นเดียวกับ c
ในภาษาไทย เสียงที่อาจจะนำมาเปรียบเทียบได้กับ c / g ก็คือ ป / บ เสียง ป คือเสียงไม่ก้อง ส่วน บ คือเสียงก้อง
การที่ การ์ด (card) กับ การ์ด (guard) ออกเสียงวรรณยุกต์ต่างกันนั้น อาจจะเทียบได้กับการออกเสียงคำ New York ว่า [นิวย้อก] หรือ [นิวหยอก]
ขอให้สังเกตว่าเสียงแรกเป็นเสียงแบบเก่า ส่วนเสียงหลังเป็นเสียงแบบใหม่ ซึ่งมีอยู่เคียงคู่กันในสังคมไทย โดยที่การเขียนแบบทับศัพท์เขียนแบบเดียวกันคือ นิวยอร์ก
ส่วนการที่ การ์ด (card) กับ การ์ด (guard) ออกเสียงวรรณยุกต์ต่างกันนั้น สันนิษฐานได้ว่า ๒ คำนี้ได้กลายเป็นไทยไปแล้ว ถึงจะออกเสียงต่างกัน แต่รูปการเขียนก็ยังเหมือนกัน เพราะติดอยู่ในภาษาแล้ว เช่นเดียวกับคำว่า ฉัน ที่ออกเสียงเป็น [ชั้น] โดยไม่ต้องเปลี่ยนรูปเขียนที่เป็นทางการ การนำไปใช้จะบอกให้ทราบว่าคำไหนออกเสียงอย่างไร เช่น
“พอรู้ว่าแฟนเก่าจะเอาการ์ดแต่งงานกับคนอื่นมาให้ เขาก็ตั้งการ์ดทีเดียว”
เชื่อว่าคนไทยคงไม่อ่านว่า [กาดแต่งงาน] กับ [ตั้งก๊าด]