ไมเคิล ไรท : Anna and The King of Siam กัลยาณมิตร ?

ภาพจากหนังสือ Anna and the King of Siam ของมาร์กาเร็ต แลนดอน (ภาพประกอบโดย มาร์กาเร็ต เอเยอร์)

หมายเหตุ : บทความนี้เผยแพร่ครั้งแรกในมติชนสุดสัปดาห์ฉบับวันที่ 13 ก.พ. 2547 คอลัมน์ฝรั่งมองไทย

ความนำ

ดูเหมือนกับว่าคนไทยที่สนใจประวัติศาสตร์ส่วนใหญ่เชื่อกันว่า ชาวสยามพึ่งมารู้จักคุ้นเคยกับโลกตะวันตกตั้งแต่รัชกาลที่ 5 – ที่ 6 ลงมา ผมไม่เห็นด้วย

ในทางตรงกันข้าม หลักฐานเท่าที่มีอยู่ชวนให้เข้าใจว่าเจ้านายสยามตลอดรัชกาลที่ 3 – ที่ 4 รู้จัก ค้นคว้า ศึกษาวิเคราะห์วิจารณ์ตะวันตกอย่างลึกและถูกต้องจนเข้าใจทั้งคุณและทั้งโทษอย่างแจ่มแจ้ง

หลักฐานที่สำคัญที่สุด คือ จดหมายของ ร.4 ถึง Anna Leonowens ลงวันที่ 12 พฤษภาคม 2407 (12th, May 1864) ซึ่งพิมพ์และแปลเป็นไทยในศิลปวัฒนธรรม (ศ.ว.ธ.) ปีที่ 25 ฉบับที่ 3 (มกราคม 2547)

My dear Madam

จดหมายฉบับนี้เป็นการสื่อสารระหว่างนักปราชญ์สองท่านที่เห็นต่างกันแต่มีความเคารพต่อกัน และพูดกันรู้เรื่องอย่างซื่อสัตย์สุจริต มันไม่ใช่จดหมายจาก “นาย” ถึง “ไพร่” แต่เป็นเสียงเพื่อนคุยกับเพื่อนสองต่อสองอย่างเปิดอกเปิดใจ

ในจดหมายถึงบรรณาธิการ (ศิลปวัฒนธรรม ปีที่ 25 ฉบับที่ 4 เดือนกุมภาพันธ์ 2547) คุณสมปอง พรหมเปี่ยม แสดงความสงสัยว่าจดหมายฉบับนี้อาจจะปลอม แล้วบรรณาธิการได้ตอบดีอยู่แล้ว ผมชื่นใจที่คุณสมปองมีความสงสัย เพราะเอกสารทางประวัติศาสตร์ทุกชิ้นควรได้รับการสงสัย ทักท้วงและการพิสูจน์จากหลักฐานภายนอก

อย่างไรก็ดี ผมขอรับรองว่าจดหมายจาก ร.4 ถึง Anna ฉบับนี้ เป็นของแท้ เพราะสำนวนภาษาอังกฤษผิดๆ ในฉบับนี้ตรงกับความผิดๆ ในจดหมายฉบับอื่นของ ร.4 ที่ไม่มีใครสงสัย สำนวนผิดๆ ของ ร.4 มีลักษณะเฉพาะ (และน่ารัก) ที่ใครอื่นปลอมไม่ได้ ถ้าใครปลอมจริง นักสืบภาษา (Language Detectives) ย่อมจับได้ไม่ยาก

ร.4 ใช้ภาษาอังกฤษได้ในระดับนักปราชญ์ แต่พระองค์ท่านมักผิดพลาดในรายละเอียดของไวยากรณ์ (เช่น การใช้ Tunse การใช้ a และ the การเติม s) ทั้งนี้ แสดงว่าไม่ได้ใช้ล่ามหรือเสมียนเขียนแทน ผิดกับพระปิ่นเกล้า

ถ้าดูจดหมายของพระปิ่นเกล้า (สูจิบัตรเนื่องในวันคล้ายวันสวรรคตฯ กรมศิลปากร 2547 หน้า 121)

จะเห็นว่าพระปิ่นเกล้าคงใช้งานเสมียนฝรั่ง เพราะ :-

1) ภาษาอังกฤษถูกต้องทั้งการสะกด การันต์ และไวยากรณ์

2) อักษรที่คัดงามยิ่งนัก เป็นฝีมือคนถนัดมือขวา ผิดกับลายเซ็นพระปิ่นเกล้า ที่งามมากแต่น่าจะเป็นฝีมือคนถนัดซ้าย แสดงว่าคนคัดจดหมายเป็นคนละคนกับพระปิ่นเกล้าที่เซ็นชื่อ

3) ล่าม/เสมียน เขียน honor ไม่ใช่ honour ชวนให้เข้าใจว่าผู้เขียนเป็นชาวอเมริกัน

แต่ผมขอดึงท่านผู้อ่านกลับเข้าไปพิจารณาจดหมายของ ร.4 ถึง Anna เมื่อคริสต์ศักราช 1864 (พ.ศ.2407)

ใน “ปัจฉิมลิขิตส่วนตัว” Very private postscript ร.4 ระลึกถึงครั้งก่อนที่แหม่ม Anna เคยปรารภให้ฟังว่า “ทาสนั้นเป็นมลทินยิ่งใหญ่ของชาติสยามมิใช่หรือ ?” และ “ไม่มีชาติใดที่ยึดครองหรืออนุญาตให้มีการขายมนุษย์ในตลาดเพื่อเงิน จะสามารถเป็นชาติที่ยิ่งใหญ่ได้”

ท่านสดับรับฟังแล้วไม่พิโรธ และไม่ปฏิเสธ อย่างนักปราชญ์ ท่านชวน Anna ให้เทียบชีวิตทาสในสยามกับสภาพความเป็นอยู่ของทาสในโลกตะวันตก ว่า :-

“(นายทาสสยาม) เขาจะให้ทุกสิ่งที่จำเป็นสำหรับความเป็นอยู่ที่ดี ทั้งอาหารสำหรับบริโภค ข้าว ผ้าที่ใช้ทำผ้านุ่ง กระท่อมไม้ไผ่สำหรับอยู่อาศัยอย่างดี และแม้แต่การให้การศึกษาจากโรงเรียนวัดและวัด รวมถึงการละเล่นและกีฬาต่างๆ ทาสก็มีเสรีที่จะเล่นเหมือนกับราษฎรทั้งหลายทั่วไปในทุกวันนี้”

ทั้งนี้ ให้เทียบกับสภาพชีวิตของชาวแอฟริกาที่ถูกชาวยุโรปจับไปขายเป็นทาสทำไร่อ้อยไร่ฝ้ายและเหมืองแร่ในทวีปอเมริกา :- “…many kinds of labour-slavery on unfruitful soils and in below the earth surface deep mines…”

“ร.4 ยังชวน Anna ให้นึกถึงสภาพชีวิตของราษฎรอังกฤษ (ไม่ใช่ทาส) ที่ตกเป็นเหยื่อของระบบทุนนิยมและอุตสาหกรรม :-

ทั้งหมดนี้ (ความเป็นทาสในสยาม) ดีกว่าเป็น “ชาติเสรี” แล้วทิ้งราษฎรทั้งหลายให้ตกอยู่ใต้ส้นเท้า under the heel ของบริษัทใหญ่ หรือ “ราชา” และ “ข้าหลวง” แห่งอุตสาหกรรม industry King and Governors หรือ “เจ้า” แห่งบรรษัทการผลิต manufacturing corporation Princes เพื่อที่จะถูกใช้งานอย่างหนัก แม้แต่เด็กเล็กๆ ก็ถูกใช้แรงงานเกินเวลา ด้วยค่าจ้างที่ต่ำมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ และในที่อยู่ที่ยากจนที่สุดสำหรับมนุษย์ หลายๆ ชีวิตอยู่ในกระท่อมเดียวกัน หรือห้องเดียวในหลายเมืองที่เจริญแล้วทั้งหลายของเธอ เช่น ลอนดอน แมนเชสเตอร์ กลาสโกว ผู้ใช้แรงงานเหล่านี้ไม่สามารถหาอาหารที่จำเป็นสำหรับครอบครัว หลายๆ คนอดอยาก และในประเทศที่แย่เหล้านี้ ผู้ชายหรือแม้แต่ผู้หญิงดื่มแอลกอฮอล์ หรือวิสกี้ หรือแม้แต่บรั่นดี เพื่อบรรเทาความทุกข์ยากหรือปัญหาทั้งหลายของตนเอง” (ที่ขีดเส้นใต้นั้น ผมแปลใหม่เพื่อให้ตรงตามศัพท์และอรรถเดิมเท่าที่จะได้)

“แล้วตอนนี้ประเทศไหนกันที่เธอคิดว่าดีกว่ากันหรือแย่กว่ากัน ?”

อ่านถึงตอนนี้แล้ว Anna คงจอด แต่ ร.4 ยังทรงไม่หมดน้ำยา ทรงย้อนอ้างถึงหลักฐานโบราณดังนี้ :- “ในคัมภีร์พระธรรมบทอันถือเป็นคัมภีร์ไบเบิลของพุทธศาสนานั้น ไม่ยอมให้มีการใช้ทาส เหมือนอย่างที่ได้อนุญาตให้ปฏิบัติกันในพระคัมภีร์เก่าของพวกยิว แม้คำสอนของพุทธศาสนามีอายุเก่ากว่าสมัยคริสต์กาล เธอคงจำได้ว่าศาสนาคริสเตียนนั้นไม่ได้ช่วยขจัดทำลายทาสลงไปเลย ชาติคริสเตียนทั้งหลายได้กำไรมหาศาลจากการค้า และแม้กระทั่งอังกฤษก็มีทาสและมีการค้าทาสทางทะเลจนเกือบเดี๋ยวนี้ เช่น สงครามในสหรัฐเป็นตัวอย่าง”

(อังกฤษมีกฎหมายเลิกทาสในคริสต์ศักราช 1833 (พ.ศ.2376) ส่วนสหรัฐพึ่งมีสงครามกลางเมืองถึงเลิกทาสเมื่อคริสต์ศักราช 1865 (พ.ศ.2408) หลังจดหมายฉบับนี้หนึ่งปี)

สุดท้าย ร. 4 ทรงบอก Anna ว่า (ผมขอแปลใหม่เพราะคำแปลในศิลปวัฒนธรรม แปลตามศัพท์มากกว่าตามอรรถ) :-

“ตามที่ฉันเคยบอกเธอในการสนทนาเรื่องการเมืองที่พระบรมมหาราชวัง ฉันไม่นึกสงสัยและจะไม่ลังเลใจที่จะเลิกทาสในแผ่นดินสยามตรงตามความปรารถนาของเธอ เพื่อสร้างเกียรติยศประดับรัชสมัยของฉัน for the distinguishing of my reign (ในสายตาสากลโลก) แต่ฉันต้องเน้นเป็นการส่วนตัวกับเธอว่า ราษฎรของเราไม่นิยมฉันกับเจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ ศิษย์รักของเธอ เท่ากับที่นิยมอีกตระกูลหนึ่งที่ “น่ารัก” (amiable)…

ฉันจึงต้องดำเนินการอย่างรอบคอบ (circumspectty)”

จดหมายฉบับนี้เป็นเพียงเสี้ยวหนึ่งของการสนทนาระหว่าง ร.4 และ Anna ที่คงจะดำเนินเป็นปีๆ แต่มันก็ยังน่าสนใจเป็นอย่างมาก แล้วมันจะช่วยให้เราเข้าใจประวัติศาสตร์สยามสมัยใหม่ได้อย่างไร ?

ฝ่ายขวาคงตอบได้ง่ายๆ ว่า Anna เป็น อีแหม่มที่ไหนก็ไม่รู้ และ ร. 4 เป็น มหาบุรุษ

Anna จะเป็นใครที่ไหนนั้น ยังเป็นปริศนาอยู่ เพราะหลักฐานตะวันตกเท่าที่พบไม่บันทึก ส่วน ร.4 หากนักประวัติศาสตร์ฝ่ายขวาอธิบายว่า ท่านเป็น มหาบุรุษ ผมไม่สนใจ เพราะ “มหาบุรุษ” ไม่ช่วยอธิบายประวัติศาสตร์ทั้งนั้น ถ้าถือตามหลักนักประวัติศาสตร์ฝ่ายขวา ในสงครามโลกครั้งที่ 2 เชอร์ชิล, ทรูแมน, ฮิตเลอร์, มุสโสลีนี, แปลก พิบูลสงคราม, เจียง ไค เช็ก และโตโจ ต่างล้วนเป็น “มหาบุรุษ” แต่ผมไม่เห็นว่ามันช่วยให้ใครเข้าใจสงครามโลกครั้งที่ 2 ดีขึ้นแม้แต่น้อย

ผมสนใจและเคารพ ร.4 ในฐานะมนุษย์คนหนึ่งที่พยายามแก้ปัญหาเฉพาะหน้าในยุคของท่านด้วยปัญญาเท่าที่มีในยุคนั้น

ต่อไปนี้ผมขอกลับไปพิจารณาจดหมายอีกครั้งโดยแยก บทบาทของ ร.4 และ Anna ดังนี้ :-

ก) ร.4 ในจดหมาย

– ประการแรก ร.4 ใช้ไวยากรณ์ภาษาอังกฤษผิดๆ เฉพาะของท่านเอง แต่ท่านใช้ภาษาสื่อสารได้แม่นยำเยี่ยงเจ้าของภาษาที่เป็นเจ้าโวหาร เช่น

“…for the distinguishing of my reign” ซึ่งนักแปลชั้นเอกสมัยปัจจุบันแปลตามศัพท์ว่า “เพื่อสร้างความแตกต่างให้กับรัชสมัย…” แต่ ร.4 ใช้คำว่า Distinguish เป็นสำนวนโวหารว่า “สร้างเกียรติยศประดับ” เช่น Churchill distinguished his carecr by his conduct of World War II ในทำนองเดียวกัน ร.4 เขียนถึง another amiable family (อีกตระกูลหนึ่งที่ “น่ารัก”) อย่างกระแหนะกระแหน เยี่ยงเจ้าของภาษาที่นิยมเล่นคำอย่างน่าอิจฉา

แล้ว ร.4 เรียนภาษาอังกฤษอย่างแตกฉานเพียงนี้มาจากใคร ? ที่ไหน ? เมื่อไร ? ผมตอบไม่ได้

– ประการที่สอง ในเมื่อ ร.4 วิจารณ์ติเตียนสังคมตะวันตกท่านใช้สำนวนโวหารภาษาอังกฤษที่นักคิดฝ่ายสังคมนิยมยุคนั้นนิยมใช้ในการประณามระบอบทุนนิยมและอุตสาหกรรม

เป็นไปได้ไหมว่า ร.4 เป็นปัญญาชนสังคมนิยมคนแรกของสยาม ?

ปัญหามีอยู่ว่า ท่านเคยอ่านอะไรมา และเคยคุยกับใครมา ไม่มีใครรู้

ผมไม่ค่อยเชื่อว่าท่านเคยอ่าน New View of Society ของ Robert Owen (คริสต์ศักราช 1817) Westminster Review วารสารฝ่ายก้าวหน้า ของ Jeremy Beutham (เริ่มพิมพ์คริสต์ศักราช 1823) Conditions of the Working Class in England ของ Friederich Engels (คริสต์ศักราช 1845) หรือ The Communist Manifesto ของ Karl Marx (คริสต์ศักราช 1847)

อย่างไรก็ตาม ร.4 ต้องคุ้นทางใดทางหนึ่งกับความคิดฝ่ายสังคมนิยมรุ่นแรกใน คริสต์ศตวรรษที่ 19

ส่วนคู่สนทนาของ ร.4 น่าจะเป็นพวกหมอสอนศาสนาสายปฏิรูป (Protestant) ที่กำลังรณรงค์เลิกทาส และเรียกร้องความยุติธรรมทางสังคมและเศรษฐกิจในยุคนั้น

ทั้งหมดนี้นำไปสู่คำถามว่า Anna คือใคร ?

ข)Anna ในจดหมาย

– ประการแรก Anna ในจดหมายเป็นเพื่อนใกล้ชิดคู่สนทนากับ ร.4 ผิดกับภาพที่นักประวัติศาสตร์ (ทั้งไทยและเทศ) วาด ท่านทั้งสองเคยสนทนาเรื่องการเมือง โดยที่ ร.4 อนุญาตให้ Anna วิจารณ์ติเตียนระบอบการปกครองของสยามโดยพระองค์ไม่กริ้ว ไม่ปราบปราม แต่ทรงเป็นธุระเขียนจดหมายยืดยาว เป็นการส่วนตัวอย่างยิ่ง (Very Private) อธิบายความคิดเห็นและเผยปัญหาลับคับขันของพระองค์

แน่นอนทีเดียว Anna เข้ามาอยู่สยามบั้นปลายรัชกาลที่ 4 จึงคงไม่มีอิทธิพลต่อความคิดหรือนโยบายของ ร.4 ที่ก่อเป็นรูปเป็นร่างมานานแล้ว ในทางตรงกันข้าม ในบั้นปลายชีวิต ร.4 อาจจะเห็นนาง Anna เป็นเพียงกัลยาณมิตรที่มีความคิดเห็น “ปฏิรูป” คล้ายๆ กับ พอคุยกันได้ และอาจจะมีอิทธิพลที่ดีต่อเจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์

แต่ทั้งนี้ไม่ได้ช่วยอธิบายว่า Anna คือใคร

-ประการที่สอง Anna เป็นคนมีการศึกษาสูง และมีความยอมรับในตะวันตก เช่นเธอได้รับเชิญไปพูดปาฐกถาทั่วอังกฤษและสหรัฐหลังกลับจากสยาม

กลางคริสต์ศตวรรษที่ 19 การศึกษาสำหรับสตรีในตะวันตกยังจำกัดมาก โดยมากหญิงสามัญชนเรียนแต่วิชาชีพและหญิงมีบรรดาศักดิ์เรียนแต่วิชาสวยๆ งามๆ เช่นดนตรี และวรรณคดี สตรีที่เรียนวิชาสูงๆ มีเฉพาะในวงศาสนาคริสต์แนวปฏิรูป (Protestant) ดังว่ามาแล้ว ผมจึงสงสัยว่า Anna น่าจะเป็นคนในตระกูลที่ถือศาสนาคริสต์แบบปฏิรูปก้าวหน้า (prognessive evangelicals) ที่กำลังต่อสู้เพื่อสิทธิเด็ก สตรี และคนกรรมาชีพในยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม

-ประการที่สาม จากหลักฐานในจดหมาย Anna ไม่น่าเป็นกระบอกเสียงหรือสายลับของอังกฤษ เพราะรัฐจักรวรรดินิยมย่อมใช้งานคนที่จะพูดจาส่งเสริมทุนนิยม อุตสาหกรรมและการค้าเสรี ฟังเสียงท่านทั้งสองสนทนากัน

ผมว่าทั้งสองท่านคงใจเดียวกัน ไม่ชอบสถานการณ์ทางสังคมเศรษฐกิจและการเมืองที่โลกกำลังประสบในยุคนั้น

สรุป

ข้อเสนอของผมจะเท็จแค่ไหนหรือจริงแค่ไหนยังไม่ปรากฏ กว่าจะรู้เห็นได้เราต้องศึกษาค้นคว้าอีกมากมายเช่น :-

1) ประวัติความคิดเห็นทางสังคมและเศรษฐกิจของชาวคริสต์นิกาย “ปฏิรูปก้าวหน้า” ใช้ คริสต์ศตวรรษที่ 19 ในอังกฤษและอเมริกา

2) ประวัตินาง Anna ที่อาจจะมีหลักฐานตกค้างอยู่ในห้องจดหมายเหตุ (Archives) ของนิกายต่างๆ

3) ที่สำคัญคือ ร.4 ท่านเคยมีอะไรในห้องพระสมุด ? เคยสั่งหนังสืออะไรบ้างจากลอนดอน ? หลักฐานน่าจะยังอยู่หากรู้จักหา

น่าเสียดายที่เรายังไม่เคยพบจดหมายจาก Anna ถึง ร.4 ขึ้นต้นว่า “My dear King Mongkut…”