สุจิตต์ วงษ์เทศ : เจ้าฟ้า และฟ้ากับดิน ในวรรณกรรมลาว-ไทย

ฟ้ากับดินในวรรณกรรมลาว-ไทย เคยมีสิ่งเชื่อมให้ผี (คือ เทวดา) กับคนไปมาหากัน

ต่อมาถูกตัดขาดไป คนเลยสถาปนาหินตั้งขึ้นไหว้สาฟ้าแถน เป็นสิ่งเชื่อมคนกับแถน (บนฟ้า) ซึ่งเป็นเจ้าของฟ้า

เรียกเจ้าฟ้า

ฟ้าดอกเห็ด

ฟ้า มีรูปร่างเหมือนดอกเห็ด เป็นจินตนาการจากความเชื่อของกลุ่มผู้ไทยในเวียดนามภาคเหนือ มีบอกในตำนานสร้างโลกอยู่ต้นเรื่องความโทเมือง ซึ่งเป็นเอกสารเก่าแก่ว่า

“ก่อเป็นดินเป็นหญ้า ก่อเป็นฟ้าท่อถวงเห็ด”

หมายถึงก่อดินก่อหญ้า ก่อเป็นฟ้าเหมือนเห็ด

บนฟ้ามีแถน

กลุ่มลาวหลวงพระบางเชื่อว่าฟ้ากับแถนมีคู่กัน บอกไว้ในตำนานสร้างโลกตอนต้นเรื่องว่า

“กาลเมื่อก่อนนั้น ก็เป็นดินเป็นหญ้าเป็นฟ้าเป็นแถน ผีแลคนเที่ยวไปมาหากัน บ่ขาด”

หมายถึง เมื่อแต่ก่อนนานมาแล้ว มีดินมีหญ้ามีฟ้ามีแถน ผีกับคนติดต่อไปมาหาสู่กันได้ไม่ขาด

ผี ในที่นี้ตรงกับคำปัจจุบันว่าเทวดาอยู่บนฟ้า

คำลาว-ไทย ว่า ผี มีความหมายเดียวกับคำบาลี-สันสกฤตว่า เทวดา, เทพยดา ที่อยู่บนฟ้า

นิทานเรื่องขุนบรมเรียกแถนอยู่บนฟ้าว่า “ผีฟ้าผีแถน” ซึ่งคนทั้งหลายที่อยู่กับดินต้องเซ่นวัก “เลี้ยงฟ้าเลี้ยงแถน” ประจำฤดูกาล

ผีฟ้า

เมื่อชุมชนหมู่บ้านแบบชนเผ่าดั้งเดิมเติบโตเป็นบ้านเมือง แล้วรับวัฒนธรรมอินเดียทั้งด้านศาสนาและการเมืองการปกครอง มีพระเจ้าแผ่นดินหรือกษัตริย์ซึ่งบางทีก็เรียกด้วยคำเดิมว่า ผีฟ้า

ผีฟ้า หมายถึงพระเจ้าแผ่นดิน มีในศิลาจารึกวัดศรีชุม (สุโขทัย) ว่า “ผีฟ้าเจ้าเมืองศรีโสธรปุระ” หมายถึงพระเจ้าแผ่นดินกรุงยโสธร (นครธม) ในกัมพูชา

ผีฟ้า คือ แถน ซึ่งคนในตระกูลลาว-ไทยเรียกรวมๆ ว่าผีฟ้าผีแถน ยกย่องเป็นผีบรรพชนใหญ่สุด ไม่ระบุเพศว่าหญิงหรือชาย

ในพิธีเลี้ยงผีต้องเชิญผีฟ้าผีแถนเป็นประธาน ปากชาวบ้านเรียกพิธีเข้าทรงผีฟ้า, ลำผีฟ้า ก็คือเข้าทรงผีแถน, ลำผีแถน

เจ้าฟ้า

แถนเป็นเจ้าของฟ้า หรือเจ้าฟ้า มีเรียกในโคลงท้าวฮุ่งท้าวเจือง ตอนชั่งแนนต้องเชิญแถนมากินเลี้ยง ครั้นเสร็จชั่งแนนแล้ว แถนจะกลับคืนฟ้า บรรดาผู้คนร่วมพิธีก็พากันสั่งความแก่แถน แล้วเรียกแถนว่าเจ้าฟ้า ดังนี้

“ขอเหนี่ยวเจ้าฟ้าอย่า ลาไล”

หมายถึงขอวอนเจ้าฟ้า (คือแถน) อย่า (เพิ่ง) ทิ้ง อย่า (เพิ่ง) ลา

เจ้า หมายถึง ผู้เป็นใหญ่, หัวหน้า, ผู้นำ, ผู้มีอำนาจ ตรงกับคำดั้งเดิมว่า ผี เช่น ไหว้เจ้าไหว้ผี หรือไหว้ผีไหว้เจ้า

ผีบ้านผีเรือน เรียกเจ้าบ้านเจ้าเรือนก็ได้

เมืองเจ้าฟ้า, ชวา, หลวงพระบาง

ศูนย์กลางของแถน แต่เดิมอยู่เมืองแถน (หรือเดียนเบียนฟู ทางภาคเหนือของเวียดนาม ติดพรมแดนลาว)

เมื่อขุนลอ ลูกชายคนแรกขุนบรม พาผู้คนมาอยู่เมืองเชียงดงเชียงทอง ทางลุ่มน้ำโขง ได้เชิญความเชื่อแถนมาด้วย แล้วเรียกชื่อว่า เมืองเจ้าฟ้า หมายถึงผู้เป็นใหญ่บนฟ้าก็คือ แถน ต่อมาเปลี่ยนชื่อเชียงดงเชียงทองเป็นเมืองหลวงพระบาง

คนดั้งเดิมออกเสียงเจ้าฟ้าต่างจากปัจจุบัน ว่า เจ้า ออกเสียงคล้ายๆ เซ่า ส่วนฟ้า ออกเสียงคล้ายๆ ฟวา, วา

รวมกันเป็น เซ่าฟวา หรือเซ่าวา แล้วเพี้ยนเป็น ชวา ดังมีในกฎหมายตราสามดวงว่า “ชวาฟ้าแดง สุโขทัยฟ้าเขียว” ชวาในที่นี้หมายถึงเมืองหลวงพระบาง

เจ้าฟ้าจึงไม่ใช่คำจากพม่าหรือไทยใหญ่ แต่มีอยู่ก่อนแล้วในวัฒนธรรมลาวสองฝั่งโขง

หินตั้ง ไหว้สาฟ้าแถน

ในตำนานกำเนิดมนุษย์จากน้ำเต้าปุง บอกว่าแต่ก่อนมี “ข้อหลวง” เชื่อมฟ้ากับดินให้ผีกับคนเที่ยวไปมาหากันได้สะดวก

ต่อมา “แถนหลวงจึ่งให้ตัดข้อหลวง” นับแต่นั้นผีกับคนไปมาหากันไม่ได้เหมือนเดิม

คนพากันทำหินตั้งไหว้สาผีฟ้าผีแถนนับแต่นั้นมา แล้วดัดแปลงให้มีรูปร่างหลายอย่างต่างๆ ไป

ภูพระบาท

ภูพระบาท เดิมเรียกภูพระบาทบัวบก-บัวบาน (อ.บ้านผือ จ.อุดรธานี) เป็นภูเขาเตี้ยๆ อยู่ในทิวเขาภูพาน 2 เริ่มจากภูวัด อยู่ในเขต จ.อุดรธานี กับ จ.หนองบัวลำภู ไปสิ้นสุดใกล้ฝั่งแม่น้ำโขงที่ อ.สังคม จ.หนองคาย

มีรอยพระพุทธบาท 2 รอยอยู่บนเขาเตี้ยๆ ห่างกัน เลยสมมุติชื่อพระบาทบัวบกแห่งหนึ่ง กับพระบาทบัวบานอีกแห่งหนึ่ง รวมเรียกว่า ภูพระบาทบัวบก-บัวบาน แต่ทางการเปลี่ยนชื่อเรียกรวมว่าภูพระบาท

ภูพระบาทบัวบก-บัวบาน เป็นพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ ใช้ทำพิธีกรรมของชุมชนดึกดำบรรพ์ราว 3,000 ปีมาแล้ว (ร่วมสมัยวัฒนธรรมบ้านเชียง) ยุคก่อนรับศาสนาจากชมพูทวีป (อินเดีย)

มีพยานหลักฐานสำคัญเกี่ยวข้องกับศาสนาผี คือหินตั้งกระจัดกระจายทั่วไป และภาพเขียนสีอยู่ตามเพิงผาหลืบซอกโขดหิน

ลักษณะธรณีสัณฐานบนภูพระบาท เกิดจากการกัดกร่อนตามธรรมชาติ ทำให้โขดหินน้อยใหญ่มีรูปร่างต่างๆ กัน แต่ส่วนมากคล้ายดอกเห็ด

คนดึกดำบรรพ์ยุคนั้นเชื่อว่าฟ้ามีรูปร่างเหมือนเห็ด จึงถือว่าหินดอกเห็ดเหล่านั้นคือบริเวณฟ้าต่อดิน เป็นแดนฟ้าตั้งฟ้าต่อ ซึ่งมีบอกในวรรณกรรมคำบอกเล่าต่างๆ

ครั้นรับศาสนา ราวหลัง พ.ศ.1000 (ร่วมสมัยทวารวดี) ได้ดัดแปลงหินตั้งเป็นเสมาใช้ปักแสดงเขตศักดิ์สิทธิ์ในพุทธศาสนา แล้วดัดแปลงเพิงผาหลืบซอกโขดหินที่เคยมีภาพเขียนสี เปลี่ยนเป็นสลักพระพุทธรูป กับทำเป็นสถานที่คล้ายๆ เขตวิปัสสนากรรมฐาน ต้นแบบวัดป่า