เจาะแหล่งโบราณคดี “ต้าตี้วาน” มนุษย์หินแรกเริ่มบนแผ่นดินจีน ใช่ “นครลุง” หรือไม่?

โดย ยุวดี วัชรางกูร

ข้อสันนิษฐานเกี่ยวกับต้นกำเนิดของบรรพชนชาวไต (ไท) มีหลายประเด็นที่ตกสมัย เลิกอ้างอิงไปแล้ว โดยเฉพาะคนไตมาจากเทือกเขาอัลไต แม้ปัจจุบันจะมีประชากรชาวจีนอาศัยอยู่อย่างต่อเนื่อง ตามที่ราบลุ่มเชิงเขาอัลไต

แต่ยังมีทฤษฎีเก่าอีกเรื่องหนึ่งที่กล่าวถึงเมืองโบราณ 2 แห่ง คือ นครลุง (Rong) และ นครปา (Ba) โดยมีแนวคิดว่าคนโบราณสองอาณาจักรนี้เกี่ยวข้องกับการอพยพเคลื่อนย้ายของกลุ่มคนที่เป็นต้นรากของชนชาวไต ในดินแดนเอเชียและอุษาคเนย์

4 ปีก่อน (พ.ศ.2555) ผู้เขียนมีโอกาสไปเยือนอดีตนครปา ที่ชานเมืองเก่า มหานครฉงชิ่ง มณฑลเสฉวน สาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งตั้งอยู่บนที่ราบลุ่มต้นแม่น้ำแยงซี ได้ชมศิลาจารึกอักษรโบราณชิ้นหนึ่งที่ยังซ่อนตัวในพงหญ้าสูง ภายในหมู่บ้านเล็กๆ

นักวิชาการด้านจารึกโบราณชาวจีนถอดความจากแผ่นศิลาได้ว่าเป็นเรื่องของชาว “ลาวหนานผิง” เมื่อ 3,500 ปีมาแล้ว ชนกลุ่มนี้นิยมสร้างบ้านแบบมีใต้ถุนสูง ทำนา

ตอนท้ายชาวลาวหนานผิงต้องอพยพจากถิ่นเดิมด้วยเหตุผลของสงครามเพราะถูกพวกฮั่นรุกราน

นอกจากนี้ การสำรวจทางโบราณคดีในพื้นที่สูงนอกหมู่บ้านยังพบวัฒนธรรมโลงไม้จำนวนกว่าร้อยโลงในหลายแหล่ง แต่ยังไม่สามารถทำการขุดค้นได้ครบ

%e0%b8%a2%e0%b8%b8%e0%b8%a7%e0%b8%94%e0%b8%b5-%e0%b9%80%e0%b8%88%e0%b8%b2%e0%b8%b0%e0%b9%81%e0%b8%ab%e0%b8%a5%e0%b9%88%e0%b8%87%e0%b9%82%e0%b8%9a%e0%b8%a3%e0%b8%b2%e0%b8%93%e0%b8%84%e0%b8%94%e0%b8%b5

ณ ที่ราบสูงดินเหลือง

ต้นเดือนกันยายน 2559 อาจารย์อรไท ผลดี ผู้อำนวยการพิพิธภัณฑ์ผ้าเผ่าไท ร่วมกับสถาบันวิจัยไทย-จีน โดย อาจารย์ฟาน จูน นำคณะนักวิชาการ เดินทางไปยังแหล่งโบราณคดีก่อนประวัติศาสตร์ “ต้าตี้วาน” และพิพิธภัณฑ์ต้าตี้วาน หมู่บ้านเส้าเตี้ยน ต.อู่หยิง อ.ฉินอาน จ.เทียนสุ่ย มณฑลกานซู่

แหล่งโบราณคดีนี้อยู่ในเขตเมืองโบราณ “หรงโจว” หรือลุงโจว ที่นักประวัติศาสตร์ด้าน “ไทศึกษา” สมัยหนึ่งเชื่อว่าเป็นถิ่นฐานเดียวกับ “นครลุง” อันเก่าแก่

ทว่า การเดินทางย้อนเวลาครั้งนี้ เปิดฉากอดีตที่เก่าไปกว่านั้น

เส้นทางหลวงด่วนพิเศษระหว่างเมืองซีอานไปยังเมืองเทียนสุ่ย กินระยะทางเพียง 502 กิโลเมตร แต่คณะเดินทางต้องใช้เวลานานกว่า 10 ชั่วโมง โดยเฉพาะเมื่อถนนค่อยๆ ไต่ระดับขึ้นสู่ที่ราบสูงดินเหลือง ทางภาคตะวันตกเฉียงเหนือของจีน

ภูมิทัศน์ตลอดสองฝั่งถนนเป็นไร่ท้อและไร่แอปเปิ้ล นาข้าวเหลืองและนาข้าวโพด หลายช่วงเป็นเส้นทางลอดอุโมงค์ยาว ตัดผ่านภูเขาลูกแล้วลูกเล่า

อุโมงค์เจาะภูเขาแห่งหนึ่ง กินระยะทาง 12 กิโลเมตร

ข้อมูลจากหนังสือ “แหล่งโบราณคดีต้าตี้วาน” ตีพิมพ์เมื่อต้นปี พ.ศ.2559 โดย “สถาบันอนุรักษ์แหล่งโบราณคดีต้าตี้วาน” ให้ข้อมูลเกี่ยวกับแหล่งนี้ว่าเป็นวัฒนธรรมสมัยหินใหม่ แบ่งออกได้เป็น 5 ระยะ มีอายุเก่าแก่ในช่วง 7,800-4,800 ปี มาแล้ว

บริเวณแหล่งกินพื้นที่ประมาณ 2,750,000 ตารางเมตร จากไหล่เขาไปจรดที่ลาดเนินขั้นที่สองและที่สามตามลำน้ำชิงสุ่ย

แหล่งนี้ถูกพบครั้งแรกในการสำรวจปี พ.ศ.2501 เริ่มขุดค้นช่วงปี พ.ศ.2521-2527 และปี พ.ศ.2538 โดยคณะนักโบราณคดีจากพิพิธภัณฑ์กานซู่ ครอบคลุมพื้นที่ 14,752 ตารางเมตร

พบซากฐานบ้านจำนวน 240 หลัง ร่องรอยเตาไฟ 98 เตา หลุมขุดค้น 325 หลุม หลุมฝังศพ 71 หลุม เตาเผา 35 เตา ภาชนะดินเผา 4,147 ชิ้น เครื่องมือทำจากกระดูกสัตว์ เขาสัตว์ และเปลือกหอย จำนวน 2,227 ชิ้น

ไม่รวมเศษภาชนะดินเผาและกระดูกสัตว์อีกเป็นจำนวนมาก

ต้าตี้วานได้รับการยกย่องให้เป็นหนึ่งในแหล่งค้นพบที่ยิ่งใหญ่ของจีน ในช่วงศตวรรษที่ 20

%e0%b8%a2%e0%b8%b8%e0%b8%a7%e0%b8%94%e0%b8%b5-%e0%b9%80%e0%b8%88%e0%b8%b2%e0%b8%b0%e0%b9%81%e0%b8%ab%e0%b8%a5%e0%b9%88%e0%b8%87%e0%b9%82%e0%b8%9a%e0%b8%a3%e0%b8%b2%e0%b8%93%e0%b8%84%e0%b8%94%e0%b8%b5

เก่าสุดในจีน 6 ประการ

ตั้งแต่ชั้นวัฒนธรรมระยะที่ 1 ของต้าตี้วาน (7,800-7,300 ปีมาแล้ว) ถูกกำหนดชื่อว่า “วัฒนธรรมก่อนหยางเซา” เป็นวัฒนธรรมหินใหม่แห่งลุ่มน้ำเว่ย ลำน้ำสาขาของแม่น้ำเหลือง

พบซากเมล็ดข้าวทรงกลมเก่าแก่สุดในจีนที่เพาะปลูกแบบอาศัยน้ำฝน เป็นข้าวเจ้าพันธุ์ข้าวเหลือง (จี้) ต่อมาจึงพบข้าวเหนียวเหลือง (สู) เมื่อ 800 ปีผ่านไป ตามแหล่งโบราณคดีตอนเหนือของจีน

ปัจจุบันคนจีนในภูมิภาคนี้ยังปลูกและนิยมรับประทานข้าวเหลืองในชีวิตประจำวัน

มนุษย์ในสังคมเก็บของป่าล่าสัตว์กลุ่มนี้ยังรู้จักการผลิตภาชนะดินเผาลายเขียนสีเก่าแก่ที่สุดในจีน เช่น ชามสามขาสีน้ำตาลแดงปากกว้างลายเชือกทาบสลับลายเขียนสีแดง

คณะนักโบราณคดียังพบลวดลายเครื่องหมาย 10 กว่าแบบ บนภาชนะดินเผาที่นับได้ว่าเก่าแก่ที่สุดในจีน แม้จะยังไม่สามารถแกะความหมายของลายเหล่านี้ได้ แต่ก็สันนิษฐานว่าอาจเป็นแบบแผนแรกสุดของอักษรจีนยุคแรกเริ่ม

ความเก่าแก่ที่สุดประการที่สี่ปรากฏในชั้นวัฒนธรรมระยะที่ 4 หรือ “วัฒนธรรมหยางเซาตอนปลาย” (5,500-4,900 ปีมาแล้ว) เป็นชั้นวัฒนธรรมหลักที่พบการกระจายตัวของหลักฐานการเพาะปลูกและการขยายถิ่นฐานมากที่สุด พบสิ่งปลูกสร้างที่มีสถานะเทียบเท่าวังหรือตำหนักของชนชั้นปกครองผู้มีสถานะทางสังคมสูงสุด ที่หลุมขุดค้นรหัส “F901” และ “F405”

บ้านหรือตำหนักนี้มีเนื้อที่รวม 420 ตารางเมตร มีใจกลางบ้าน แบ่งห้องปีกซ้ายขวาแบบสมมาตร รวมทั้งโถงหน้าหลังและพื้นที่อื่นๆ ภายในหลุมยังพบภาชนะดินเผาที่เป็นเครื่องมือสำหรับตวง วัด แบบละเอียดถึงหลักทศนิยม

บริเวณห้องหลักพื้นที่ 130 ตารางเมตร ปูพื้นด้วยวัสดุหินปูนผสมกรวดทราย คล้ายพื้นคอนกรีตสมัยใหม่ เมื่อเทียบกับการผลิตปูนซีเมนต์ด้วยขี้เถ้าภูเขาไฟของชาวโรมัน ถือได้ว่าต่างเป็นคอนกรีตเก่าแก่ที่สุดในโลก

ความเก่าแก่ที่สุดในจีนประการสุดท้าย คือภาพวาด

ที่หลุมขุดค้น รหัส “F411” ปรากฏภาพวาดด้วยวัสดุสีดำบริเวณพื้นห้อง ความยาว 1.2 เมตร กว้าง 1.1 เมตร ผู้ชายอยู่กลางภาพ หญิงร่างอ้อนแอ้นอยู่ทางซ้าย มีสัตว์ 2 ตัวตรงด้านล่าง นักวิชาการจีนยังไม่อาจสรุปว่าภาพนี้จะสื่อถึงสงคราม การเต้นรำในพิธีศพ พิธีกรรมร่ายมนต์ การเสพสังวาส รูปเคารพ หรือเป็นฉากการล่าสัตว์ กันแน่

%e0%b8%a2%e0%b8%b8%e0%b8%a7%e0%b8%94%e0%b8%b5-%e0%b9%80%e0%b8%88%e0%b8%b2%e0%b8%b0%e0%b9%81%e0%b8%ab%e0%b8%a5%e0%b9%88%e0%b8%87%e0%b9%82%e0%b8%9a%e0%b8%a3%e0%b8%b2%e0%b8%93%e0%b8%84%e0%b8%94%e0%b8%b5

“เส้นทางสายดินเผา” ของเยว่

ไม่เพียงภาชนะดินเผาเขียนสีและเครื่องหมายปริศนาบนภาชนะ หม้อสามขาและไหก้นแหลมก็มีนัยสำคัญต่อการอพยพเคลื่อนย้ายของมนุษย์โบราณไม่แพ้กัน โดยเฉพาะหม้อสามขา ขาหม้อมีขนาดใหญ่และกลวง ไว้ใส่น้ำสำหรับนึ่งอาหาร

ส่วนภาชนะดินเผาก้นแหลมสองหูที่พบในชั้นวัฒนธรรมระยะที่สองและสี่นั้น เจ้าหน้าที่ประจำพิพิธภัณฑ์ต้าตี้วานเล่าว่าใช้สำหรับกรอกน้ำในแม่น้ำ เมื่อน้ำเต็มปากไหจะเด้งขึ้น ทรงตัวตรง คนโบราณใช้เชือกปอร้อยหูหิ้วกลับที่พักหรือวางพักระหว่างทางที่เป็นดินปนทรายได้โดยน้ำไม่หก

อ.ฟาน จูน ถอดความจากเว็บไซต์ Baitu ของทางการจีน ว่า การค้นพบภาชนะดินเผาขียนสีที่ “วัฒนธรรมบ้านโพ” มณฑลส่านซี “วัฒนธรรมหยางเซา” มณฑลเหอหนาน “วัฒนธรรมต้าเหวินโข่ว” มณฑลซานตุง และ “วัฒนธรรมหลงซาน” มณฑลซานตุง ล้วนแต่อยู่ในสมัยหลังภาชนะดินเผาจากแหล่งต้าตี้วาน

เส้นทางเผยแพร่ภาชนะดินเผาเขียนสีสอดคล้องกับเส้นทางอพยพของกลุ่มคนซึ่งถูกเรียกรวมๆ ว่า “เยว่” หรือ “เวียด” (มีความหมายว่า “ผู้อพยพ”) ทางภาคตะวันตกเฉียงเหนือ ไปตามทิศตะวันออกและทางใต้ของจีน

ทฤษฎีนี้เสนอว่าชาวเยว่อพยพจากมณฑลซานตุง ลงไปยังมณฑลเจียงซู มณฑลเจ้อเจียง แล้วกระจายไปยังมณฑลต่างๆ ทางภาคใต้ของจีน เกิดการรวมกลุ่มกับชนกลุ่มเดิมในพื้นที่นั้นๆ แล้วแบ่งเป็นกลุ่มเผ่าจำนวนมาก เรียกว่า “ไป่วเยว่” (ร้อยเยว่ หรือ เวียดร้อยเผ่า)

อ.อรไท ผลดี หัวหน้าคณะเดินทาง ให้ความเห็นว่าบริเวณที่ราบสูงดินเหลืองน่าจะเป็นพื้นที่ที่ทฤษฎีเก่าแก่เคยระบุว่าเป็น “นครลุง”

“นักวิชาการส่วนใหญ่จะเสนอว่าบริเวณระหว่างแม่น้ำฮวงเหอกับแม่น้ำแยงซีเกียงตอนบน ในท้องที่มณฑลกานสูและส่านซี เป็นถิ่นกำเนิดของคนไท อย่างเช่น ศาสตราจารย์เตอร์เรียน เดอ ลาคูเปอรี เสนอว่าถิ่นกำเนิดของชนเผ่าไทอยู่ที่หุบเขาระหว่างแคว้นเสฉวนกับแคว้นส่านซี ซึ่งก็คือบริเวณที่ตั้งของต้าตี้วาน และตั้งอาณาจักรแห่งแรกคือนครลุงที่บริเวณนี้เมื่อประมาณ 7,000 ปีมาแล้ว”

หลังจากเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์ต้าตี้วานและแหล่งโบราณคดีที่แสดงแบบบ้านจำลองคลุมหลุมขุดค้นเดิม อาจารย์อรไทระบุถึงโบราณวัตถุชิ้นสำคัญอย่างหม้อสามขาที่คนโบราณน่าจะใช้สำหรับหุงข้าว เมล็ดข้าวเหลืองเก่าแก่ รวมไปถึงขลุ่ย 7,000 ปี ว่าล้วนเป็นต้นรากภูมิปัญญาชาวไท

00

…การเดินทางทะลุอุโมงค์ภูเขาหลายลูกย้อนเวลาไปสู่ถิ่นฐานของมนุษย์สมัยหินใหม่แห่งต้าตี้วาน ทำให้รูปรอยความรู้และจินตนาการบรรเจิดขึ้น พร้อมกับคำถามทางวิชาการอีกมากมาย

“ไป่วเยว่” ผู้มาพร้อมหม้อเขียนสีและหม้อสามขาจะมีความสัมพันธ์กับกลุ่มชาวไตตามลุ่มน้ำแดง แม่น้ำคง (สาละวิน) แม่น้ำโขงในดินแดนอุษาคเนย์ปัจจุบันหรือไม่?

“นครลุง” อาณาจักรโบราณ…มีอยู่จริง หรือเป็นเพียงตำนานประกอบทฤษฎี?

หากมีจริง จะใช่ดินแดน “ลุงโจว” (หรง) บนที่ราบสูงดินเหลืองที่พบร่องรอยของมนุษย์ยุคหินใหม่นี้หรือไม่?

นักวิชาการด้านไทศึกษารุ่นใหม่ควรเดินทางไปให้ถึงต้าตี้วาน เพื่อค้นหาคำตอบด้วยตัวเองสักครั้ง