ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 1 - 7 มิถุนายน 2561 |
---|---|
คอลัมน์ | มองไทยใหม่ |
ผู้เขียน | นิตยา กาญจนะวรรณ [email protected] |
เผยแพร่ |
หนังสือลับในจินดามณี (๑)
หนังสือจินดามณีกลับมาได้รับความสนใจอีกครั้งเมื่อมีการกล่าวถึงวิธีการเขียนหนังสือลับ ๕ แบบ คือ ไทยนับสาม ไทยนับห้า ไทยหลง ฤๅษีแปลงสาร และ อักษรเลข
พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.๒๕๕๔ ให้ความหมายไว้ดังนี้
ไทยนับสาม, ไทยนับห้า น. ชื่อวิธีเขียนหนังสือลับอย่างโบราณ เมื่อจะอ่านต้องนับอ่านตัวที่ ๓ หรือที่ ๕ ฯลฯ ตามชื่อ.
ไทยหลง น. วิธีเขียนหนังสือลับของโบราณอย่างหนึ่ง.
ฤๅษีแปลงสาร น. ชื่อวิธีเขียนหนังสือลับแห่งไทยโบราณกลับตัวอักษรข้างหลังมาไว้ข้างหน้า, โดยปริยายหมายความว่า เปลี่ยนข้อความเดิมให้มีความหมายตรงกันข้าม.
อักษรเลข [อักสอระเลก, อักสอนเลก] น. วิธีเขียนหนังสือลับโบราณ ใช้ตัวเลขแทนสระ
ตัวอย่าง ไทยนับสาม หรือ ไทยนับ ๓ ใน จินดามณี ฉบับกรมศิลปากร (๒๕๖๑) มีดังนี้
เรขเออสยเดศุเงภถสาอัลระดงส้ถ รนมอคำธุกพรพรัศรัดพอพจง
บโไฦดทกยนัระเบหัลลัศศ เล้เรินปงเนร้ปบัอนนงแร่ำขทิเษงหม
เมื่อเริ่มนับจากด้านซ้าย ตัวที่ ๓ ตัวแรกคือ ข ตัวต่อไปคือ อ ได้ความว่า ขอแถลง ในภาพใช้สีเหลืองทาบไว้ จากนั้นเริ่มนับต่อไปและย้อนกลับไปทางด้านซ้าย ได้ความว่า แสดงสาระ ในภาพใช้สีฟ้าทาบไว้ จากนั้นก็นับย้อนต่อไปเหมือนเดิม ได้ความว่า ส้รอยศุภอัดถ ในภาพใช้สีม่วงทาบไว้ รวมแล้วถอดความได้ว่า
ขอแถลงแสดงสาระส้รอย ศุภอัดถ
มธุรศพจนคำพรัด พรอกพร้อง
ไทนับลับฦกระหัศ โดยเลศ
เปนบันเขษมเริงร้อง ร่ำเหล้นเปนเทิง
ในบทโคลงข้างต้น มีคำที่เขียนต่างจากที่เก็บไว้ในพจนานุกรม เช่น ส้รอย (สร้อย) อัดถ (อรรถ) มธุรศ (มธุรส) ฦก (ลึก) ระหัศ (รหัส) เปน (เป็น) เหล้น (เล่น)
มีข้อที่น่าสังเกตคือ ในบรรทัดที่ ๒ รั (ร ไม้หันอากาศ) ควรจะเป็น ร้ (ร ไม้โท) ให้เป็น พร้อง ในบรรทัดที่ ๒ ซึ่งสัมผัสกับ ร้อง ในบรรทัดที่ ๔ หรือไม่ นั่นคือ มีการคัดลอกผิดหรือไม่
คราวหน้าเราจะลองถอดความลับของ ไทยนับห้า กัน