“แขก” ปัตตานี ถูกกวาดต้อนเข้ากรุงเทพฯ สมัยรัชกาลที่ 1 | สุจิตต์ วงษ์เทศ

หมายเหตุ : บทความนี้เผยแพร่ครั้งแรกในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 6 ตุลาคม 2549 คอลัมน์ “อ่านแผ่นดินท้องถิ่นเรา”

ลิเกมี “ออกแขก” ก่อนเล่นจับเรื่อง เพราะได้แบบมาจากแขก เลยยกแขกเป็น “ครู” แล้วยกย่องด้วยประเพณีออกแขกทุกครั้งสืบจนทุกวันนี้

แขกที่คนไทยรู้จักมีอย่างน้อย 2 พวก คือ แขกฮินดู นับถือศาสนาพราหมณ์ กับ แขกมุสลิม นับถือศาสนาอิสลาม มีอยู่ในสยามประเทศเป็นชาวสยามตั้งแต่ยุคกรุงศรีอยุธยาหรือก่อนหน้านั้นอีก แล้วกระจายอยู่ในเมืองบางกอกตั้งแต่ยุคกรุงศรีอยุธยาด้วย

แต่แขกมุสลิมที่เป็นพลังสำคัญผลักดันให้เกิดลิเกขึ้นในกรุงเทพฯสมัยรัชกาลที่ 5 มาจากเมืองปัตตานีในแผ่นดินรัชกาลที่ 1

รัฐปัตตานี เป็นรัฐเอกเทศของชาวมลายู เริ่มแรกนับถือฮินดู-พุทธ มาแต่ยุคทวารวดีศรีวิชัย ราวหลัง พ.ศ.1000 มีอำนาจเหนือดินแดนตั้งแต่ใต้เมืองสงขลาลงไป รวม 3 จังหวัดภาคใต้ คือ ยะลา ปัตตานี นราธิวาส คุมการค้าข้ามคาบสมุทรมลายู

ต่อมาเปลี่ยนศาสนาจากฮินดู-พุทธ เป็นอิสลาม เมื่อราว พ.ศ.1900 (ตรงกับยุคต้นกรุงศรีอยุธยา) แต่ครองเป็นรัฐเอกเทศไม่ขึ้นกับรัฐใหญ่ใดๆ

 

ครั้นเสร็จศึกพม่าหรือสงครามเก้าทัพ เมื่อ พ.ศ.2328 รัชกาลที่ 1 โปรดให้ “น้อง” คือกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาถ ยกทัพลงไปตีหัวเมืองทางปักษ์ใต้ถึงมลายูปัตตานี มีความในพระราชพงศาวดาร ตอนตีเมืองปัตตานี จะยกมาดังนี้

“แล้วดำรัสว่าเมืองตานีและเมืองแขกทั้งปวง ยังมิได้มาอ่อนน้อมยอมเป็นข้าขอบขัณฑสีมา ตั้งแข็งเมืองอยู่ จำจะยกทัพหลวงออกไปตีเมืองแขกทั้งปวงมาเป็นเมืองขึ้นอยู่ในพระราชอาณาเขตให้จงได้ จึงดำรัสให้กองหน้ายกออกไปตีหัวเมืองแขกทั้งปวงมีเมืองตานีเป็นต้น

ทัพหลวงก็เสด็จยกหนุนไปด้วยเดชะพระราชกฤษฎาธิการ บรรดาเมืองแขกทั้งปวงก็พ่ายแพ้แก่พลข้าหลวงทั้งสิ้น ที่สู้รบปราชัยจึงได้เมืองก็มีบ้าง ที่แตกหนีมิได้ต่อรบก็มีบ้าง ที่มาอ่อนน้อมยอมสวามิภักดิ์ก็มีบ้าง

และเมืองตานีนั้นเป็นเมืองใหญ่ได้ปืนทองใหญ่ในเมืองสองบอก ทรงพระกรุณาให้เข็นลงในสำเภา และได้เครื่องสรรพศัสตราวุธต่างๆ กับทั้งสรรพวัตถุสิ่งของทองเงินเป็นอันมาก บรรดาเจ้าเมืองกรมการแขกมลายูทั้งปวง ที่สู้รบตายในที่รบบ้าง จับเป็นได้ฆ่าเสียบ้าง จำไว้บ้าง ที่หนีไปได้บ้าง ที่เข้าสวามิภักดิ์โดยดีก็มิได้ลงโทษบ้าง และพระเดชานุภาพก็ผ่านแผ่ไปในมลายูประเทศทั่วทั้งปวง

ขณะนั้นพระยาไทรและพระยากลันตัน พระยาตรังกานู ก็เกรงกลัวพระราชกฤษฎาเดชาธิการ ก็แต่งศรีตวันกรมการให้คุมเครื่องราชบรรณาการนำมาทูลเกล้าฯ ถวาย ขอเป็นเมืองขึ้นข้าขอบขัณฑสีมา ณ กรุงเทพมหานคร จึงมีพระราชบัณฑูรให้แต่งหนังสือบอกข้าราชการซึ่งได้ชัยชนะแก่พม่าปัจจามิตร และเสด็จไปปราบหัวเมืองแขกปราชัยได้บ้านเมืองเป็นอันมาก ที่มาขอขึ้นก็หลายเมือง ให้ข้าหลวงถือเข้ามากราบทูลพระกรุณาสมเด็จพระบรมเชษฐาธิราชเจ้า ยังกรุงเทพมหานคร

พระบาทสมเด็จบรมบพิตรพระพุทธเจ้าหลวงได้ทรงทราบก็ทรงพระโสมนัส ดำรัสสรรเสริญพระกฤษฎาเดชานุภาพสมเด็จพระอนุชาธิราชเจ้า แล้วโปรดให้มีตราตอบออกไปแจ้งข้อราชการ ซึ่งเสด็จพระราชดำเนินทัพหลวงขึ้นไปปราบอริธิราชไพรี ณ หัวเมืองฝ่ายเหนือปราชัยไปสิ้นแล้ว ให้อัญเชิญเสด็จสมเด็จพระบรมราชอนุชาให้ยาตราพยุหทัพหลวงกลับคืนยังพระนคร

สมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวกรมพระราชวังบวรฯ ได้ทรงทราบในท้องตราว่ามีพระราชโองการให้หาทัพกลับ จึงดำรัสให้กวาดครอบครัวแขกเชลยทั้งหลายบรรทุกในเรือรบ กับทั้งทรัพย์สิ่งของทองเงินและเครื่องศัสตราวุธต่างๆ และให้แบ่งครอบครัวแขกทั้งหลายให้ไว้สำหรับบ้านเมืองบ้างทุกๆ เมือง แล้วโปรดตั้งบรรดาขุนนางแขกซึ่งมีใจสวามิภักดิ์เป็นเจ้าเมืองกรมการอยู่รักษาหัวเมืองแขกทั้งปวงซึ่งตีได้นั้น

อนึ่ง ทรงทราบว่าธัญญาหารในกรุงยังไม่บริบูรณ์ จึงดำรัสให้ขนข้าวในหัวเมืองแขกทั้งปวงนั้นลงบรรทุกในเรือกองทัพทุกๆ ลำ เสร็จแล้วจึงให้เลิกกองทัพกลับมาทั้งทางบกและทางเรือ มาถึงพระนครในเดือน 11 ปีมะเมีย อัฐศก ศักราช 1148 ปี เสด็จขึ้นเฝ้าสมเด็จพระบรมเชษฐาธิราช กราบทูลแถลงราชกิจการสงครามซึ่งมีชัยชนะ แล้วทูลถวายปืนใหญ่ยาวสามวาศอกคืบสองนิ้วกึ่ง กระสุนสิบเอ็ดนิ้วบอกหนึ่ง ยาวห้าศอกคืบเก้านิ้วกระสุนสามนิ้วกึ่งบอกหนึ่ง ซึ่งได้มาแต่เมืองตานี และครอบครัวแขกและพม่าเชลยกับทั้งเครื่องศัสตราวุธต่างๆ

จึงมีพระราชโองการดำรัสให้เจ้าพนักงานลากปืนใหญ่เข้าไว้ ณ โรงในพระราชวัง บอกใหญ่นั้นให้จารึกนามลงกับบอกปืนชื่อพระยาตานี”

ครัวชาวเมืองปัตตานีที่เป็นแขกมุสลิมถูกกวาดต้อนเข้ามาอยู่กรุงเทพฯ คราวนี้ ให้ตั้งบ้านเรือนอยู่ทางวัดชนะสงคราม อันเป็นเขตวังหน้า กระจายมาจนถึงวัดบวรฯ มีถนนตานี (ของพวกปัตตานี) เป็นพยานอยู่บางลำพูทุกวันนี้ แล้วมีสุเหร่าใกล้ถนนข้าวสาร หลังอาคารถนนราชดำเนิน

แขกมลายูปัตตานีพวกนี้จะมีส่วนสำคัญให้เกิดลิเกต่อไปในรัชกาลที่ 5

WN0780610MUK