ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 30 สิงหาคม - 5 กันยายน 2567 |
---|---|
คอลัมน์ | คุยกับทูต |
เผยแพร่ |
คุยกับทูต | ชานดอร์ ชิโพช
เมื่อฮังการีรับหน้าที่ประธานหมุนเวียนอียู (1)
ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2024 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2024 ฮังการีเข้ารับตำแหน่งประธานแห่งคณะมนตรีแห่งสหภาพยุโรปเป็นครั้งที่สอง หลังจากที่เคยดำรงตำแหน่งประธานเป็นครั้งแรกเมื่อปี 2011 (ครึ่งปีแรก) นับตั้งแต่เข้าเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป โดยวาระการดำรงตำแหน่งแบบหมุนเวียนปกติจะอยู่ที่ 6 เดือน
ฮังการีสืบทอดตำแหน่งประธานต่อจากเบลเยียมเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคมที่ผ่านมา ส่วนตำแหน่งประธานครั้งต่อไปจะดำรงตำแหน่งโดยโปแลนด์ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2025
ในฐานะประธานแห่งคณะมนตรีแห่งสหภาพยุโรป เป็นการรวมงานของ “สามประเทศ” (trio) ล่าสุด ซึ่งเป็นระบบที่ประเทศสมาชิกที่ดำรงตำแหน่งประธานทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดเป็นกลุ่มละสามประเทศ ซึ่งทั้งสามประเทศจะกำหนดเป้าหมายระยะยาวและเตรียมวาระการประชุมร่วมกันเพื่อกำหนดหัวข้อและประเด็นสำคัญที่สภายุโรปจะพิจารณาในช่วง 18 เดือน ทั้งสามประเทศในปัจจุบันประกอบด้วยประธานจากสเปน เบลเยียม และฮังการี
ฮังการีรับตำแหน่งประธานหมุนเวียนในช่วงเวลาที่ละเอียดอ่อนของสถาบันต่างๆ เพราะไม่เพียงแต่ความท้าทายภายนอกที่ยังคงมีอยู่ เช่น วิกฤตยูเครนและตะวันออกกลาง แต่ยังเป็นจุดเริ่มต้นวัฏจักรของสถาบันในปี 2024-2029 ร่วมกับการหารือหลังการเลือกตั้งเกี่ยวกับตำแหน่งงานหลักของสหภาพยุโรปและทิศทางในอนาคต
เมื่อสิ้นสุดวาระการดำรงตำแหน่งของเบลเยียม ฮังการีได้เผยแพร่วาระการประชุมซึ่งกำหนดลำดับความสำคัญและทิศทางหลักของการดำรงตำแหน่งประธานสภายุโรป
ฮังการียังชูสโลแกนการบริหารอียู ซึ่งก็คือ “ทำให้ยุโรปยิ่งใหญ่อีกครั้ง” (Make Europe Great Again-MEGA) ชวนให้นึกถึงสโลแกนหรับสหรัฐของอดีตประธานาธิบดีสหรัฐ โดนัลด์ ทรัมป์
ในโอกาสนี้ ดร.ชานดอร์ ชิโพช (H.E. Dr. Sándor Sipos) เอกอัครราชทูตฮังการีประจำประเทศไทยให้สัมภาษณ์พิเศษมติชนสุดสัปดาห์ในประเด็นการดำรงตำแหน่งประธานหมุนเวียนสภายุโรปของฮังการี บทบาทหน้าที่ ตลอดจนความสัมพันธ์ไทย-ฮังการี 155 ปี
การเป็นประธานของฮังการี มีโลโก้เป็นรูปลูกบาศก์ ซึ่งมีธงชาติฮังการีอยู่ด้านหนึ่งและธงสหภาพยุโรปอยู่อีกด้านหนึ่ง ลูกบาศก์ได้รับแรงบันดาลใจจาก สิ่งประดิษฐ์ที่ได้ประดิษฐ์ขึ้นในปี 1974 โดยแอร์เนอ รูบิก (Ernő Rubik)ศาสตราจารย์และสถาปนิกชาวฮังการีที่มีชื่อเสียงระดับโลก “ลูกบาศก์รูบิก” จาก “สื่อการสอน” สู่ “แบรนด์ของเล่นลับสมองสุดอมตะ” มีอายุครบ 50 ปีพอดีในปี 2024 นี้
ดร.ชานดอร์ ชิโพช กล่าวถึงบทบาทของฮังการีในช่วงที่ดำรงตำแหน่งประธาน โดยมุ่งเน้นไปที่ 7 ประเด็นหลัก นั่นคือ
การบริหารจัดการชายแดนภายนอกของสหภาพยุโรปและปราบปรามผู้อพยพที่ผิดกฎหมาย (Strengthening the external borders of the European Union and combating illegal immigration) : โดยการพัฒนากฎหมายเพิ่มเติมเพื่อแก้ไขปัญหานี้
การจัดการกับความท้าทายทางประชากรศาสตร์ของประชากรผู้สูงอายุในยุโรป (Addressing the demographic challenges of an aging population in Europe) : สร้างความกังวลให้กับประเทศสมาชิกและส่งผลต่อความสามารถในการแข่งขันและความยั่งยืนของการเงินสาธารณะของสหภาพยุโรป
การส่งเสริมการขยายตัวของสหภาพยุโรปไปยังบอลข่านตะวันตก (Promoting enlargement of the European Union to the Western Balkans) นโยบายการขยายตัวที่สอดคล้องและอิงตามคุณธรรม : ฮังการีตั้งเป้าที่จะขยายความร่วมมืออย่างลึกซึ้งยิ่งขึ้นระหว่างสหภาพยุโรปและบอลข่านตะวันตก โดยมุ่งเน้นไปที่การขยายตัวไปสู่ภูมิภาคนี้ มากกว่าที่จะไปสู่ยูเครนและจอร์เจีย
การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจของสหภาพยุโรป (New European Competitiveness Deal) โดยกำหนดเป้าหมายนี้ไว้ในนโยบายทั้งหมดด้วยแนวทางที่ครอบคลุม ประเด็นสำคัญ ได้แก่ การขจัดอุปสรรคต่อตลาดภายใน การลดระเบียบราชการ และการนำข้อตกลงความสามารถในการแข่งขันใหม่ของยุโรปมาใช้
การกำหนดอนาคตของนโยบายความสามัคคีในภูมิภาคของสหภาพยุโรป (Shaping the future of the cohesion policy) การลดความเหลื่อมล้ำในภูมิภาค ตลอดจนการรักษาความสามัคคีทางเศรษฐกิจ สังคม และอาณาเขต
การส่งเสริมนโยบายการเกษตรของสหภาพยุโรปที่ “เน้นเกษตรกร” (A farmer-oriented EU Agricultural policy) ฮังการีในฐานะประธาน เรียกร้องให้สภาการเกษตรและการประมงใช้ประโยชน์จากช่วงเวลาเปลี่ยนผ่านสถาบันเพื่อช่วยให้คณะกรรมาธิการชุดใหม่พัฒนากฎข้อบังคับสำหรับนโยบายเกษตรของสหภาพหลังปี 2027 โดยเน้นที่การสร้างภาคเกษตรที่มีการแข่งขัน ยืดหยุ่น และเป็นมิตรต่อเกษตรกร
การเสริมสร้างนโยบายการป้องกันประเทศของสหภาพยุโรป (Strengthening the European Union’s defense policy) ฮังการีในฐานะประธาน มุ่งหวังที่จะให้ความสำคัญกับการเสริมสร้างฐานเทคโนโลยีและอุตสาหกรรมการป้องกันประเทศของยุโรป รวมถึงนวัตกรรมด้านการป้องกันประเทศ และการเพิ่มพูนความร่วมมือในการจัดซื้อจัดจ้างด้านการป้องกันประเทศระหว่างประเทศสมาชิก
ทั้งนี้ ฮังการีจะต้องรับผิดชอบในการขับเคลื่อนสหภาพยุโรปและประชาคมระหว่างประเทศ โดยยึดถือจิตวิญญาณแห่งความร่วมมือที่จริงใจระหว่างประเทศสมาชิกและสถาบันต่างๆ เพื่อสันติภาพ ความมั่นคง และความเจริญรุ่งเรืองของยุโรปที่แข็งแกร่งอย่างแท้จริง
เอกอัครราชทูตฮังการีประจำประเทศไทย ยังกล่าวด้วยว่า
เมื่อพูดถึงการเชื่อมโยง “ยูเรเซีย” (Eurasia) ก็อยากจะเน้นย้ำว่า การดำรงตำแหน่งประธานแห่งคณะมนตรีแห่งสหภาพยุโรปของฮังการี ในระหว่างวันที่ 1 กรกฎาคม 2024 ถึง 31 ธันวาคม 2024 ได้ให้ความสำคัญเป็นพิเศษกับการเสริมสร้างความสัมพันธ์ระหว่างยุโรปและเอเชีย
ยูเรเซียเป็นทวีปที่มีพื้นที่ใหญ่สุดในโลก ที่ประกอบด้วยยุโรปและเอเชียทั้งหมด
เราถือว่าการเปิดประเทศสู่โลกตะวันออกและประเทศอาเซียนนั้นมีความสำคัญอย่างยิ่ง ดังนั้น เราจึงตั้งเป้าที่จะให้ประเด็นที่เกี่ยวข้องด้านการค้ากับภูมิภาคนี้อยู่ในวาระการประชุมของสถาบันต่างๆ ของสหภาพยุโรปในช่วง 6 เดือนนี้
นอกจากนี้ ผมยินดีที่จะแจ้งให้ทราบว่า ในช่วงที่ฮังการีดำรงตำแหน่งประธาน จะมีการจัดการเจรจาความตกลงการค้าเสรี (FTA) 3 รอบกับประเทศสมาชิกอาเซียน รวมถึงการเจรจาความตกลงการค้าเสรีรอบต่อไปกับไทยระหว่างวันที่ 25-29 พฤศจิกายนนี้ที่กรุงเทพฯ ซึ่งฮังการีเป็นประเทศที่มุ่งเน้นการส่งออกเป็นหลักเช่นเดียวกับราชอาณาจักรไทย
ทั้งนี้ ดร.ชานดอร์ ชิโพช ให้คำรับรองว่า
ฮังการีจะยังคงทำงานต่อไป เพื่อเสริมสร้างความสัมพันธ์กับประเทศไทยโดยยึดหลักการความเคารพซึ่งกันและกัน โดยเคารพในคุณค่าและประเพณีของกันและกัน และเราจะสานต่องานของประธานแห่งคณะมนตรีแห่งสหภาพยุโรป คนก่อนๆ เพื่อจะนำครอบครัวยุโรปมาใกล้ชิดกับเพื่อนชาวไทยของเราให้มากยิ่งขึ้น •
รายงานพิเศษ | ชนัดดา ชินะโยธิน
Chanadda Jinayodhin
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022