โลกหมุนเร็ว/เพ็ญศรี เผ่าเหลืองทอง/เนิบช้าที่น่าน

โลกหมุนเร็ว/เพ็ญศรี เผ่าเหลืองทอง/[email protected]

เนิบช้าที่น่าน

 

ที่หน้าวัดพระธาตุช้างค้ำวรวิหาร หนึ่งในวัดสำคัญในอำเภอเมืองน่าน หญิงคนหนึ่งซึ่งเธอบอกว่าอายุสี่สิบแล้วนั่งขายของที่ระลึกด้วยใบหน้ายิ้มแย้มตลอดเวลา เธอมีส่วนสูงราว 50 เซนติเมตร ส่วนศีรษะสมบูรณ์ แต่ส่วนตัวย่อลงจนเหลือนิดเดียว

เธอต้องมีคนช่วยอุ้มขึ้นลงไปใส่รถกลับบ้าน

เธอทำให้เราเห็นความสุขที่เปล่งออกมาจากตัวเมื่อได้นั่งอยู่ตรงนั้น มีรายได้เล็กๆ น้อยๆ จากการขายของ ได้พูดคุยทักทายกับลูกค้า ได้อยู่ภายใต้ร่มเงาไม้หน้าโบสถ์ที่มีพระพุทธรูปงดงาม

เธอสะท้อนให้เราเห็นความสุขที่น่าน และความสุขของคนน่าน

ทำไมหนอผู้คนจึงรักเมืองนี้ ทั้งคนที่เป็นเจ้าของถิ่น และคนผู้มาเยือน

 

ที่วัดหนองบัว ซึ่งมีภาพเขียนฝาผนังฝีมือเดียวกับวัดภูมินทร์ ที่นี่เป็นวัดไทยลื้อ ตั้งอยู่ในชุมชนไทยลื้อ เป็นชุมชนที่สะอาดเอี่ยม สวยงามแบบเรียบง่าย น่าชื่นใจด้วยไม้ดอกไม้ใบที่ได้รับการดูแลอย่างดีทั้งรอบบริเวณวัดและหมู่บ้าน สะท้อนให้เห็นว่าคนน่านไม่แข่งกับใครเรื่องความเจริญทางวัตถุ แต่เลือกที่จะใช้เวลารักษาวิถีชีวิตดั้งเดิมที่น่าพอใจ

เมื่อเราก้าวเข้าไปยังบริเวณวัด ดนตรีต้อนรับจากเครื่องดนตรีสองสามชิ้นบรรเลงโดยคนไทยลื้อก็แว่วมาก่อนเห็นตัว ดนตรีแบบนี้ยังคอยต้อนรับเราเมื่อเราไปเยือนหลายๆ แห่ง ไพเราะชื่นใจในสำเนียงล้านนา คนน่านไม่นิยมสิ่งบันเทิงเริงรมย์อันอึกทึกครึกโครม จึงเล่นดนตรีกล่อมอารมณ์ สร้างสุนทรีย์ให้ชีวิต และเผื่อแผ่มายังผู้มาเยือน อีกทั้งบอกตัวตนของคนน่าน

ถึงแม้นว่าน่านได้กลายเป็นเมืองท่องเที่ยวอันดับต้นๆ ของไทยไปแล้ว แต่สิ่งที่น่าดีใจคือน่านยังรักษาความสงบเงียบ สะอาดสะอ้าน วัดวาอารามที่สะอาด ความงามแห่งศิลปะล้านนาเปล่งประกายด้วยได้รับการทะนุบำรุงอย่างดี

อยู่คู่บ้านคู่เมืองมาเป็นเวลาหลายร้อยปี

 

น่านเคยเป็นนครรัฐที่ปกครองตนเอง มีเจ้าผู้ครองนครราชวงศ์ภูคาสืบต่อกันมา โดยก่อนพระองค์สุดท้ายคือพระเจ้าสุริยพงษ์ผลิตเดช และพระโอรสที่เป็นพระองค์สุดท้ายคือเจ้าอนันตวรฤทธิเดช น่านเป็นรัฐอิสระอยู่ภายใต้การปกครองของไทยตั้งแต่สมัยกรุงธนบุรีจนถึงต้นสมัยรัตนโกสินทร์ แล้วผนวกรวมกับอาณาจักรสยามในสมัยรัชกาลที่ 5

การผนวกรวมค่อยเป็นไปอย่างละมุนละม่อม ปราศจากการเสียเลือดเนื้อหรือแข็งขืน น่าจะเป็นเพราะพื้นนิสัยรักสงบและยึดมั่นในหลักธรรมในพระพุทธศาสนาของบรรพบุรุษน่าน

เราจะเห็นรากความเป็นมาของประวัติศาสตร์น่านจากชื่อถนนหนทางเช่นชื่อถนนสุริยพงษ์ เอกสารเก่า คุ้มเจ้าเก่าซึ่งยังคงอยู่และเปิดให้เข้าไปสัมผัสเรียนรู้ เป็นวิธีรักษาตัวตนในอดีตอันแยบยลและกลมกลืนกับปัจจุบัน

เมืองน่านอยู่บนที่ราบลุ่มแม่น้ำน่าน มีเนื้อที่ไม่มาก นอกเมืองออกไปจะเป็นที่สูงบนภูเขามีความสูงเหนือระดับน้ำทะเลตั้งแต่ 1,000 เมตรขึ้นไป เช่น ดอยภูคาที่ไปดูดอกชมภูพูคากันก็จะสูง 1,250 เมตร ส่วนบริเวณที่สูงที่สุดจะสูงถึง 1,980 เมตรเหนือระดับน้ำทะเล ถ้าจะเที่ยวน่านทั้งจังหวัดใช้เวลา 4-5 วันน่าจะพอได้ หมายถึงทั้งในเมืองและนอกเมือง และเป็นเรื่องที่น่าทำอย่างยิ่ง เพราะจะได้สัมผัสธรรมชาติที่งดงามอันเป็นพื้นที่ส่วนใหญ่ของจังหวัดน่านหลังจากที่ได้ชมวัดในตัวเมืองแล้ว

น่านมีอุทยานแห่งชาติถึง 7 แห่ง เดือนมกราคม กุมภาพันธ์ อากาศหนาวประมาณ 8-9 องศา เช่น วันที่ 6 กุมภาพันธ์ ที่บ่อเกลือจะหนาวเท่านี้ การไปอุทยานฯ ก็จะได้สัมผัสอากาศบริสุทธิ์และความเย็นที่ชุ่มฉ่ำใจ

เดือนกุมภาพันธ์ เจ้าของรถตู้ที่รับนักท่องเที่ยวบอกว่าขายดีเพราะคนกรุงเทพฯ หนีฝุ่นขึ้นมาเที่ยวน่านกัน

 

ดูเหมือนว่าอำเภอปัวจะกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีผู้นิยมมาพักใหญ่แล้ว รีสอร์ตหลายแห่งผุดขึ้นมาแต่ก็ยังไม่มากมาย ส่วนใหญ่เป็นรีสอร์ตขนาดเล็ก

บางแห่งเป็นโฮมสเตย์ขนาด 4 ห้องเพราะคนน่านทำอะไรแต่พอตัว ไม่ใช้วิสัยพ่อค้าหลบเลี่ยงกฎระเบียบ

เจ้าของที่พักที่ลอฟต์ปัวเล่าว่า ถ้าหากจะทำรีสอร์ตขนาดเกินกว่า 4 ห้องนอนจะต้องเพิ่มอุปกรณ์อำนวยความสะดวกต่างๆ มากมาย

แต่ถึงกระนั้น 4 ห้องที่มีอยู่ท่ามกลางทุ่งนาก็ได้สร้างความประทับใจไม่รู้ลืมแก่ผู้มาพัก

ที่นี่มีสไตล์อาคารเป็นตึกสี่เหลี่ยมแบบที่เรียกว่าลอฟต์ มีดาดฟ้ามองออกไปเห็นนาข้าวเขียวขจีในฤดูใกล้เก็บเกี่ยวและเหลืองอร่ามในวันเก็บเกี่ยว นอกฤดูกาลมีผักสวนครัวต่างๆ น่าดูไม่แพ้กัน

ความช่างคิดของเจ้าของที่เป็นเด็กหนุ่มในพื้นที่ ให้แขกผู้มาเยือนทำอาหารรับประทานเองได้ในครัวที่เปิดโล่ง ไม่ว่าจะเป็นมื้อไหน มื้อเช้าทุกคนได้รับประทานข้าวต้มร้อนๆ หอมฉุย และต่างทอดไข่ดาวกันเองตามถนัด เป็นความสนุกเล็กๆ น้อยๆ ที่ประทับใจ

จริงใจ ไม่เสแสร้ง มีไอเดียอะไรก็นำออกมาแบ่งปัน เป็นประสบการณ์ที่ไม่ลืมเลือน

เราไม่ผิดหวังที่ได้มาพักที่อำเภอปัวที่มีทั้งธรรมชาติงดงาม มีงานผ้าฝ้ายที่ออกแบบได้สวยงามได้ซื้อหากันไปจากร้านแพวผ้าฝ้าย

 

เช่นเดียวกับที่อำเภอบ่อเกลือที่ได้เห็นบ่อเกลือสินเธาว์ดึกดำบรรพ์ที่ยังใช้ตักใช้ต้มกินกันมาถึงทุกวันนี้ พร้อมกับมีการพัฒนาผลิตภัณฑ์จากเกลือ เช่น สบู่และครีมนวดตัวต่างๆ แม้ว่าใครบางคนยังอยากเห็นการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่เพิ่มมูลค่าได้มากกว่านี้

น่านบนที่สูงเป็นที่รวมของชนเผ่าต่างๆ ที่แต่เดิมทำเกษตรกรรมแบบไม่ทำลายป่าและยังเป็นผู้รักษาป่า ชนเผ่าต่างๆ มีตั้งแต่ลัวะ เมี่ยน (ม้ง) ลื้อ ปัจจุบันมีบางส่วนลงมาเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาแบบสมัยใหม่ที่ยังไม่ทิ้งสำนึกของการรักษาธรรมชาติที่บรรพบุรุษปลูกฝังไว้

หญิงสาวเจ้าของร้านกาแฟที่บ่อเกลือเป็นชาวไทยลัวะ ค้าขายเก่งและมีน้ำใจ เธอขายน้ำมัลเบอร์รี่เข้มข้นที่บอกว่าทางเกษตรได้มาช่วยอบรมพัฒนาสูตรให้จนสามารถเพิ่มมูลค่ามัลเบอร์รี่ที่มีอยู่มากมายและขายสดไม่ได้ราคา เดี๋ยวนี้เธอบอกว่ามันช่วยให้เกษตรกรไม่ต้องปลูกข้าวโพด

นอกจากความสวยงามและวัฒนธรรมกับวิถีชีวิตที่สงบเย็น คนน่านยังต้องเดินต่อไปเพื่อให้แหล่งปลูกข้าวโพด พืชเชิงเดี่ยวที่ต้นทุนสูงและทำลายสิ่งแวดล้อมค่อยๆ หมดไป เราก็หวังกันว่าเมื่อไต่ขึ้นสันเขาที่สูงแล้วมองไกลออกไปจะเห็นแต่ความเขียวขจีและหย่อมสีน้ำตาลที่เกิดจากการถางที่ปลูกข้าวโพดจะค่อยๆ หมดไป

ใครโชคดีได้มาใช้ชีวิตบั้นปลายหลังเกษียณที่น่าน ก็ต้องบอกว่าเลือกที่ไม่ผิดให้ชีวิตยามใกล้ฝั่งค่ะ