นิธิ เอียวศรีวงศ์ : เกสตาปูกับ 6 ตุลา (จบ)

นิธิ เอียวศรีวงศ์

เกสตาปูกับ 6 ตุลา ตอน 3 (จบ)

ย้อนอ่าน เกสตาปูกับ 6 ตุลา ตอน (1)  (2) 

แตกต่างจาก 6 ตุลา ซึ่งรัฐบาลรัฐประหารรีบออกกฎหมายนิรโทษกรรมผู้กระทำผิดอาญาในวันนั้น (ทำให้ยากที่จะเชื่อได้ว่า การสังหารหมู่ในตอนเช้าถึงบ่าย ไม่เกี่ยวอะไรกับกลุ่มที่ยึดอำนาจในตอนเย็น) นายพลซูฮาร์โต ผู้นำกองทัพบกซึ่งค่อยๆ คืบคลานเข้ายึดอำนาจจากประธานาธิบดีซูการ์โน ไม่ได้ประกาศนิรโทษกรรมฆาตกรจำนวนมากที่ “ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์” (ที่ไม่เกี่ยวกับเผ่าพันธุ์) ซึ่งได้กระทำการอันทารุณป่าเถื่อนสืบมาจนถึง 1966 แต่จนถึงบัดนี้ หลังเหตุการณ์มากว่าครึ่งศตวรรษแล้ว ก็ยังไม่มีการสืบสวนสอบสวนเรื่องที่เกิดขึ้น และไม่มีอาชญากรสักคนเดียวที่ถูกจับกุม

ประธานาธิบดีโจโกวีซึ่งเป็นประธานาธิบดีที่มาจากการเลือกตั้งในปัจจุบัน ตอบคำถามนักข่าวที่เรียกร้องความเป็นธรรมแก่เหยื่อว่า ใครคือเหยื่อยังไม่ชัด เพราะมีนายพลของฝ่ายทหารถูกฆ่าตายอย่างทารุณไปถึง 6 คน นี่เป็นคำตอบที่กองทัพย้ำเสมอหลังจากเริ่มมีการเรียกร้องความเป็นธรรมหลังสมัยซูฮาร์โต

แปลว่าเป็นประชาธิปไตยก็ไม่ทำให้ความจริงและความยุติธรรมอุบัติขึ้นได้เสมอไป

ความจริงและความยุติธรรมมีคุณค่าแก่สังคมมากกว่าการเอาคนผิดมาลงโทษ อันที่จริง กว่าครึ่งของผู้ที่ได้ก่ออาชญากรรมเลวร้ายในไทยและอินโดนีเซียคงเสียชีวิตไปหมดแล้ว (ผ่านไป 42 ปีในไทย 53 ปีในอินโดนีเซีย) ดังนั้น แม้ได้ออกกฎหมายนิรโทษกรรมแล้ว ก็ไม่ได้หมายความว่าสังคมไม่ควรได้รับความจริงและความยุติธรรมมีคุณประโยชน์อยู่อย่างน้อยสามประการที่การบรรลุถึงความจริงและความยุติธรรมอาจให้แก่สังคมได้

ประการแรก ในการสังหารหมู่และฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ทั้งหลาย ก่อนจะมีเหยื่อที่ถูกสังหารจำนวนมาก มักจะมีเหยื่อของเหตุการณ์เกิดขึ้นก่อน เพื่ออ้างเป็นสาเหตุ (หรือความชอบธรรม) ในการสังหารหมู่ ในกรณี 6 ตุลาคือกลุ่มนักศึกษาซึ่งจัดแสดงละครประท้วงการฆ่าแรงงานการไฟฟ้าสองคนที่จังหวัดนครปฐม กรณีเกสตาปูคือกลุ่มเยาวชนประชาชน, กลุ่มสตรีอินโดนีเซีย และพรรคคอมมิวนิสต์อินโดนีเซีย ซึ่งถูกกล่าวหาว่าเป็นแกนกลางในการก่อรัฐประหารในวันที่ 1 ตุลาคม 1965

ตราบเท่าที่ความจริงและความยุติธรรมยังไม่บังเกิด เหยื่อของเหตุการณ์เหล่านี้ก็ไม่มีวันหลุดพ้นจากมลทินที่ผู้อื่นป้ายสีให้ และตราบนั้น การป้ายสีทางการเมืองก็ยังเป็นทางเลือกหนึ่งในการต่อสู้ทางการเมือง ซึ่งให้ผลตอบแทนสูงในสังคมนั้นๆ (เพราะไม่มี “ค่าใช้จ่าย” เลย)

ประการที่สอง ความจริงและความยุติธรรมเปิดโอกาสการเรียนรู้แก่สังคม วิเคราะห์ได้ว่า ปัจจัยที่นำมาสู่โศกนาฏกรรมครั้งใหญ่นั้นคืออะไร และพัฒนามาสู่การสังหารหมู่หรือการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ได้อย่างไร จะป้องกันหรือหลีกเลี่ยงมิให้ปัจจัยอันหลากหลายซับซ้อนของการเมือง ซึ่งหลายอย่างคงเป็นเรื่องที่ต้องเกิดขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ มิให้นำไปสู่ความรุนแรงได้อย่างไร ยิ่งสังคมได้เรียนรู้มากเท่าไร ก็ยิ่งทำให้สังคมมีภูมิคุ้มกันตัวเองจากการสังหารหมู่และการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์มากเท่านั้น

เช่น ในอินโดนีเซีย แม้ไม่มีพรรคคอมมิวนิสต์คอยขวางอำนาจของกองทัพแล้ว ประชาชนเองก็คงเห็นภยันตรายอย่างใหญ่ที่ปล่อยให้กองทัพมีอำนาจมากเกินไป จนเข้ามาคุมการเมืองภายในอย่างผูกขาดเป็นเวลานาน หรือจนถึงทุกวันนี้ก็ยังเป็นผู้วางนโยบายในด้านกิจการที่กองทัพนิยามว่าคือ “ความมั่นคง” เพียงฝ่ายเดียว ในเมืองไทยก็เช่นเดียวกัน คือไม่ปล่อยให้ฝ่ายที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการสังหารหมู่ในวันที่ 6 ตุลา สั่งสมอำนาจเพิ่มขึ้นจนยากที่สังคมจะควบคุมได้

ประการที่สาม เมื่อได้เรียนรู้ สังคมนั้นก็ถูกบังคับโดยปริยายให้ต้องหาทางเลือกอื่นในการแก้ไขความขัดแย้ง ไม่ใช่ความรุนแรงซึ่งไม่ให้ผลดี (ในระยะสั้นหรือยาว) ถ้าสังคมไทยรู้เรื่อง 6 ตุลาดีกว่านี้ คงไม่มีคนจำนวนมากร่วมกันปิดกรุงเทพฯ ขัดขวางการเลือกตั้ง เพื่อบีบให้ไม่มีทางออกทางการเมืองใดเหลืออยู่นอกจากการรัฐประหารของกองทัพ ทั้งๆ ที่ทางเลือกยังเหลืออยู่อีกมาก หากไม่ร่วมกันก่อจลาจลเทียมขึ้น

อย่างไรก็ตาม ความจริงและความยุติธรรมไม่ใช่สิ่งที่จะได้มาง่ายๆ เพราะต้องแลกกับความเจ็บปวดและเสี่ยงกับการที่อาจเกิดความแตกร้าวรอบใหม่ ความจริงและความยุติธรรมไม่สัญญาว่าจะนำมาซึ่งความปรองดอง เพียงแต่ลดโอกาสที่ความแตกร้าวในภายหน้าจะนำไปสู่ความรุนแรงได้อีก แต่ชนชั้นนำในสังคมไทยและอินโดนีเซียต้องการความปรองดอง และมักคิดถึงวิถีทางทางกฎหมายที่จะทำให้เกิดความปรองดองขึ้น โดยไม่สนใจความจริงและความยุติธรรมเลย

เมื่อพูดถึงความจริงและความยุติธรรมในการสังหารหมู่ ท่านผู้ใหญ่ที่ผมนับถือท่านหนึ่งชอบอ้างเช็กสเปียร์ในพระราชนิพนธ์แปลเรื่องเวนิสวาณิชว่า “ในกระแสแห่งยุติธรรมา ยากจะหาความเกษมเปรมใจ” ซึ่งก็จริงอย่างปฏิเสธไม่ได้ เพราะบุคคลผู้ต้องคำพิพากษาไม่ได้มีแต่ตัวเขาคนเดียว ยังมีลูกเมียญาติพี่น้องที่ต้องรับโทษไปกับเขาด้วย โดยไม่ได้ทำอะไรผิด แม้กระนั้น ในกระแสแห่ง อยุติธรรมา ย่อมจะหาความเกษมเปรมใจได้ยากกว่าไม่รู้จะกี่ร้อยเท่า เพราะผิด-ถูกเป็นการตัดสินใจของอำนาจซึ่งไม่มีใครคาดเดาได้ ทุกคนจึงตกอยู่ภายใต้สภาวะไร้อำนาจ เพราะไม่อาจตัดสินใจทำหรือไม่ทำอะไรได้

อันที่จริงคดีของพระเอกในเรื่องเวนิสวาณิชเป็นคดีแพ่ง คือเป็นข้อพิพาทระหว่างบุคคล ในกรณีเช่นนี้ ความยุติธรรมเพียงอย่างเดียวอาจแก้ปัญหาได้ไม่หมด หรือในบางครั้งอาจไม่ใช่สิ่งจำเป็นสูงสุด แต่ในคดีอาญา อันเป็นการละเมิดต่อ “ส่วนรวม” ความยุติธรรมเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ ไม่ใช่เพื่อแก้แค้นผู้ล่วงละเมิด แต่เพื่อป้องปรามมิให้เกิดการละเมิดเช่นนี้อีกในอนาคต เหยื่อของการละเมิดเหล่านี้มีมากหน้าหลายตากว่าจะระบุเป็นบุคคลได้ เพราะในบางกรณีแม้แต่คนที่ยังไม่เกิดก็ตกเป็นเหยื่อของการละเมิดอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ (เช่น ปล่อยน้ำเสียลงทางน้ำสาธารณะ)

ความจริงและ/หรือความยุติธรรมทำหน้าที่ช่วยป้องปรามการสังหารหมู่ซึ่งอาจเกิดขึ้นได้อีกในอนาคต และเพราะทั้งไทยและอินโดนีเซียไม่ใส่ใจที่จะป้องปราม ผลของการ “ลอยนวล” ในการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์หรือการสังหารหมู่ จึงเกิดแก่สังคมทั้งสองในลักษณะที่คล้ายๆ กัน

ขอจาระไนผลร้ายลักษณะเด่นๆ ที่เกิดในสองสังคม เพราะมองไม่เห็นคุณค่าของความจริงและความยุติธรรมเหมือนกัน ดังนี้

รัฐทั้งสองใช้ความรุนแรงอย่างไม่จำเป็นสืบมาอีกหลายครั้ง เหมือนเสพติดความรุนแรงจนเลิกไม่ได้ และก่อให้เกิดผลเสียแก่รัฐในระยะสั้นบ้างยาวบ้างตลอดมา

กองทัพอินโดนีเซียซึ่งไม่เคยมีชื่อเสียงด้านการรบ มักใช้ความรุนแรงป่าเถื่อนทดแทนสมรรถภาพการรบ ประชาชนชาวติมอร์ตะวันออก ซึ่งลุกขึ้นต่อต้านเมื่ออินโดนีเซียรุกรานและผนวกเอาติมอร์เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของประเทศ กองทัพอินโดนีเซียใช้เงินตั้งกองกำลังของชาวติมอร์เพื่อก่อการร้ายในเขตติมอร์ตะวันออก รวมทั้งอาจทำทารุณแก่ชาวติมอร์ตะวันออกเมื่อมีโอกาส กองทัพเองก็สังหารประชาชนรวมทั้งพระคาทอลิกไปอีกจำนวนมาก ในที่สุดความทารุณโหดร้ายของกองทัพก็ทำให้หลายประเทศในโลกทนต่อไปไม่ไหว และกดดันผ่านองค์การสหประชาชาติจนอินโดนีเซียต้องยอมปล่อยให้ติมอร์ตะวันออกเป็นเอกราช

กองทัพทำอย่างเดียวกันที่จังหวัดอาเจะห์เมื่อมีการตั้งกองกำลังเพื่อแยกตัวออกจากอินโดนีเซีย แม้กระนั้นก็ไม่สามารถปราบกลุ่มที่อินโดนีเซียเรียกว่า “กบฏ” ได้สำเร็จ จนหลังสึนามิถล่มจังหวัดนี้ จึงสามารถเจรจาตกลงกันได้

อินโดนีเซียกำลังเผชิญปัญหาอย่างเดียวกันในอิเรียนชัยยะหรือนิวกินี และกองทัพก็ใช้วิธีการอย่างเดียวกันอีกกับชาวพื้นเมืองซึ่งพยายามแข็งข้อต่ออำนาจของอินโดนีเซีย ข่าวคราวเกี่ยวกับทารุณกรรมของกองทัพอินโดนีเซียถูกรายงานในสื่อต่างๆ มากขึ้นตามลำดับ จนสักวันหนึ่งในอนาคต ชาวนิวกินีอาจประสบความสำเร็จในการนำความเดือดร้อนของตนขึ้นสู่เวทีของสหประชาชาติ

หากมีการค้นหาความจริงและให้ความยุติธรรมกับการปราบเกสตาปูใน 1965-1966 กองทัพอินโดนีเซียก็จะได้เรียนรู้ว่า วิธีการปราบปรามผู้แข็งข้อต่ออำนาจของกองทัพแบบป่าเถื่อนเช่นนั้น ไม่ให้ผลดีแก่กองทัพ ซึ่งล้มเหลวในการปฏิบัติภารกิจของตนเองตลอดมา

หลัง 6 ตุลา กองทัพไทยได้สังหารหมู่ประชาชนอีกใน “พฤษภาหฤโหด” 1992 และใน “เขตกระสุนจริง” เมื่อเมษายน-พฤษภาคม 2010 ดูเหมือนจะเพิ่มความรุนแรงมากขึ้นตามลำดับด้วย และจำเป็นต้องออกมาปฏิบัติการเองโดยตรง แทนที่จะอาศัยกองกำลังที่กองทัพสร้างขึ้นอย่าง 6 ตุลา

ทั้งสองสังคมจะดิ้นหลุดออกจากวงจรอุบาทว์แห่งความรุนแรงเช่นนี้ได้อย่างไร เมื่อปราศจากความจริงและความยุติธรรม

ไม่แต่เพียงการสังหารหมู่และการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์จะกลายเป็นเครื่องมือที่ขาดไม่ได้ทางการเมืองของกองทัพทั้งสอง แต่ให้น่าสงสัยอย่างยิ่งว่า 6 ตุลาและเกสตาปูก่อให้เกิดความรุนแรงในชีวิตทางการเมืองของทั้งสองสังคม เพราะผู้คนมองเห็นความรุนแรงเป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพทางการเมือง ทั้งสื่อและนักการเมืองไทยต่างเรียกร้องให้เพิ่มโทษอาชญากรรมประเภทต่างๆ แทนที่จะกดดันให้การบังคับใช้กฏหมายมีประสิทธิภาพมากขึ้น คนไทยใช้ภาษาแห่งความเกลียดชังหรือโทสวาทต่อกันทางการเมืองเป็นปรกติ เราขาดความเคารพต่อชีวิตมนุษย์ (ซึ่งในพระพุทธศาสนาถือว่าเป็นสัตว์ประเภทเดียวที่อาจบรรลุพระนิพพานได้) มีคนจำนวนมากที่เห็นชอบกับการผลักดันผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงยาออกสู่ทะเลด้วยเรือที่ไม่พร้อมสำหรับการเดินทาง หรือส่งชาวอุยกูร์กลับไปสู่คุกหรือแดนประหาร ถ้าชีวิตมนุษย์ชาติอื่นไม่ควรแก่ความเคารพ ชีวิตของคนไทยที่ไม่ชอบขี้หน้าก็จะมีความหมายไม่ต่างจากกัน

ในอินโดนีเซีย การเดินขบวนก่อจลาจล โดยเฉพาะกระทำแก่ชุมชนชาวจีน ทั้งเผาบ้าน และทำร้ายทั้งร่างกายและทรัพย์สินของเขาเกิดขึ้นบ่อยครั้ง ความขัดแย้งทางศาสนาในบางเกาะพัฒนาขึ้นมาเป็นสงครามกลางเมืองที่ฆ่ากันเป็นเบือ การแข่งขันทางการเมืองระหว่างพรรคยังรวมถึงการตีกันในระหว่างหาเสียงด้วย

ในทั้งสองสังคม สถาบันที่มีความสำคัญในการปกครองและอำนวยความสงบสุขมีผู้เชื่อถือน้อยลง นับตั้งแต่ตัวกองทัพเอง รวมไปถึงสถาบันอื่นที่สำคัญเสียยิ่งกว่า เช่น สถาบันในกระบวนการยุติธรรม, ผู้บริหารการศึกษา, ผู้นำทางศาสนาหรือองค์กรศาสนา, ฯลฯ เพราะสถาบันเหล่านี้”สมยอม”กับการใช้ความรุนแรงของกองทัพมาเป็นเวลานาน

การสังหารหมู่และฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ไม่ใช่อุบัติการณ์ที่เกิดขึ้นโดยไร้ผลที่ตามมา ทั้งอินโดนีเซียและไทยยังไม่ได้จัดการกับการกระทำเช่นนั้นสืบมาจนปัจจุบัน ผู้มีอำนาจในทั้งสองสังคมทำให้อุบัติการณ์นั้นสูญเปล่า คือไร้ผล ทั้งๆ ที่มีคนเจ็บคนตายจำนวนมาก อินโดนีเซียกระทำโดยใช้อำนาจของกองทัพและองค์กรพลเรือนที่กองทัพหนุนหลัง ไทยใช้กฎหมายและคำพิพากษา แต่ผลก็เหมือนกัน คืออุบัติการณ์เลวร้ายอันน่าสลดใจสูญเปล่า ไม่มีผลแต่อย่างไร “น่าเสียใจ ที่บังเอิญมีคนตาย”

(จบ)