การศึกษา/ นำร่อง…หักเงินเดือน ‘ข้าราชการ’ ยุทธการ…แก้เกม ‘รุ่นพี่’ เบี้ยว กยศ.??

การศึกษา

นำร่อง…หักเงินเดือน ‘ข้าราชการ’

ยุทธการ…แก้เกม ‘รุ่นพี่’ เบี้ยว กยศ.??

 

นับเป็น “ปัญหา” ที่สร้างความปวดเศียรเวียนเกล้าให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และผู้ที่เกี่ยวข้องมากว่า 20 ปี กรณี “ผู้กู้” กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) “เบี้ยว” ชำระหนี้ จนทำให้จำนวนเงินที่กลับเข้าสู่กองทุน กยศ. มีน้อยกว่าที่ควรจะเป็น

กลายเป็น “ภาระ” ต่อการจัดสรรงบประมาณแผ่นดิน ที่ในแต่ละปีจำเป็นต้องจัดสรรงบฯ ให้กองทุน กยศ. มากขึ้นเรื่อยๆ เพื่อรองรับกับความต้องการของผู้กู้ที่มีจำนวนเพิ่มมากขึ้นในแต่ละปี

แต่ดูเหมือนการแก้ปัญหาของ กยศ. โดยการจัดทำคำของบฯ เพิ่มให้กองทุน กยศ. มากขึ้นทุกๆ ปี เพื่อให้ “รุ่นน้อง” ที่มีความจำเป็นทางด้านเศรษฐกิจกู้ยืมได้อย่างทั่วถึง และชดเชยจำนวนเงินที่ “รุ่นพี่” ค้างชำระหนี้เอาไว้ ไม่ว่าจะเป็นความตั้งใจหรือไม่ตั้งใจก็ตาม

ไม่ใช่การแก้ปัญหาที่ถูกที่ถูกทาง แต่เป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าเท่านั้น

หรือแม้แต่การจ้างหน่วยงานด้านกฎหมายของเอกชนช่วยติดตามทวงหนี้ ซึ่งเป็นเงินจำนวนมหาศาลในแต่ละปี ก็ดูเหมือนผลที่ได้รับกลับมาจะไม่คุ้มค่าเท่าที่ควรกับเงินที่ต้องควักกระเป๋าจ่ายไป

กองทุน กยศ. จึงร่วมกับกระทรวงการคลัง และกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) พยายาม “รณรงค์” เพื่อ “ปลูกจิตสำนึก” ให้รุ่นพี่ที่กู้เงินกองทุน กยศ. และเรียนจบแล้ว ชำระหนี้คืนกองทุน แต่ดูเหมือนการรณรงค์ก็ยังไม่ได้ผลเท่าใดนัก

ดังนั้น กองทุน กยศ. จึงงัดมาตรการขั้นสุดท้ายออกมาใช้ คือการบังคับใช้ “กฎหมาย” กับผู้กู้ยืมเงินกองทุน กยศ. ที่เบี้ยวหนี้ ถึงแม้วิธีนี้จะได้ผลอยู่บ้าง เนื่องจากผู้กู้หลายรายไม่ต้องการขึ้นโรงขึ้นศาล เพราะนอกจากจะเสียเวลาแล้ว ยังจะมีรายชื่อขึ้นเครดิตบูโร ส่งผลต่อการทำธุรกรรมต่างๆ ในอนาคตเป็นไปด้วยความยากลำบาก

แต่ก็ไม่สามารถแก้ปัญหาได้ถาวร!!

 

ล่าสุด ในการประชุมสัมมนา “การหักเงินเดือนผู้กู้ยืมเงิน กยศ. ตาม พ.ร.บ.กยศ. พ.ศ.2560 สำหรับกลุ่มข้าราชการและลูกจ้างผ่านระบบจ่ายตรง” เพื่อสร้างความเข้าใจแก่หน่วยงานองค์กรนายจ้างภาคราชการกว่า 220 แห่ง ณ โรงแรมรามาการ์เด้นส์ กรุงเทพฯ เมื่อเร็วๆ นี้ “นายชัยณรงค์ กัจฉปานันท์” ผู้จัดการกองทุน กยศ. ได้แถลงถึงการ “นำร่อง” หักหนี้เงินกองทุน กยศ. จาก “บัญชีเงินเดือน” ของกองทุน กยศ. สำหรับ “ข้าราชการ” โดยเริ่มจากข้าราชการ “กรมบัญชีกลาง” เป็นหน่วยงานแรก ก่อนที่ขยายผลไปยังส่วนราชการอื่นๆ

คาดว่าในช่วงปลายปีนี้ ระบบหักหนี้จากบัญชีเงินเดือนของข้าราชการ และลูกจ้างประจำของส่วนราชการอื่นๆ จะแล้วเสร็จ ซึ่งปัจจุบันมีข้าราชการที่เป็นลูกหนี้กองทุน กยศ. ประมาณ 2 แสนคน จากข้าราชการทั้งประเทศ 2 ล้านคน

ส่วนระบบหักหนี้จากบัญชีเงินเดือนของ “พนักงานเอกชน” คาดว่าจะเริ่มดำเนินการได้ในปี 2562

ซึ่งประเด็นการหักเงินเดือนผู้กู้ยืมกองทุน กยศ. นี้ ถูกหยิบยกขึ้นหารือเมื่อหลายปีก่อน โดยมีวัตถุประสงค์ที่จะแก้ปัญหารุ่นพี่เบี้ยวไม่จ่ายหนี้อย่างถาวร โดย กยศ. จะใช้วิธีเชื่อมการชำระหนี้กับระบบของ “กรมสรรพากร” ซึ่งกรมสรรพากรจะเชื่อมกับระบบ “นายจ้าง” อีกต่อหนึ่ง โดยนายจ้างจะทำหน้าที่หักเงินเดือนของลูกจ้างที่เป็นหนี้กองทุน กยศ.

เพราะหากนายจ้างไม่หักเงินเดือนของพนักงานที่เป็นลูกหนี้กองทุน กยศ. และนำส่งให้กองทุน กยศ. นายจ้างจะต้องรับภาระจ่ายหนี้แทนลูกจ้าง โดยสิทธิในการหักเงินเดือนของ กยศ. ตาม พ.ร.บ.ลูกหนี้ จะต้องถูกหักเงินภาษีรายได้ให้กรมสรรพากรก่อน รองลงมาคือ ประกันสังคม กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ และต่อมาเป็น กยศ. ก่อนที่จะหักเงินเดือนเพื่อใช้ให้สถาบันการเงินได้

การดำเนินการดังกล่าว เป็นไปตาม พ.ร.บ.กยศ. พ.ศ.2560 ที่กำหนดให้บริษัทเอกชนและหน่วยงานราชการที่มีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่ายของข้าราชการและพนักงานเอกชน ต้องมีหน้าที่หักหนี้กองทุนเพื่อการศึกษาของข้าราชการหรือพนักงานเอกชนด้วย และให้นำส่งกรมสรรพากรพร้อมกับภาษีหัก ณ ที่จ่ายประจำเดือนนั้นๆ

คาดว่ามาตรการดังกล่าว น่าจะแก้ไขปัญหารุ่นพี่เบี้ยวหนี้ได้เกือบ 100% และเป็นการแก้ปัญหาได้อย่างถาวรอีกด้วย!!

 

ทั้งนี้ หากย้อนกลับไปดูตัวเลขผู้กู้เงินกองทุนเพื่อการศึกษา และการชำระหนี้ ตั้งแต่ปีการศึกษา 2539-2560 พบว่า มีนักเรียน นักศึกษา ได้รับโอกาสทางการศึกษาจากกองทุนไปแล้ว 5.4 ล้านราย แบ่งเป็น ผู้กู้ยืมจากกองทุน กยศ. จำนวน 4.9 ล้านราย และผู้กู้ยืมจากกองทุนเงินกู้ยืมเพื่อการศึกษาที่ผูกกับรายได้ในอนาคต (กรอ.) จำนวน 4.9 แสนราย รวมวงเงินที่ให้กู้ยืมทั้ง 2 กองทุน มีมากกว่า 5.7 แสนล้านบาท

ปัจจุบัน มีผู้กู้ที่ค้างชำระเป็นเงินจำนวน 68,307,000,000 ล้านบาท

สำหรับสถานะผู้กู้ยืมเงินกองทุน กยศ. ในขณะนี้ ประกอบด้วย อยู่ระหว่างการชำระหนี้ 65% หรือจำนวน 3,540,812 ราย อยู่ในช่วงปลอดหนี้ 19% หรือจำนวน 1,060,741 ราย ชำระหนี้เสร็จสิ้น 15% หรือจำนวน 793,906 ราย และเสียชีวิต หรือทุพพลภาพ 1% หรือจำนวน 52,638 ราย

โดยในส่วนของผู้กู้ยืมที่อยู่ระหว่างการชำระหนี้ แบ่งเป็น ผู้กู้ยืมที่ผิดนัดชำระหนี้ 61% หรือจำนวน 2,174,205 ราย และผู้กู้ยืมชำระปกติ เพียง 39% หรือจำนวน 1,366,607 ราย โดยมีผู้กู้ที่ถูกดำเนินคดี ตั้งแต่ปี 2547-2560 รวมทั้งสิ้น 1.1 ล้านราย จากกองทุน กยศ. จำนวน 1 ล้านราย และกองทุน กรอ. จำนวน 1 แสนราย

นับเป็นตัวเลขรุ่นพี่ที่เบี้ยวหนี้ และถูกดำเนินคดี ค่อนข้างสูงจนน่าตกใจเลยทีเดียว!!

 

ผู้จัดการกองทุน กยศ. ระบุว่า กรณีลูกหนี้ผ่อนตามปกติ กยศ. คิดดอกเบี้ยเพียง 1% ต่อปี ดังนั้น การผ่อนชำระต่อปีอยู่ในระดับที่ต่ำมาก เช่น กู้ 1 แสนบาท ชำระต่อปีในปีแรกเพียง 1,500 บาทเท่านั้น เมื่อใช้ระบบหักหนี้เป็นรายเดือนจะอยู่ที่เดือนละ 100 กว่าบาทเท่านั้น ซึ่ง กยศ. คาดว่าการนำระบบการหักหนี้จากบัญชีเงินเดือนของข้าราชการ และพนักงานเอกชนมาใช้ จะทำให้ยอดการชำระคืนหนี้ของ กยศ. ดีขึ้น

โดยยอดการชำระคืนหนี้ในแต่ละปีได้ปรับตัวดีขึ้นเรื่อยๆ จากเมื่อ 3 ปีที่แล้ว ได้รับชำระหนี้คืน 1.8 หมื่นล้านบาทต่อปี ปีที่แล้วได้รับชำระคืน 2.5 หมื่นล้านบาท และคาดว่าปีนี้จะได้รับคืนราว 3 หมื่นล้านบาท

ส่วนสาเหตุที่กองทุน กยศ. นำระบบหักหนี้จากบัญชีเงินเดือนของข้าราชการ และลูกจ้างประจำของส่วนราชการอื่นๆ โดยเริ่มนำร่องจากข้าราชการกรมบัญชีกลางเป็นหน่วยงานแรก เนื่องจากกรมบัญชีกลางเป็นหน่วยงานที่ดูแลการจ่ายเงินเดือนของข้าราชการ จึงได้รับเลือกให้เป็นหน่วยงานนำร่องของ กยศ.

“อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมา กยศ. ได้หักหนี้กองทุน กยศ. จากบัญชีเงินเดือนของบุคลากรในหน่วยงานอื่นๆ อย่างมหาวิทยาลัย เป็นต้น แต่จะเป็นการหักหนี้จากบัญชีเงินเดือนโดยความสมัครใจของผู้กู้ยืม แต่กรณีของกรมบัญชีกลาง ถือเป็นครั้งแรกที่ประกาศหักหนี้ตาม พ.ร.บ.กยศ. พ.ศ.2560” นายชัยณรงค์กล่าว

ต้องติดตามว่ายุทธการ “แก้เกม” พวกรุ่นพี่ที่ไม่ยอมจ่ายหนี้ โดยการหักเงินผู้กู้ยืมเงิน กยศ. จากระบบบัญชีเงินเดือน จะแก้ปัญหา “เบี้ยวหนี้” ได้ถาวรหรือไม่??

 

ภาพ นักเรียน-กองทุน กยศ.