ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ : ประชาธิปัตย์ บนเส้นทางสู่ยุทธศาสตร์แพ้เลือกตั้ง

ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์www.facebook.com/sirote.klampaiboon

ใครๆ ก็รู้ว่า คสช. ติดกับดักวาทกรรมรัฐประหารเสียของจนหมกมุ่นว่าทุกอย่างที่เกี่ยวกับคุณทักษิณ ชินวัตร คือศัตรู วิธีคิดนี้ทำให้การตั้งพรรคทหารหนุนคุณประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกฯ นั้นต้องดูด ส.ส.จากเพื่อไทย เพราะนอกจากจะทำให้ฝ่ายคุณทักษิณอ่อนแอ คุณประยุทธ์จะได้อ้างว่ามีเสียงในสภาให้สืบทอดอำนาจเพิ่มขึ้นพร้อมกัน

ขณะที่เพื่อไทยสกัดปฏิบัติการดูดโดยขู่ ส.ส. ว่าใครย้ายก็แพ้เลือกตั้ง

พรรคที่ไม่ใช่คู่กรณีคุณประยุทธ์โดยตรงอย่างประชาธิปัตย์กลับโจมตี คสช. เรื่องนี้ดุเดือดที่สุด

ประเด็นทหารตั้งพรรคกลางทำเนียบลามเป็นข่าวลือทหารตุนเงินทำพรรค 40,000 ล้านบาท และตอนนี้ก็ตีข่าวว่ารัฐมนตรีขู่ไม่ให้ใครสนับสนุนพรรคอื่นต่อไป

การเผชิญหน้าแบบนี้แสดงให้เห็นว่าประชาธิปัตย์ไม่ได้สนับสนุนกลุ่มรัฐประหารชุดปัจจุบัน

เพราะนอกจากจะเป็นการประกาศตัวอยู่ตรงข้าม คสช. ตั้งแต่คว่ำร่างรัฐธรรมนูญ

การขับเคลื่อนประเด็นยังเป็นระลอกจาก ส.ส. สู่รองหัวหน้าและหัวหน้าพรรค ถึงแม้อีกฝ่ายจะดูดคนจากพรรคได้แค่ระดับ ส.ส. สมัยแรกก็ตาม

อย่างไรก็ดี นอกจากประชาธิปัตย์และรัฐบาลทหารซึ่งขู่ดำเนินคดีกับพรรค คนที่เชื่อว่าประชาธิปัตย์จะต่อต้านทหารและการสืบทอดอำนาจอย่างจริงจังกลับมีน้อยมาก

ซึ่งถึงแม้การโจมตีทางการเมืองจะเป็นต้นเหตุของเรื่องนี้แน่ๆ แต่ก็เป็นข้อเท็จจริงที่พรรคมีบทบาทตั้งแต่ยุคหนุนพันธมิตรล้มทักษิณแบบนั้นจริงๆ

มีหลักฐานเยอะแยะที่ชี้ให้เห็นว่าประชาธิปัตย์กังวลที่สังคมระแวงว่าเป็นพวกทหารถึงขั้นไม่แคร์แม้พรรคถูกทหารขู่ดำเนินคดี คำประกาศของคุณไอติมเรื่องปฏิรูปพรรคสู่เสรีประชาธิปไตยคือใบเสร็จของเรื่องนี้เช่นเดียวกับคำพูดคุณอภิสิทธิ์เรื่องเดียวกัน แต่ถึงขนาดนั้นคำประกาศนี้ก็มีคนนอกพรรคขานรับนิดเดียว

แน่นอนว่าคำประกาศประชาธิปไตยน่ายกย่องกว่าบทบาทแบบต้านประชาธิปไตย

แต่การชูธงเสรีประชาธิปไตยตามที่หัวหน้าพรรคและหลานประกาศนั้นยังไม่ทำให้สังคมมองพรรคในแง่กระเตื้องขึ้น อย่างน้อยก็ไม่เท่ากับภาพว่าคนซึ่งไม่ได้เป็นสมาชิกพรรคคิดเรื่องนี้ได้ก่อนคนที่เป็นหัวหน้าพรรคการเมือง

ทั้งที่ไม่ใช่คู่กรณีกับกลุ่มรัฐประหารตั้งแต่ต้นเหมือนเพื่อไทย ประชาธิปัตย์กลับอยู่ในสถานการณ์ที่พรรคอาจถดถอยด้านผลเลือกตั้งกว่าพรรคใหญ่ทั้งหมด ไม่ใช่แค่เรื่องคุณสุเทพ เทือกสุบรรณ ม็อบหนุนรัฐประหารแล้วทิ้งกลุ่มหนุนทหารไว้ในพรรค

แต่ยังรวมถึงความไม่สามารถกำหนดยุทธศาสตร์ให้ตรงกับความไม่พอใจของสังคม

อย่างที่กล่าวไปแล้ว การชูธงเสรีประชาธิปไตยสะท้อนความรับรู้ของพรรคที่ต้องการแก้ปัญหาซึ่งสังคมมองว่าไม่ใช่ฝ่ายประชาธิปไตย ทว่า ลำพังเรื่องนี้ไม่มีน้ำหนักพอจะทำให้ใครมีภาพลักษณ์ประชาธิปไตย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากเทียบกับภาพล้มรัฐบาลจากการเลือกตั้งจนสนับสนุนการล้มเลือกตั้งอย่างที่ผ่านมา

ในระดับบริหารองค์กร ยุทธศาสตร์นี้สะท้อนความเป็นผู้นำซึ่งห่างเหินและไม่เข้าใจความรู้สึกนึกคิดที่เป็นจริงของคนในประเทศ และหากยุทธศาสตร์นี้กำหนดโดยคนที่เรียนทางด้านนี้มาบ้าง การตัดสินใจนี้ก็สะท้อนความเข้าใจการถกเถียงเรื่องเสรีประชาธิปไตยที่ตกขบวนสังคมไทยและสังคมโลกไปกว่าสิบปี

พรรคประชาธิปัตย์หรือคุณไอติมไปอยู่ไหนจึงคิดว่าเสรีประชาธิปไตยเป็นยุทธศาสตร์ที่ชูขึ้นมาแล้วจะทำให้คนมองว่าพรรคเข้าสู่ “ยุคใหม่” จนเชื่อต่อไปว่าแนวทางของพรรคข้อนี้ที่จะนำประเทศออกจากความขัดแย้งเก่าๆ รวมทั้งสร้างประชาธิปไตยที่ยั่งยืน

ในโลกของความรู้ช่วงปลายทศวรรษ 1990 “ทฤษฎี” ว่าเสรีประชาธิปไตยคือระบบการเมืองที่ทุกคนโอเคจนไม่มีทางเกิดระบบอื่นคือวาทกรรมซึ่งแพร่หลายที่สุด คนยุคนั้นเชื่อว่าอวสานของคอมมูนิสต์ทำให้โลกต้องเป็นเสรีประชาธิปไตยแน่ๆ

จนสังคมที่ไม่ใช่ประชาธิปไตยก็จะวิวัฒนาการสู่เส้นทางนี้ในบั้นปลาย

สิบปีสุดท้ายของคริสต์ศตวรรษที่ 20 ไม่มีนักวิชาการคนไหนไม่รู้จักฟรานซิส ฟูกูยามา ที่เสนอแนวคิด The End of History หรือ “จุดจบของประวัติศาสตร์” ว่าการพังทลายของเผด็จการในโซเวียตและยุโรปตะวันออกคือหลักฐานว่าเสรีประชาธิปไตยเป็นวิวัฒนาการขั้นสูงสุดด้านรูปแบบการปกครองของมนุษย์โดยสมบูรณ์

อย่างไรก็ดี โลกหลังศตวรรษใหม่พิสูจน์ว่าเสรีประชาธิปไตยไม่ใช่ระบบที่พูดปุ๊บทุกคนโอเค อเมริกาและยุโรปเกิดขบวนการต้านโลกาภิวัตน์ที่ชี้ว่าเสรีประชาธิปไตยคือเสรีนิยมของทุนข้ามชาติ โลกซีกอื่นเกิดอิสลามสุดโต่ง, ประชานิยมแบบขวา, ประชาธิปไตยแบบอำนาจนิยม หรือแม้แต่นายกฯ พระราชทานในไทย

ถึงจุดนี้เสรีประชาธิปไตยไม่มีมนตราสะกดให้ทุกคนคล้อยตามต่อไปอีกแล้ว

ฟูกูยามาพูดนับครั้งไม่ถ้วนว่าเสรีประชาธิปไตยไม่ใช่จรวดทางเรียบที่ชั่วพริบตาก็ถึงจุดหมาย

เราอยู่ในโลกที่ฝ่ายขวาเติบโต ทรัมป์ชนะเลือกตั้ง และประยุทธ์กำลังจะเป็นนายกฯ จากรัฐประหารที่อยู่ในตำแหน่งนานที่สุดในรอบหลายปี

พูดอย่างรวบรัดที่สุด เสรีประชาธิปไตยเสื่อมพลังและปราศจากเสน่ห์เมื่อเทียบกับที่เคยคิดกันช่วงปลายศตวรรษที่แล้วด้วยเหตุผลอย่างน้อยสองข้อ

ข้อแรก คือความไม่สามารถบริหารจัดการปัญหาเศรษฐกิจและสังคมร่วมสมัย

และข้อสอง คือความไม่มีประสิทธิภาพของสถาบันการเมืองแบบเสรีประชาธิปไตย

ตรงข้ามกับความเชื่อว่าเสรีประชาธิปไตยคือระบบการเมืองที่เป็นจุดหมายโลกราว New Normal ภาคบังคับ

ความรู้สึกว่าการเลือกตั้งไม่ทำให้ได้นโยบายเศรษฐกิจสังคมที่ต้องการทำให้กระแสเบื่อเสรีประชาธิปไตยรุนแรงกว่าที่คิด

การระดมความไว้ใจจากประชาชนโดยชูธงเสรีประชาธิปไตยจึงยากกว่าที่ผ่านมา

ในปี 2017 ฟูกูยามายอมรับว่าเขาเสนอแนวคิดเรื่องชัยชนะของเสรีประชาธิปไตยโดยไม่มีทฤษฎีว่าเส้นทางของประชาธิปไตยนั้นถดถอยได้ แต่ตอนนี้มุมมองของเขาคือประชาธิปไตยถอยหลังได้, เป็นไปได้ที่สถาบันการเมืองจะเสื่อมทรามลง และเสรีประชาธิปไตยไม่แน่ว่าจะเป็นบรรทัดฐานโลกเสมอไป

เพื่อสะท้อนภาพโลกที่หมางเมินกับเสรีประชาธิปไตย คำสำคัญของการศึกษาการเมืองวันนี้ไม่ใช่ Democratic Consolidation หรือ “การสร้างความเป็นปึกแผ่นให้ประชาธิปไตย”

เพราะคำอย่าง Democratic Deconsolidation สำคัญขึ้นเพื่อทำความเข้าใจปรากฏการณ์ที่ความเชื่อมั่นในเสรีประชาธิปไตยอ่อนแอลง

สําหรับผู้ที่อยากโต้แย้งว่าทั้งหมดนี้เป็นการคิดไปเองหรือเป็นผลผลิตของทรรศนะคติที่ปฏิเสธประชาธิปไตยในไทย การสำรวจ European and World Value Survey ซึ่งศึกษาความผูกพันของคนกับการเลือกตั้งพบว่าจำนวนคนในโลกตะวันตกที่รู้สึกว่าการเลือกตั้งไม่จำเป็นต่อชีวิตนั้นเพิ่มขึ้นจนน่าตกใจ

ยกตัวอย่างง่ายๆ คนอเมริกาที่เห็นว่าการอยู่ในสังคมประชาธิปไตยเป็นเรื่องใหญ่ของชีวิตปัจจุบันนี้มีเพียงร้อยละ 30 ขณะที่คนรุ่นสงครามโลกครั้งที่สองที่ตอบว่าประชาธิปไตยสำคัญนั้นสูงถึงร้อยละ 72 โดยที่แบบแผนการตอบคำถามแบบนี้ก็เกิดในอังกฤษ, ออสเตรเลีย, นิวซีแลนด์ และเนเธอร์แลนด์ด้วยเหมือนกัน

ยกตัวอย่างให้เห็นภาพต่ออีกนิด การสำรวจประเด็นคล้ายกันในเยอรมนีพบว่าคนเยอรมันส่วนใหญ่เห็นว่าประชาธิปไตยสำคัญ

แต่มีคนเพียงครึ่งหนึ่งเท่านั้นที่บอกว่าโอเคกับประชาธิปไตยในเยอรมนีตอนนี้ ยิ่งกว่านั้นคือ 1 ใน 5 ตอบว่าต้องการการระบบพรรคเดียวที่เข้มแข็งและเป็นตัวแทนประชาชนอย่างแท้จริง

ในกรณีฝรั่งเศส การสำรวจความเห็นในปี 2558 พบว่าประชากร 2 ใน 5 เห็นว่าประเทศควรมีรัฐบาลอำนาจนิยมซึ่งปราศจากความขัดแย้งแบบสังคมประชาธิปไตย และ 2 ใน 3 ตอบว่ารับได้ที่จะให้ “ผู้เชี่ยวชาญซึ่งไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง” ทำการ “ปฏิรูปที่จำเป็นต่อให้อาจไม่เป็นที่นิยมของประชาชน”

เอาให้เห็นภาพเลวร้ายลงไปอีก การสำรวจความเห็นทำนองเดียวกันในอเมริกาปี 2559 พบว่าผู้ตอบแบบสอบถามร้อยละ 46 ระบุว่าสูญเสียความเชื่อมั่นต่อประชาธิปไตยในอเมริกา โดยเฉพาะอย่างยิ่งมีคนจำนวนมากตอบแบบสอบถามถึงขั้นระบุว่าไม่เคยมีความเชื่อมั่นในระบบนี้เลย

แน่นอนว่าเราอาจใส่เชิงอรรถให้ผลสำรวจนี้เพื่อความสบายใจได้หลายแง่มุม คำอธิบายหนึ่งที่พูดกันคือคนตะวันตกไม่ต้องเผชิญภัยคุกคามจากเผด็จการหรืออำนาจนิยมจริงๆ จนลืมไปว่าเสรีประชาธิปไตยมีค่า แต่เชิงอรรถก็คือเชิงอรรถ และการใส่เชิงอรรถไม่ได้ทำให้ข้อเท็จจริงเรื่องความเบื่อประชาธิปไตยเปลี่ยนไป

นักวิชาการบางกลุ่มโต้ว่าต่อให้ความนิยมต่อฝ่ายขวาหรือความเบื่อประชาธิปไตยในโลกตะวันตกจะขยายตัว แต่กลุ่มขวาจัดก็ไม่เคยชนะเลือกตั้งจนเปลี่ยนประเทศเป็นเผด็จการได้สำเร็จ แต่ข้อโต้แย้งนี้อาจเถียงแบบต่อปากต่อคำกลับไปได้เหมือนกันว่าความไม่สำเร็จวันนี้ไม่ได้แปลว่าจะไม่สำเร็จวันหน้าแต่อย่างใด

โดยภาพรวมแล้วบรรยากาศที่เกิดขึ้นในโลกคือความไม่พอใจต่อการบริหารนโยบายสาธารณะของรัฐบาลประชาธิปไตยทำให้คนตั้งคำถามถึงสถาบันการเมืองแบบเสรีประชาธิปไตย

โดยเฉพาะอย่างยิ่งก็คือการเสื่อมถอยของความเชื่อถือต่อพรรคการเมืองและประชาธิปไตยแบบตัวแทน

ตรงข้ามกับความเข้าใจแบบง่ายๆ ว่าประชาชนจะสนับสนุนเสรีประชาธิปไตยราวกับสิ่งมีชีวิตต้องการอากาศหายใจ ปฏิกิริยาของคนจำนวนมากชี้ว่าความผูกพันต่อประชาธิปไตยขึ้นอยู่กับความสามารถของระบบในการสร้าง “ผลลัพธ์” ทางเศรษฐกิจสังคมที่ตรงกับความต้องการของคนในสังคม

ในแง่นี้ ลำพังคำว่าเสรีประชาธิปไตยจึงไม่ใช่หลักประกันที่จะทำให้คนสนับสนุนระบบการเมืองเสมอไป เสรีประชาธิปไตยไม่ใช่ทุนทางการเมืองที่ใครหยิบยกก็ได้รับชัยชนะ และนี่ไม่ใช่ยุคสมัยที่ประชาชนจะสนับสนุนพรรคการเมืองไหนเพียงเพราะพูดเรื่องเสรีประชาธิปไตยที่ไม่ได้มีความหมายอะไรกับชีวิตจริง

ภายใต้โลกที่โดยภาพรวมแล้วหมดรักเสรีประชาธิปไตย โจทย์ที่ประชาธิปัตย์ต้องคิดเพื่อชัยชนะในระบอบประชาธิปไตยมีมากกว่าการเจื้อยแจ้วเรื่องยุทธศาสตร์เสรีประชาธิปไตยอย่างคุณไอติมคิด เว้นแต่พรรคคิดยุทธศาสตร์อื่นไม่ได้ แต่นั่นก็เสี่ยงกับหายนะของพรรค, ของประชาธิปไตยไทย และของคุณอภิสิทธิ์เอง

ประเทศไทยต้องการประชาธิปัตย์ที่เข้มแข็งและแน่วแน่เรื่องประชาธิปไตยยิ่งกว่าการชูธงเสรีประชาธิปไตยราวกับเป็นยาวิเศษที่ความจริงคือยาหมดอายุทางการเมือง