“เฟคนิวส์” กับ “เสรีภาพสื่อ” ในภูมิภาคอุษาคเนย์

มีข้อเขียนที่น่าสนใจมากเกี่ยวกับ “เฟคนิวส์” และ “เสรีภาพสื่อ” อยู่หลายชิ้นในระยะหลังมานี้

ล่าสุด “เดลีบีสต์” เว็บไซต์ข่าวอเมริกัน เผยแพร่ข้อเขียนของคริสโตเฟอร์ ดิคคีย์ เกี่ยวกับกรณีนี้ออกมาเมื่อ 2 พฤษภาคมนี้

ในขณะที่ “เซาท์อีสต์เอเชีย โกลบ” ก็โพสต์คำให้สัมภาษณ์ของดาเนียล บาสตาร์ ในเรื่องเดียวกัน จำกัดวงไว้เฉพาะความเคลื่อนไหวภายในอุษาคเนย์โดยเฉพาะ เผยแพร่ไว้ในวันเดียวกัน

ในข้อเขียนของเดลีบีสต์ ดิคคีย์ อาศัยคำบอกเล่าของปิแอร์ ฮาสกี ประธานองค์การผู้สื่อข่าวไร้พรมแดน (อาร์เอสเอฟ) องค์กรเพื่อสื่อระหว่างประเทศที่มีสำนักงานอยู่ในกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส กับคอร์ตนีย์ รัดช์ ผู้อำนวยคณะกรรมการเพื่อการคุ้มครองผู้สื่อข่าว (ซีพีเจ) ที่มีสำนักงานใหญ่อยู่ในนครนิวยอร์ก ประเทศฝรั่งเศส เพื่อแสดงให้เห็นว่า นิยามว่าด้วย “เฟคนิวส์” ที่โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริการิเริ่มใช้เป็น “คาถา” ประจำตัวเพื่อคุ้มครองตัวเองและฝ่ายบริหารของตน เรื่อยไปจนถึงใช้เป็นเครื่องมือในการ “ตีตรา” และ “กดขี่” องค์กรสื่อในสหรัฐอเมริกา ตั้งแต่การข่มขู่ยึดใบอนุญาต เรื่อยไปจนถึงประณามตัวผู้สื่อข่าวเป็นรายคนนั้น “กำลังแพร่ระบาดเหมือนเชื้อโรค” ไปทั่วโลก และกลายเป็น “ข้ออ้าง” สำคัญของรัฐบาลในอีกหลายประเทศ

ซึ่งส่งผลให้เสรีภาพสื่อในพื้นที่ซึ่งควรแข็งแกร่งอ่อนแอลง

ส่วนในประเทศที่อ่อนแออยู่แล้วก็ลงเอยในสภาพต้องดิ้นรนเพื่อ “เอาตัวรอด” ในที่สุด

 

คําให้สัมภาษณ์ของดานีล บาสตาร์ ในเซาท์อีสต์เอเชีย โกลบ ไม่เพียงแสดงให้เห็นว่า ทำไมอาร์เอสเอฟถึงได้ปฏิเสธคำเชิญของทางการสิงคโปร์ ไม่เข้าร่วมเพื่อนำเสนอหลักฐานและทัศนะว่าด้วย “เฟคนิวส์” หรือ “การเผยแพร่สิ่งผิดๆ ในโลกออนไลน์โดยเจตนา”

แต่ยังบอกเล่าถึงปัญหาของการนำเอาข้ออ้างเฟคนิวส์มาใช้เป็นเครื่องมือ ที่ทำให้เสรีภาพสื่อในภูมิภาคนี้ กำลังเป็นปัญหาไปทั้งหมดอยู่ในขณะนี้ไว้อีกด้วย

บาสตาร์บอกว่า เมื่อพิจารณาจากสิ่งที่ทางการสิงคโปร์กระทำและบังคับใช้มาตรการต่างๆ ต่อสื่อภายในประเทศอยู่ ทางอาร์เอสเอฟมีเหตุผลเพียงพอที่จะวิตกว่า การเชิญให้เข้าร่วมแบบ “กะทันหัน” ดังกล่าวอาจเป็นการฉกฉวยประโยชน์ทางการเมือง โดยที่ไม่มีการถกกันอย่างจริงจังถึง “สารัตถะ” ของเรื่องนี้

นัยของคำพูดดังกล่าวมีความหมายสูงยิ่ง สำหรับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่เกิดกรณี “เฟคนิวส์” อื้อฉาวขึ้นมาหลายครั้งในช่วงปีสองปีนี้ ตั้งแต่กรณี ออง ซาน ซูจี ที่ใช้คำว่า “เฟคนิวส์” กับ “ข้อมูลที่ผิดๆ” ในการปฏิเสธข้อกล่าวหาว่า กองทัพพม่าดำเนินการปราบปรามชาวโรฮิงญาในรัฐยะไข่แบบละเมิดสิทธิมนุษยชน ในขณะที่ข้อเท็จจริงที่ปรากฏออกมาเป็นไปในทางตรงกันข้าม

เรื่อยไปจนถึงกรณี “ซาราเซน” เว็บไซต์ในอินโดนีเซีย ที่ถูกขนานนามใหม่ว่าเป็น “เฟคนิวส์ แฟ็กตอรี่” ที่รับจ้างปล่อยข่าวปลอมและคำพูดที่มีเนื้อหายุยงก่อให้เกิดความเกลียดชัง หรือ “เฮทสปีช” ในการเลือกตั้งผู้ว่าการกรุงจาการ์ตา

หรือการปล่อยข่าวสะพัดในกัมพูชาว่า ลูกสาวของผู้นำนักการเมืองฝ่ายค้านคนสำคัญคือ “สายของซีไอเอ” เป็นต้น

ปัญหาของเฟคนิวส์ จึงไม่ใช่เรื่องของการให้ “นิยาม” แตกต่างกัน แต่ยังเป็นปัญหาในเรื่องของการบังคับใช้อีกด้วย

 

บาสตาร์บอกว่า ร่างกฎหมายเพื่อต่อต้านเฟคนิวส์ของสิงคโปร์ก็ดี หรือจริงๆ แล้วกฎหมายว่าด้วยเรื่องนี้ทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นในสิงคโปร์หรือมาเลเซีย บราซิล, อิตาลี หรือฝรั่งเศส ล้วน “ไม่เพียงพอ” เพราะ “รัฐบาลที่เป็นประชาธิปไตย ไม่ควรมาชี้ขาดว่าอะไรคือจริงอะไรคือปลอม” และ “เรื่องนี้มีความสำคัญต่อประชาธิปไตยและหลักนิติรัฐมากเกินไปที่จะเสี่ยงทำให้กลายเป็นตัวอักษรได้”

เขาย้ำว่า เสรีภาพสื่อนั้นจำเป็นอย่างยิ่งยวดต่อพัฒนาการของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ส่งผลอย่างใหญ่หลวงต่อความน่าเชื่อถือทางการเมืองและเศรษฐกิจ ซึ่งประเทศในภูมิภาคจะสูญเสียไปหากไม่แสดงให้เห็นถึงความพยายามในอันที่จะส่งเสริมเสรีภาพของสื่อ

“เสรีภาพสื่อ กำลังเสื่อมถอยลงในกัมพูชา, มาเลเซีย, ฟิลิปปินส์, สิงคโปร์และเวียดนาม ในขณะที่ในลาวกับบรูไน นั้นเป็นหลุมดำของข้อมูลข่าวสารอยู่ก่อนแล้ว ในขณะที่สถานการณ์ในอินโดนีเซียกับไทยก็ติดกับอยู่ลึกมาก”

ทั้งๆ ที่รัฐบาลประเทศในอุษาคเนย์เหล่านี้ ควรสร้างสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมกับการเติบใหญ่ของสื่อให้มากที่สุดครับ