หลังเลนส์ในดงลึก/ปริญญากร วรวรรณ/เลือก

ม.ล.ปริญญากร วรวรรณ
นกเงือกหัวแรด - นกเงือกใช้ปากใหญ่ๆ ของพวกมันคาบผลไม้ และโยน พร้อมกับอ้าปากรับได้อย่างแม่นยำ

หลังเลนส์ในดงลึก

ปริญญากร วรวรรณ

‘เลือก’

ทํางานในป่า

กลับถึงแคมป์ร่วมสองทุ่ม ของผมคือเรื่องปกติ ซึ่งปฏิบัติอยู่เป็นประจำ คนผู้ซึ่งเฝ้าเก็บข้อมูลสัตว์ป่าส่วนใหญ่ก็มีกิจวัตรเช่นเดียวกันนี้

ออกจากแคมป์ตั้งแต่เช้าตรู่ กลับมาหลังท้องฟ้ามืด

แต่วันนั้นผมกลับถึงแคมป์ตั้งแต่ตอน 18.30 นาฬิกา เหตุผลคือ สภาพอากาศปลายฤดูหนาววันนั้นค่อนข้างเย็นจัด ท้องฟ้ามืดครึ้ม ไม่มีแสงแดด นึกถึงกองไฟอุ่นๆ ในแคมป์ จึงออกจากซุ้มบังไพรเร็วกว่าปกติ

แคมป์อยู่ริมลำห้วยในป่าเบญจพรรณ ที่ระดับความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง 520 เมตร

ระดับน้ำลดลง แต่เสียงไหลกระทบแก่งหินดังก้อง

ถึงแคมป์ ผมรีบก่อไฟ สักพักฟืนแห้งๆ ก็ส่งเปลวสีส้ม

นึกถึงสิ่งใดแล้วได้อย่างที่นึก แค่นี้ก็เป็นความรื่นรมย์อย่างหนึ่งแล้ว

ไฟติดดี จักรสินเดินเข้ามาในแคมป์

“นกกกตัวเมีย ทำท่าน่าหมั่นไส้มากครับ” จักรสิน เป็นผู้ช่วยนักวิจัย เขาเก็บข้อมูลนกเงือกในป่าด้านตะวันตกมานาน วันนี้เขาไปเฝ้าโพรงนกกก ที่พวกมันเคยใช้ปีที่แล้ว เพื่อตรวจสอบว่าปีนี้เจ้าของโพรงเดิมจะมาใช้อีกหรือไม่

“ตัวผู้คาบแมลงตัวโตมารอหน้าโพรง เหมือนชวนให้ตัวเมียมาดู แต่ตัวเมียทำเมินไม่สนใจ” จักรสินหัวเราะ

กลางเดือนมกราคม คือช่วงเวลาที่เหล่านกเงือกในผืนป่าด้านตะวันตกเริ่มเตรียมหาโพรงสำหรับวางไข่

จากการเฝ้าติดตามศึกษามายาวนาน โครงการศึกษานิเวศวิทยาของนกเงือก มีข้อมูลชัดเจน แม้ว่านกเงือกเมื่อจับคู่กันแล้ว พวกมันจะอยู่ด้วยกันไปตลอด แต่เมื่อถึงช่วงเวลาจะวางไข่ ตัวผู้ต้องเริ่มสานสัมพันธ์กับตัวเมียใหม่ทุกปี

ตัวเมียจะเลือกโพรงที่จะเข้าไปอยู่ โดยตัวผู้ต้องพยายามนำเสนอ

การเลือกอย่างพิถีพิถันของตัวเมีย ด้วยเหตุผลคือ เธอต้องเข้าไปอุดอู้ข้างในเป็นเวลานาน

เป็นเรื่องดีของชีวิต หากมีโอกาสได้เลือก

เพราะเมื่อใดก็ตามที่เลือกสิ่งหนึ่งสิ่งใดไปแล้ว

โอกาสจะกลับมาเลือกใหม่ ดูจะไม่ใช่เรื่องง่ายนัก

 

โพรงนกกก ที่จักรสินไปเฝ้าดูอยู่ในต้นสมพง ขนาดราว 3 คนโอบ สูงจากพื้นสัก 25 เมตร

สมพงต้นนี้ ขึ้นริมห้วยแห้งในหุบ เมื่อเราปีนขึ้นอีกฝั่ง จึงเห็นโพรงในระดับเดียวกันไม่ต้องเงยหน้ามาก

เราขึ้นมาทำซุ้มบังไพรทิ้งไว้ตั้งแต่เดือนที่แล้ว นกกกตัวผู้พาตัวเมียมาดูโพรง เป็นโพรงที่ใช้ปีที่แล้วก็จริง แต่ตัวเมียดูจะเลือกและสำรวจอย่างละเอียด

ว่าตามจริง โพรงอันเหมาะสมในป่า เหลือไม่มากหรอก นกตัวผู้ต้องเฝ้าระวังไม่ให้นกตัวอื่นมาวุ่นวาย

โพรงรังถูกแย่งไปใช้ เกิดขึ้นบ่อยๆ

นกกก ทั้งคู่เกาะนิ่ง เงียบ อยู่ไม่ไกลจากต้นสมพง ขณะนกเงือกสีน้ำตาลตัวผู้พาตัวเมียเข้ามาดูโพรง

พักเดียวก็โดนไล่ นกกกโฉบมาส่งเสียงสนั่น

นกกกตัวเมียทำท่าน่าหมั่นไส้จริงอย่างจักรสินว่า เธอเมินเฉย ปั้นปึ่ง ไม่สนใจ เมื่อตัวผู้พยายามนำเสนอว่าโพรงนี้แหละเหมาะที่สุด

นี่อาจเป็นช่วงเวลาแห่งความสุขของนก

ก่อนงานหนักในการเลี้ยงดูลูกจะเริ่มต้น

 

เสียงเปาะแปะคล้ายเสียงฝนตกปรอยๆ ดังรอบซุ้มบังไพร เป็นเสียงใบไม้สีน้ำตาลแห้ง โปรยปลิวลงมากระทบพื้นในป่าเบญจพรรณ การทิ้งใบของต้นไม้ ไม่ได้ทำพร้อมกันอย่างในป่าเต็งรัง

สภาพป่าเบญจพรรณ จึงไม่ดูโปร่งโล่ง ต้นไม้มีเพียงกิ่งแห้ง

ต้นไม้ในป่านี้ทยอยกันเปลี่ยนสีใบ

ช่วงนี้เสียงเปาะแปะจากใบไม้ร่วง มีให้ได้ยินตลอด ป่าเขียวทึบในช่วงสองเดือนก่อน ตั้งแต่สองสัปดาห์ที่แล้วกลายเป็นป่าที่มีสีเหลือง สีแดง กระจายทั่วไป ก่อนที่จะเป็นสีน้ำตาลแห้งๆ

อีกไม่นาน กิ่งก้านแห้งจะมีตุ่มตาเล็กๆ โผล่ขึ้นมา แตกเป็นใบเขียวๆ ฤดูฝนกลับมา ป่าได้เวลาเขียวทึบอีกครั้ง

 

เราเอารถมาจอดไว้ และเดินข้ามห้วยไปตามด่านที่ไต่สูงขึ้นไปเรื่อยๆ จากนั้นก็เป็นทางลงหุบชันๆ เลาะไปตามห้วย ตลอดลำน้ำเป็นก้อนหินใหญ่น้อยระเกะระกะ

ที่ราบเล็กๆ ไม่ไกลด่าน เป็นแคมป์ที่สบายพอสมควร

หลายวัน แคมป์กลมกลืนกับสภาพรอบๆ รอยตีนเสือโคร่งเดินผ่านไป-มา รวมถึงรอยตะกุยและสเปรย์แสดงความเป็นเจ้าของพื้นที่ไว้ที่ลำต้นไม้ด้วย

ตรงที่จอดรถไว้ เดือนที่แล้วเราลงไปพบว่ากระทิงตัวผู้โตเต็มวัย โดนเสือโคร่งล่าได้ ซากกระทิงนอนอยู่เกือบถึงใต้ท้องรถ

ช่วงเช้ามืดและหลังดวงอาทิตย์ลับสันเขา น้ำใสในลำห้วยเย็นจัด กระทั่งยืนแช่น้ำไม่ไหว

อยู่ใกล้ชิดลำน้ำ แต่เราก็หลีกเลี่ยงการอาบน้ำ

 

หลายวันแล้ว ที่เราพบว่านกเงือกตัวเมียไม่ว่าจะเป็นนกกก หรือนกเงือกสีน้ำตาล ล้วนมีท่าทีลังเล เฉยเมย ไม่สนใจสิ่งที่นกตัวผู้พยายามนำเสนอ

ตัวผู้ก็ไม่ได้มีวี่แววว่าจะเบื่อ ย่อท้อ ถึงเดือนหน้า เหตุการณ์จะเปลี่ยนเป็นอีกแบบหนึ่ง โพรงรังทั้งหมดจะถูกปิด เหลือไว้แค่ช่องเล็กๆ โพรงต่างๆ เหมาะสมพอในการเป็นที่อยู่ของแม่และลูก

การถูกปฏิเสธ จะเกิดขึ้นอีก เรื่องเช่นนี้นกตัวผู้ต้องพบเจอ

บินนำอาหารมาให้ บางครั้งตัวเมียคาบอาหารโยนทิ้งต่อหน้าต่อตา เพราะเป็นอาหารเดิมซ้ำๆ

ตั้งแต่เช้ามืด ฟ้ายังไม่สว่าง กระทั่งพลบค่ำ นกเงือกตัวผู้ต้องเดินทางในระยะไกล นำอาหารมาส่งหลายรอบ

และอาหารจำเป็นต้องมีทั้งผลไม้ และสัตว์เล็ก เพื่อเป็นโปรตีน

นี่คือภาพที่เราเห็น

ผมไม่รู้หรอกว่า นกตัวผู้จะเหนื่อยไหม ไม่รู้หรอกว่า ตอนที่เห็นตัวเมียโยนอาหารทิ้งต่อหน้า เพราะเป็นอาหารซ้ำๆ มันจะรู้สึกอย่างไร เบื่อหรือท้อ หรือเปล่า

มีหลายเรื่องราวที่ผมรู้ว่าเราไม่สามารถเข้าถึง หรือสัมผัสในสิ่งที่เหล่าสัตว์ป่าเข้าถึงและสัมผัสได้

 

แต่สิ่งหนึ่งที่เข้าใจได้ไม่ยาก

คือ เป็นเรื่องดี หากมีโอกาสได้ “เลือก”

อีกทั้งสิ่งที่ตามมาพร้อมกับการเลือก ไม่ว่าจะเป็นอะไรก็ตาม

คงเลี่ยงไม่พ้นที่จะต้องยอมรับ