คนมองหนัง : “แท้ ประกาศวุฒิสาร” “คนหนังไทย” ผู้มีอายุยืนยาวครบหนึ่งศตวรรษ

“ภาพยนตร์” เป็น “สื่อ/ศิลปะ” ที่มีอายุราว 120 ปีเท่านั้น ซึ่งถือว่าน้อยมากๆ หากเทียบกับสื่อหรือศิลปะแขนงอื่นๆ

ด้วย “ความอ่อนเยาว์” ดังกล่าว จึงมีความเป็นไปได้ที่มนุษย์ในยุคปัจจุบันบางราย จะเคยสัมผัสกับยุคบุกเบิกแรกเริ่มหรือ “รุ่งอรุณ” ของสื่อ/ศิลปะประเภทนี้

อย่างไรก็ดี นั่นหมายความว่ามนุษย์ผู้นั้นต้องผ่านโลกผ่านชีวิตมายาวนานร่วมศตวรรษ จนล่วงเข้าสู่วัย “ชรา”

เป็นภาวะ “ชราภาพ” ที่ดำรงอยู่คู่ขนานกับภาวะ “เยาว์วัย” ของภาพยนตร์

วันที่ 26 เมษายน 2561 เป็นวันคล้ายวันเกิดครบรอบปีที่ 100 ของ “แท้ ประกาศวุฒิสาร”

แท้เกิดเมื่อวันที่ 26 เมษายน 2461 ที่อำเภอโพธาราม จังหวัดราชบุรี เขาเริ่มเข้าสู่วงการภาพยนตร์ตั้งแต่ปี 2478 ด้วยการเป็นช่างถ่ายภาพนิ่งให้แก่กองถ่ายหนังเรื่อง “กะเหรี่ยงไทรโยค”

เท่ากับว่าแท้เริ่มทำงานกับสื่อ/ศิลปะแขนงนี้ตั้งแต่ตอนอายุประมาณ 17 ปี อันเป็นช่วงเวลาที่ “ภาพยนตร์” ถือกำเนิดมาได้ราวครึ่งศตวรรษ และ “หนังไทยเรื่องแรกสุด” ถูกผลิตขึ้นเมื่อแปดปีก่อน

นับจากนั้น เขาก็คลุกคลีและมีส่วนร่วมในประวัติศาสตร์หน้าสำคัญของวงการภาพยนตร์ไทย ผ่านผลงานการสร้างหนังหลายเรื่อง เช่น สุภาพบุรุษเสือไทย (2492 – เพิ่งได้รับคัดเลือกเป็นหนึ่งใน “70 สุดยอดภาพยนตร์ไทยในสมัยรัชกาลที่ 9”) สาวเครือฟ้า (2496) เห่าดง (2501) ชายชาตรี (2507) และ เจ้าหญิง (2512) ฯลฯ

นอกจากนี้ แท้ยังใช้กล้องถ่ายภาพยนตร์เป็นเครื่องมือบันทึกเหตุการณ์ประวัติศาสตร์สำคัญๆ ของประเทศ อาทิ น้ำท่วมกรุงเทพ พ.ศ.2485, การรัฐประหาร พ.ศ.2490, พระราชพิธีบรมราชาภิเษก พ.ศ.2493 และ การแข่งขันเอเชี่ยนเกมส์ ครั้งที่ 5 พ.ศ.2509 เป็นต้น

ผู้สนใจสามารถรับชมภาพยนตร์ข่าวบางเรื่องของแท้ ได้ทางช่องยูทูบ “Film Archive Thailand (หอภาพยนตร์)”

แท้เคยเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับการถ่ายทำหนังข่าวของตนเองเอาไว้อย่างมีสีสันในหนังสือ “สุภาพบุรุษเสือแท้”

เช่น เบื้องหลังการบันทึกภาพเคลื่อนไหวขณะน้ำท่วมใหญ่พระนครปี 2485 ซึ่งเขาเปิดเผยว่า

“ระยะที่น้ำท่วมสูงสุด ผมก็เกิดความคิดอยากจะถ่ายภาพยนตร์เก็บไว้ดูเล่นเป็นที่ระลึก ฟิล์มภาพยนตร์ 16 ม.ม. ขาวดำยังหายาก ฟิล์มสีไม่ต้องพูดถึง ไม่มีเลย แม้มีขาย ก็ไม่รู้จะส่งไปล้างยังไง

“เคราะห์ดียังมีห้างฮัมบรูกส์-สยาม ของชาวเยอรมัน ยังเปิดขายฟิล์มภาพยนตร์และรับล้างด้วย ผมรู้จักกับฝรั่งเยอรมันที่ห้างนี้ดี เขาเห็นหน้าเขารีบบอกเป็นภาษาไทยทันทีว่า สำหรับคุณผมมีฟิล์ม 16 ม.ม. ขายให้ 3 ม้วน ม้วนละ 100 ฟิต

“ด้วยน้ำใจไมตรีที่เคยมีต่อกัน ผมจึงได้ฟิล์มมา 3 ม้วน แล้วได้เช่าเรือจ้างของลุงแก่ๆ คนหนึ่ง ชวนพรรคพวกไปด้วย ให้แกตระเวนถ่ายเกือบทั่วกรุงเทพฯ และได้ถ่ายท่านเจ้าคุณพหลพลพยุหเสนา และรัฐมนตรีและบุคคลสำคัญแห่งยุค นั่งเรือมาประชุมสภาผู้แทนฯ ที่พระที่นั่งอนันตสมาคมด้วย

“ผมถ่ายภาพยนตร์น้ำท่วมใหญ่ปี พ.ศ.2485 ได้ 3 ม้วน และไม่นึกว่าวันนี้หนังน้ำท่วมของผม จะกลายเป็นภาพยนตร์ประวัติศาสตร์ตอนหนึ่งของชาติไปแล้ว”

ในหนังสือเล่มเดียวกัน แท้ยังเล่าถึงกระบวนการบันทึกภาพเหตุการณ์หลังรัฐประหาร 2490 ซึ่งจอมพลผิน ชุณหะวัน หัวหน้าคณะรัฐประหาร ได้ประกาศแต่งตั้ง จอมพล ป. พิบูลสงคราม อดีตนายกรัฐมนตรี เป็นผู้บัญชาการทหารแห่งชาติ (ก่อนจะได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้งในอีกไม่กี่เดือนถัดมา) เอาไว้ว่า

“เมื่อเราผ่านมาแล้วก็มุ่งตรงไปยังกระทรวงกลาโหม เข้าไปภายใน และแยกย้ายไปหาข่าวและถ่ายภาพตามอัธยาศัย ผมได้ถ่ายภาพยนตร์ข่าวรอบๆ กระทรวงกลาโหม ซึ่งมีทหารเตรียมกำลังไว้พร้อม เผื่อว่าจะมีการต่อต้านการทำรัฐประหารในครั้งนี้

“และในทันทีที่ผมขึ้นไปชั้นบนกระทรวงกลาโหม ผมก็ได้พบท่านจอมพล ป. พิบูลสงคราม กำลังเดินมาพร้อมนายทหารใหญ่น้อย และทันใดก็มีพวกทหารพากันเข้าไปแบกท่านขึ้นบ่าเพื่อนำไปยังห้องประชุม ผมยกกล้องถ่ายภาพยนตร์บันทึกเหตุการณ์นี้ไว้ได้ทันท่วงที”

แท้ ประกาศวุฒิสาร ได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติเป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (ผู้สร้างภาพยนตร์) ประจำ พ.ศ.2542 ก่อนหน้านั้น เขาได้รับรางวัลเกียรติคุณแห่งความสำเร็จจากชมรมวิจารณ์บันเทิง เมื่อ พ.ศ.2534

ณ ปัจจุบัน แท้นับเป็นบุคลากรผู้มีอาวุโสสูงสุดและมีอายุยืนยาวที่สุดในประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ไทย

จากคำบอกเล่าของพันทิพา ชยาภิรัต ผู้เป็นบุตรสาว (ผ่านทางเพจเฟซบุ๊กหอภาพยนตร์) ในวันเกิดอายุครบหนึ่งศตวรรษ แท้ได้ลืมตามองและเอ่ย “ขอบคุณ” บรรดาลูกหลานที่มาอวยพร หลัง “คุณปู่แห่งวงการหนังไทย” ต้องนอนรักษาตัวติดเตียงมานาน 8 ปี

เร็วๆ นี้ จะมีการจัดกิจกรรมฉลอง 100 ปี “แท้ ประกาศวุฒิสาร” โดยหอภาพยนตร์

หมายเหตุ : ขอบคุณภาพประกอบและข้อมูลหลักจากเพจเฟซบุ๊ก “หอภาพยนตร์ Thai Film Archive”

รำลึก 10 ปีแห่งการจากไปของ “พิเศษ สังข์สุวรรณ”

วันที่ 1-20 พฤษภาคมนี้ หอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน) ร่วมกับศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร คณะดุริยางคศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร และสมาคมศิษย์เก่าคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร จะจัดงาน “โลกที่…พิเศษ…สร้าง”

โดยมีการฉายภาพยนตร์ การแสดงดนตรี และนิทรรศการจำลองโลกและงานของ “พิเศษ สังข์สุวรรณ” เพื่อให้สาธารณชนได้รับรู้เรื่องราวของศิลปินมากความสามารถผู้ล่วงลับ ที่เคยผลิตผลงานมากมาย ทั้งการแต่งเพลงประกอบภาพยนตร์ การแสดง การกำกับละครโทรทัศน์-ละครเวที ฯลฯ ตลอดระยะเวลาเกือบ 60 ปีของชีวิต

พิธีเปิดนิทรรศการจะมีขึ้นในวันอาทิตย์ที่ 6 พฤษภาคม ณ โรงภาพยนตร์ศรีศาลายา หอภาพยนตร์

หม่อมเจ้าชาตรีเฉลิม ยุคล จะมากล่าวเปิดนิทรรศการในหัวข้อ “พิเศษที่ข้าพเจ้ารู้จัก” ตามด้วยการฉายภาพยนตร์เรื่อง “มือปืน 2 สาละวิน”, การฉายภาพยนตร์สารคดี “โลกที่พิเศษสร้าง” และการแสดงดนตรีผลงานการประพันธ์ของพิเศษ สังข์สุวรรณ โดยนักดนตรีจากคณะดุริยางคศาสตร์ ม.ศิลปากร

วันเสาร์ที่ 12 พฤษภาคม จะมีงานสัมมนาวิชาการ-กิจกรรมการแสดงดนตรี และจัดฉายภาพยนตร์ “โลกที่พิเศษสร้าง” ณ ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)

เวลา 14.00 น. จะมีการเสวนาหัวข้อ “พิเศษ สังข์สุวรรณ : เพลง ดนตรี และโบราณคดี” โดย หม่อมเจ้าชาตรีเฉลิม ยุคล, ศาสตราจารย์สุรพล ดำริห์กุล และสถาพร ขวัญยืน

ติดตามรายละเอียดและตารางกิจกรรมเพิ่มเติมได้ที่

http://www.fapot.org/th/news_detail.php?id=542#.Wuej0uhuZPZ