พรรคมีอำนาจ…ดูด พรรคไร้อำนาจ…ดึง พรรคใหญ่…ตรึงกำลัง แผนเป็นอย่างไร?

มุกดา สุวรรณชาติ

แม้ยังไม่แน่ว่าจะมีการเลือกตั้งในเดือนกุมภาพันธ์ 2562 แต่เกมเลือกตั้งเดินหน้าแล้ว

คำถามเดิมยังอยู่…ถ้าไม่มีการเลือกตั้งในเดือนกุมภาพันธ์ 2562 ทั้ง 100 พรรคการเมืองจะทำอย่างไร และถ้าต้องเลื่อนไปอีกนานจะทำอย่างไร?

จะมีเรื่องหรือไม่?

ถ้าไม่มีเลือกตั้ง การใช้อำนาจของ คสช. และ สนช. แบบไม่มีฝ่ายค้าน จะดำเนินไปเรื่อยๆ จากไม่นาน 1-2 ปี ตอนนี้มองเห็นว่าน่าจะเกิน 5 ปี และอาจอยู่นานกว่าจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ก็ได้

อำนาจพิเศษที่เหนือ นิติบัญญัติ บริหาร ตุลาการ แม้แต่ต่ออายุให้องค์กรอิสระหรืออยากเซ็ตซีโร่ ก็ทำได้ ไม่มีใครสามารถค้านได้

ถ้าไม่มีการเลือกตั้ง การใช้อำนาจแบบไม่สนใจเสียงประชาชน จะดำเนินต่อไป

การเลือกตั้งคือทางเดียวที่คนอยากพิสูจน์ว่าคนส่วนใหญ่จะเลือกให้ คสช. สืบทอดอำนาจต่อไป หรือจะเปลี่ยนให้พรรคการเมืองอื่นมาทำแทน

เมื่อมีเลือกตั้ง ก็ต้องมีการหาเสียง หาคะแนน และหา ส.ส. จึงเกิดการดูด และการดึง

การหาเสียงอาจจะได้แต่เสียง ถึงเวลาเลือกตั้งอาจไม่มีคะแนนหรือมีคะแนนน้อย และก็กลายเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ในที่สุด

ส่วนการหาคะแนนในการเลือกตั้งแบบเก่า แม้หาคะแนนได้มากระดับหนึ่ง แต่ก็อาจไม่ได้ ส.ส.

แต่ในการเลือกตั้งแบบจัดสรรปันส่วนผสมการหาคะแนนได้มากพอสามารถนำมารวมหลายเขตแล้วเปลี่ยนเป็น ส.ส. ได้

ดังนั้น ในการเลือกตั้งครั้งหน้า การหาเสียงหาคะแนนและหา ส.ส. จึงมีความสัมพันธ์กันเป็นเทคนิควิธีการที่แต่ละพรรคอาจจะนำมาใช้ต่างกัน ขึ้นอยู่กับพื้นฐานของพรรคการเมืองต่างๆ

 

ยุทธศาสตร์พรรคใหม่ที่มีอำนาจและเงิน

1.หาคะแนนและหาเสียงไปพร้อมกัน เพราะมีอำนาจสร้างโครงการใหญ่ๆ ลดแลกแจกแถม

การแจกจะมีไม่อั้นจนกระทั่งถึงวันใกล้เลือกตั้ง หรือต้องหยุดตามที่กฎหมายบังคับ โดยคาดหวังว่าโครงการต่างๆ ที่กระจายไปสู่ประชาชนจะทำให้ประชาชนชื่นชมจากผลประโยชน์เฉพาะหน้า

ดูจากที่ผ่านมา ไม่ใช่แจกเบ็ดตกปลา หรือปลาสด

แต่เป็นการแจกปลากระป๋องที่กินได้เลย ไม่ว่าจะเป็นสิ่งของที่ได้รับหรือได้ซื้อในราคาถูก

หรือเงินช่วยเหลือคนจนต่างๆ นานา เพราะใช้หลักคิดที่ว่าคนจะต้องสำนึกบุญคุณและอยากจะได้อีก เมื่ออยากจะได้อีกก็ต้องเลือกพรรคนี้เข้ามาเยอะๆ เพื่อจะได้เป็นรัฐบาล

2. ใช้อำนาจ บารมี… ดูดผู้สมัคร ส.ส. เกรด A ลง ส.ส.เขตก่อน โดยหา ส.ส.เก่าคนมีชื่อเสียง ผู้มีอิทธิพลในท้องถิ่นต่างๆ พยายามรวบรวมให้ได้มากที่สุด

ถ้าหาได้ถึง 25 คนก็ยิ่งดีเพราะจะเป็นหลักประกันว่าสามารถเสนอชื่อนายกฯ เข้าไปสู่การประชุมรัฐสภาได้

ผู้สมัคร ส.ส. เกรด A มักจะอยู่ในพรรคใหญ่ ที่โวยวายกันว่าถูกดูด ก็คือกลุ่มนี้

3. จากนั้นต้องหาผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อมาตั้งโชว์ไว้จำนวนหนึ่งซึ่งอาจจะพอมีชื่อเสียง ทำให้คนเชื่อว่า สามารถบริหาร หรือทำโครงการด้านเศรษฐกิจหรือด้านอื่นๆ ให้มีผลดีได้

แต่คนที่ไปทำคะแนนในระบบบัญชีรายชื่อจริงๆ คือผู้สมัคร ส.ส. เกรด B จะเป็นหน่วยกล้าแพ้…คือมีการหาผู้สมัครที่มาจากอดีต ส.ส. หรือคนที่เคยแพ้ในแต่ละเขต ต่อให้รู้ว่าไม่มีทางชนะแน่ แต่สามารถทำคะแนนได้เป็นหลักหมื่นก็จะรับมาไว้เพื่อให้ลงสมัครเก็บคะแนนตามเขตต่างๆ อาจจะหาได้ 50 คน

ขณะนี้มีผู้สมัคร ส.ส. เกรด B กำลังรวมตัวกัน พรรคเล็กที่ตั้งขึ้นใหม่จำนวนหนึ่ง จะมาแบบนี้ คือรวบรวม ส.ต. คือผู้สมัครที่เคยทั้งสอบตก และสอบได้ในอดีต แต่ปัจจุบันหมดความนิยมไปแล้ว ถ้าสามารถรวมกับพรรคหลักที่มีอำนาจมีเงินได้ก็จะไป ถ้าไปไม่ได้ก็ลงพรรคเล็ก อาจมีลักษณะเป็นพรรคท้องถิ่น

4. ส่วนผู้สมัครเกรด C คือกำลังหลัก การเก็บคะแนนต้องมี 200-250 เขต จะมาจากการสนับสนุนของผู้สมัครเกรด A หรือนักการเมืองท้องถิ่นหรืออดีตข้าราชการ โดยมีเป้าหมายเก็บคะแนนเพิ่ม และลดคะแนนเสียงฝ่ายตรงข้าม จะมีคะแนนตามเป้าต้องได้รับแรงหนุนทางอำนาจ จากส่วนกลางจนถึงท้องถิ่น ลงลึกถึงตำบล หมู่บ้าน

 

พรรคหลักของ คสช.

จะได้ ส.ส. กี่คน

การหาผู้สมัคร ส.ส. ที่มีการโวยวายจากพรรคต่างๆ ว่ามีการดูดมีการดึงจาก ส.ส.เก่าพรรคอื่น ก็คือผู้สมัครที่จะนำไปลงเป็นเกรด A และเกรด B ส.ส. เกรด A คงส่งสมัครได้ไม่เกิน 30 คน มีสิทธิ์ชนะไม่เกิน 15 คน เพราะต้องแข่งกับ 2 พรรคใหญ่ คือ เพื่อไทย กับ ปชป. แม้ดึง ส.ส. มาได้แต่มวลชนไม่ได้ตามมาหมด

ดังนั้น จึงมีโอกาสชนะบ้าง ซึ่งจะไม่ได้คะแนนสูงนัก เพราะต้องแบ่งให้พรรคอื่น เฉลี่ยคะแนนผู้ชนะเขตละ 40,000 คะแนน ผู้ชนะจะได้รวมประมาณ 600,000 ในเขตที่แพ้ได้ประมาณ 25,000 รวม 250,000

ส.ส. เกรด B ซึ่งประมาณตัวเลขไว้ว่าเป็นผู้สมัครที่สามารถทำคะแนนเฉลี่ยเขตละ 10,000 คะแนน ถ้ามีแบบนี้ 50 เขตก็จะได้ 500,000 คะแนน

ส่วนผู้สมัคร ส.ส. เกรด C คือพรรคจะตั้งเป้าคะแนนเพียง 3,000-5,000 คะแนนต่อเขต แต่ถ้าหาได้ 250 เขต ก็จะช่วยทำคะแนนสะสมสำหรับบัญชีรายชื่อประมาณ 8 แสนคะแนน (ต้องใช้กำลังภายในช่วย)

ถ้าจะแสดงศักยภาพก็ต้องส่งให้ครบ 350 เขต และในเมื่อมีโครงการต่างๆ ที่จะช่วยเสริมความนิยมไปทั่วทั้งประเทศแล้วก็ไม่อาจเสียคะแนนนิยมที่อาจมี ไม่ว่ามากหรือน้อยในเขตต่างๆ ควรเก็บให้หมด

ดังนั้น ถ้ารวมคะแนนผู้สมัครทั้งเกรด A, B, C

เกรด A ทำคะแนนทั้งแพ้และชนะได้รวม 850,000 เกรด B ได้ 500,000 เกรด C ได้ 800,000

รวมทั้งหมดจะได้ 2,150,000 คะแนน ได้ ส.ส. ประมาณ 30 คน ซึ่งเป็นเรื่องไม่ง่ายเลย แต่ต้องทำให้ได้ เพื่อจะเสนอชื่อนายกฯ แต่ตอนตั้งเป้าตามราคาคุยทุกพรรคต้องตั้งไว้สูง อาจจะเป็น 2-3 เท่า

โดยหลักการนี้ พรรคหนุน คสช. อาจมีพรรคแนวร่วมอีก 2-3 พรรค แต่เน้นการหนุนผู้สมัคร ส.ส. เกรด C ที่คัดมาจากนักการเมืองท้องถิ่น นี่เป็นอาวุธลับที่ใช้เจาะหลังบ้านดึงคะแนนพรรคใหญ่ เพิ่ม ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคเล็ก พรรคละ 4-5 คน

 

พรรคใหม่ ไร้อำนาจ
มีเงินน้อยจะทำอย่างไร

1.ต้องสร้างชื่อเสียงก่อน ต้องทำให้คนรู้จักว่ามีพรรคนี้แล้ว ใครเป็นผู้นำ มีจุดเด่นอะไรบ้าง

กรณีนี้ขอยกตัวอย่างพรรคอนาคตใหม่ ที่เปิดตัวได้อย่างมีจุดเด่น มีผู้นำทีมงานที่มีศักยภาพ เรียกว่าสร้างชื่อให้ดัง ทำให้มีคนสนใจมากแม้ขณะนี้ยังไม่มีนโยบายเด่นๆ ออกมาชัดเจน แต่ก็ได้รับความสนใจไปทั่วทุกภาค มีลักษณะเป็นพรรคระดับชาติไม่ใช่ระดับท้องถิ่น ซึ่งทำให้พรรคลอยตัวขึ้น คนก็มองเห็นได้แต่ไกล

2. ใช้ชื่อเสียง…ดึงทุกอย่างมาสนับสนุน เช่น การหาผู้สมัคร หาทุนและทีมงาน พรรคใหม่ที่ไม่มีพื้นฐานทางอำนาจและไม่เคยมีฐานเสียงเหมือนพรรคเก่าแก่หรือพรรคที่เคยมี ส.ส. อยู่บ้าง จำเป็นจะต้องหาผู้สนับสนุนในทุกระดับตั้งแต่คนธรรมดา นักวิชาการ นักการเมืองท้องถิ่น ขอคะแนนผู้สนับสนุน ขอความช่วยเหลือทางการเงินจากผู้มีอุดมการณ์ตรงกัน ตามสภาพ จากนั้นจึงจะรวบรวมกำลังในแต่ละเขตเลือกตั้ง ให้เป็นกลุ่มผู้ปฏิบัติงานซึ่งจะหนุนผู้สมัคร ส.ส. แข่งขันในเขตเลือกตั้งนั้น

แต่การตั้งกลุ่มเป็นทีมงานแบบนี้ทั้ง 350 เขตไม่ใช่เรื่องง่าย ปัญหาไม่ใช่เพียงแค่เรื่องเงิน ซึ่งมีคนคิดว่าน่าจะต้องใช้เงินจำนวนมาก (ไม่ต้องมากถึง 350 ล้านก็ได้) แต่ปัญหาใหญ่คือ เรื่องคน…การหาทีมงาน หาเสียงสนับสนุน ผู้สมัครรับเลือกตั้งซึ่งกล้าจะลงแม้รู้ว่าแพ้แน่ๆ ทำตัวเป็นกล่องรับคะแนนเพื่อนำคะแนนทั้งหมดไปรวมให้ได้มากที่สุด จึงจะนำไปคิดเป็นจำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อ

3. คิดและเสนอนโยบายที่ตรงใจประชาชนหนุน ที่สามารถแก้ปัญหาได้ตรงจุด และทำให้ผู้คนเชื่อว่า พรรคนี้มีความสามารถ มีความรู้ ที่จะนำไปสู่อนาคตที่ดีกว่าจริงๆ คนรุ่นใหม่เป็นเพียงหนึ่งกลุ่มใหญ่ แต่คนที่กำลังยากลำบาก มีมากมายมหาศาล

การชิงพื้นที่ทางอากาศเพื่อทำความเข้าใจ จะง่ายกว่า แต่ต้องชนะใจคน จนจบเกม

 

หาผู้สมัคร ส.ส. แบบอาสาสมัคร
ใจรัก สู้เพื่ออุดมการณ์

อนาคตใหม่ไม่มีตัวเต็งที่จะเป็น ส.ส.เขตแม้แต่คนเดียว

ดังนั้น การคาดหวังที่จะเก็บคะแนนสะสมจากทุกเขตจึงเป็นยุทธศาสตร์หลัก แน่นอนว่า พรรคอนาคตใหม่ต้องคาดหวังผู้สมัครที่มีโอกาสได้คะแนนระดับหมื่นหรือหลักพัน

ถ้าเทียบกับพรรคที่มีอำนาจ ระดับการทำคะแนนจะอยู่ในระดับ ส.ส. เกรด B ในบางเขต และเกรด C เป็นส่วนใหญ่

แต่ผู้สมัครระดับนี้จะถูกหลายพรรคมาแย่ง เพื่อเติมเต็มพื้นที่ และบางพรรคอาจเสนอความช่วยเหลือที่เป็นเงิน

พรรคใหม่แบบอนาคตใหม่ทุกพรรคจะสู้ด้วยเงินไม่ได้ ดังนั้น…

ต้องหาคนที่มีความคิดแนวทางเดียวกัน คนที่สนใจเล่นการเมือง ทั้งท้องถิ่นและระดับชาติ เป็นที่รู้กันว่าการลงเลือกตั้งในพรรคที่มีชื่อเสียงดี เสียค่าใช้จ่ายไม่มาก

ชุดที่หนึ่ง หาคนมีชื่อเสียงที่สามารถสร้างความนิยมด้านต่างๆ มากพอที่จะเปลี่ยนเป็นคะแนนได้ ต้องหาให้ได้ 30-50 คน สมัครเป็น ส.ส.บัญชีรายชื่อ (เด่นจริงๆ 10-20 คน)

ชุดที่สอง เป็นกลุ่มผู้เสียสละ ลงสมัคร ส.ส. 350 คน แพ้-ชนะไม่เป็นไร เป้าหมายคือคะแนน

คนที่มีความคิดอุดมการณ์แนวประชาธิปไตย คนรุ่นใหม่จำนวนมากอาจสนับสนุนพรรคอนาคตใหม่ แต่กระจายกันอยู่ทั่วประเทศ ดังนั้น พรรคอนาคตใหม่ไม่มีทางเลือกนอกจากจะส่งคนลงทั้ง 350 เขตเลือกตั้งเพื่อเก็บคะแนนในทุกจุดมารวมกัน

จะเห็นว่าพรรคแบบอนาคตใหม่ถ้าเทียบกับพรรคที่เป็นแกนนำของ คสช. อนาคตใหม่ต้องสร้างชื่อเสียงให้คนมาเข้าร่วม แล้วจึงจะมีผู้สมัคร จากนั้นจึงจะจัดการเสียงลอยให้เป็นคะแนน ได้คะแนนมากจึงจะเริ่มนับ ส.ส.

ได้พรรคแบบนี้ตามทฤษฎี เริ่มด้วยเสียง เมื่อปริมาณเปลี่ยนเป็นคุณภาพ ก็จะสามารถเปลี่ยนเสียงเป็นคะแนนได้ แล้วจึงจะเห็นตัว ส.ส.

ต่างจากพรรคใหม่ที่มีอำนาจ มีพลังดูด ที่จะเริ่มด้วยมี ส.ส.เขตที่เป็นแม่เหล็กมาดึงหรือดูด ส.ส. ดึงคะแนนเพิ่ม เพิ่ม ส.ส. อีกจำนวนหนึ่ง

ค่าเฉลี่ย 5,000 คะแนนต่อเขต 350 เขตหมายความว่า จะมีคะแนนเสียงรวมถึง 1,750,000 คะแนน จะมีสิทธิ์ได้ ส.ส. ถึง 24 คน

 

พรรคใหญ่จะตรึงกำลังเดิมไว้ได้เท่าไร?

คนที่ออกจากพรรคใหญ่ จะแพ้หรือชนะยังไม่รู้ แต่ทันทีที่ออก พรรคเดิมก็จะส่งคนใหม่เข้าแข่ง ดังนั้น สิ่งที่จะเกิดขึ้นคือการแบ่งคะแนนกัน

ตัวอย่างในเขต กทม. จะกลายเป็นศึก 4 พรรค คือ ปชป. เพื่อไทย อนาคตใหม่ และพรรค กปปส. ในหลายพื้นที่ก็จะมีสภาพที่ต่างไป แต่ในต่างจังหวัด จะเป็นการปะทะกันของ ปชป. เพื่อไทย พรรคหนุน คสช. อนาคตใหม่ แต่โดยส่วนใหญ่แล้วคะแนนของผู้ชนะจะลดลง

การดูด ส.ส. จากพรรคใหญ่ตามครรลองการเมืองแบบเก่า คงทำได้ไม่กี่คน พวก ส.ส. ที่จะไป ล้วนวิเคราะห์สภาพตนเองกับพรรคใหม่และพรรคเก่าได้ดี รู้ผลได้ ผลเสีย แต่ถ้ามีสาเหตุที่อยู่ไม่ได้ หรือมีความจำเป็นอื่น พวกเขาก็จำเป็นต้องทำ ในกรณีที่มีปัญหาจากความขัดแย้งในพรรค ก็จะเกิดการย้ายออกเป็นกลุ่มใหญ่

สิ่งที่พรรคใหญ่ต้องระวังคือการดูดในระดับท้องถิ่น หรือเพิ่มคะแนนในระดับหมู่บ้าน การวางระบบระวังหน่วยเลือกตั้ง กลายเป็นภาระหน้าที่ของ ส.ส. เจ้าของพื้นที่ทุกพรรค ผู้เป็นกรรมการเกี่ยวข้องในการเลือกตั้ง ตั้งแต่สูงสุดจนถึงหน่วยเลือกตั้งในหมู่บ้าน จะเป็นตัวแปรสุดท้าย

สงครามโฆษณาทางอากาศเริ่มไปแล้ว แต่คะแนนที่เป็นจริงอยู่ในพื้นที่ การชิงมวลชนในพื้นที่จึงยังเป็นปัจจัยสำคัญ ต้องมีแผนทั้งเมืองใหญ่ เมืองเล็ก ชนบท ถ้าโซเชียลมีเดียมีผลจริง แสดงว่าสงครามทางอากาศช่วยให้การเมืองอาจเปลี่ยนโฉมได้