โลกร้อนเพราะมือเรา ตอนที่ 126 : “เมย์” ประกาศสงครามพลาสติก

ทวีศักดิ์ บุตรตัน

เทเรซา เมย์ นายกรัฐมนตรีแห่งอังกฤษ ประกาศว่า อังกฤษจะก้าวผงาดเป็นผู้นำโลกด้านสิ่งแวดล้อมและการต่อสู้กับขยะพลาสติก ด้วยการลดความต้องการใช้พลาสติก ลดปริมาณพลาสติกที่ใช้อยู่พร้อมกับยกระดับการรีไซเคิลเพื่อนำพลาสติกกลับมาใช้ใหม่

การประกาศของนายกฯ หญิงสอดรับกับมติของสหประชาชาติ เมื่อเดือนธันวาคมปีที่ผ่านมา สมาชิกยูเอ็น 193 ประเทศร่วมเห็นชอบให้หยุดการทิ้งขยะพลาสติกลงสู่ทะเล

“เมย์” เดินหน้าลุยสงครามพลาสติกมาตั้งแต่ต้นปีนี้โดยเสนอแนวนโยบายกำจัดขยะพลาสติกให้หมดสิ้นภายใน 25 ปี พุ่งเป้าไปยังห้างร้าน ซูเปอร์มาร์เก็ตจะต้องปลอดจากใช้พลาสติกที่ไม่สามารถรีไซเคิลได้ รวมถึงเก็บภาษีกล่องพลาสติกที่บรรจุอาหาร

ล่าสุด “เมย์” เพิ่งประกาศว่าในปีหน้าจะห้ามขายคอตตอนบัด หรือที่แคะหูก้านทำด้วยพลาสติก หลอดดูดอาหารพลาสติก และพลาสติกประเภทใช้ครั้งเดียวทิ้ง

ผู้นำอังกฤษยังเรียกร้องให้รัฐสภาและผู้นำท้องถิ่นร่วมสนับสนุนในการต่อสู้กับสงครามพลาสติก

 

ทําไม “ขยะพลาสติก” กลายเป็นเรื่องใหญ่ทั้งๆ ที่มีเรื่องอีกมากมายที่ยูเอ็นและอังกฤษควรลงมือทำเป็นอันดับต้นๆ?

ก็เพราะขยะพลาสติกทำลายสภาพแวดล้อมของอังกฤษและทั่วโลกมาเป็นเวลานานแล้ว

เมย์บอกว่า บรรดาปลาที่ชาวประมงจับขึ้นมาจากช่องแคบอังกฤษ 1 ใน 3 กลืนขยะพลาสติกเข้าไป

แม้ต้นทางของขยะพลาสติกมาจากการทิ้งลงไปในพื้นที่สาธารณะ แต่เมื่อถูกชะล้างจะด้วยรถล้างถนนหรือน้ำฝน ขยะพลาสติกเหล่านี้ไหลมุดลงไปในท่อน้ำแล้วไปสิ้นสุดในแม่น้ำลำธาร และทะเล

ถุงพลาสติกที่ลอยฟ่องในแม่น้ำหรือทะเล ลักษณะเหมือนแมงกะพรุนว่ายไปมา

เช่นเดียวกับขวดพลาสติกและหลอดพลาสติก มีลักษณะคล้ายๆ กับปลาเล็กๆ

สัตว์น้ำเห็นขยะพลาสติกเหล่านี้ลอยไปลอยมานึกว่าเป็นอาหารอันโอชะ

เม็ดพลาสติกขนาดเล็กหรือไมโครพลาสติกที่เป็นส่วนผสมของโฟมล้างหน้า สบู่อาบน้ำ พบอยู่ในเนื้อปลา

ส่วนชายหาดและพื้นที่ชายฝั่งทั่วโลกเปรอะเปื้อนไปด้วยขยะพลาสติกที่มาจากคลื่นทะเลซัดเข้าฝั่ง

นักวิทยาศาสตร์พบว่า ขยะพลาสติกกว่า 18 ตันลอยเท้งเต้งตามเกาะแก่งต่างๆ ห่างไกลสุดขอบฟ้า และแหล่งปะการังอันสวยงามในมหาสมุทรแปซิฟิก

 

พลาสติกผลิตออกมาวางตลาดตั้งแต่ปี 2493 ถึงวันนี้มีปริมาณราว 8,300 ล้านตัน มีเพียง 9 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นที่นำมารีไซเคิล 12% นำไปเผาทิ้ง และ 79% อยู่ในกองขยะ ในแม่น้ำและทะเล

ส่วนพฤติกรรมของคนชาติต่างๆ ที่มีนิสัยชุ่ยทิ้งขยะพลาสติกไม่เป็นที่เป็นทางนั้น ในการวิจัยพบว่าฝั่งเอเชียเป็นชาวจีน อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และเวียดนามติดอันดับต้นๆ

ส่วนประเทศที่คุยว่าพัฒนาแล้ว ได้แก่ สหรัฐอเมริกา ยุโรปและอังกฤษ มีนิสัยทิ้งขยะชุ่ยและเป็นตัวการหลักที่ทำให้ขยะพลาสติกในทะเลมีปริมาณเพิ่มขึ้นมาก

ผลการศึกษาพบชาวอเมริกันทิ้งขยะพลาสติกปีละ 120 กิโลกรัม อังกฤษ 76 กิโลกรัม สวีเดน 18 กิโลกรัม

ประเมินกันว่า ถ้าไม่เร่งกำจัดขยะพลาสติกที่ลอยฟ่องอยู่ในทะเล ภายในปี 2593 ขยะพลาสติกจะมีปริมาณมากกว่าปลาเพราะขยะพลาสติกเหล่านี้กว่าจะย่อยสลายใช้เวลานับร้อยปี

นักวิทยาศาสตร์ผ่าท้องปลาซึ่งอยู่ลึกที่สุดของมหาสมุทร พบซากขยะพลาสติกปนอยู่ด้วย

แต่ละปี มีนก ปลาและสัตว์น้ำราว 1 แสนตัวเสียชีวิตเพราะกลืนกินขยะพลาสติก

ในรังนกก็ยังเจอขวดพลาสติก ถุงพลาสติกและกล่องพลาสติกที่ใช้แล้วซุกอยู่ด้วย

 

มีคำถามว่าทำไมนายกรัฐมนตรีหญิงแห่งอังกฤษจึงพุ่งเป้าการกำจัดขยะพลาสติกไปที่ร้านค้าซูเปอร์มาร์เก็ต

เป็นเพราะว่าร้านค้า บริษัทผลิตเครื่องดื่มและซูเปอร์มาร์เก็ตเป็นผู้ผลิตพลาสติกและใช้พลาสติกมากที่สุด

ผลการสำรวจในอังกฤษพบครัวเรือนเททิ้งขยะพลาสติกซึ่งมีแหล่งที่มาคือร้านค้าซูเปอร์มาร์เก็ตกว่าครึ่งหนึ่งของปริมาณขยะพลาสติกทั้งหมด

สินค้าประเภทของสดที่วางขายในซูเปอร์มาร์เก็ต เช่น เนื้อหมูแพ็กใส่กล่องโฟม หุ้มด้วยฟิล์มพลาสติก หรือใช้ถาดพลาสติกสีดำ เป็นพลาสติกที่ไม่สามารถนำมารีไซเคิลได้ ทั้งๆ ที่ซูเปอร์มาร์เก็ตเหล่านี้สามารถเปลี่ยนแพ็กเกจจิ้งใหม่ใช้พลาสติกที่รีไซเคิลได้หรือลดปริมาณการใช้พลาสติกลง

ที่น่าแปลก ร้านค้าหรือซูเปอร์มาร์เก็ตในอังกฤษกลับเสียภาษีต่ำมากเมื่อเปรียบเทียบกับผู้เสียภาษีรายอื่นๆ

นักสิ่งแวดล้อมเลยตั้งข้อสงสัยว่าทำไมจึงแตกต่างจากฝรั่งเศสซึ่งออกกฎหมายจัดเก็บภาษีกับผู้ใช้ผลิตภัณฑ์ประเภทไม่สามารถรีไซเคิลสูงกว่าผู้ใช้ผลิตภัณฑ์รีไซเคิล

 

อย่างไรก็ตาม กระทรวงสิ่งแวดล้อม อาหารและกิจการชนบทของอังกฤษ หรือเดฟรา สั่งห้ามใช้เม็ดไมโครพลาสติก และปลายปีคาดว่าใช้มาตรการเก็บค่าถุงพลาสติกใบละ 5 เพนนี หรือราว 5 บาท

เดฟราเชื่อว่า จะทำให้ปริมาณถุงพลาสติกที่ใช้อยู่ในอังกฤษราว 9 พันล้านใบลดลงอย่างแน่นอน

สำหรับก้านพลาสติกที่ใช้ทำคอตตอนบัดนั้น ประเทศสกอตแลนด์ ประกาศห้ามขายและผลิตในสกอตแลนด์เมื่อเดือนมกราคมก่อนหน้าอังกฤษ

นอกจากนี้ อังกฤษเล็งเก็บภาษีถ้วยกาแฟที่ใช้แล้วทิ้งและเก็บค่ามัดจำขวดพลาสติกด้วย

มาตรการดังกล่าว แม้ยังไม่ประกาศใช้ แต่บริษัทห้างร้านใหญ่ๆ กว่า 40 แห่ง เช่น พร็อกเตอร์ แอนด์ แกมเบิล, โคคา-โคลา รวมทั้งร้านกาแฟดังๆ พร้อมร่วมผนึกกำลังกับรัฐบาลอังกฤษ เปลี่ยนวิธีคิดใหม่ๆ ในการใช้พลาสติกเพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

บ้านอื่นเมืองอื่นเขาเอาจริงเอาจังกับขยะพลาสติก ส่วนบ้านเราคลานต้วมเตี้ยม ณ ขณะนี้เพิ่งเริ่มต้นประกาศเลิกใช้พลาสติกหุ้มฝาขวด คงอีกนานกว่าเข้าสู่ขั้นประกาศเป็นสงครามขยะ