อุรุดา โควินท์ [ความทรงจำ] : ฤดูร้อนจะกลับมา

ฉันรอคอยฤดูร้อนเสมอ

ฉันหลงใหลระยิบระยับของประกายแดด

ฉันซุกหน้าลงในเสื้อผ้าที่เก็บมาจากราวเพื่อสูดกลิ่นแดด

ฉันคิดถึงแปลงกุหลาบหนูของพ่อ ซึ่งออกดอกท่วมต้น สีชมพู สีแดง สีขาว สีส้ม แตะแต้มลานหน้าบ้าน-นั่นหมายถึงฤดูร้อนมาถึงแล้ว

ฉันตื่นเช้าทุกวัน แม้ไม่ต้องไปโรงเรียน รีบอาบน้ำ วิ่งลงมาข้างล่าง ดูว่าวันนี้มีอะไรให้ทำบ้าง

ฉันไม่เรียนกวดวิชา ไม่ฝึกความสามารถพิเศษ

แน่นอน ฉันเต้นรำไม่เข้าจังหวะ เล่นดนตรีไม่ได้ เล่นกีฬาไม่เป็น ทั้งเรียนไม่เก่งนัก

ปิดเทอมคือการอยู่บ้าน ได้ทำสารพัดสิ่งซึ่งไม่ได้ทำตอนเปิดเทอม

 

ฉันรักทุกกิจกรรมในฤดูร้อน

งานที่แม่มอบหมายให้ ช่วยทำอาหาร กวาดบ้าน ถูบ้าน

หรืองานของพ่อ อย่างการโยกเครื่องให้ปุ๋ย เตรียมเครื่องปลูกต้นไม้ เปลี่ยนกระถาง

สนุกที่สุดคืองานของยาย เช่น ทำขนม หรือยัดหมอน

เราทำหมอนใช้เอง และมีอย่างเหลือเฝือ ยายเย็บปลอกหมอนเตรียมไว้

ท้ายที่ดินของตา มีต้นงิ้ว (นุ่น) เราช่วยเก็บฝักสีน้ำตาลมากองใต้ต้น ในฝักมีเมล็ดดำๆ ซึ่งต้องทิ้งให้หมด

ส่วนปุยนุ่นเนื้อนวลสีขาว เราใส่กระสอบเก็บไว้อย่างดี รอวันยายว่าง ยายจะชวนพวกเราปูเสื่อหลังบ้าน ช่วยกันยัดปุยนุ่นลงหมอนให้แน่น ก่อนสอยปิดด้วยมือ

ตอนยังเล็กมาก ฉันกับน้องช่วยยัดนุ่นลงหมอน ช่วยยายสอยเข็ม ครั้นเราโตพอที่จะจับเข็มอย่างมั่นคง ยายก็สอนให้เราสอย

ยายไม่เน้นความสวยงาม ขอให้หมอนปิดแน่น ใช้งานได้ ฉันจึงรู้สึก-เย็บผ้าเป็นเรื่องสนุก

ได้ไส้หมอนแล้ว ยายหาผ้าทำปลอกหมอน ปลอกหมอนของเรา ไม่ว่าหมอนหนุนหรือหมอนอิง ก็ไม่ต้องการซิป บางครั้งยายเย็บจักร บางวันยายเย็บมือ โดยมีฉันกับน้องป้วนเปี้ยนอยู่ใกล้ๆ (เผื่อยายอยากให้ช่วย)

เราจะรู้สึกเป็นผู้ใหญ่ หรืออย่างน้อยก็ใกล้เคียง ถ้าได้ทำอะไรกับตายาย กับพ่อแม่ และในฤดูร้อน มีเรื่องสนุกให้ทำมากมาย

 

พ่อแม่เป็นครู ทั้งบ้านจึงปิดเทอมพร้อมกัน ได้อยู่บ้านด้วยกัน ไม่ใช่แค่เรา ตากับยายเองก็รู้สึกคึกคักขึ้นในฤดูร้อน (ลูกหลานเยอะ บางทีสร้างความวุ่นวาย)

พ่อง่วนอยู่กับต้นไม้ บางวันพ่อให้ฉันช่วยทุบอิฐมอญแช่น้ำ เป็นเครื่องปลูกหน้าวัว พ่อชอบใช้อิฐเก่า ถ้ารู้ว่ามีคนทุบตึกหรือทุบกำแพง พ่อจะชวนฉันนั่งซาเล้งไปขนอิฐกลับบ้าน กองไว้ในโรงรถ กะเทาะเอาปูนที่ติดมาออก แล้วค่อยทุบเป็นก้อนเล็กแช่น้ำเตรียมปลูก

ตั้งแต่เป็นเด็ก ฉันปั่นซาเล้งได้ ฉันรู้จักวิธีปลูกต้นไม้ เข้าใจว่ามันต้องปรับเปลี่ยนโยกย้ายเพื่อจะเติบโต ฉันได้เรียนรู้-บางความสวยงามก็เกิดจากซากปรักหักพัง

ที่ฉันฉวยติดมือมาจากวัยเยาว์ ไม่ใช่สูตรเคมี ตารางธาตุ หรือการแก้สมการ แต่มันคือทักษะหลายชนิดและความเข้าใจ

จากการลงมือทำงานกับผู้ใหญ่ จากแดดอ่อนจางในยามเช้า เข้มข้นสุดยามเที่ยง

และไม่ว่าอย่างไร มันจะลาไปเมื่ออัสดง

 

ฉันรักฤดูร้อนเสมอ ต่อให้อากาศร้อนแค่ไหน

ราวกับไม้ดอก ฉันเฝ้ารอ…เมื่อไรหนอ แสงแดดจะส่องถึง

สำหรับฉัน ฤดูร้อนช่างแสนสั้น เดินทางมาเพื่อฤดูฝนอันเฉอะแฉะ และฤดูหนาวอันทึมเทา

ทั้งรู้ว่าปีหน้ายังมี แต่ฉันก็อาลัยอาวรณ์เมื่อโรงเรียนใกล้เปิด ไหนจะซื้อสมุดหนังสือ ตัดชุดใหม่ มอบตัว และอื่นๆ อีกมากมาย (ไม่สนุกเหมือนห่อขนมเทียน ทุบก้อนอิฐ หรือยัดหมอน)

แต่ฤดูร้อนย่อมกลับมา ฤดูซึ่งยามบ่าย หากไม่ได้ทำงาน

เราจะปูเสื่อใต้ต้นไม้ กินมะม่วงน้ำปลาหวานกัน

 

ตาปลูกมะม่วงแก้วไว้สองต้น ยายได้น้ำอ้อยใหม่จากเพื่อนบ้าน จัดการตำน้ำอ้อยจนละเอียด (หรือเป็นก้อนเล็กๆ) ใส่หม้อรอ หน้าที่หลักของฉันคือซอยหัวหอม ซอยให้มากที่สุด ยิ่งมากยิ่งอร่อย ยายเอาฮ้าแห้ง (ปลาร้าแห้งเสียบไม้) มาย่างไฟอ่อน คั่วพริกแห้งให้เกรียม สองอย่างนี้ตำละเอียด แถมยังมีกุ้งแห้งตำหยาบ

ตอนเด็กฉันไม่รู้หรอก ทำไมน้ำปลาหวานของยายจึงพิเศษนัก ตาสว่างเมื่อรู้จักทำกินเอง จะไม่อร่อยได้อย่างไร มีทั้งฮ้าแห้ง กะปิ และกุ้งแห้ง ใส่มากน้อยแล้วแต่ชอบ แต่เราต้องไม่ลืมว่ามันเค็ม หากใส่สามอย่างนี้เต็มอัตราศึก เราควรลดน้ำปลาลง

เริ่มจากเคี่ยวน้ำอ้อย เติมน้ำสะอาดนิดหน่อย น้ำปลา ตั้งไฟอ่อน คนไปเรื่อยๆ จนน้ำอ้อยละลาย รอให้เดือดปุดๆ ค่อยใส่ปลาร้าแห้งกับกุ้งแห้งลงไป พริกป่นนิดหน่อย และหอมแดงซอยเยอะๆ ไม่นานหอมแดงก็สุก ถ้าอยากได้แบบเหนียวหนืด ก็เคี่ยวต่ออีกหน่อย

ฉันไม่เคยลืม ยายบอกว่า เมื่อน้ำปลาหวานเย็นลง มันจะหนืดขึ้นเยอะ เป็นหน้าที่ของเรา ที่ต้องเผื่อใจและเวลาให้กับอุณหภูมิ

ถึงอย่างนั้นก็เถอะ ขึ้นชื่อว่าน้ำปลาหวานทำจากน้ำอ้อย ต่อให้เหนียวไปสักหน่อยก็อร่อยอยู่ดี จับคู่กับมะปรางได้ แต่ดีที่สุดคือมะม่วง

ฝานมะม่วงด้วยมีดสองคม จะได้มะม่วงชิ้นบาง (กินง่าย ไม่ทำร้ายฟัน) ตักน้ำปลาหวานคลุกให้ทั่วถึง ทิ้งไว้สัก 10 นาที เนื้อมะม่วงรวมทั้งความเปรี้ยวจะอ่อนโยนลง กินคำแรกตาสว่าง ชื่นใจ คำต่อไปย่อมตามมา กว่าจะรู้ตัวก็หมดชาม

ยายมักคลุกในชามโคม (ชามอ่างเล็ก) เราล้อมวงกินโดยมีช้อนคนละคัน มะม่วงไม่หมด ไม่มีใครวางช้อน

 

ฤดูร้อนปีนี้ ฉันทำน้ำปลาหวานกินกับมะม่วงแบบที่ยายทำ

แต่ตอนกิน ฉันแอบเพิ่มหัวหอมซอย และพริกขี้หนูซอย โรยหน้าแบบสด เพื่อสีสันสวยงาม และความจี๊ดจ๊าด

ตักใส่ถ้วยใบงาม ส่งให้เขาชิม

บอกเขาว่า นี่เป็นวิชาที่ฉันได้ตอนปิดเทอม สามสิบปีผ่านมาแล้ว

“เรียนภาคฤดูร้อนเหรอ” เขาถาม

ฉันอมยิ้ม “ก็ประมาณนั้นล่ะ”