เช็กชื่อกลุ่มการเมือง เป้าหมาย “พลังดูด” “เพื่อไทย-ปชป.” ยวบ

ปฏิบัติการ “ดูด” อดีต ส.ส. แกนนำกลุ่มการเมืองต่างๆ มาเป็นฐานสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในการสืบทอดอำนาจหลังการเลือกตั้ง มีความชัดเจนมากขึ้น

หลังการดึง นายสกลธี ภัททิยกุล อดีต ส.ส.กทม. พรรคประชาธิปัตย์ มารับตำแหน่งรองผู้ว่าฯ กทม.

ตามมาด้วยการแต่งตั้ง นายสนธยา คุณปลื้ม หัวหน้าพรรคพลังชล เป็นที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี อ้างว่าเพื่อเข้ามาช่วยขับเคลื่อนโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรืออีอีซี พร้อมกันนั้นยังแต่งตั้ง นายอิทธิพล คุณปลื้ม เป็นผู้ช่วยรัฐมนตรีการท่องเที่ยวและกีฬา

และที่ถูกจับตาว่าเป็นเป้าหมายต่อไปก็คือกลุ่มบุรีรัมย์ ตามที่ พล.อ.ประยุทธ์มีโปรแกรมนำคณะรัฐมนตรีสัญจร เดินทางไปเยือนถิ่นปราสาทสายฟ้า ฐานที่มั่นของพรรคภูมิใจไทย ระหว่างวันที่ 7-8 พฤษภาคมนี้

นอกจากพบปะประชาชน และตรวจเยี่ยมการเตรียมความพร้อมจัดแข่งขันจักรยานยนต์ระดับโลก ก็ต้องตามไปดู ระหว่างเจ้าของอำนาจผู้มาเยือนกับนักการเมืองเจ้าถิ่น จะมีวาระอื่นแอบแฝงด้วยหรือไม่

ฝ่ายรัฐบาล คสช. อ้างการสัญจรลงพื้นที่สุรินทร์-บุรีรัมย์ เป็นไปตามแผนงานที่กำหนดไว้ล่วงหน้า ก่อนเกิดกระแสดูดนักการเมือง นานนับเดือน

ถึงกระนั้นหลายคนก็มองในมุมกลับกันว่า แผนปูทางสืบทอดอำนาจก็ไม่ได้เพิ่งถูกกำหนดขึ้นแค่ในห้วงเวลา 2 หรือ 3 เดือนก่อนหน้านี้เช่นเดียวกัน

มีการประเมินไว้อย่างน้อยน่าจะถูกกำหนดขึ้นเมื่อ 3 ปีที่แล้ว ภายหลังการคว่ำร่างรัฐธรรมนูญฉบับ นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ เมื่อปี 2558 อันเป็นที่มาของวาทะลือลั่น “เพราะเขาอยากอยู่ยาว”

จากนั้น “จิ๊กซอว์”การเมืองก็ค่อยๆ ประกอบเข้าด้วยกันเป็นรูปร่างชัดเจนขึ้น

ไม่ว่ามองผ่านเนื้อหาในรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 หรือเนื้อหาในกฎหมายลูก 4 ฉบับในหมวดเลือกตั้ง การเลื่อนโรดแม็ปออกไปถึง 4 ครั้งในรอบ 4 ปี รวมถึงประกาศคำสั่ง คสช. 3-4 ฉบับที่มีเนื้อหาบ่อนทำลายพรรคการเมืองเดิม

ก่อนจบลงตรงการ “ดูด” นักการเมืองเข้าสังกัดตัวเอง

หลังปรากฏการณ์ที่สนามกอล์ฟ “นิกันติ” ในเดือนธันวาคม 2560

นักการเมืองตระกูล “สะสมทรัพย์” เจ้าของพื้นที่ จ.นครปฐม ได้รับการระบุว่าคือเป้าหมายหนึ่งในเกมดูด

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ตอกย้ำว่ารัฐบาล คสช. มีแผนที่จะดึงอดีต ส.ส. และนักการเมืองจากพรรคหรือกลุ่มต่างๆ เข้าร่วมอีกหลายคน โดยใช้เก้าอี้ผู้ช่วยรัฐมนตรีเป็นตัวล่อ

นอกจากกลุ่ม “สะสมทรัพย์” ที่เคยอยู่กับพรรคเพื่อไทย อดีต ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ก็เป็นเป้าหมายการติดต่อทาบทามของผู้มีอำนาจเช่นกัน

คำว่า “อีกหลายคน” จากพรรคหรือกลุ่มการเมืองอื่นๆ ที่มีแนวโน้มอาจจะไหลไปตาม “พลังดูด” ถึงแม้นายอภิสิทธิ์จะไม่ชี้ชัดตัวตนลงไป

แต่หากใครเกาะติดสถานการณ์การเมืองในช่วง 1-2 เดือนที่ผ่านมา ก็จะพบอดีต ส.ส. และนักการเมืองกลุ่มหนึ่ง มีความเคลื่อนไหวน่าจับตา ไม่ว่ากลุ่มวังน้ำยม กลุ่มบ้านริมน้ำ กลุ่มวาดะห์ กลุ่มนครปฐม กลุ่มสระบุรี กลุ่มราชบุรี กลุ่ม กทม. หรือแม้กระทั่งกลุ่ม กปปส.

โดยเฉพาะการที่นักการเมืองเหล่านั้น ไม่มายืนยันความเป็นสมาชิกกับพรรคต้นสังกัดเดิม ตามกำหนดเส้นตายวันที่ 30 เมษายนที่ผ่านมา ทำให้พ้นจากการเป็นสมาชิกพรรคไปโดยปริยาย

กระนั้นก็ตามการย้ายพรรคของบรรดาอดีต ส.ส. ต้องแยกออกเป็น 2 แบบ

แบบแรก คือ การย้ายไปเข้าสังกัดพรรคการเมืองอื่น ที่มีแนวคิดอุดมการณ์ทางการเมืองสอดคล้องตรงกันมากกว่าพรรคเดิมที่เคยอยู่ หรือการย้ายออกไปจัดตั้งพรรคขึ้นใหม่ ตามอุดมการณ์ของตัวเอง

กลุ่มนี้เนื่องจากมีจุดยืนของตัวเอง ไม่ไหลไปตามแรงดูด จึงมีความเป็นไปได้ที่จะได้รับแรงกดดันจากอำนาจรัฐในรูปแบบต่างๆ กัน รวมถึงการสกัดทุนท่อน้ำเลี้ยง

หากเป็นแบบที่สอง คือ การย้ายตาม “แรงดูด” ไปเข้ากับพรรคที่มีจุดยืนสนับสนุนหรือเป็นพันธมิตรกับรัฐบาล คสช. ก็จะได้รับการปฏิบัติจากอำนาจรัฐในทางตรงกันข้ามกลุ่มแรก ทั้งในเรื่องตำแหน่งหน้าที่และท่อน้ำเลี้ยง

นายวรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล อดีต ส.ส.แพร่ และ นายประยุทธ์ ศิริพานิชย์ อดีต ส.ส.มหาสารคาม อ้างว่า

กลุ่มผู้ถืออำนาจ มีความพยายามดึงตัวอดีต ส.ส.เหนือและอีสานของพรรคเพื่อไทยไปร่วมงาน โดยใช้เรื่องธุรกิจ คดีความและเงินเป็นเครื่องต่อรอง

ข้อมูลตรงกับที่นายอภิสิทธิ์ออกมาแฉ

“กลุ่มวาดะห์” ที่มี นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา เป็นแกนนำ ทั้งหมดเตรียมย้ายไปสังกัดพรรคประชาชาติ ที่ก่อตั้งขึ้นใหม่ ซึ่งผลจากการประกาศจุดยืนสนับสนุนประชาธิปไตย ไม่เอาเผด็จการ ทำให้กลุ่มถูกกดดันจากอำนาจรัฐอย่างหนัก

“กลุ่มวาดะห์ถูกกดดันก่อนใครเพื่อน มีการนำจุดตรวจจุดสกัดมาตั้งหน้าบ้านของนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา และนายอารีเพ็ญ อุตรสินธุ์ ตอนนี้ก็ยังมีอยู่” นายซูการ์โน มะทา อดีต ส.ส.ยะลา ระบุ

นายเผดิมชัย สะสมทรัพย์ แกนนำกลุ่มนครปฐม กล่าวว่า ตนเองจะอยู่หรือไม่อยู่ที่ไหนไม่ใช่สาระสำคัญ เพราะหากคณะกรรมการการเลือกตั้งประกาศให้มีการเลือกตั้งเมื่อไร ทุกคนก็สามารถไปอยู่พรรคไหนก็ได้

เป็นความชัดเจนในความไม่ชัดเจน

นอกจากนี้ ยังมีรายงานข่าว พ่อลูก “อดิเรกสาร” นายปองพล และ ร.ต.ปรพล เตรียมจัดทีมสระบุรีเข้าร่วมงานกับพรรคใหม่ ที่คาดว่าจัดตั้งขึ้นเพื่อสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

ขณะที่ “กลุ่มวังน้ำยม” ของ นายสมศักดิ์ เทพสุทิน เตรียมทิ้งพรรคเพื่อไทย แต่ยังไม่ชัดว่าจะไปตั้งพรรคใหม่ขึ้นเอง หรือไปเข้าสังกัดพรรคอื่น

ในส่วนพรรคประชาธิปัตย์ หลังจากกรณี นายสกลธี ภัททิยกุล ล่าสุด นายชื่นชอบ คงอุดม อดีต ส.ส.กทม. ก็ได้ยื่นลาออกไปช่วยนายชัชวาลย์ คงอุดม หรือ ชัช เตาปูน ผู้เป็นบิดา ทำพรรคพลังท้องถิ่นไทย

ข่าวระบุว่า นายชัชวาลย์มีความสนิทสนมกับรองนายกฯ “ดีลเมกเกอร์” ของรัฐบาล คสช.

นายธานี และ นายเชน เทือกสุบรรณ น้องชายนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ผู้นำกลุ่ม กปปส. ไม่มายืนยันความเป็นสมาชิกพรรค ขณะที่แกนนำ กปปส. คนอื่นๆ ที่พ้นจากสมาชิกเพราะไปบวช ก็ต้องรอดูว่าเมื่อถึงเวลา จะกลับมาสมัครใหม่หรือไม่

สําหรับพรรคภูมิใจไทยนอกจาก “กลุ่มบุรีรัมย์” ที่เก็บอาการไว้ได้มิดชิด

กลุ่มบ้านริมน้ำของ นายสุชาติ ตันเจริญ ก็ยังไม่เปิดเผยท่าทีชัดเจน แทงกั๊กรอ “ปลดล็อก” ในเดือนมิถุนายนก่อน จึงจะตัดสินใจอนาคตทางการเมือง

แต่ก็ยอมรับเคยพบปะพุดคุยกับ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ และสนับสนุนหาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะลงเล่นการเมืองตามระบอบประชาธิปไตยในการเลือกตั้งครั้งหน้า

ยังมี นายสัมพันธ์ เลิศนุวัฒน์ หัวหน้าพรรคพลังพลเมือง แหล่งรวมอดีตรัฐมนตรีและอดีต ส.ส. จากพรรคต่างๆ กว่า 30 คน ที่ต้องจับตาจุดยืนการเมืองว่าจะไปในทิศทางใด

“ยังไม่ขอระบุว่าจะสนับสนุนใครเป็นนายกรัฐมนตรี ขณะนี้ยังเร็วเกินไป แต่ไม่ขัดข้องที่จะสนับสนุนนายกรัฐมนตรีคนนอก เพราะถือว่าอยู่ในกติการัฐธรรมนูญ ซึ่งขณะนี้มีรายชื่ออยู่ในใจแล้ว” นายสัมพันธ์ระบุ

อย่างไรก็ตาม ภายหลังจาก พล.อ.ประยุทธ์กล่าวผ่านรายการคืนวันศุกร์ ว่า การดูดก็มีทุกพรรคการเมืองมายาวนานแล้ว เป็นครรลองของประชาธิปไตยของไทย

ทำให้หลายคนเชื่อว่านับจากนี้ไป “พลังดูด” จะทวีความรุนแรงขึ้น

แต่จะแรงถึงขั้นเป็นส่วนสำคัญในการผลักดันให้ พล.อ.ประยุทธ์ บรรลุเป้าหมายสูงสุดหลังการเลือกตั้ง หรือผลลัพธ์จะออกมาในทางตรงกันข้าม

เหมือนที่นักประชาธิปไตยหลายคนเชื่อมั่นในบทเรียนการเมืองช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา บ่งบอกไม่เคยมีเผด็จการคณะใดประสบความสำเร็จด้วยวิธีนี้

การเลือกตั้งจะเป็นคำตอบสุดท้ายชี้ให้เห็นว่า ถึงที่สุดแล้วก็จะดูดได้แต่เฉพาะนักการเมือง

ไม่สามารถดูดเสียงของประชาชนไปได้