มองบ้านมองเมือง/ปริญญา ตรีน้อยใส/สถาปัตยกรรมวันนี้

มองบ้านมองเมือง
ปริญญา ตรีน้อยใส

สถาปัตยกรรมวันนี้

แฟนานุแฟนมติชนสุดสัปดาห์คงสังเกตเห็นว่า รูปแบบอาคารสิ่งก่อสร้างที่พบเห็นบนถนนในเมืองไทยที่ก่อสร้างกันคนละเวลา คนละขนาด คนละราคา จะสอดแทรกปะปนสลับกันไปมา กลายเป็นความหลากหลายของบ้านเมือง ที่ต่างไปจากต่างประเทศที่มีการควบคุมดี อาคารเป็นระเบียบหรือเศรษฐกิจไม่ดี เลยไม่มีการสร้างอาคารใหม่ๆ
หากพิจารณาเฉพาะอาคารแต่ละประเภท จะเห็นว่าอาคารมีขนาดใหญ่ขึ้น
จากร้านค้าในตึกแถว มาเป็นศูนย์การค้าตึกแถว เมื่อยี่สิบสามสิบปีก่อน ปัจจุบันกลายเป็นศูนย์การค้าขนาดใหญ่ และขนาดกลาง รวมทั้งคอมมิวนิตี้มอลล์ขนาดเล็ก
จากสำนักงานหลังเล็กชั้นสองชั้น กลายเป็นอาคารแปดเก้าชั้นเมื่อนานมาแล้ว ทุกวันนี้ สำนักงานสูงระฟ้าติดกระจก ปรับอากาศทั้งอาคาร มีให้เห็นมากมาย
จากโรงแรมขนาดใหญ่ มีห้องอาหารและห้องประชุมจัดงานเลี้ยง มาเป็นโรงแรมขนาดกลาง ขนาดเล็กที่ไม่มีกิจกรรมอื่นๆ นอกจากที่พักนอน
ยังมีอาคารหลายกิจกรรม อย่าง อาคารเซ็นทรัลเวิลด์นั้น มีทั้งศูนย์การค้า โรงแรม ศูนย์ประชุม และสำนักงาน มีพื้นที่รวมกันเป็นหลายแสนตารางเมตร
จะมีไอคอนสยามที่ฝั่งธนบุรี จะมีกิจกรรมมากมายในพื้นที่เกือบล้านตารางเมตร หรือโครงการมหึมา เดอะวันแบงคอก ตรงข้ามสวนลุมพินี ก็จะมีพื้นที่มากเกินล้านตารางเมตร
เช่นเดียวกับโรงพยาบาล สถานศึกษา จากอาคารสูงสองสามชั้น มีสนามหญ้า ต้นไม้ร่มรื่น กลายเป็นอาคารขนาดใหญ่ สูงหลายชั้น สร้างเต็มพื้นที่ มีเพียงสนามหญ้าเทียมในอาคาร และไม้กระถางนับจำนวนได้

เมื่ออาคารมีพื้นที่ขนาดใหญ่ มีความสูงหลายชั้น มีการใช้สอยพื้นที่ปะปนต่างๆ กัน การออกแบบจึงยากขึ้น ทั้งทางด้านเทคนิค ไม่ว่าจะเป็นโครงสร้างความแข็งแรง ไปจนถึงระบบอาคาร ไม่ว่าจะเป็นไฟฟ้า ประปา การสื่อสาร น้ำเสีย ของเสีย ขยะ และสิ่งจำเป็นสำหรับบ้านเรา คือ เครื่องปรับอากาศ
แค่อาคารสำนักงานเอ็มไพร์ตรงสาทร ที่มีพื้นที่ถึงสองแสนตารางเมตร จัดเตรียมที่จอดรถไว้สี่พันคัน ก็นำมาซึ่งความโกลาหล ทั้งผู้คนและยานยนต์ตรงสี่แยกสาทร นราธิวาสฯ ทุกเช้าเย็น
อาคารหลังใหม่ของโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ที่มีขนาดสองแสนตารางเมตรเช่นกัน สามารถดูแลผู้ป่วยภายในได้ถึงสี่พันเตียง ยังไม่นับผู้ป่วยนอกอีกมาก เฉพาะลิฟต์โดยสารทั้งหมด 60 ตัว ก็ทำให้การสัญจรทางตั้งวุ่นวาย ไม่แพ้การสัญจรทางราบ ที่กลายเป็นเขาวงกตสำหรับคนไม่คุ้นเคย
เมื่อสถาปัตยกรรมมีขนาดใหญ่ สูงซับซ้อน ผู้ใช้อาคารจำนวนมาก ระบบอาคารซับซ้อนและมีรายละเอียดเทคนิคมาก ย่อมส่งผลให้การปฏิบัติวิชาชีพ การเรียนการสอนทางด้านสถาปัตยกรรมต้องแปรเปลี่ยนตามไปด้วย
อีกทั้งวิธีการทำงาน อุปกรณ์เครื่องไม้เครื่องมือก็เปลี่ยนไป

เด็กถาปัดได้สูญเสียเอกลักษณ์ การพกพาไม้บรรทัดที่ขนาดใหญ่และยาว กลายเป็นกระเป๋าใส่คอมพิวเตอร์พกพาเท่านั้น ยังไม่นับการเขียนแบบบนโต๊ะขนาดใหญ่ ที่ล้าสมัยไปเรียบร้อย
การพิมพ์แบบเพื่อใช้สั่งงาน ประสานงาน ติดตามงาน ดูจะไร้ความจำเป็น เมื่อทุกคนพร้อมที่จะติดต่อกันทางไอที และเก็บข้อมูลไว้กับคลาวด์
การนำเสนอผลงานด้วยกระดาษแผ่นใหญ่ระบายสีสวย แม้จะดูเหมือนจริงมาก แต่ก็สู้แบบเสมือน walk through ไม่ได้แน่นอน
แม้แต่ตำรา นิตยสาร เอกสารอ้างอิง ตำรา ที่เป็นรูปแบบกระดาษ ก็ย้ายไปอยู่ในคอมพิวเตอร์ การค้นหาอ้างอิงหรือคัดลอก จึงทำได้ง่ายดายและรวดเร็ว
ด้วยเหตุนี้ สถานที่ทำงานและโรงเรียนสถาปัตย์ จึงแปรเปลี่ยนไป เช่นเดียวกับสาขาอาชีพอื่น
กาลเวลาที่แปรเปลี่ยน ทำให้สถาปัตยกรรมแปรเปลี่ยนไป ทำให้การปฏิบัติวิชาชีพ และสำนักงานแปรเปลี่ยนไป ทำให้การเรียนการสอนและโรงเรียนเปลี่ยนไป ขึ้นอยู่กับตัวบุคคลเท่านั้น ว่าพร้อมจะปรับเปลี่ยนหรือไม่