นงนุช สิงหเดชะ / Deep Shift ใน ค.ศ.2025 การเปลี่ยนแปลงลึกล้ำยุค 4.0

บทความพิเศษ

นงนุช สิงหเดชะ

Deep Shift ใน ค.ศ.2025

การเปลี่ยนแปลงลึกล้ำยุค 4.0

ปฏิเสธไม่ได้ว่าโลกในยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมระลอกที่ 4 ที่เรากำลังอาศัยอยู่ในขณะนี้เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและใช้เวลาสั้นในการทำลายล้างสิ่งเก่าไปเกือบจะราบคาบ มากกว่าการปฏิวัติอุตสาหกรรมทั้ง 3 ครั้งที่ผ่านมา อันเนื่องมาจากอิทธิฤทธิ์ของสิ่งที่เรียกว่า “โมบายล์อินเตอร์เน็ต” หรืออินเตอร์เน็ตเคลื่อนที่ เมื่อมนุษย์สามารถประดิษฐ์อุปกรณ์เล็กจิ๋วศักยภาพสูงใส่กระเป๋าพกพาไปไหนต่อไหนได้อย่างโทรศัพท์สมาร์ตโฟนแล้วสามารถเชื่อมโยงกับอินเตอร์เน็ตได้
การปฏิวัติอุตสาหกรรมยุคที่ 1 เริ่มจาก ค.ศ.1760 ถึงประมาณปี ค.ศ.1840 ซึ่งเริ่มขึ้นเมื่อมนุษย์สามารถสร้างทางรถไฟ และประดิษฐ์เครื่องจักรไอน้ำ ทำให้มีการผลิตเครื่องจักรเกิดขึ้น
จากนั้นมาถึงการปฏิวัติอุตสาหกรรมยุคที่ 2 เริ่มปลายศตวรรษที่ 19 ไปถึงต้นศตวรรษที่ 20 ยุคนี้มนุษย์สามารถผลิตกระแสไฟฟ้ามาใช้ ทำให้สามารถผลิตสิ่งของคราวละมากๆ ได้ ผลก็คือต้นทุนการผลิตต่อหน่วยลดลง
ส่วนยุคที่ 3 เริ่มในทศวรรษ 1960 โดยปกติแล้วเรียกว่าการปฏิวัติคอมพิวเตอร์หรือดิจิตอล ยุคนี้เริ่มขึ้นหลังจากมีการพัฒนาเซมิคอนดักเตอร์ คอมพิวเตอร์เมนเฟรม คอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลและอินเตอร์เน็ต
การปฏิวัติยุคที่ 4 เริ่มในต้นศตวรรษที่ 21 เรียกว่าการปฏิวัติดิจิตอล เป็นการต่อยอดมาจากยุคที่ 3 โดยได้แรงผลักดันจากการแพร่หลายไปทุกหนแห่งของโมบายล์อินเตอร์เน็ต ซึ่งผู้เชี่ยวชาญบางคนเรียกว่ายุคเครื่องจักรครั้งที่ 2 ซึ่งจะมีการใช้ระบบอัตโนมัติเต็มที่ มีการทำสิ่งต่างๆ ที่ไม่เคยทำมาก่อน

เวิลด์อีโคโนมิกฟอรั่ม หรือสภาเศรษฐกิจโลก ได้จัดทำผลสำรวจไว้เมื่อ 3 ปีที่แล้ว ชื่อ Deep Shift-Technology Tipping Points and Social Impact ซึ่งเป็นการสอบถามความคิดเห็นของผู้เชี่ยวชาญและผู้นำทางธุรกิจทั่วโลกว่า พวกเขาคิดว่าเทคโนโลยีจะทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงอย่างลึกล้ำในอนาคตอย่างไรบ้าง และความเปลี่ยนแปลงดังว่านั้นจะเกิดขึ้นเมื่อใดในระดับที่มีนัยสำคัญอย่างมากต่อทั้งปัจเจกบุคคล องค์กร รัฐบาลและสังคม
จากผลสำรวจนี้ผู้เชี่ยวชาญคิดว่ามี 21 ความเปลี่ยนแปลงที่คาดว่าจะเกิดใน ค.ศ.2025 ซึ่งความเปลี่ยนแปลงดังกล่าวนี้หลายอย่างก็ได้เกิดขึ้นแล้วในระดับหนึ่ง
เพียงแต่ในปี 2025 นั้นจะเปลี่ยนแปลงในระดับที่ส่งผลกระทบสำคัญ อาทิ

1.โทรศัพท์เคลื่อนที่ขนาดเล็กที่ฝังในตัวมนุษย์ได้จะมีจำหน่ายเชิงพาณิชย์เป็นครั้งแรก มนุษย์จะเชื่อมโยงกับอุปกรณ์เทคโนโลยีมากขึ้น ก้าวจากการสวมใส่ไปสู่การฝังในตัวมนุษย์ ข้อดีก็อย่างเช่น ถ้าฝังในตัวเด็กเล็ก ก็ทำให้ลดปัญหาเด็กหลงหรือพลัดหาย ช่วยตรวจสอบติดตามอาการป่วยของร่างกายและรายงานข้อมูลไปยังศูนย์การแพทย์ ช่วยสื่อสารความคิดของเราโดยไม่ต้องพูด แต่สื่อสารผ่านการอ่านคลื่นสมองและสัญญาณต่างๆ
2. ราว 10% ของแว่นตาที่เราสวมใส่จะเชื่อมโยงกับอินเตอร์เน็ตได้ (ปัจจุบันมีกูเกิล กลาสแล้ว) ข้อดีก็อย่างเช่น ช่วยให้เรารับข้อมูลได้ทันทีเพื่อประกอบการตัดสินใจอย่างใดอย่างหนึ่ง ทำให้ทำงานได้เร็วและมีประสิทธิภาพมากขึ้น
3. อินเตอร์เน็ตเป็นสิ่งที่สามารถสวมใส่ได้ ประเมินว่าเสื้อผ้าที่มนุษย์สวมใส่ 10% จะสามารถเชื่อมต่อกับอินเตอร์เน็ตได้
4. ประชากรโลกราว 90% จะมีอินเตอร์เน็ตใช้หรือเข้าถึงอินเตอร์เน็ต ทำให้ประชากรที่ด้อยโอกาสสามารถเข้ามามีส่วนร่วมในเศรษฐกิจ และยังเข้าถึงการศึกษาและรักษาพยาบาล เข้าถึงรัฐบาล
5. ประมาณ 90% ของประชากรโลกจะมีโทรศัพท์มือถือสมาร์ตโฟนใช้ หรือเรียกอีกอย่างว่าเกือบทุกคนจะมีซูเปอร์คอมพิวเตอร์พกอยู่ในกระเป๋า

6.อินเตอร์เน็ตในทุกสรรพสิ่ง (Internet of Things and for Things) ความสามารถของคอมพิวเตอร์ที่มากขึ้นประกอบกับราคาฮาร์ดแวร์ที่ถูกลง มีความเป็นไปได้ในเชิงพาณิชย์ที่ทุกอย่างจะสามารถเชื่อมต่อกับอินเตอร์เน็ตได้ ทำให้สื่อสารได้ดียิ่งขึ้น ทำให้การบริการโดยอาศัยการวิเคราะห์ข้อมูลทำได้ดียิ่งขึ้น
7. เมืองอัจฉริยะที่มีคนอาศัยอยู่เกิน 50,000 คนจะเกิดขึ้นเป็นครั้งแรกและไม่ต้องมีสัญญาณไฟจราจร เพราะจะมีการเชื่อมบริการต่างๆ สาธารณูปโภค ถนนเข้ากับอินเตอร์เน็ตและบริหารจัดการสิ่งเหล่านี้ผ่านอินเตอร์เน็ต
8. รถยนต์บนท้องถนนในสหรัฐประมาณ 10% จะเป็นรถยนต์ไร้คนขับ
9. ปัญญาประดิษฐ์หรือ AI จะได้เข้าไปนั่งอยู่ในคณะกรรมการบริหารของบริษัทเป็นครั้งแรก ข้อดีคือมันทำให้บริษัทตัดสินใจอย่างมีเหตุผลอยู่บนฐานของข้อมูล มีอคติน้อยลง แต่ข้อเสียคือใครจะเป็นผู้รับผิดชอบเมื่อเกิดปัญหา เช่น ปัญหาข้อกฎหมาย
10. ยุคหุ่นยนต์กับงานบริการ สหรัฐจะมีหุ่นยนต์เป็นเภสัชกรรายแรก ทราบกันมาพอสมควรแล้วว่าหุ่นยนต์กำลังมาแทนที่งานหลายอย่าง ตั้งแต่ภาคการผลิต การเกษตร ไปจนถึงค้าปลีกและบริการ แต่เมื่อถึงปี ค.ศ.2025 หุ่นยนต์ก็จะก้าวล้ำไปเป็นเภสัชกร ไม่ใช่แค่เสิร์ฟอาหารหรือดูแลคนป่วย

11.บทบาทของบิตคอยน์และบล็อกเชน ประเมินว่า 10% ของจีดีพีโลกจะถูกจัดเก็บไว้ในเทคโนโลยีบล็อกเชน จากปัจจุบัน 0.025%
12. รัฐบาลจะเก็บภาษีผ่านเทคโนโลยีบล็อกเชนเป็นครั้งแรก
13. ระบบพิมพ์ 3 มิติในภาคการผลิต เทคโนโลยีพิมพ์ 3 มิติ (3D printing) จะสามารถผลิตสิ่งของที่ซับซ้อนได้มากขึ้น คาดว่าในปี 2025 จะมีรถยนต์คันแรกที่ผลิตด้วยระบบพิมพ์ 3 มิติ
14. สินค้าบริโภคจะผลิตด้วยระบบพิมพ์ 3 มิติ ประเมินว่าในปี ค.ศ.2025 สินค้าบริโภคราว 5% จะถูกผลิตด้วยระบบพิมพ์ 3 มิติ

นี่เป็นเพียงตัวอย่างที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในปี ค.ศ.2025 ซึ่งเป็นโจทย์ท้าทายให้ทุกฝ่ายตั้งรับให้ทันแต่เนิ่นๆ ทั้งในระดับปัจเจกบุคคล องค์กร รัฐบาลและสังคม
ในระดับปัจเจกบุคคลซึ่งจะต้องได้รับผลกระทบจากการตกงานเพราะมีหุ่นยนต์และ AI มาแทนที่ ก็จะต้องพัฒนาทักษะทางเทคโนโลยี
ขณะเดียวกันนายจ้างที่เป็นองค์กร-บริษัทต่างๆ ตลอดจนระดับรัฐบาลต้องคิดหาทางติดอาวุธทักษะเทคโนโลยีให้กับพนักงานและประชาชนเพื่อจะสามารถปรับตัวเพื่อเปลี่ยนผ่านไปสู่โลก 4.0 ได้แต่เนิ่นๆ โดยไม่ก่อให้เกิดความโกลาหลและปัญหาในสังคมมากเกินไปอันเนื่องจากความเหลื่อมล้ำแตกต่างในความรู้ด้านเทคโนโลยี ที่สุดท้ายจะนำมาซึ่งปัญหาความเหลื่อมล้ำด้านเศรษฐกิจ
นอกจากนี้ ในแง่ของกฎหมายก็ต้องมีการแก้ไขเพื่อรับมือการเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วของโลกยุคดิจิตอล เช่น กฎหมายควบคุมดูแลเงินดิจิตอล