คนกบฏจากคัมรานห์ “เลดี้กาก้าแห่งเวียดนาม” ที่ขยับห่างจากตัวตนมาไกล

AFP STORY US-VIETNAM-DIPLOMACY-SECURITY-RIGHTS,FOCUS BY JEROME TAYLOR

กบฏ ในทางหนึ่งคือผู้กระทำผิดกฎหมาย ถูกชี้ขาดว่าดำเนินความพยายามเพื่อล้มล้างรัฐ หรือชาติ

ในอีกทางหนึ่ง กบฏ คือใครก็ตามที่ปฏิเสธประเพณีนิยมที่ยึดถือกันมาจนจำเจทั้งหลาย คิดใหม่ทลายกรอบจำกัด มุ่งหน้าหาอีกเส้นทาง คลายความซ้ำซากตีบตัน

เช่นนี้ นักคิด นักเขียน ก็เป็นกบฏได้ นักร้องก็ย่อมเป็นกบฏได้เช่นเดียวกัน

คนกบฏพบเห็นได้ทั่วไป มีมากมายในหลากหลายสังคม ยิ่งขนบดำเนินมายาวนาน ยิ่งเคร่งครัดมากเท่าใด ยิ่งเกิดคนกบฏได้มากขึ้นเท่านั้น

มีบ้าง ที่ได้รับการยอมรับกลายเป็นคุณูปการของสังคม ของชาติ เป็นผู้บุกเบิก ขยับขยายเส้นทางดุ่มเดินไปข้างหน้าของผู้คนให้กว้างขึ้น หลากหลายขึ้น ไม่เรียวเล็กลงตามกาลเวลา

มีไม่น้อยเช่นกันที่ลงเอยด้วยการตกเป็นจำเลยสังคม จำเลยประเทศชาติในข้อหากบฏ

“ไม คอย” อายุ 33 ปี เป็นนักร้อง เขียนเพลง ร้องเพลง และเป็นกบฏ

ดนตรีกับวิธีคิดต่างติดตัว ไม คอย มาตั้งแต่อ้อนแต่ออก เธอเกิดและเติบโตที่ คัมรานห์ เมืองชายทะเลตอนกลางของทางใต้เวียดนาม บิดาเป็นครูดนตรีผู้ปลูกฝังให้ลูกเล่นทั้งกีตาร์และคีย์บอร์ดตั้งแต่ยังเด็ก

อายุเพียง 12 ขวบ ไม คอย ก็แสดงให้เห็นถึงพรสวรรค์ ด้วยการตระเวนเล่นเปียโนกล่อมเจ้าบ่าวเจ้าสาวในพิธีแต่งงานแล้ว

ในเวลาเดียวกับที่ “ก่อเรื่องในโรงเรียนไม่หยุด” แต่ก็ได้รับเลือกให้เป็น “หัวหน้าชั้น” และ “เป็นจุดสนใจอยู่บ่อยๆ” ทั้งจากครูและเพื่อนๆ

อายุ 18 เธอทิ้งบ้านเกิดมุ่งหน้าสู่เมืองใหญ่อย่าง โฮจิมินห์ ซิตี้ เพื่อยึดอาชีพนักร้องเต็มตัว

ออกอัลบั้มแรกเมื่อปี 2004 ก่อนที่จะโด่งดังสุดขีดเมื่อ “เวียดนามทีวี” เลือกอัลบั้ม “เมด อิน ไมคอย” และซิงเกิล “เวียดนาม” เป็นอัลบั้มและเพลงยอดเยี่ยมประจำปี 2010 ตามลำดับ

“เวียดนาม” เพลงโฟล์กที่เนื้อหาชื่นชมความหลากหลายและโอบอ้อมอารีของผู้คนในประเทศฮิตไปทั่วแผ่นดิน ชนิดทำให้รัฐบาลฮานอยตัดสินใจเลือกเป็นเพลงส่งเสริมการท่องเที่ยวในเวลาต่อมา

“คนเวียดนามภาคภูมิใจกับประเทศตัวเองมาก ทำไมก็ไม่รู้” ฟังเพลงนี้กันไม่เบื่อ เลยต้องร้องกันตลอดเวลา เธอเล่ากลั้วหัวเราะ

เพราะรู้ว่าอีกไม่นานรัฐบาลก็ตระหนักว่าเลือกคนผิด

อัลบั้ม อีเล็กโทร-ป็อป “เซลฟี ออร์แกสม์” ออกมาในปี 2014 แสดงตัวตนกบฏออกมาอย่างชัดเจน ไม่เพียงเนื้อหาจะแดกดันอาการ “หลงรูปหลงเงา” ตัวเองของผู้คนยุคดิจิตอลเท่านั้น ไม คอย ยังปรากฏโฉมในมิวสิกวิดีโอเพลงเดียวกับชื่ออัลบั้มในสภาพย้อมผมสีช็อกกิ้ง พิงก์ โยก คลึง ยักย้ายสุดขีดชนิดได้รับเสียงวิจารณ์ตามมาว่า “ไม่เหมาะ” บ้าง “ไม่เป็นผู้หญิง” บ้าง

ไม คอย บอกว่าเธอเป็นคนแรกที่ผสมเลกกิ้งเข้ากับอ๋าวหญ่ายบวกกับผ้าพันคอสีสดและ…เลิกสวมบรา

“คนพูดถึงเยอะ วิจารณ์กันขรม” แต่ก็เปลี่ยนมุมมองแฟชั่นของคนหลายคน และเธอย้ำเอาไว้ว่าเป็นส่วนหนึ่งในการแสดงตนเป็นตัวแทนของ “ผู้หญิงเวียดนามยุคใหม่”

“ถ้าไปปรากฏตัว ก็มักแต่งตัวในแบบที่แสดงออกถึงเสรี โดยเฉพาะเสรีภาพในการแสดงออก” ด้วยความเชื่อว่าทั้งหมดนั้นจะประทับอยู่ในใจของผู้คน ไม่ว่าจะถูกวิพากษ์วิจารณ์มากมายเพียงใดก็ตาม

“ถ้ามีแต่คำชมทุกวัน เบื่อตายเลย”
การแสดงออกผ่านดนตรีของ ไม คอย เติบใหญ่ขยายตัวออกไปตลอดเวลา ก้าวข้ามผ่านความรักกับเซ็กซ์ได้อย่างงดงาม เหยียบย่างสู่ความหวังในอุดมคติ และในที่สุดก็กลายเป็นเครื่องสะท้อน “ความเจ็บปวดร่วม” ของผู้คนในสังคม ที่เธอบอกว่า เติมเต็มจิตวิญญาณให้อุดมขึ้นในทุกๆ ประสบการณ์ชีวิตที่ผ่านไป

จาก “เซลฟี ออร์แกสม์” และ “ไซง่อน บูม บูม” กลายเป็น “วี ดอนต์ วอนต์ ทู คีพ ไซเลนซ์”

จาก อีเล็กโทร-ป็อป สำหรับปาร์ตีดิ้นสะบัด กลายเป็น โฟล์ก และบลูส์ เรียบง่ายแต่เนื้อหาลึกซึ้ง ดื้อดึง ต่อสู้ไม่ยอมรามือ

เจ้าของฉายา “เลดี้กาก้าแห่งเวียดนาม” ขยับห่างจากตัวตนดั้งเดิมไกลมาก เมื่อร่วมเข้าชื่อกับ 162 คนกบฏ ร้องขอลงสมัครเลือกตั้ง “อิสระ” ไม่สังกัดพรรคคอมมิวนิสต์เมื่อต้นปีที่ผ่านมา เพื่อประท้วงกระบวนการคัดสรรโดยองค์กรพรรคที่เรียกว่า “แนวร่วมแห่งปิตุภูมิ” ผู้ทำหน้าที่คัดสรรผู้สมัครอิสระ คัดจนเหลือเพียง 11 รายเท่านั้น น้อยที่สุดในรอบเกือบ 20 ปี

แน่นอน เธอถูกปฏิเสธเหมือนๆ กับพวกอีกกว่าร้อย แต่ที่ต่างออกไปสำหรับ ไม คอย ก็คือ ตำรวจเริ่มบุกเข้าไปล้มคอนเสิร์ตของเธอกลางคัน แถมยัง “แบน” กำหนดการแสดงถัดไปอีกด้วย เมื่อพฤษภาคมที่ผ่านมา

ไม คอย ไม่ยี่หระ เธอยังเขียนเพลง ร้องเพลงของเธออย่างต่อเนื่อง ไม่มีคอนเสิร์ต ก็แสดงสดผ่าน “เฟซบุ๊กไลฟ์” ให้แฟนๆ รับชมกันทุกสัปดาห์

เธอเชื่อว่า รัฐบาลรู้ดีว่าประชาชนยิ่งนับวันยิ่งแข็งแกร่งขึ้นเรื่อยๆ

“ทุกวันนี้คนหนุ่มสาวเลิกไว้วางใจรัฐบาลไปแล้ว” ไม คอย ย้ำไว้ชัดเจนยิ่ง!