เกษียร เตชะพีระ : อ่านสี่ทศวรรษสัมพันธ์ไทย-จีน “ช่วงวิกฤตต้มยำกุ้ง”

เกษียร เตชะพีระ

อ่านสี่ทศวรรษสัมพันธ์ไทย-จีน (5) : ยุค 2 ค.ศ.1990-2000

เรื่องหลักในความสัมพันธ์ไทย-จีนยุค 2 ช่วงปลาย (ค.ศ.1997-2000) ย่อมหนีไม่พ้นวิกฤตต้มยำกุ้งที่ปะทุขึ้นในเมืองไทยแล้วแผ่ขยายไปเป็นวิกฤตเศรษฐกิจเอเชียตะวันออก และบทบาทของสหรัฐและจีนต่อไทยในเหตุการณ์นี้

สหรัฐกลับมาไทย (หลังถอนตัวไปหลังแพ้สงครามเวียดนาม) ช่วงวิกฤตต้มยำกุ้งในฐานะมหาอำนาจนำโลกาภิวัตน์

วิทยานิพนธ์ของคุณเจษฎาพัญเล่าเรื่องวิกฤตต้มยำกุ้งไว้ได้ดีในแง่ผลโดยรวมของมัน (น.179-180, 208-210) แต่ส่วนที่ขาดหายและน่าเสียดายคือดราม่าทางการเมืองของมัน ซึ่งแหลมคม บาดใจ สะท้อนดุลอำนาจที่พลิกเปลี่ยน และท่าทีเหยียดหยามต่อไทยของอเมริกัน-IMF ได้ชัดเจนมาก

วิกฤตเศรษฐกิจ พ.ศ.2540 ในประเทศไทยจุดปะทุให้ค่าเงินบาทตกฮวบ ระบบการเงินพังทลาย เศรษฐกิจหดตัวและถดถอยหนัก ธุรกิจพากันล้มละลายและคนตกงานกว้างขวาง คนจนหน้าใหม่เพิ่มขึ้น ต้องมีการเลหลังขายสินทรัพย์ให้นายทุนต่างชาติโดยเฉพาะกลุ่มทุนการเงินใหญ่อเมริกันใน ราคาถูก จนวิกฤตติดต่อลุกลามไปทั่วภูมิภาคเอเชียตะวันออก ฯลฯ

จีดีพี (ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ) ของไทยหดตัวรุนแรงถึง 10.8% ในปี พ.ศ.2541

บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยจำนวน 100 แห่งหรือกว่าหนึ่งในสี่ของทั้งหมดถูกเพิกถอนหลักทรัพย์จดทะเบียน โดยที่กึ่งหนึ่งเนื่องจากประสบภาวะล้มละลายหรือกิจการล่มจมไป กลุ่มธุรกิจสุดยอดของไทยก่อนเกิดวิกฤตราวหนึ่งในสี่ (7 ใน 30 กลุ่มธุรกิจสุดยอด และกว่า 50 ใน 220 กลุ่มธุรกิจสุดยอด) มีอันล่มสลายไปหรือไม่ก็หดตัวอย่างหนัก

คนงานตกงานราว 1 ล้านคน และผู้คนราว 3 ล้านคนมีฐานะตกต่ำลงไปอยู่ใต้เส้นยากจน

ถึงแก่เจ้าสัว ชาตรี โสภณพนิช ประธานกรรมการบริหารธนาคารกรุงเทพสมัยนั้น ออกปากปรารภว่า “วิกฤตการณ์ครั้งนี้ทำให้มีเจ้าสัวไทยหายไป 65% และยุคนี้ไม่มีอีกแล้วเจ้าสัว มีแต่เจ้าสัวเยสเตอร์เดย์”

บริษัทธุรกิจหลายพันแห่งล้มพับไปและธนาคารพาณิชย์ก่อนวิกฤตถึง 2 ใน 3 ของทั้งหมดมีอันล้มลงหรือไม่ก็เปลี่ยนมือผู้ถือหุ้นใหญ่และผู้บริหาร

ภาพที่เหมือนเป็นสัญลักษณ์ตัวแทนความตกต่ำของรัฐชาติอำนาจนิยมเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจในเอเชียอาคเนย์เบื้องหน้าอำนาจองค์การโลกาภิบาลตะวันตกย่อมได้แก่ภาพประธานาธิบดีซูฮาร์โตค้อมตัวลงเซ็นข้อตกลงรับเงื่อนไขเงินกู้เพื่อกอบกู้เศรษฐกิจจาก IMF ขณะ มิเชล กัมเดอซูส์ ผู้อำนวยการบริหาร IMF ยืนกอดอกมองดูอยู่เมื่อวันที่ 15 มกราคม ค.ศ.1998

ในทำนองเดียวกัน นายทุนไทยเชื้อสายจีนทั้งหลายพากันโทษว่าเงื่อนไขเงินกู้ช่วยเหลือที่ IMF ยัดเยียดให้ไทยภายใต้การนำของสหรัฐยิ่งซ้ำเติมวิกฤตที่หนักหน่วงอยู่แล้วให้สาหัสสากรรจ์ยิ่งขึ้น

เงื่อนไขดังกล่าวกำหนดให้ไทยเปิดเศรษฐกิจเสรีและโอนกิจการของรัฐไปเป็นของเอกชนเพิ่มขึ้นอีก ให้ดำเนินนโยบายการเงินการคลังแบบหดตัว (รัดเข็มขัดทางการคลังและขึ้นอัตราดอกเบี้ยสูงลิบ) ฯลฯ

เหล่านี้นำไปสู่ภาวะเงินฝืดอย่างหนัก เศรษฐกิจหดตัวรุนแรงเข้าไปอีก ส่งผลให้ธุรกิจของเจ้าสัวทั้งหลายไม่ว่าระดับยักษ์ใหญ่ กลางหรือเล็กต้องปรับตัวรีดเค้นไขมันและเชือดเนื้อเถือหนังทิ้งอย่างเจ็บปวดเพื่อเป็นไปตามตรรกะ “การทำลายอย่างสร้างสรรค์” (creative destruction) ของตลาดทุนนิยมเสรี

กล่าวคือ บีบเค้นล้างผลาญให้ธุรกิจที่ด้อยประสิทธิภาพล้มหายตายจากไปเสีย จะได้เปิดพื้นที่ช่องทางให้ธุรกิจใหม่ที่มีประสิทธิภาพสูงกว่าสร้างตัวขึ้นแทน

ดร.วีรพงษ์ รามางกูร นักเศรษฐศาสตร์และเทคโนแครตชั้นนำ ผู้ถูกรัฐบาลของนายกฯ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ ขอให้มาเป็นรองนายกรัฐมนตรีเพื่อช่วยกอบกู้เศรษฐกิจในยามคับขันหน้าสิ่วหน้าขวานสมัยนั้น ได้บันทึกการเผชิญหน้ากับ ดร.สแตนลี่ ฟิชเชอร์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ของ IMF ไว้ด้วยความเศร้าใจว่า :

“เมื่อตอนที่เรากำลังเจรจาทำข้อตกลงเงื่อนไขฉบับแรกกับไอเอ็มเอฟ ผมได้รับแต่งตั้งให้เป็นรองนายกรัฐมนตรี วันหนึ่ง ดร.สแตนลี่ ฟิชเชอร์ บินมาเมืองไทย ขอเชิญผมกับผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยไปรับประทานอาหารเช้ากับเขาที่โรงแรมโอเรียนเต็ล ผมบอกเขาว่าเมื่อเจ้าหน้าที่ที่เจรจาเงื่อนไขทั้งสองฝ่ายทำข้อตกลงแล้ว เราสองคนซึ่งก็เคยเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยทั้งคู่ เพราะ ดร.ฟิชเชอร์ เคยเป็นอาจารย์สอนวิชาเศรษฐศาสตร์ที่สถาบันเทคโนโลยีแห่งแมสซาชูเซตส์ หรือ MIT เราควรจะมาตรวจดูเหมือนกับการตรวจวิทยานิพนธ์แล้วปรึกษากันว่าเงื่อนไขที่จะใส่ในหนังสือแสดงความจำนงนั้นจะถูกต้องเหมาะสมหรือไม่ ยาที่ใช้จะถูกกับโรคหรือไม่

ดร.วีรพงษ์ รามางกูร อดีตรองนายกรัฐมนตรี

“เขาตอบผมว่าเขาไม่มีเวลาดูหรอกเพราะเขาไม่มีเวลา เขาต้องดูแลประเทศต่างๆ ทั่วโลก ขอให้เชื่อ นายฮูแบร็ต ไนส์ ผู้อำนวยการฝ่ายเอเชียและแปซิฟิกของไอเอ็มเอฟ เพราะเคยให้ยากับประเทศต่างๆ มาทั่วโลกแล้ว ผมแย้งว่า “ประเทศต่างๆ มีโครงสร้างเศรษฐกิจและวัฒนธรรมทางเศรษฐกิจต่างกัน จะใช้ยาขนานเดียวกันทั่วโลกได้อย่างไร” เขาตอบว่า “ไม่เป็นไร ยาขนานเดียวใช้ได้หมด” ผมเดินออกมาอย่างเศร้าใจกับวิธีทำงานของ ดร.ฟิชเชอร์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ของไอเอ็มเอฟ”

(คอลัมน์ คนเดินตรอก, ประชาชาติธุรกิจ, 12 กรกฎาคม 2547, น.2)

เหล่านี้ทำให้ผู้นำการเมืองและธุรกิจไทยเจ็บช้ำน้ำใจมากเพราะรู้สึกว่าทั้งที่ไทยเคยเป็นพันธมิตรร่วมรบกับสหรัฐต่อต้านคอมมิวนิสต์อินโดจีนและจีนแดงสมัยสงครามเวียดนาม/สงครามเย็นมาด้วยกัน แล้วสหรัฐตัดช่องน้อยแต่พอตัวทิ้งไทยหนีกลับไป

แต่พอไทยตกทุกข์ได้ยากทางเศรษฐกิจตอนนี้ สหรัฐไม่เพียงไม่ช่วย กลับฉวยโอกาสตั้งเงื่อนไขบีบรัดซ้ำเติมผ่าน IMF เพื่อให้ทุนการเงินวอลล์สตรีตเข้ากว้านซื้อสินทรัพย์ของธุรกิจการเงินการธนาคารที่ล้มละลายของไทยไปในราคาถูก

สภาคองเกรสไม่อนุมัติเงินช่วยเหลือไทย แต่กลับไปช่วยเม็กซิโกและปากีสถาน โดยอ้างว่าเม็กซิโกมีชายแดนติดอเมริกัน แต่ไทยไม่อยู่ติดอเมริกา (Benjamin Zawacki, pp. 91-93)

ในที่สุด มันจึงนำไปสู่ปฏิกิริยาชาตินิยมต่อต้านโลกาภิวัตน์ตะวันตก/อเมริกันยั่งยืนยืดเยื้อต่อมา ทำให้ไทยหันไปหาตะวันออกโดยเฉพาะจีนแทน (ผีหรืออาการเข็ดเขี้ยวแค้นค้างจากท่าทีอเมริกัน/IMF ปี ค.ศ.1997 ยังตามไปหลอกหลอนฝ่ายไทยสมัยรัฐบาลทักษิณจนส่งอิทธิพลส่วนหนึ่งให้การเจรจาเขตการค้าเสรี FTA ไทย-สหรัฐ ติดขัดล้มเหลวลง BZ, p.156, 157, 158)

จีนช่วยไทยอย่างน่าประทับใจตอนวิกฤตต้มยำกุ้ง แต่จีนเองก็ได้ประโยชน์ด้วย

ข้อมูลเรื่องท่าทีของจีนที่เป็นมิตรแท้เต็มใจเอื้อเฟื้อช่วยเหลือไทยในยามวิกฤตเศรษฐกิจอย่างฉับพลันทันทีไม่อิดเอื้อนเป็นประเทศแรก (กลับตาลปัตรกับสหรัฐ) ทำให้เป็นที่ประทับใจของผู้นำไทยสมัยนั้นมาก (ทั้งนายกฯ ชวลิตและนายกฯ ชวน) และส่งผลกระทบเก็บคะแนนได้ใจไทยไปเต็มๆ อย่างยืนนาน (ตรงกันทั้งงานของ BZ, pp. 93-94 และวิทยานิพนธ์ของเจษฎาพัญ น.207-208) จุดแตกต่างหรือรายละเอียดที่น่าสนเท่ห์ใจมีดังต่อไปนี้ :

– เงินที่จีนพร้อมช่วยสมทบให้ไทยกู้ผ่าน IMF จำนวน 1,000 ล้านดอลลาร์นั้น เอาเข้าจริง ไม่ได้ใช้จริงๆ แต่อย่างใดเพราะสภาพความจำเป็นเปลี่ยนไป จึงได้แต่สัญญา (“Although the money never materialized beyond a pledge…” BZ, p.93)

– คณะทูตที่นายกฯ ชวลิตส่งไปขอกู้เงินจีนโดยอาศัยสัมพันธ์ใกล้ชิดส่วนตัวของผู้นำสองประเทศ กลับเกิดความขัดแย้งภายในคณะเดินทาง (ขัดแย้งเรื่องอะไร? เพราะเหตุใด? ไม่บอก) จึงเปลี่ยนวงเงินขอกู้จากจีนเหลือ 1,000 ล้านดอลลาร์ ทำให้ไทยต้องไปขอกู้ IMF แทน (เจษฎาพัญ, น.208) เรื่องนี้น่าสนใจมากแต่ขาดรายละเอียดว่าเรื่องราวเป็นอย่างไร เพราะอะไร…?

– การที่จีนประกาศไม่ลดค่าเงินหยวน โดยอ้างว่าเพื่อไม่เอาเปรียบแย่งชิงตลาดสินค้าส่งออกจากไทยในต่างประเทศให้หันไปซื้อสินค้าออกจากจีนแทนในยามไทยลำบาก และเพื่อไม่ซ้ำเติมสถานการณ์ค่าเงินบาท รวมทั้งทางการจีนยังแอบกระตุ้นให้บริษัทไทยเชื้อสายจีนทั้งหลายช่วยลงทุนต่อแม้จะได้รับผลกระทบหนักจากวิกฤต (เจษฎาพัญ, น.207; BZ, p.94) นั้น

อาจตีความในอีกมุมได้ว่าจีนไม่ลดค่าเงินหยวนตอนนั้นก็เพื่อประโยชน์ของตัวเองด้วย เพราะ

1) จะเป็นการไปเพิ่มภาระหนี้สินในสกุลเงินตราต่างประเทศของจีนเอง

2) เป็นจังหวะโอกาสให้จีนเข้าซื้อกิจการและลงทุนในหลายประเทศที่ลดค่าเงินลงรวมทั้งไทยเพราะต้นทุนถูกลงโดยเปรียบเทียบ (เจษฎาพัญ, น.209, 222)

(อนึ่งข้อมูลส่วนอื่นในตอนนี้มาจากงานของผู้เขียนเกี่ยวกับวิกฤตเศรษฐกิจไทย พ.ศ.2540 เรื่อง : “Post-Crisis Economic Impasse and Political Recovery in Thailand : The Resurgence of Economic Nationalism”, Critical Asian Studies, 34 : 3 (September 2002), 323-356. และ “The Sino-Thais” Right Turn towards China”, Critical Asian Studies, 49 : 4 (October 2017), 606-618.)