ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 27 เมษายน - 3 พฤษภาคม 2561 |
---|---|
คอลัมน์ | มองไทยใหม่ |
ผู้เขียน | นิตยา กาญจนะวรรณ [email protected] |
เผยแพร่ |
อักขรวิธีภาษาไทย VS อักขรวิธีภาษาอังกฤษ (๓)
อันที่จริงภาษาอังกฤษนั้นก็มีอักขรวิธีหรือวิธีเขียนและอ่านหนังสือเช่นเดียวกับภาษาไทยและภาษาอื่นๆ
แต่เนื่องจากภาษาอังกฤษใหม่หรือภาษาอังกฤษที่รู้จักกันในปัจจุบันนั้นได้กลมกลืนคำมาจากภาษาอื่นมากมายตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ ๑๗
ภาษาอังกฤษใหม่จึงมีคำศัพท์มากมายมหาศาล โดยมีการสะกดที่ซับซ้อนและไม่สม่ำเสมอ
โดยเฉพาะอย่างยิ่งสระ ภาษาอังกฤษใหม่ไม่เพียงแต่กลมกลืนคำจากภาษาอื่นของยุโรปเท่านั้น แต่ยังรวมภาษาอื่นทั่วโลกด้วย
พจนานุกรมภาษาอังกฤษ ฉบับออกซฟอร์ด แสดงรายการคำไว้กว่า ๒๕๐,๐๐๐ คำ ซึ่งยังไม่รวมศัพท์เทคนิค วิทยาศาสตร์และสแลง
แม้อักษรและเสียงในภาษาอังกฤษอาจจะไม่สัมพันธ์กัน แต่กฎการสะกดซึ่งพิจารณาโครงสร้างพยางค์ สัทศาสตร์และการลงน้ำหนักนั้นน่าเชื่อถือไม่น้อยกว่า ๗๕% (Abbott, M. “Identifying reliable generalisations for spelling words : The importance of multilevel analysis”. The Elementary School Journal 101 (2), 2000 : 233-245)
การสะกดเสียงบางอย่างสนับสนุนข้ออ้างที่ว่าภาษาอังกฤษนั้นสอดคล้องกับการออกเสียงกว่า ๘๐% (Moats, L. M. Speech to print : Language essentials for teachers. Baltimore, MD : Paul H. Brookes Company, 2001)
อย่างไรก็ดี ภาษาอังกฤษมีความสัมพันธ์สอดคล้องระหว่างเสียงกับอักษรน้อยกว่าภาษาอื่นจำนวนมาก เช่น ough สามารถออกเสียงได้ถึง ๑๐ วิธี ผู้เรียนจึงต้องใช้เวลาเรียนนานกว่าภาษาอื่น
เมื่อเปรียบเทียบกับภาษาไทย เราก็มีคำที่ออกเสียงได้หลายวิธีเช่นเดียวกับภาษาอังกฤษ เช่น
พชร อาจจะอ่านว่า [พด] [พะชะระ] [พัดชะระ] [พะชอน] ก็ได้
หีนยาน อาจจะอ่านว่า [หีนะยาน] [หีนนะยาน] [ฮีนะยาน] ก็ได้
คำว่า “พชร” กับ “หีนยาน” ต่างกันตรงที่ว่า คำว่า “พชร” มิได้เก็บไว้ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.๒๕๕๔ ส่วนคำว่า “หีนยาน” เก็บไว้พร้อมระบุเสียงอ่านที่เป็นไปได้
จึงมีผู้อ่านคำว่า “พชร” โดยวิธีการเทียบกับคำที่คุ้นเคยในภาษา
ส่วนตัวอักษรในภาษาอังกฤษเป็นตัวแทนของเสียงใดเสียงหนึ่งโดยเฉพาะ อาจจะเป็นตัวอักษรเพียงตัวเดียว หรือตัวอักษรที่เรียงต่อกันหลายตัวก็ได้ เช่น
ตัวอักษร “d” เพียงตัวเดียวในคำว่า “dog”
ตัวอักษร ๒ ตัว อย่าง “sh” ในคำว่า “shout”
ตัวอักษร ๓ ตัว อย่าง “tch” ในคำว่า “scotch”
ตัวอักษร ๔ ตัว อย่าง “sion” ในคำว่า “television”
นอกจากนี้ ตัวอักษรแต่ละกลุ่มจะออกเสียงว่าอย่างไรนั้นก็ขึ้นอยู่กับตำแหน่งในคำด้วย ในคำว่า “laugh” และ “cough” ตัวอักษรที่ปรากฏร่วมกัน ๒ ตัวหรือที่เรียกว่าทวิอักษรอย่าง “gh” ออกเสียงเหมือน “f” เพราะปรากฏอยู่ท้ายคำ แต่เมื่อปรากฏอยู่ในตำแหน่งต้นคำอย่าง “Ghana”, “ghetto” หรือ “ghost” จะออกเสียงเหมือน “g” ดังในคำว่า “garden”
ตัวอักษรที่เรียงต่อกัน ๔ ตัว อย่าง “ough” อ่านได้หลายอย่างโดยขึ้นอยู่กับตัวอักษรอื่นๆ ที่แวดล้อมอยู่ เช่น
“tough” ออกเสียง /อะ/ คล้ายกับคำว่า “cuff”
“though” ออกเสียง /โอ/ คล้ายกับคำว่า “toe”
“cough” ออกเสียง /ออ/ คล้ายกับคำว่า “off”
“plough” ออกเสียง /อาว/ คล้ายกับคำว่า “cow”
“through” ออกเสียง /อู/ คล้ายกับคำว่า “threw”
“thorough” ออกเสียง /เออ/ คล้ายกับคำว่า “about” or “mother”
ตัวอย่างข้างต้นยกมาเฉพาะบางคำที่พอจะเทียบกับเสียงในภาษาไทยได้
การอ่านได้หลายอย่างเช่นว่านี้มักจะอธิบายได้ว่า คำเหล่านี้มีที่มาจากภาษาใด เข้ามาในสมัยใด และอื่นๆ เช่น ตัวอักษร y ในตำแหน่งท้ายคำจะออกเป็นเสียง /อี/ เช่น “myth” ถ้าเป็นคำยืมจากภาษากรีก แต่ในคำที่ไม่ได้มาจากภาษากรีกมักจะใช้ตัวอักษร i แทนเสียง /อี/ เช่น “pith” ซึ่งมาจากคำเจอร์แมนิก (Germanic)
อักขรวิธีภาษาอังกฤษจึงขึ้นอยู่กับทั้งกฎทั่วไป และที่มาของคำด้วย ซึ่งก็มีลักษณะเช่นเดียวกับภาษาไทย
ในปัจจุบันมีวิธีการสอนอ่านภาษาอังกฤษที่เรียกแบบ Phonics โดยมุ่งที่การนำเสียงมาประกอบกัน เช่น คำ “sat” จะออกเสียงคล้ายๆ กับ [เซอะ] [แอะ] [เทอะ] (อักษรไทยที่ใช้แสดงนี้ไม่ตรงกับการออกเสียงจริง) เปรียบเทียบได้กับการแจกลูกของไทย แต่ยืดหยุ่นในด้านเสียงสระ เพราะ /a/ เปลี่ยนไปเป็นเสียงคล้ายๆ กับ [ออ] ในคำว่า “ball”
เพราะฉะนั้นจึงอาจจะกล่าวได้ว่า ทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษรวมทั้งภาษาอื่นๆ ด้วย ต่างก็มีอักขรวิธีเป็นของตนเอง ซึ่งไม่จำเป็นต้องใช้หลักเกณฑ์อันเดียวกัน