เคน นครินทร์ : ‘Amancio Ortega’ มนุษย์ที่รวยที่สุดในโลก เบื้องหลังความสำเร็จของ Zara (จบ)

AFP PHOTO / MIGUEL RIOPA

ตอน 1

ลองมาดูที่ข้อสองกันต่อ นั่นคือ สปีดที่ต้องเร็วกว่านรก

ในขณะที่แบรนด์ทั่วไปใช้เวลาหลายเดือนกว่าจะวางขายเสื้อผ้าตามที่โชว์จากรันเวย์

Zara ใช้เวลาเพียง 2-3 สัปดาห์เท่านั้น

นอกจากนี้ ยังส่งของภายใน 48 ชั่วโมง (the 48-hour rule)

เปลี่ยนสต๊อกในร้านสัปดาห์ละ 2 ครั้ง

หากไอเท็มไหนขายไม่ดีใน 1 สัปดาห์ จะทำการเปลี่ยนออกทันที

การไปเดินในร้าน Zara แต่ละครั้งจึงไม่เหมือนกัน หากคุณเจอเสื้อผ้าที่ชอบแต่ยังไม่ตัดสินใจซื้อ ไม่แน่ว่าพรุ่งนี้มันอาจจะไม่อยู่แล้ว

กลยุทธ์เหล่านี้ทำให้คนมักจะกลับมาเดินที่ร้านบ่อย

ยอดคนเดินที่ร้าน Zara จึงสูงถึง 17 ครั้งต่อปี มากกว่าร้านทั่วไปที่มีแค่ 3 ครั้งต่อปี

เบื้องหลังความเร็วติดจรวดนี้มาจากการควบคุม “ห่วงโซ่อุปทาน” ที่ดี

พวกเขารักษาฐานการผลิตไว้ให้ใกล้ตัวมากที่สุด

ฐานการผลิตเกินครึ่งของ Zara อยู่ในยุโรป (เช่น โปรตุเกส ตุรกี โมร็อกโก) โดยมีศูนย์กลางที่สเปน อาจมีขยายไปผลิตที่จีนบ้าง ในกรณีพวกไอเท็มเบสิกที่ไม่ต้องขึ้นกับเทรนด์

กลยุทธ์นี้แตกต่างจากแบรนด์อื่นๆ เป็นอย่างมากที่มักจะผลิตที่จีนเป็นหลัก เนื่องจากเป็นห่วงเรื่องต้นทุน แต่ Zara ไม่สนใจเรื่องนั้น

สิ่งที่พวกเขาให้ความสำคัญคือ “เวลา”

จากโรงงานสู่ร้านค้า กระบวนการผลิตทั้งหมดของ Zara จึงสั้น ควบคุมได้ง่าย และเปลี่ยนแปลงได้ทันที

ส่วนคำถามที่ว่า ในเมื่อต้นทุนการผลิตของ Zara ไม่ได้มีราคาที่ถูก แต่ทำไมจึงสามารถขายสินค้าในราคาที่จับต้องได้นั้น คำตอบเป็นเพราะว่าพวกเขามั่นใจว่าสินค้าจะขายได้มากชิ้นในเวลาอันรวดเร็ว

พูดง่ายๆ ก็คือ ปัญหาต้นทุนที่สูง ถูกแก้ไขด้วยการขายสินค้าให้ได้มากและเร็วที่สุดแทน รวมไปถึงไม่มีสินค้าค้างสต๊อกให้ปวดหัว

ไม่เพียงแค่เรื่องวิธีคิดทางธุรกิจเท่านั้น แต่ปรัชญาในการใช้ชีวิตของออร์เตก้าก็น่าสนใจ

เศรษฐีอันดับหนึ่งของโลกขึ้นชื่อเรื่องการเก็บตัว

ตลอดชีวิตเขาแทบไม่เคยให้สัมภาษณ์ และไม่เปิดเผยชีวิตส่วนตัวมากนัก

ก่อนหน้าปี 1999 เราแทบไม่เคยเห็นรูป และได้อ่านบทสัมภาษณ์ของเขาแม้แต่น้อย จนกระทั่งปี 2000 ที่เขาเริ่มเปิดตัวต่อสาธารณชน ด้วยเหตุผลที่ว่าจะนำบริษัทของเขาเข้าตลาดหุ้นในปี 2001

ตลอดชีวิต เขาเคยให้สัมภาษณ์กับนักข่าวแค่ 3 คนเท่านั้น และมีหนังสือตีพิมพ์เรื่องราวความสำเร็จไม่กี่เล่ม หนึ่งในนั้นคือ From Zero to Zara

หลังจากนั้นเขาก็ไม่เคยปรากฏตัวต่อสาธารณชนอีกเลย

ทุกวันนี้เขายังใช้ชีวิตเรียบง่าย ตื่นเช้ามาทำงานทุกวัน (ไม่เคยมีห้องทำงานส่วนตัว) กินกาแฟร้านเดิม กินข้าวกลางวันในโรงอาหารกับพนักงาน สวมเสื้อผ้าเหมือนเดิมคือเบลเซอร์สีกรมท่า เสื้อเชิ้ตสีขาว กางเกงสีเทา

ที่น่าขันคือไม่มีไอเท็มไหนที่เป็นแบรนด์ Zara ด้วย!

“เวลาเดินไปตามท้องถนน ผมอยากให้คนที่จำผมได้มีแค่ครอบครัว เพื่อน และคนที่ทำงานด้วยเท่านั้น” ออร์เตก้ากล่าว

“ในชีวิตคุณควรจะปรากฏบนหนังสือพิมพ์แค่ 3 ครั้ง คือ ตอนคุณเกิด ตอนคุณแต่งงาน และตอนคุณตาย”

ปี2011 ออร์เตก้าตัดสินใจวางมือจากการเป็น Chairman และ CEO โดยยกตำแหน่งให้กับ Pablo Isla แต่ตัวเขาก็ยังนั่งเป็นหนึ่งในบอร์ดบริหาร

ปัจจุบัน บริษัท Inditex Group มีร้านค้ากว่า 7,000 ร้านใน 100 ประเทศ และมีพนักงานมากกว่า 150,000 คน ถือเป็นบริษัทแฟชั่นที่ใหญ่ที่สุดในโลก โดยในปี 2015 มีรายได้มากถึง 23,300 ล้านดอลลาร์

ท่ามกลางเศรษฐกิจในยุโรปที่พังพินาศ บริษัทของเขาก็ยังคงตั้งเป้าที่จะเติบโต 8-10 เปอร์เซ็นต์ต่อเนื่องในทุกๆ ปี

แม้ว่าบริษัทจะประสบความสำเร็จแล้ว และแม้ว่าเขาจะอายุอานาม 80 ปีแล้ว แต่เขาก็ยังคงรักที่จะทำงานหนัก และมักจะเข้าร่วมประชุมสำคัญๆ แทบทุกครั้งไม่เคยขาด

เขายังชอบที่จะรับฟังไอเดียใหม่ๆ และพูดคุยกับพนักงานด้วยความใกล้ชิดอยู่เสมอ

ว่ากันว่าทุกวันนี้เขาก็ยังมาทำงานเป็นปกติทุกวัน ไม่เคยมีวันหยุดยาวมาแล้วกว่า 25 ปี และไม่เคยไปไหนไกลเกิน 10 ไมล์!

อะไรที่ทำให้ชายวัยเกษียนยังคงทำงานอยู่?

“ความพอใจคือหายนะ” ออร์เตก้าให้สัมภาษณ์กับหนังสือพิมพ์ธุรกิจในสเปน

“ความสำเร็จในอดีตไม่เคยการันตีอนาคตได้เลย ผมไม่เคยอนุญาตให้ตัวเองมัวแต่เชยชมสิ่งที่ทำมา และก็พยายามฝังความคิดนี้ให้กับคนที่ทำงานกับผมทุกคน”

“จะเติบโตหรือจะตาย” เขาพูดเป็นภาษาสเปน “ถ้าคุณต้องการที่จะสร้างนวัตกรรม ต้องอย่าโฟกัสที่ความสำเร็จมากเกินไป”

จากเด็กในหมู่บ้านที่เกือบเล็กที่สุดในสเปน สู่เจ้าของบริษัทยักษ์ใหญ่อันดับต้นๆ ของโลก

จากลูกชายคนสุดท้องที่ไม่มีอันจะกิน สู่เศรษฐีที่รวยที่สุดในโลก

จากเด็กที่ไม่มีเสื้อผ้าจะใส่ สู่การเป็นเจ้าของแบรนด์เสื้อผ้าที่ทุกคนบนโลกต้องมีอย่างน้อยหนึ่งชิ้น

ทุกความสำเร็จนี้เขาตัดเย็บมาด้วยมือตัวเอง

ถ้าจะมีสักบทเรียนที่เราเรียนรู้จากผู้ชายที่ชื่อ Amancio Ortega ได้ ก็น่าจะเป็นเรื่องนี้

ครั้งหนึ่งนักข่าวถามเขาเรื่องการวางมือและการอิ่มตัวกับความสำเร็จที่มากมายเหลือเกิน

“อิ่มตัวกับความสำเร็จ?”

เขาทวนคำถามของนักข่าว

“ผมเพิ่งเริ่มต้นต่างหาก”