สมุนไพรเพื่อสุขภาพ /โครงการสมุนไพรเพื่อการพึงพาตนเอง/ผ่าด้าม ไม้ไทยขนานแท้

สมุนไพรเพื่อสุขภาพ
โครงการสมุนไพรเพื่อการพึงพาตนเอง
มูลนิธิสุขภาพไทย
www.thaihof.org

ผ่าด้าม ไม้ไทยขนานแท้

สักเดือนกว่าๆ ข่าวจากหนังสือพิมพ์รายงานว่า ชาวบ้านจังหวัดสุโขทัยอนุรักษ์ต้นไม้ท้องถิ่นหายากหลงเหลืออยู่ต้นเดียว ยืนโดดเดี่ยวกลางไร่มันสำปะหลัง ที่บ้านวัดโบสถ์ ต.เมืองบางขลัง อ.สวรรคโลก จ.สุโขทัย และที่เป็นเรื่องต้องตาต้องใจบรรดาชายหนุ่ม เพราะพาดหัวข่าวว่า สมุนไพรนี้ ‘ไวอากร้า’ เรียกพี่! ก็เลยเกิดข้อสงสัยว่าคือต้นไม้ชนิดไหนแน่
เท่าที่เสาะหาความรู้ชื่อต้นไม้ที่เรียกว่า ผ่าด้าม นั้นก็นับว่าเป็นต้นไม้ที่คนไทยน่าจะภูมิใจ
คือ ผ่าด้าม เป็นไม้ที่มีกำเนิดในประเทศไทย เนื่องจากการศึกษาพืชชนิดนี้ครั้งแรกโดยพบตัวอย่างพืชที่ดอยสุเทพ จึงกำหนดชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Gardenia sootepensis Hutch. Gardenia
อันหมายถึงพืชในกลุ่มดอกพุด ส่วนคำว่า sootepensis (สุเทพเอนซีส) ตั้งชื่อให้เกียรติตามสถานที่พบตัวอย่างพืชนั่นเอง
ต้นผ่าด้าม พบได้มากในภาคเหนือ ภาคตะวันออก และภาคกลาง แต่ก็พบในภาคอื่นด้วยแต่ไม่มากนัก และมีชื่อท้องถิ่นที่ได้รับการบันทึกจากหอพรรณไม้
เช่น อีสานทั่วไปเรียกว่า “ไข่เน่า” แต่ที่นครราชสีมาเรียกว่า “ผ่าด้ามหรือยางมอกใหญ่” ภาคเหนือเรียกว่า “คำมอกช้างหรือคำมอกหลวง” ซึ่งคำว่า คำมอกหลวง ใช้เป็นชื่อที่เรียกทางราชการ ที่ลำปางเรียกว่า “สะแล่งหอมไก๋หรือหอมไก๋”
คนเมือง (คนเหนือทั่วๆ ไป) เรียก “ไม้มะไขมอก” ม้งเรียกว่า “ซือเก่าพรึ” ปะหล่องเรียกว่า “เบล่เด่อปุดย” เป็นต้น
ชื่อสามัญภาษาอังกฤษเรียกว่า Golden Gardenia และมีการกระจายพันธุ์ในพม่า และลาว เพื่อนบ้านของไทยด้วย

ผ่าด้าม เป็นไม้ยืนต้นขนาดเล็ก ผลัดใบในช่วงสั้นๆ ก่อนออกดอก ลำต้นมีความสูงของต้นประมาณ 7-15 เมตร
ลักษณะของต้นเป็นทรงพุ่มกลมและโปร่ง เรือนยอดโปร่ง ลำต้นมักคดงอ แตกกิ่งแผ่กว้าง
กิ่งอ่อนมีลักษณะเป็นรูปสามเหลี่ยมและมีขน
เปลือกลำต้นเรียบเป็นสีครีมอ่อนหรือสีเทาถึงสีเทาเข้ม แตกเป็นสะเก็ด หลุดออกมาเป็นแผ่นบาง ๆ ใบออกเป็นกระจุกที่ปลายยอด เป็นใบเดี่ยว เรียงตรงข้าม รูปขอบขนานแกมไข่กลับ ขอบใบเรียบ
ใบอ่อนสีชมพูอ่อน มีขนสีเงิน
ใบแก่เขียวเข้มเป็นมัน ด้านล่างมีขนละเอียด ดอกออกเป็นดอกเดี่ยว ออกที่ซอกใบ หรือตามปลายยอดมีกลีบดอก 5 กลีบ โคนกลีบดอกเชื่อมติดกันเป็นหลอด ออกดอกช่วงเดือนมกราคมถึงมีนาคม ออกผลช่วงเดือนมีนาคมถึงสิงหาคม
ผลสด มีเนื้อ สีเขียวเข้ม เมื่อแก่เปลี่ยนเป็นสีดำ รูปกระสวยแกมไข่กลับ หรือรูปขอบขนาน ผิวมีปุ่มหูดกับช่องอากาศมียางเหนียวสีเหลืองข้นเป็นก้อนที่ปลายยอด มีกลิ่นเหม็นเหมือนไข่เน่า
คนอีสานจึงเรียกชื่อไม้ชนิดนี้ว่า ต้นไข่เน่า นั่นเอง ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ด เจริญเติบโตได้ในดินทั่วไป ชอบความชื้นปานกลางและแสงแดดแบบเต็มวัน
สามารถพบได้ตามป่าเบญจพรรณ ป่าผสมผลัดใบ และป่าเต็งรัง
ที่ความสูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 200-400 เมตร

ผ่าด้ามหรือต้นคำมอกหลวง เป็นไม้ทนแล้ง เหมาะที่จะปลูกเพื่อให้ร่มเงา อีกทั้งยังใช้ปลูกเป็นไม้ประดับได้ดี เพราะให้ดอกมีสีสันสวยงามและมีกลิ่นหอมมาก โดยจะออกดอกพร้อมกันทั้งต้น และดอกจะบานประมาณ 2-3 วัน
แต่ดอกยังคงส่งกลิ่นหอมได้ยาวนานแม้ดอกร่วงแล้วก็ตาม คนที่อาศัยอยู่ในภาคเหนือแต่ดั้งเดิมจะนิยมนำดอกไปถวายพระ หรือบูชาพระเพราะดอกเหลืองสวยกลิ่นก็หอม และทั้งคนภาคเหนือและอีสานแต่โบราณจะนิยมใช้ผลนำไปสระผมเพื่อชะล้างทำความสะอาดเส้นผม
แล้วยังทำให้ผมหอมเป็นที่ชื่นชอบด้วย
ชาวม้งนำเอาเนื้อในเมล็ดแก่มากิน และในอดีตมีการนำยางเหนียวจากยอดนำมาขยี้จนเป็นก้อนๆ แล้วนำไปใส่ในร่องระหว่างโคนมีดกับด้าม จะช่วยทำให้มีดแน่นติดกับด้ามมีดมากขึ้น หรือนำไปทำยางติดจักจั่น
เนื้อไม้สามารถนำมาใช้ในงานก่อสร้างและงานแกะสลักได้

ในส่วนที่ใช้เป็นยาสมุนไพร มีการนำแก่นปรุงเป็นยารักษาโรคเบาหวาน และมีการนำเอาแก่นคำมอกหลวงหรือผ่าด้ามผสมกับแก่นมะพอก นำมาต้มรวมกันให้หญิงอยู่ไฟใช้อาบและสระผม
ส่วนเมล็ดคำมอกหลวงนำมาต้มเคี่ยวกับน้ำใช้ผสมเป็นยาฆ่าเหาได้
ยาสมุนไพรพื้นบ้านจังหวัดอุบลราชธานี กล่าวว่าใช้เนื้อไม้ เข้ายากับโมกเตี้ย และสามพันเตี้ย ต้มน้ำดื่ม แก้บิด ถ่ายเป็นมูกเลือด และการศึกษาของอาจารย์วงศ์สถิตย์ ฉั่วกุล ที่ศึกษาสมุนไพรพื้นบ้านที่ใช้ในการรักษาอัมพฤกษ์และอัมพาต ที่ชัยภูมิ น่าน สุโขทัย เพชรบูรณ์ สุรินทร์ กระบี่ ยโสธร และอุบลราชธานี ได้ตำรับยามา 20 ตำรับ พบว่ามีตำรับยาที่ใช้แก่นผ่าด้ามหรือคำมอกหลวง นำไปเข้ายากับแก่นโมกหลวงหรือโมกใหญ่ (Holarrhena pubescens Wall. exG.Don) ลำต้นมุยแดงหรือมะคังแดง (Dioecercis erythroclada (Kurz) Tirveng.) รากและลำต้นมะคังขาว หรือตะลุมพุก (Tamilnadia uliginosa (Retz.) Tirveng. &Sastree) โดยนำสมุนไพรทั้ง 4 ชนิดมาต้มรวมกันดื่มแก้อัมพฤกษ์
เท่าที่เสาะหาข้อมูลยังไม่พบว่ามีการใช้เป็นยาบำรุงเพศแบบไวอากร้าของหนุ่มสุโขทัยที่เป็นข่าว
ซึ่งไม่แน่ใจว่าจะมีพืชอีกชนิดหนึ่งคล้ายต้นคำมอกหลวง เป็นไม้หายากมากๆ หายากในระดับโลกเลย มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Gardenia coronaria Buch.-Ham. ชื่ออื่นๆ เช่น คงคา พุดน้ำ พุดใหญ่ (สุราษฎร์ธานี) คำมอก (ภาคเหนือ) ชันยอด ปันยอด อ้างว่า (ราชบุรี) ผ่าด้าม (ภาคกลาง) มีชื่อสามัญภาษาอังกฤษ Orange Gardenia
ในบังกลาเทศใช้แก้ไขข้ออักเสบและหลอดลมอักเสบ ในพม่าใช้แก้ไข้และโรคเลือดที่ผิดปกติ ส่วนผลใช้แก้ไอและขับเสมหะ
ในไทยกับพืชชนิดหลังนี้ยังมีข้อมูลน้อยมาก ทางมูลนิธิคงได้ไปย้อนรอยสมัยสุโขทัยตามเก็บข้อมูลไม้โบราณต้นนี้แล้วจะนำมาเล่าให้ฟังต่อไป