โฟกัสพระเครื่อง/โคมคำ/เหรียญปั๊มรูปเหมือน หลวงปู่เทียน วัดโบสถ์ พระเกจิดังชาวรามัญ

หลวงปู่เทียน ปุบผธัมโม

โฟกัสพระเครื่อง

โคมคำ
[email protected]

เหรียญปั๊มรูปเหมือน

หลวงปู่เทียน วัดโบสถ์

พระเกจิดังชาวรามัญ

จังหวัดปทุมธานี เป็นอีกจังหวัดที่มีพระเกจิคณาจารย์ที่มีความเข้มขลังหลายรูป ส่วนใหญ่จะมีเชื้อสายมอญ ด้วยในอดีตชาวมอญได้มาตั้งถิ่นฐานที่เมืองนี้
“หลวงปู่เทียน ปุบผธัมโม” หรือ “พระครูบวรธรรมกิจ” อดีตเจ้าอาวาสวัดโบสถ์ อ.เมือง จ.ปทุมธานี ก็เป็นหนึ่งในพระเกจิเชื้อสายมอญที่มีชื่อเสียงโด่งดัง เป็นที่เคารพศรัทธา
วัตถุมงคลล้วนเป็นที่นิยมสะสม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “เหรียญปั๊มรูปเหมือน ปี 2490”
เหรียญปั๊มรูปเหมือนหลวงพ่อเทียน ปี 2490 ท่านสร้างเพื่อแจกเป็นที่ระลึกแก่ผู้มีจิตศรัทธาร่วมงานผูกพัทธสีมาวัดบ่อเงิน อ.ลาดหลุมแก้ว จ.ปทุมธานี ลักษณะเป็นเหรียญปั๊มรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า เนื้อทองแดง ความกว้าง 2 เซนติเมตร ความสูง 3.5 เซนติเมตร มีหูในตัว
ด้านหน้าเหรียญ ยกขอบนูนโดยรอบ ตรงกลางเป็นรูปเหมือนหลวงพ่อเทียนครึ่งรูป ด้านล่างจารึกอักษรไทยว่า “พระครูบวรธรรมกิจ ๒๔๙๐”
ด้านหลังเหรียญ ขอบเรียบ ตรงกลางเป็นรูปจำลององค์พระปฏิมากร ประทับนั่ง แสดงปางสมาธิ เหนืออาสนะฐาน 7 ชั้น อยู่ภายในซุ้มครอบแก้ว มีอักษรไทยด้านบนโค้งตามรูปซุ้มว่า “ที่ระฤกในการผูกพัทธสีมา” ด้านล่างเป็นอักษรไทยว่า “วัดบ่อเงิน”
เนื่องจากเป็นเหรียญรูปเหมือนรุ่นแรกของท่าน จึงได้รับการยกย่องให้เป็นเหรียญยอดนิยมของ จ.ปทุมธานี

เกิดเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 2 พฤศจิกายน 2419 ตรงกับแรม 1 ค่ำ เดือน 12 ปีชวด ที่ ต.กระแซง อ.สามโคก บิดา-มารดา ชื่อ นายนายน้อย และนางเล็ก ตุลยกนิษฐ์
อายุ 11 ปี เริ่มศึกษาอักขระสมัยเบื้องต้นกับพระอธิการวัดป่าหรือวัดชัยสิทธาวาส แล้วย้ายมาอยู่วัดโบสถ์ อ.เมือง เพื่อเรียนหนังสือไทยและภาษามอญกับพระอธิการนวล จนอ่านออกเขียนได้
อายุ 14 ปี ก็เข้ากรุงเทพฯ ศึกษาต่อที่วัดมหาพฤฒาราม จากนั้นเข้ารับราชการเป็นมหาดเล็กในวังพระองค์เจ้าขาว 1 ปี ต่อมาย้ายไปรับราชการเป็นเสมียนกับอธิบดีศาลอุทธรณ์
จนอายุได้ 20 ปีบริบูรณ์ จึงลาออกจากราชการ และเข้าพิธีอุปสมบท เมื่อเดือนมีนาคม 2439 ที่วัดบางนา อ.สามโคก โดยมีพระรามัญราชมุนี เจ้าคณะจังหวัดปทุมธานี เป็นพระอุปัชฌาย์ ได้รับฉายา “ปุปผธัมโม”
หลังอุปสมบท ย้ายมาจำพรรษาที่วัดโบสถ์ เพื่อศึกษาวิชากับพระอุปัชฌาย์จนมีความรู้แตกฉานทั้งภาษาบาลี รามัญ และวิทยาคมต่างๆ
จากนั้นเริ่มออกธุดงค์แสวงหาความสงบตามป่าเขา เคยธุดงค์ไปทางภาคเหนือและฝากตัวเป็นศิษย์หลวงพ่อโพธิ์ วัดวังหมาเน่า จ.พิจิตร พระเกจิชาวมอญ ผู้เป็นพระอาจารย์รูปหนึ่งของหลวงพ่อเงิน วัดบางคลาน จึงนับเป็นศิษย์ผู้น้องของหลวงพ่อเงิน
เป็นพระผู้เคร่งครัดในวัตรปฏิบัติ มีเมตตาธรรม เป็นที่รักเคารพของพุทธศาสนิกชน มีลูกศิษย์ลูกหามากมาย รวมถึง 3 พระเกจิชื่อดังผู้เป็นศิษย์เอก สืบทอดวิทยาคม ได้แก่ หลวงพ่อลมูล วัดเสด็จ, หลวงปู่เส็ง วัดบางนา จ.ปทุมธานี และหลวงปู่เริ่ม วัดจุกกะเฌอ อ.พนัสนิคม จ.ชลบุรี
ปี พ.ศ.2448 ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นเจ้าอาวาสวัดโบสถ์ต่อจากพระอธิการนวล จากนั้นก็ได้รับการเลื่อนสมณศักดิ์เรื่อยมา
พ.ศ.2457 เป็นเจ้าคณะตำบลบ้านกลาง จ.ปทุมธานี
พ.ศ.2469 เป็นพระอุปัชฌาย์
พ.ศ.2477 เป็นพระครูชั้นประทวนและกรรมการการศึกษา ฯลฯ
สมณศักดิ์สุดท้ายได้รับพระราชทานสัญญาบัตรพัดยศเป็นพระครูสัญญาบัตร เจ้าอาวาสวัดราษฎร์ชั้นเอก ราชทินนามที่พระครูบวรธรรมกิจ

เหรียญหลวงปู่เทียน (หน้า)
เหรียญหลวงปู่เทียน (หลัง)

สร้างวัตถุมงคลและเครื่องรางของขลังมากมาย ล้วนปรากฏพุทธคุณเป็นที่ประจักษ์เลื่องลือ ช่วงสงครามอินโดจีน สร้างเครื่องรางของขลังแจกจ่าย ทั้งเสื้อยันต์ ผ้าประเจียด ตะกรุด ฯลฯ ซึ่งเขียนและลงอักขระด้วยตัวท่านเองทุกอย่าง
จนเป็นที่กล่าวขวัญกันว่า “ไม่มีผู้ใดตายโหงเมื่อมีวัตถุมงคลของขลังของท่านติดตัว” หรือพระสมเด็จเนื้อผงพุทธคุณ สอดตะกรุดสาลิกาและพระปิดตาฝังตะกรุดสาลิกา อันลือเลื่องด้านเมตตามหานิยม ทำให้ชื่อเสียงของท่านขจรไกล
วัตถุมงคลทุกประเภทเป็นที่นิยมสะสมและแสวงหามาตั้งแต่อดีต และหาดูหาเช่าของแท้ได้ยากยิ่งในปัจจุบัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเหรียญปั๊มรูปเหมือนรุ่นแรก ปี 2490 ได้รับการยกย่องให้เป็นเหรียญยอดนิยมของ จ.ปทุมธานี
ท่านเป็นหนึ่งในพระเกจิคณาจารย์ไม่กี่รูปของไทย ที่ได้มีโอกาสเข้าเฝ้าฯ ถวายพระสมเด็จเนื้อผงและเหรียญรูปเหมือนเนื้อทองคำ หมายเลข ๙ และ ๙๙ แด่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ที่พระตำหนักจิตรลดาฯ เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2509

หลวงปู่เทียน เป็นพระเกจิที่เต็มเปี่ยมไปด้วยเมตตาธรรม มีความกรุณาต่อทุกคนที่ไปกราบไหว้ท่านโดยเสมอหน้ากัน ท่านเป็นผู้มีอารมณ์ดี เจรจาปราศรัยด้วยความเป็นกันเอง และไม่เคยอวดอ้างความเก่งกล้าใดๆ ให้ใครรู้เห็น มีแต่คอยสั่งสอนอบรมศีลธรรมแก่ทุกๆ คนที่ไปหาให้หมั่นทำคุณงามความดี
ท่านมรณภาพในปี 2509 สิริอายุ 90 ปี พรรษา 70
แต่ยังเป็นพระเถระที่พุทธศาสนิกชนชาวเมืองปทุมธานี ให้ความเลื่อมใสมาจนถึงทุกวันนี้