ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 4 - 10 พฤษภาคม 2561 |
---|---|
เผยแพร่ |
ไม่ใช่เพียง ป่าเท่านั้น ที่อยู่ในสภาพ “ป่าแหว่ง”
อำนาจเต็ม ของ นายกรัฐมนตรี และ หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)
ก็อยู่ในสภาพ อำนาจ”แหว่ง”ไปด้วย
เมื่อ ต้อง ตัดสินใจและใช้อำนาจตัดสิน โครงการก่อสร้างบ้านพักตุลาการศาลอุทธรณ์ภาค 5 บนพื้นที่ป่าเชิงดอยสุเทพ ต.ดอนแก้ว อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ ที่กลุ่มเครือข่ายประชาชนชาวจังหวัดเชียงใหม่ ยื่นคำขาด ให้ทุบทิ้ง
ด้วยเห็นว่า เป็นการ รุก ทำลายป่า และเป็นทัศนะอุดจาด
แม้จะอ้างว่าก่อสร้างโดยถูกต้อง ตามกฎหมายแต่ก็ขาดการมีส่วนร่วมของชาวบ้าน
กระแสต่อต้าน กำลังลุกลาม
ขณะที่ ฝ่ายตัดสินใจอยู่ในภาวะ ละล้าละลัง
อ้างว่าทุบทิ้ง จะผิดกฎหมาย ด้วยเพราะ เงินที่ใช้ก่อสร้างเป็นเงินของหลวง
แต่เสียงคัดค้านก็ย้อนกลับมาว่า
ทุบทิ้งแล้ว ประเทศก็ไม่ได้สูญเสียอะไรมาก แถมยังได้ “ป่า”กลับมาคุ้มค่ากว่า
แถมยังทำให้ รัฐบาล และคสช.ที่ประกาศนโยบายสำคัญตั้งแต่เข้ามายึดอำนาจ คือ “ทวงคืนฝืนป่า”
มีศักดิ์ศรี และ มีความศักดิสิทธิ์ยิ่งขึ้น
ไม่ใช่นโยบายที่ถูกกล่าวหาทวงคืนป่าได้เฉพาะจากชาวบ้าน ที่ไม่มีอะไรไปสู้รบปรบมือกับอำนาจรัฐได้
นักวิชาการ อย่างนายเดชรัต สุขกำเนิด อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
ตั้งข้อสังเกตุไว้อย่างแหลมคมว่า
สิ่งที่รัฐบาลกลัว
มิใช่การ รื้อ ตัวหมู่บ้านหรอก
แต่รัฐบาลกลัวการ รื้ออำนาจ ที่อยู่เบื้องหลังการตัดสินใจใช้พื้นที่ป่าแหว่งแห่งนั้นมากกว่า
เพราะมันอาจโยงลึกไปถึงสิ่งที่มีความหมายถึง
การรื้อถอนอำนาจของสถาบันรัฐ ที่ตัดสินใจใช้พื้นที่ป่าต่างๆ กันอยู่ตามลำพังมากกว่า
หากการ รื้อถอนอำนาจ ครั้งนี้ ทำสำเร็จ
รัฐก็อาจต้อง รื้อถอนอำนาจ ในกรณีอื่นๆอีก
เราต้องไม่ลืมว่า ที่ผ่านมา มีการขอใช้พื้นที่ป่า (ที่อ้างว่าเสื่อมโทรม) ไปทำโรงงานเครื่องดื่มบำรุงกำลัง ไปทำสนามบิน ไปใช้กิจการของทหาร
รวมถึง มีการอนุญาตให้พื้นที่ปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ซึ่งก็มาจากป่าเสื่อมโทรม) ไปทำกิจการด้านพลังงานต่างๆ มากมาย
เกือบทุกโครงการที่ขออนุญาตนั้น สาธารณชนแทบจะไม่ทราบเรื่อง หรือมีส่วนร่วมในการพิจารณาเลย จนกระทั่ง เรื่องแดงขึ้นมานั่นแหละ
นี่คือสิ่งที่รัฐบาลกลัว
กลัวภาวะที่ภาวะอำนาจของตนเอง
ต้องเป็น “อำนาจแหว่ง”ไปด้วย!!
————–