กรองกระแส/แผนลึกของ คสช. บดขยี้ ทำลาย ประชาธิปัตย์ พิมพ์เขียว ‘อำนาจ’

กรองกระแส

แผนลึกของ คสช.

บดขยี้ ทำลาย ประชาธิปัตย์

พิมพ์เขียว ‘อำนาจ’

คล้ายกับว่ารัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 จะถือเอาพรรคเพื่อไทยเป็นเป้าหมายในการทำลายและจำกัดบริเวณ แล้วเหตุใดยิ่งใกล้กับโรดแม็ปการเลือกตั้งกลับกลายเป็นว่าพรรคประชาธิปัตย์ต่างหากอาจอยู่ในฐานะเป็นตำบลกระสุนตก
ทั้งๆ ที่ พรรคประชาธิปัตย์เองชูธง 2 ผืนในการต่อสู้ กล่าวคือ 1 ต่อต้านนายกรัฐมนตรีคนนอก 1 ต่อต้านสิ่งที่เรียกว่า “ระบบทักษิณ”
เพราะว่า “ระบบทักษิณ” ก็เป็นเป้าหมายของ คสช. เหมือนกัน
ประเด็นจึงอยู่ที่เงื่อนแง่งที่พรรคประชาธิปัตย์ชูธงผืนใหญ่ว่าด้วยต่อต้านนายกรัฐมนตรีคนนอก นั่นเองจำเป็นที่ คสช. จะต้องถือว่าพรรคประชาธิปัตย์เป็นเป้าหมาย 1 ในการต่อสู้
ด้านหนึ่ง เพื่อดึงมาเป็นพวก ขณะเดียวกัน ด้านหนึ่ง เมื่อดึงไม่ได้ก็ต้องทำลาย
นี่เป็นกลยุทธ์ที่ดำรงอยู่ภายใน คสช. นานมาแล้ว ตั้งแต่ คสช. กำหนดยุทธศาสตร์ว่าจะไม่มาอยู่ชั่วคราวเหมือนกับ คมช. ในรัฐประหารเมื่อเดือนกันยายน 2549 ซึ่ง คสช. สรุปและประเมินว่าเป็นรัฐประหารเสียของ
กระบวนการในการดึงพรรคประชาธิปัตย์จึงเป็นแผนสำคัญแผนหนึ่งของ คสช. และพันธมิตร คสช. ในพรรคประชาธิปัตย์

ภายในประชาธิปัตย์
มีไส้ศึกจาก “คสช.” อยู่

ความจริงแผนรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 มีพรรคประชาธิปัตย์เป็นองค์ประกอบ 1 และเป็นองค์ประกอบสำคัญ
นี่มีรากฐานมาจาก 1 ชัยชนะของพรรคเพื่อไทยในการเลือกตั้งเดือนกรกฎาคม 2554
นี่มีรากฐานมาจาก 1 ความสัมพันธ์ระหว่างพรรคประชาธิปัตย์กับบรรดาทหารในกลุ่มบูรพาพยัคฆ์ที่ร่วมคิดและวางแผนในการสลายการชุมนุมเมื่อเดือนเมษายน 2552 และเมื่อเดือนเมษายน พฤษภาคม 2553 ที่ ศอฉ. ณ กรมทหารราบที่ 11 รักษาพระองค์
ความจริงหากใครไปศึกษา “ถ้อยคำ” ของบางคนในพรรคประชาธิปัตย์ กับ “ถ้อยคำ” ของผู้นำทางทหารในห้วงหลังยุบสภาก่อนการเลือกตั้งในเดือนกรกฎาคม 2554 ก็จะมองเห็นร่องรอยและเบาะแส
นั่นคือ ที่มาของการก่อรูปของ “กปปส.” ขึ้นเมื่อรู้ว่าพรรคประชาธิปัตย์แพ้
แกนนำคนสำคัญของ กปปส. ด้านหลักล้วนมาจากพรรคประชาธิปัตย์และอาศัยรากฐานของพรรคประชาธิปัตย์ทั้งใน กทม. และภาคใต้ ไม่ว่าการชัตดาวน์ กทม. ไม่ว่าการชัตดาวน์การเลือกตั้งล้วนเป็นการปูทางและสร้างเงื่อนไขไปสู่การรัฐประหารในเดือนพฤษภาคม 2557
รูปธรรมแห่งความร่วมมือกัน 1 เห็นได้จากการจัดเลี้ยงแสดงความยินดีต่อรัฐประหาร และ 1 คือการปล่อยคำว่า “รัฐบาลของเรา” ออกมาของแกนนำคนสำคัญของ กปปส.
เมื่อเป็นเช่นนี้เท่ากับภายในพรรคประชาธิปัตย์มีเส้นสายของ คสช. ดำรงอยู่

ยุทธวิธีของ คสช.
ต่อประชาธิปัตย์

ตามพิมพ์เขียว 1 ของยุทธศาสตร์การสืบทอดอำนาจ คสช. มั่นใจว่าจะได้พรรคประชาธิปัตย์เป็นกำลังสำคัญในการหนุนช่วยในฐานะพันธมิตรที่แนบแน่น
เห็นได้จากการคืนสู่พรรคประชาธิปัตย์ของแกนนำ กปปส.
แต่แล้วจากแต่ละสภาพการณ์ในทางการเมืองทำให้บางส่วนของพรรคประชาธิปัตย์ไม่เห็นด้วยกับวิธีการของ คสช. ไม่ว่าจะเป็นการกำหนดกฎกติกาผ่านการร่างรัฐธรรมนูญ ปมแห่งความขัดแย้งจึงแสดงออกในห้วงแห่งการลงประชามติเมื่อเดือนสิงหาคม 2559
ยิ่งกว่านั้นเมื่อผ่าน พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมืองออกมาในเดือนตุลาคม 2560 แต่แกนนำ กปปส. เห็นว่าอาจเป็นอุปสรรคในการจัดตั้งพรรคการเมืองเพื่อเป็นแขนขาของ คสช. จึงเสนอให้แก้ พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง ผ่านคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 53/2560 อันนำไปสู่การเซ็ตซีโร่พรรคการเมืองเดิม เท่ากับรังสีอำมหิตได้แผ่เข้าใส่พรรคประชาธิปัตย์อย่างเต็มเปา
มาตรการเหล่านี้เหมือนกับเป็น “สงครามสั่งสอน” เตือนพรรคประชาธิปัตย์ให้ยอมจำนน แต่เมื่อพรรคประชาธิปัตย์ยังไม่ยอมจำนนก็มีความจำเป็นต้องบดขยี้และทำลาย

พิมพ์เขียว คสช.
ม้าไม้เมืองทรอย

ในแง่นักการทหาร คสช. ย่อมรู้ดีว่าสามารถบดขยี้และทำลายพรรคประชาธิปัตย์ได้ไม่ยาก เพราะมีแกนนำ กปปส. เป็นเหมือนไส้ศึกอยู่ภายใน
เท่ากับได้วาง “ม้าไม้” เอาไว้แล้วใน “เมืองทรอย”
หากในห้วงก่อนเลือกตั้งยังไม่สามารถสยบพรรคประชาธิปัตย์ให้ศิโรราบลงได้ ภายหลังการเลือกตั้ง โอกาสที่พรรคประชาธิปัตย์จะแหกมตินั่นก็คือ บางคนในพรรคประชาธิปัตย์จะแสดงตนเป็น “งูเห่า” ในทางการเมืองไปสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา แทนที่จะเป็นหัวหน้าพรรคของตนก็มีความเป็นไปได้สูง
กระนั้น เป้าหมายเฉพาะหน้าของ คสช. และบรรดาไส้ศึกภายในพรรคประชาธิปัตย์ยังต้องการโจมตีและดูดอย่างต่อเนื่องมากกว่า หากกลุ่มกุมอำนาจพรรคประชาธิปัตย์ปัจจุบันยังดื้อรั้นก็อาจนำไปสู่การปรับเปลี่ยนตัวหัวหน้าพรรค
กระนั้น ไม่ว่าพรรคประชาธิปัตย์จะเดินหนทางไหน แข็งขืนต่อ คสช. หรือยอมสยบจำนนภายใต้การนำของ คสช. พรรคประชาธิปัตย์ก็จะไม่เหมือนเดิมอีกแล้วในทางการเมือง
สถานการณ์นี้หนักหนาสาหัสที่สุดสำหรับพรรคประชาธิปัตย์