เมนูข้อมูล : ไม่รู้สึกว่า “ต้องสู้”

เป็นอันว่าไม่มีอะไรที่ทำให้พลิกไปเป็นอื่น มีความชัดเจนระดับที่น่าเชื่อว่าไม่เปลี่ยนแปลงแล้วคือ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” ในฐานะหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เดินต่อในทางการเมืองแน่ ภายใต้ภารกิจ “รัฐประหารไม่เสียของ” อันดูจะมีความหมายว่า “จะยังรักษาอำนาจต่อไปได้หลังเลือกตั้ง”

“ไม่เสียของ” เหมือนสมัย “พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน” ที่ยึดอำนาจจัดตั้งพรรคการเมือง แล้วพ่ายแพ้แบบไม่มีราคาหลังเลือกตั้ง

มีปรากฏการณ์ของความแปรเปลี่ยนจากความพยายามที่จะปฏิเสธนักการเมืองหน้าเก่าๆ มาเป็นใช้บริการคนกลุ่มใหม่ในสนามการเมือง คืนสู่การดูดนักการเมือง “ผู้มีบารมีในพื้นที่” เข้ามาเป็นฐานเพื่อครองอำนาจต่อไป หลังจากที่พยายามอย่างหนักมายาวนาน ทั้งควบคุมนักการเมืองเก่าจนแบบกระดิกตัวทำงานมวลชนไม่ได้ พร้อมทั้งชี้ให้เห็นความเลวร้ายที่จำเป็นต้องเปลี่ยนแปลง ส่งกำลังคนพร้อมงบประมาณมหาศาลปูพรมลงพื้นที่ทั่วประเทศในนามโครงการประชารัฐ และไทยนิยมยั่งยืน แต่เมื่อสำรวจแล้วกลับแทบไม่มีผลอะไรเลย

ดังนั้น แม้เป้าหมาย “ไม่เสียของ” จะจัดการองค์ประกอบลุล่วงไปแล้วหลายเรื่อง โดยเฉพาะกฎหมายที่ทั้งปิดทาง ทั้งควบคุมไม่ให้พรรคการเมืองเก่ามีโอกาส ขณะที่เปิดทางตัวเองไว้เต็มที่ แต่เพื่อความมั่นใจในเสถียรภาพ อันหมายถึง “ไม่ใช่แค่เข้าไปคุมอำนาจได้ แต่ต้องอยู่ได้ด้วย จึงต้องหาทางจัดการ” จำนวน ส.ส. ในสภาผู้แทนราษฎรให้ยืนอยู่ในฝ่ายสนับสนุนในระดับที่มั่นใจได้

แม้ “นักการเมืองหน้าใหม่” ที่สร้างขึ้นมาเองจะเป็นหลักประกันที่เชื่อมั่นได้มากกว่า แต่เมื่อพยายามมายาวนานแล้วพบว่าเปลี่ยนแปลงความคิดของประชาชนผู้มีอำนาจเลือกไม่ได้ ความจำเป็นต้องหันกลับมา “ดึงศัตรูมาเป็นพวก” จึงเป็นทางที่หนีไม่ออก

ความชัดเจนจึงอยู่ที่ “กลุ่มก้อนที่เข้ามามีส่วนแบ่งผลประโยชน์จากอำนาจการเมือง” จะไม่เปลี่ยนไปจากเดิม

ที่ยังคลุมเครืออยู่ และอาจจะต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่งคือ “ทีม คสช.” โดยgฉพาะ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” ที่จะเป็น “ผู้นำประเทศ” ต่อ หลังเลือกตั้งจะกลับเข้ามาในสถานะแบบไหน

เป็น “ผู้นำพรรคการเมือง” เป็น “หนึ่งในผู้เสนอชื่อในบัญชีนายกรัฐมนตรีของพรรคการเมือง” ทำนองเดียวกับ “พรรคทหาร” ในยุคก่อนหน้านั้น อย่าง “มนังคศิลา-สหประชาไทย” ยุค “จอมพล” หรือในรูปแบบ “ป๋า” ที่ทำให้ “พรรคการเมือง” พร้อมใจกันไปเชิญมานั่งเก้าอี้ผู้นำประเทศ ด้วย “ข้อมูลใหม่” ในยุค “พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์”

ความเปลี่ยนแปลงในวิธีการเสียงสนับสนุนที่สวนทางกับแรงผลักดัน “ปฏิรูปการเมือง” นี้ แม้จะคล้ายกับเสียงโวยวายกันเกิดจากความผิดหวังจะอึงมี่ แต่หากมองลึกลงไปเป็นเพียงเสียงของ “คนกลุ่มเล็กที่เสียงดังสักหน่อยเท่านั้น”

ประชาชนส่วนใหญ่ไม่ได้รู้สึกว่าจะต้องมีบทบาทมาช่วยกดดันให้เกิดอะไรขึ้น

จะเห็นได้จากผลสำรวจของ “สวนดุสิตโพล” ล่าสุดเรื่อง “ความเคลื่อนไหวทางการเมืองในทัศนะประชาชน” ในคำถามที่ว่า “คิดว่าสถานการณ์ในขณะนี้สมควรให้อิสระ (ปลดล็อก) พรรคการเมืองหรือยัง”

อันเป็นคำถามที่สะท้อนถึงการหยุดความได้เปรียบของผู้มีอำนาจ ที่สามารถทำอะไรก็ได้ แต่ไม่ยอมให้คู่แข่งเคลื่อนไหว ซึ่งประชาชนผู้เป็นเจ้าของอำนาจอย่างน้อยจะต้องแสดงออกถึงการดูแลให้เกิดความชอบธรรม

ทว่า ผลที่ออกมาก็คือ ประชาชนที่เห็นควรให้ปลดล็อกโดยไม่มีเงื่อนไขแม้จะมากที่สุดก็มีเพียงร้อยละ 44.47 ขณะที่ร้อยละ 36.45 แม้จะเห็นควรให้ปลดล็อกเช่นเดียวกันแต่ยังให้เป็นไปโดยมีเงื่อนไข และยังมีร้อยละ 19.08 ที่เห็นว่าไม่ควรปลดล็อก

เป็นเรื่องที่ไม่มีใครปฏิเสธได้ว่า ความเปลี่ยนแปลงทางการเมือง โดยเฉพาะจาก “อำนาจเผด็จการ” ไปสู่ “ประชาธิปไตย” ในความหมาย “คืนอำนาจให้ประชาชน” นั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่ “ประชาชน” จะต้องตื่นตัวอย่างสูงยิ่งที่จะขอคืนอำนาจ กระทั่งถึง “ลุกขึ้นมาต่อสู้”

เมื่อท่าทีของประชาชนส่วนใหญ่ยังไม่รู้สึกเดือดเนื้อร้อนใจอะไรนักกับการปกครองที่ไม่เป็นประชาธิปไตย ยังอยู่ได้อย่างไม่รู้สึกว่าจะต้องมีส่วนร่วมในการกำหนดการใช้อำนาจ

จึงไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร ที่ท่าทีของ “ผู้มีอำนาจ” จะยังเชื่อมั่นว่า “จะทำอะไรก็ได้”