สุนทรภู่ แต่งพระอภัยมณี เพราะเคยอยู่ลังกา ในปีที่ถูกอังกฤษยึด?

ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ

คุณไมเคิล ไรท์ ฝรั่งคลั่งสยามผู้ล่วงลับ เคยตั้งข้อสังเกตไว้ว่า “สุนทรภู่” น่าจะเคยเดินทางไปเกาะศรีลังกา ซึ่งก็น่าจะเป็นคราวที่รัชกาลที่ 2 โปรดเกล้าฯ ให้มีการส่งสมณทูตไปยังเกาะลังกานั่นเอง

ส่วนเหตุผลของคุณไมค์นั้นก็ไม่ได้มีอะไรที่ซับซ้อนหรอกนะครับ เพราะคุณไมค์เองก็เห็นด้วยกับข้อเสนอที่ว่า ฉากต่างๆ ในวรรณกรรมเรื่องเอกของท่านคือ “พระอภัยมณี” นั้น พูดถึงทะเลฝั่งอันดามัน (เช่น เกาะนาควารี ก็คือเกาะนิโคบาร์ ที่เป็นจุดแวะพักครึ่งทางเดินเรือข้ามสมุทรจากเกาะลังกามาอุษาคเนย์ เกาะผลึก ก็น่าจะหมายถึงเกาะภูเก็ต เป็นต้น) ตามอย่างที่ขุนวิจิตรมาตรา ในนามปากกา “กาญจนาคพันธุ์” ได้เสนอเอาไว้ในหนังสือ “ภูมิศาสตร์สุนทรภู่” ซึ่งตีพิมพ์ครั้งแรกตั้งแต่เมื่อ พ.ศ.2490 ไม่ใช่ทะเลฟากอ่าวไทย อย่างที่เคยเข้าใจกันมาผิดๆ

แต่สิ่งที่คุณไมค์ได้เพิ่มเติมลงไปอย่างน่าสนใจก็คือ ความเห็นส่วนตัวของท่านที่ว่า สุนทรภู่ได้พรรณนาถึงท้องมหาสมุทรเอาไว้อย่างที่หากใครไม่เคยเดินทางในลักษณะนี้ ก็คงจะเขียนไม่ได้

ส่วนฉากต่างๆ ในเกาะลังกา ของนางละเวงวัณฬานั้น ก็ถูกสุนทรภู่พรรณนาไว้อย่างถูกต้องตรงตามที่เป็นอยู่ในเกาะ เหมือนอย่างกับได้เคยมาเห็นด้วยตาของท่านเองเลยทีเดียว

โดยเฉพาะข้อคิดเห็นประการสุดท้ายที่ดูจะยิ่งควรให้ความสำคัญเป็นพิเศษ เมื่อคำนึงถึงข้อเท็จจริงที่ว่า คุณไมค์เองก็เคยใช้ชีวิตอยู่บนเกาะลังกาอยู่นานนม ก่อนที่จะเดินทางเข้ามาตั้งรกรากอยู่ในสยามประเทศ ดังนั้น เมื่อท่านจินตนาการตามถ้อยคำพร่ำรำพันของสุนทรภู่นั้น จึงเห็นภาพอะไรต่อมิอะไรตามได้มากกว่าคนไทยที่ไม่เคยไปใช้ชีวิตอยู่ในเกาะแห่งนั้น

 

อะไรต่างๆ ในพระอภัยมณีดูจะไม่ได้สัมพันธ์อยู่กับเกาะลังกา แค่ฉาก หรือสถานที่บนเกาะเท่านั้น แต่ยังมีเรื่องราวที่เกี่ยวของกับประวัติ วัฒนธรรม และความเชื่อของผู้คนบนเกาะแห่งนั้นด้วย

“ผีเสื้อสมุทร” ในพระอภัยมณีนั้น ดูจะมีอิทธิพลมาจาก “ยักษิณี” (คือยักษ์ผู้หญิง) เฝ้าเกาะลังกา ในหนังสือ “มหาวงศ์” ซึ่งเป็นพงศาวดารของลังกาทวีป ที่อธิบายเอาไว้ในทำนองว่า เป็นยักษ์ที่สัมพันธ์อยู่กับมหาสมุทร ดังนั้น จึงไม่แปลกอะไรที่เมื่อสมัยรัชกาลที่ 1 มีการแปลพงศาวดารลังกาฉบับนี้จะแปลคำว่า “ยักษิณี” เป็น “ผีเสื้อน้ำ” (คือผีเชื้อ หรือผีบรรพบุรุษที่เกี่ยวอยู่กับน้ำ) แล้วกลายมาเป็น “ผีเสื้อสมุทร” ของสุนทรภู่

ในขณะที่ฉากพระอภัยมณี ถูกเนรเทศออกจากเมืองแล้วร่อนเร่จนสุดท้ายก็ไปจบลงที่เกาะลังกานั้น ก็ชวนให้คิดถึงเหตุการณ์สำคัญในประวัติศาสตร์ลังกา ที่ถูกอ้างเอาไว้ในมหาวงศ์อีกอยู่นั่นเอง คือเรื่องของเจ้าชายวิชัย ที่ถูกเนรเทศมาจากอินเดีย แล้วกลายมาเป็นปฐมกษัตริย์ของเกาะลังกา เป็นต้น

แต่เรื่องนี้ก็อาจจะไม่เป็นที่น่าประหลาดใจอะไรนัก ในเมื่อบรรดานักคิดนักเขียน แห่งสำนักศิลปวัฒนธรรม ตั้งแต่เมื่อยุค 20-30 ปีก่อนโน้น (ซึ่งก็มีคุณไมค์ เป็นหนึ่งในหัวหอกคนสำคัญ) เขาก็ว่าพระอภัยมณีนั้นเป็นวรรณกรรมการเมือง เรื่องอังกฤษยึดอินเดีย และเกาะลังกากันอยู่แล้ว

ดังนั้น ถ้าสุนทรภู่จะหยิบเอาไอ้นู่นนิด ไอ้นี่หน่อยจากพงศาวดารของเกาะลังกา อย่างหนังสือมหาวงศ์มาใช้ (โปรดอย่าลืมว่า การเขียนพงศาวดาร ก็เป็นงานการเมืองอย่างหนึ่ง) ก็เป็นเรื่องที่ดูจะสมเหตุสมผลอยู่ไม่น้อย

และเมื่อพูดถึงอินเดียแล้ว เราก็มักจะเห็นภาพว่า เกาะศรีลังกาเป็นเพียงติ่งเล็กๆ ที่ห้อยลงมาจากผืนชมพูทวีป จนทำให้เราลืมไปนะครับว่า อังกฤษนั้นยึดลังกาได้มาก่อนอินเดีย แถมยังมองแยกเกาะ และภาคพื้นทวีปที่ว่านี้ออกจากกัน

ซึ่งก็ได้ใช้นอมินีของรัฐบาลอังกฤษเข้าไปในดินแดนทั้งสองแห่งแยกกันอีกด้วย โดยในอินเดียคือ บริษัทอินเดียตะวันออก (East India Company) ส่วนในลังกานั้นตั้งเป็นรัฐในอารักขา (อาณานิคมนั่นแหละ) คือ บริติชซีลอน (British Ceylon)

ในขณะที่อังกฤษถ่ายโอนอำนาจการปกครองอินเดีย จากบริษัทอินเดียตะวันออก มาเป็นราชอาณาจักรเมื่อเดือนสิงหาคม พ.ศ.2401 ตรงกับปลายๆ รัชกาลที่ 4 ของกรุงเทพฯ และช่วงก่อนที่ควีนวิกตอเรียจะประกาศพระองค์เป็นจักรพรรดินีแห่งอินเดียอีกทอดเมื่อ พ.ศ.2419 (ต้นสมัย ร.5) เกาะลังกานี่กลับถูกอังกฤษถ่ายโอนอำนาจจากบริษัทบริติชซีลอน (British Ceylon) ให้มายอมรับอธิปไตยของสหราชอาณาจักรเหนือลังกาในปี พ.ศ.2358 คือสมัย ร.2 เลยทีเดียว

ตัวเลขนี้น่าสนใจนะครับ เพราะคณะสมณทูตที่ ร.2 ส่งไปในลังกานั้น เริ่มออกเดินทางกันเมื่อ พ.ศ.2357 หรือหนึ่งปีก่อนหน้านั้นอย่างพอดิบพอดีเลยทีเดียว

 

ชาวยุโรปเข้ามามีอิทธิพลอย่างสูงในเกาะลังกาอยู่นานแล้ว ตั้งแต่ราวๆ ช่วงที่ร่วมสมัยกันกับสมัยพระเจ้าปราสาททอง แห่งกรุงศรีอยุธยา (ครองราชย์ระหว่าง พ.ศ.2172-2199) ซึ่งพวกที่มามีบทบาทในศรีลังกาตอนนั้นก็คือ ชาวดัตช์ ที่ลังกา (หมายถึงรัฐศูนย์กลางที่เมืองแคนดี) ให้เข้ามาคานอำนาจกับอิทธิพลของพวกโปรตุเกส จนสุดท้ายกลายเป็นว่า พวกดัตช์สามารถเข้าไปมีอิทธิพลและครอบครองบางส่วนในเกาะแห่งนี้

พระเจ้าปราสาททองก็ทรงใช้พวกดัตช์มาคานอำนาจโปรตุเกสแบบนี้แหละนะครับ เพียงแต่สมัยพระราชโอรสของพระองค์คือ สมเด็จพระนารายณ์ (ครองราชย์ระหว่าง พ.ศ.2199-2231) นั้น ได้ทรงนำพวกฝรั่งเศสมาคานอิทธิพลของชาวดัตช์ไว้อีกทอดหนึ่งด้วย ตรงนี้แหละที่ต่างกันกับลังกา เพราะถึงพวกดัตช์จะไม่ได้ยึดเมืองแคนดีเป็นอาณานิคม แต่ก็ผูกขาดการค้า (ผ่านบริษัท VOC ของตนเอง) ได้อย่างเบ็ดเสร็จ

แต่ในช่วงปลายอยุธยา ต่อกรุงธนบุรี และรวบยอดมาจนต้นกรุงรัตนโกสินทร์ของไทยนั้น พวกดัตช์อ่อนแอลงจากการทำสงครามกับบริเตนใหญ่ และถูกฝรั่งเศสยึดครองหลังการปฏิวัติ 1789 ในฝรั่งเศส พวกนำของพวกดัตช์จึงลี้ภัยมาตั้งรัฐบาลพลัดถิ่นในลอนดอน พร้อมกับปกครองอาณาเขตของตนเองในลังกาจากที่นั่น

จนสุดท้ายใน พ.ศ.2332 (ตรงกับสมัย ร.1) ก็จำต้องโอนถ่ายอะไรในเกาะลังกาไปให้กับอังกฤษแทน จึงเป็นที่มาของอะไรที่เรียกว่า บริติชซีลอน คือการตั้งลังกาเป็นรัฐในอาณานิคมของอังกฤษนั่นเอง

แน่นอนว่า เมื่อได้มาแล้วอังกฤษก็อยากได้ศรีลังกาทั้งเกาะ ไม่จำเพาะอยู่แค่เฉพาะในเขตอิทธิพลของพวกดัตช์เท่านั้นหรอกนะครับ ดังนั้น จึงได้มีการเจรจากับรัฐบาลของลังกาที่เมืองแคนดี แต่ทางแคนดีไม่ยอม และเลยเถิดจนกลายเป็นสงครามขึ้นบนเกาะ

อย่างไรก็ตาม ทางอังกฤษไม่สู้จะมีสมาธิกับการรบครั้งนี้มากนัก เพราะในยุโรปก็รบกับนโปเลียนอยู่ เหตุการณ์ก็เลยยืดเยื้อมาจนกระทั่ง พ.ศ.2358 ที่คณะขุนนางในรัฐบาลเมืองแคนดี ได้ก่อการรัฐประหารยึดอำนาจจากพระเจ้าศรีวิกรม ราชสิงหะ ซึ่งไม่ใช่ชาวพุทธสิงหลแท้ๆ แต่เป็นชาวอินเดียใต้ที่นับถือศาสนาพราหมณ์-ฮินดู

จากนั้นก็มีการลงนามยอมรับอธิปไตยของบริเตนในวันที่ 2 มีนาคม 2358 ในที่สุด

 

ผมยังค้นไม่ได้ว่า ร.2 ส่งคณะสมณทูตไปลังกาวันที่เท่าไหร่ เดือนอะไร แต่ตามปฏิทินสากลวันที่ลังกายอมรับอธิปไตยของบริเตนเหนือแผ่นดินของตนเองนั้น ยังอยู่ในปี พ.ศ.2357 ของสยาม เพราะตอนนั้นเรายังนับวันขึ้นปีใหม่เมื่อถึงวันมหาสงกรานต์ ซึ่งนั่นก็หมายความว่า มีโอกาสสูงทีเดียวที่คณะสมณทูตของ ร.2 จะไปเจอกับเหตุการณ์ที่ว่านี่เข้าพอดี

และถ้าสุนทรภู่ร่วมเดินทางไปกับคณะสมณทูตนี้ด้วย ตามอย่างที่คุณไมค์สันนิษฐานเอาไว้ (แน่นอนว่า ไม่มีบันทึกอีกเช่นกันว่า นอกเหนือจากพระสงฆ์จากกรุงเทพฯ 8-9 รูปที่ระบุเอาไว้แล้ว ยังมีคณะลูกศิษย์ที่ติดตามไปอีกกี่คน? และเป็นใครบ้าง? จนทำให้เราต้องมาสืบสาวหาร่องรอยกันว่า สุนทรภู่รวมอยู่ในจำนวนนี้ด้วยหรือเปล่า?) ท่านก็คงจะมีประสบการณ์ร่วมอยู่ในเหตุการณ์ครั้งนั้นด้วย และก็คงจะไม่แปลกอะไรถ้าท่านจะมีความกระตือรือร้นเหตุการณ์ต่อจากนี้ ทั้งในอินเดียและลังกา

เมื่อ พ.ศ.2380 พระนางเจ้าวิกตอเรียครองราชย์ในอังกฤษ ตรงกับสมัย ร.3 ของเรา สุนทรภู่กำลังบวชเป็นพระอยู่ที่วัดเทพธิดาราม และก็เป็นช่วงที่แต่งพระอภัยมณีนี่เอง ดังนั้นเมืองลังกาของสุนทรภู่จึงมีผู้นำเป็น ราชินีวัยกำดัดอย่างนางละเวงวัณฬา เพราะในความเป็นจริงเมื่อพระนางเจ้าวิกตอเรียขึ้นครองราชย์ที่อังกฤษ (ซึ่งก็ทำให้เป็นราชินีของเมืองลังกา ที่ตนเองเป็นเจ้าอาณานิคมไปด้วยนั้น) พระองค์ก็เพิ่งจะมีพระชนมายุครบ 18 ปี มายังไม่ถึงเดือนเลยด้วยซ้ำ

ที่เล่ามาทั้งหมดนี้ ผมก็ยังไม่มีหลักฐานที่ดีกว่าคุณไมค์หรอกนะครับว่า สุนทรภู่เคยไปลังกาจริงหรือเปล่า?

เพียงแต่ยิ่งพิจารณาถึงข้อมูลทางประวัติศาสตร์ของทางโน้นแล้ว มันก็ยิ่งเห็นภาพชัดเจนยิ่งขึ้นว่า สุนทรภู่น่าจะรู้จักลังกาเป็นอย่างดีจริงๆ แถมยังได้ติดตามข่าวสารของโลกเป็นอย่างดีด้วย

ที่สำคัญก็คือร่องรอยที่แสดงให้เห็นว่าท่านใส่ใจกับเหตุการณ์บ้านเมืองในเกาะลังกา จนกระทั่งเอามาแต่งเป็นวรรณกรรมเรื่องยาวขนาดนี้ได้

ถ้าสุนทรภู่ไม่เคยไปลังกานี่สิ ที่ผมเห็นว่าน่าจะเป็นเรื่องแปลก

ภาพจาก : http://www.thaivacationholiday.com