นิกาย “มหายาน” : เสถียร โพธินันทะ [ดังได้สดับมา]

จากนั้น เสถียร โพธินันทะ สรุปว่า พุทธมามกะฝ่ายมหายานจะต้องประกอบด้วย “มหาจตุรปณิธาน” 4 กล่าวคือ

(1) เราจะละกิเลสทั้งหลายให้หมด

(2) เราจะศึกษาธรรมทั้งหลายให้เจนจบ

(3) เราจักโปรดสัตว์ทั้งหลายให้สิ้น

(4) เราจะต้องบรรลุพุทธภูมิ

ทั้ง 4 ปณิธานนี้จะต้องเป็นอุดมคติประจำใจของผู้ปฏิบัติธรรมฝ่ายมหายาน

มหายานสอนว่า การตรัสรู้ธรรมนั้นมีวิถีอยู่ 2 อย่างคือ 1 การพึ่งอำนาจแห่งศีล สมาธิ ปัญญา ลำพังของตนเอง เรียกในภาษาจีนว่า “จื้อลัก”

อีกอย่าง 1 ได้แก่ การขอพึ่งอานุภาพของพระพุทธเจ้า พระโพธิสัตว์ ให้ช่วยเหลือ คุ้มครอง ปลอดจากการรบกวนของหมู่มารกิเลส แลให้เข้าถึง “โพธิ” โดยง่าย เรียกว่า “ทาลัก”

นิกายสุขาวดี นิกายมนตรยาน สงเคราะห์เข้าในฝ่าย “ทาลัก”

ส่วนนิกายเซนนั้นเป็นฝ่าย “จื้อลัก” นิกายอื่นๆ เข้าลักษณะฝ่าย “จื้อลัก” แต่มักจะถือรวมๆ กันไปทั้ง 2 วิถีในบรรดาสาวกของนิกายต่างๆ

ขณะเดียวกัน ปรัชญาของมหายานก็สรุปลงได้เป็น 2 สายคือ สายศูนยตวาทิน สายอัสติวาทิน

สายศูนยตวาทิน (คงจง) ได้แก่ ปรัชญาซึ่งอาจารย์นาคารชุนเป็นผู้ประกาศความคิดตามแนวปรัชญานี้อย่างพิสดาร

ศูนยตวาทินถือว่าสังขตธรรมก็ดี อสังขตธรรมก็ดี โดยสภาพปรมัตถ์แล้วย่อมมีภาวะอันเดียวคือ “ศูนยตะ”

แต่ส่วนโลกียสมมติแล้วก็ย่อมรับรองตามบัญญัติว่ามีนั่นมีนี่ บุญบาปสัตว์บุคคล

แม้กระทั่งพระนิรวาณ ว่าโดยโลกิยะแตกต่างกันจริง แต่เมื่อว่าโดยปรมัตถ์มีสภาพเท่ากันหมดคือ สูญ

ศูนยตวาทินไม่กล่าวถึงมูลการณะของโลก ในฐานะเป็นภาวะอันมีอยู่โดยตัวมันเอง ซึ่งเป็นพระพุทธมติดั้งเดิมในข้อว่าสัพเพ ธัมมา อนัตตา นั่นเอง

ศูนยตวาทินปฏิเสธภาวะความมีอยู่โดยตัวมันเองอย่างเด็ดขาด ไม่ว่าจะเป็นโลกิยธรรมหรือโลกุตตรธรรม เพราะเหตุนั้นจึงชื่อว่าศูนยตวาทิน ฝ่ายอัสติวาทินกลับตรงกันข้าม ถือว่าศูนยตาวาทินเป็นนัตถิกทิฏฐิ

เพราะสิ่งทั้งปวงไม่ควรจะสูญหมด ด้วยหากเป็นดังนั้น ก็เป็นการลบล้างหลัก “ปฏิจจสมุปบาท”

อัสสวาทิน (อู้จง) นั้นแบ่งออกเป็น 2 กิ่ง คือ กิ่งปรัชญาจิตตภูตตถตาวาทิน 1 กิ่งจิตตอนิจจตาวาทิน 1

กิ่งแรกกล่าวถึงมูลการณะของโลกว่าเป็นภาวะที่มีอยู่โดยตัวมันเองซึ่งเรียกว่า “จิตสากล” อันเป็นสภาพที่ทรงอยู่ทั่วไปในสรรพสัตว์

ภาวะอันนี้มีชื่อเรียกต่างๆ เช่น พุทธภาวะ (ฮุดแส่) ตถาคตครรภ์ (ยูไล่จั๋ง) สัตยาตมัน (จิงฮั้ว) สัตยจิตต (จิงซิม) ธรรมกาย (ฮวบซิง) ฯลฯ ปรากฏการณ์ต่างๆ เป็นเพียงพฤติภาพของสภาพสากลอันนี้เท่านั้น พระสูตรมหายานส่วนใหญ่เป็นของฝ่ายนี้มากและเจริญมากในจีนกับญี่ปุ่น

กิ่งที่ 2 ถือว่า อาลยวิญญาณหรือจิตเกิดดับเป็นสันตติธรรม ปรากฏการณ์ทั้งหลายเป็นเงาสะท้อนของจิต

แต่สภาพความเกิดดับสืบเนื่องกันตลอดจนเหตุปัจจัยต่างๆ ของปรากฏการณ์ซึ่งเรียกว่าพลังงานบ้าง พีซะบ้าง อันเก็บอยู่ในจิตธาตุนั้นมีอยู่โดยปรมัตถ์ จะปฏิเสธว่าไม่มีอย่างศูนยตวาทินไม่ได้

ปรัชญากิ่งนี้ไม่รับเรื่องมูลการณะของโลกของอมตภาวะสากลแผ่ซ่านทั่วไปอย่างกิ่งต้น เพราะฉะนั้น จึงควรเรียกว่า “จิตตอนิจจตาวาทิน” หรือมีชื่ออีกชื่อหนึ่งโดยตรงว่า “วิชญาณวาทิน” (วิญญาณวาท) หรือโยคาจาร

ต้องยอมรับว่า การถ่ายทอดของ เสถียร โพธินันทะ ค่อนข้างสลับซับซ้อน โดยเฉพาะในเรื่องของศัพท์ที่บัญญัติ อันเป็นการถอดมาจาก “ภาษาจีน”

แต่เมื่อนำมาประสานเข้ากับภาษาสันสกฤตอันเป็นรากฐานเดิมของศัพท์ และเมื่อนำมาเปรียบเทียบกับภาษาบาลีอันเป็นความเคยชินโดยทั่วไปของฝ่ายเถรวาทอันเป็นกระแสหลักอยู่ในสังคมพุทธศาสนาของไทย

กระนั้น เมื่อค่อยๆ ทำความเข้าใจก็จะสามารถต่อเนื่องไปได้