คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง : ศาสนาโขนละคร กับ “เที่ยวไทยมีเฮ”

คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง

ผมดูมิวสิกวิดีโอ “เที่ยวไทยมีเฮ” นำแสดงโดย คุณเก่ง ธชย ครั้งแรกแล้วก็รู้สึกงงๆ ว่า เหตุใดมี “ผู้ใหญ่” บางท่านถึงกับต้องออกมาร้องเรียนว่าไม่เหมาะสม

นอกจากฉากหยอดขนมครก เซลฟี่ และขี่โกคาร์ต ทศกัณฐ์และพลเสนาก็ยังรักษาชุดเครื่องแต่งกายและท่วงท่าแบบรำไทยไว้ ไม่ได้ไปทำอะไรแปลกแหวกแนวขนาดที่จะต้องตกใจอย่างนั้น

จนมาฟังคำสัมภาษณ์ของ อาจารย์สิริชัยชาญ ฟักจำรูญ ผู้อำนวยการสถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ กรมศิลปากร ถึงได้ค่อยๆ นั่งแกะได้ว่า ที่หลายท่านโดยเฉพาะคนทางฝ่ายดนตรีนาฏศิลป์คิดว่าไม่เหมาะเพราะอะไร

อาจารย์ท่านว่าการแสดงโขนมีพิธีกรรม เมื่อมีการแต่ง “เครื่องโขน” ในเอ็มวี จึงอาจไม่เหมาะในลักษณะที่มาแสดงตลก ถ้าใช้ตัวการ์ตูนยักษ์หรือแอนิเมชั่นน่าจะไม่มีปัญหา (อันที่จริงถ้าใครเคยชมโขนตอนที่ทศกัณฐ์เกี้ยวสีดา อันนั้นก็ทำให้ทศกัณฐ์เป็นตัวตลกพอดู ทศกัณฐ์จึงน่าจะพอตลกนิดๆ ได้กระมัง)

นำมาสู่ประเด็นที่ผมพยายามทำความเข้าใจนอกเหนือประเด็นที่คนอื่นท่านกล่าวแล้ว เช่น ความเข้าใจเรื่องการอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมที่คับแคบ การไม่ยอมเปลี่ยนแปลงตามยุคสมัย แต่คือประเด็นด้าน “ความเชื่อ”

ซึ่งผมว่าประเด็นนี้ต่างหากที่ทำให้ ท้าวทศพักตร์ใน “เที่ยวไทยมีเฮ” เป็นเรื่องใหญ่

นาฏกรรมโบราณไม่ว่าที่ไหนในโลก ล้วนแต่เป็น “พิธีกรรม” มาก่อนทั้งนั้น

ไม่ว่าเพื่อจะบรรสานตนเองเข้ากับ “จังหวะ” ของจักรวาลหรือโลกธรรมชาติ หรือสำแดงออกซึ่งภาวะพิเศษในการติดต่อกับสิ่งศักดิ์สิทธิ์

ในโลกตะวันตก นาฏดนตรีค่อยๆ แยกตัวออกจากศาสนาและความเชื่อทีละน้อย ที่สุดจึงมีที่ทางของตนในฐานะศิลปะแบบโลกย์ๆ ซึ่งกลายเป็นศิลปะบันเทิง โดยไม่จำเป็นต้องข้องเกี่ยวกับศาสนาอีกต่อไป

แต่ในตะวันออก ศิลปะการแสดงตามขนบยังเกี่ยวพันกับศาสนาและความเชื่อชนิดที่เหนียวแน่น และแฝงเร้นอยู่ในแบบแผน จารีต และพิธีกรรมที่เกี่ยวข้อง

ดังนั้น “โขน” จึงมีสถานะซ้อนกันสองอย่าง สถานะหนึ่งคือยังคงเป็น “พิธีกรรม” และอีกสถานะคือ “ศิลปะการแสดง”

ที่ท่านอธิการบดีสถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์พูด ผมว่าสะท้อนความเชื่อนี้ได้ดี ท่านไม่ได้ห่วงว่าจะเอาตัวละครในวรรณกรรมไทยไปทำเสียหายเป็นหลักนะครับ แต่ท่านบอกว่าเพราะใส่ “เครื่องโขน” ไปทำกริยาบางอย่างมันจึงไม่เหมาะสม

อันนี้น่าสนใจ เพราะหัวโขน เครื่องแต่งกายและเครื่องโรง ก็เหมือนกับโขน คือมีสองสถานะ เป็นทั้งอุปกรณ์การแสดงและสิ่งของศักดิ์สิทธิ์

แม้แต่ตัวละครที่เป็นฝ่ายร้ายอย่างทศกัณฐ์ ยามเมื่อออกจากเวทีการแสดง หัวโขนและเครื่องโขนทศกัณฐ์ก็ถือเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหมด ไม่เกี่ยวว่าตัวละครนั้นจะเป็นตัวใด

ขนาดผ้านุ่งผ้ายกจะเอาไปทิ้งขยะกุมฝอยยังไม่ได้ โดยประเพณีเขาให้เอาไป “จำเริญ” คือลอยน้ำเท่านั้น

โขนละครไทยมีศาสนาเป็นของตัวเอง คือ “ศาสนาไทย” ได้แก่ผีพราหมณ์พุทธนี่แหละ แต่ศาสนาของโขนละครมีผีเป็นรากฐานที่เข้มแข็งภายใต้ฉากหน้าที่ดูเป็นพราหมณ์และมีพุทธปนอยู่นิดหน่อย

หลายท่านเสนอว่า โขนอาจมีที่มาที่เก่าแก่มากภายใต้รากเหง้าของเราเอง ก่อนจะรับพราหมณ์มาผสมผสาน ดังนั้น สิ่งเหล่านี้จึงยังอยู่จนถึงทุกวันนี้

ในบรรดาการแสดงของไทย โขนนั้น “แรง” สุด เพราะไม่ใช่เป็นแค่ผีชาวบ้าน แต่เป็น “ผีหลวง” คือกลายเป็นประเพณีราชสำนัก ที่เสริมพลังจากคติแบบพราหมณ์เข้ามาอีก

รามายณะ ที่ดัดแปลงมาเป็นรามเกียรติ์ สำหรับแสดงโขนเอาเข้าจริงๆ ก็เป็นเรื่อง “แรง” ทั้งเข่นฆ่ากันเต็มไปด้วยภูตผีอมนุษย์ และเป็นนิทาน “ขอฝน” จึงเข้ากับความเชื่อเดิมเราทุกอย่าง เราจึงรับมาใช้ได้อย่างสบายกับโขน

คุณสุจิตต์เคยเสนอว่า ประเพณีไหว้ครูนั้น แต่เดิมมาจากเลี้ยงผีเดือนห้า ไหว้ครูถึงทำในหมู่วิชาชีพต่างๆ รวมทั้งพวกศิลปะการแสดง

พิธีการครอบนั้น แม้จะอธิบายด้วยความเข้าใจสมัยใหม่ว่า เป็นการอนุญาตให้เล่าเรียนวิชา ที่จริงทางหนึ่งคือการ “สืบผี” นั่นเอง

หน้าโขนหรือศีรษะโขน “พ่อแก่” เป็นตัวอย่างที่ผมสนใจ เพราะในตำราไหว้ครูตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 4 ก็ไม่ได้ออกชื่อท่านว่าเป็นพระฤๅษีองค์ไหน แต่นิยมก็เรียก “พ่อแก่” มาตลอด

ผมเข้าใจว่านี่คือหน้ากาก “ครู” แบบเดียวกับ “หน้าพราน” ซึ่งหมายถึงผีบรรพบุรุษ แล้ววิวัฒน์ไปบวชพราหมณ์ทีหลัง ร่องรอยคือการเรียกว่า “พ่อแก่” แบบเดียวกับเรียกบรรพบุรุษ

ลัทธิฤๅษี บรรพบุรุษ พราน ผี หน้ากาก ครู สิ่งเหล่านี้ล้วนมีอยู่ในศาสนาผีทั้งนั้น แต่ความหมายแปรผันไปมาตามกาลเวลา

ที่เข้าใจกันว่าพ่อแก่เป็นพระนารทมุนี และพระภรตมุนีตามอย่างแขก ก็โดยความรู้จากท่านอาจารย์มนตรี ตราโมท และความตื่นตัวทางภารตวิทยาในช่วงไม่กี่สิบปีมานี้เอง

ผมเดาว่าด้วยเหตุนี้ “ผู้ใหญ่หลายท่าน” จึงไม่พอใจกับการที่นักแสดงโขนที่ใส่เครื่องโขนครบชุดไปหยอดขนมครก เพราะลึกๆ แล้วมันขัดกับขนบความเชื่อของท่านในศาสนาโขนละคร ไม่ใช่เพราะเหตุผลอื่น

ทั้งนี้ ในเมื่อโขนดำรงสองสถานภาพ คือพิธีกรรมหนึ่งของศาสนาแบบไทยหรือศาสนาโขนละคร กับศิลปะการแสดง ซึ่งในทางหนึ่งอาจดูขัดกัน เพราะพิธีกรรมโบราณย่อมอยากรักษาอะไรเก่าๆ ไว้ กับศิลปะซึ่งต้องหาทางวิวัฒน์ไปมิฉะนั้นจะตายเสีย

ผมว่าในที่สุดแล้ว มันอาจไม่ถึงกับขัดกันจนไปกันไม่ได้ พิธีกรรมหรือความศักดิ์สิทธิ์นั้น ผมว่า เรามีสิทธิ “ตีความ” ได้ ภายใต้บริบทที่เปลี่ยนไป

หากความศักดิ์สิทธิ์ของศิลปะ (โดยเฉพาะตะวันออก) มีแก่นแกนอยู่ที่การดึงมนุษย์ให้เข้าถึงความงาม อันเป็น “ทิพยภาวะ” คงไม่ได้มีเพียงแต่การรักษาขนบจารีตเท่านั้นที่จะทำให้เข้าถึงเป้าหมายเช่นนี้ได้

ที่สำคัญ ศิลปินที่ฝึกฝนเรียนรู้จนกระทั่งเกิดทักษะและเข้าใจแก่นแท้ “ความศักดิ์สิทธิ์” ของศิลปะการแสดงและนำมาให้แก่ผู้ชมได้ เมื่อนั้นแม้ไม่ต้องป่าวประกาศว่าศักดิ์สิทธิ์ แต่ผู้มีใจละเอียดอ่อนทั้งหลายย่อมเข้าใจ เคารพ แม้จะมีรูปแบบนำเสนอต่างไปจากขนบเพียงใดก็ตาม

เรียกว่า “ถึง” ทั้งคนรำร้องและคนดู ซึ่งคนโขนที่ผมเห็นว่า “ถึง” แบบนี้ ตัวอย่างคือ คุณพิเชฐ กลั่นชื่น ศิลปินโขนที่ไปไกลกว่า “ไทย” เสียแล้ว และในขณะเดียวกันก็เข้าถึง “แก่น”ของศิลปะการแสดง “ไทย” ถึงแก่น

อันที่จริงผมคิดว่า มิวสิกวิดีโอ “เที่ยวไทยมีเฮ” แม้จะสนุกมาก แต่สำหรับผมออกจะไม่ได้ “ร่วมสมัย” หรือมีอะไร “ใหม่” ขนาดที่ควรจะต้องตกอกตกใจ เพราะนอกจากจะไม่มีการตีความอะไรใหม่ๆ เกี่ยวกับการแสดง “โขน” (คือยังใช้ท่วงท่า และอะไรตามขนบเกือบทั้งหมด เพิ่มไปแค่กิจกรรมที่ไม่เคยมี)

แถมยังผลิตซ้ำ “ความเป็นไทย” แบบเดียวกับที่นักอนุรักษ์ชอบ คือ ความสูงส่งสวยงามตามขนบ มิฉะนั้นคงไม่เลือก “โขน” และตัวละครอย่าง “ทศกัณฐ์” มาใช้โปรโมตการท่องเที่ยวไทย

มโนคติว่า โขน “ตามขนบ” เป็นการแสดง “ชั้นสูง” จึงยังแฝงอยู่อย่างเต็มที่ในเอ็มวีนี้ พร้อมความพริ้งเพราพรรณราย

จึงไม่แปลกนะครับ ที่จะมีเสียงเชียร์จากโลกออนไลน์กระหึ่ม เพราะเรายังคงชอบอะไรพริ้งเพรา “ชั้นสูง” และ “ความเป็นไทย” ที่ไม่ถูกตีความเป็นอื่น เพียงแต่เปลี่ยนที่ทางและ “บิด” นิดหน่อย

และนั่นทำให้ผมรู้สึกว่าเราไม่ได้ก้าวหน้าไปไหนทั้งสิ้น ไม่ว่าจากฝ่ายไหนก็ตาม

สําหรับคนฝ่าย “ก้าวหน้า” เหมือนจะน่าปลื้มใจที่ชาวเน็ตส่วนมากแห่ไม่เห็นด้วยกับกรณีที่มีการร้องเรียนมิวสิกวิดีโอ “เที่ยวไทยมีเฮ” ซึ่งใช้ตัวละครโขน “ทศกัณฐ์” ทำการหยอดขนมครกและอะไรต่างๆ เพื่อโปรโมตการท่องเที่ยวว่าไม่เหมาะสม

ที่จริงภายใต้ความน่าปลื้มใจ

ผมรู้สึกว่ามีอะไรแปลกๆ อยู่พอควรทั้งฝ่ายร้องเรียนและฝ่ายไม่เห็นด้วย