วิกฤติศตวรรษที่21 : วิกฤติประชาธิปไตย – ประชาธิปไตยในท่ามกลางความขัดแย้ง

วิกฤติประชาธิปไตย (1)

ประชาธิปไตยในท่ามกลางความขัดแย้ง

ในขณะนี้ได้เกิดความเห็นพ้องกันทั่วไปทั้งฝ่ายขวาและฝ่ายซ้ายว่า ประชาธิปไตยกำลังตกอยู่ในภาวะวิกฤติ

ประชาธิปไตยที่ว่านี้หมายถึงเสรีประชาธิปไตยหรือประชาธิปไตยแบบตะวันตก

หรือกว้างกว่านั้นคือประชาธิปไตยในระบบทุนที่เป็นเสาหลักของอุดมการณ์ทางการเมืองของโลกตั้งแต่การปฏิวัติอเมริกาและการปฏิวัติฝรั่งเศส

ในครึ่งหลังศตวรรษที่ 18 ประเทศด้อยพัฒนาที่อยู่ห่างไกลทั้งหลายที่ถูกแรงกดดันจากสินค้าอุตสาหกรรม เรือปืน และการเผยแพร่ทางค่านิยมและอารยธรรม ได้พยายามดัดแปรตนเองให้ “เป็นตะวันตก” ในนั้นมีอุดมการณ์เสรีประชาธิปไตยรวมอยู่ด้วย

แต่ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศอาณานิคมและกึ่งอาณานิคมกับมหาอำนาจตะวันตกมีหลายมิติ

ด้านหนึ่ง ประเทศชายขอบต้องการเจริญก้าวหน้าเป็นประเทศศิวิไลซ์แบบตะวันตก

อีกด้านหนึ่งต้องการรักษาเอกลักษณ์และอำนาจอธิปไตยของตน เกิดเป็นขบวนการที่เรียกกันว่า “การปฏิวัติประชาชาติประชาธิปไตย” ขึ้นทั่วไป เพื่อการสร้างชาติสมัยใหม่ที่เป็นเอกราช มีระบบปกครองที่สามัญชนมีส่วนร่วม

“เทียนวรรณ” นักคิดไทยสมัยรัชกาลที่ห้า เขียนเป็นคำกลอนว่า “ไพร่เป็นพื้นยืนร้องทำนองชอบ ตามระบอบปาลิเมนต์ประเด็นขำ แม้นนิ่งช้าล้าหลังยังมิทำ จะตกต่ำน้อยหน้าเวลาสาย”

ในประเทศตะวันตกที่เป็นต้นตอของระบอบเสรีประชาธิปไตยเอง เส้นทางประชาธิปไตยก็มิใช่ว่าจะราบรื่น ต้องทำศึกหลายด้านพร้อมกัน

คือ

1)

ต้องต่อสู้กับระบบปกครองเก่ามีระบบฟิวดัลเป็นต้น ที่ไม่ยอมสูญเสียอำนาจไปง่ายๆ จนกระทั่งหลังสงครามโลกครั้งหนึ่ง ระบบกษัตริย์ในยุโรปจึงคลายอิทธิพลลงไปมาก

ที่ญี่ปุ่นจนถึงสิ้นสงครามโลกครั้งที่สอง ระบบจักรพรรดิจึงล่มสลาย

2)

ต้องต่อสู้กับความคิดสังคมนิยมที่เข้าข้างคนงาน ผู้ยากไร้ ความคิดสังคมนิยมเหล่านี้ได้ตกผลึกเป็นลัทธิมาร์กซ์ เรียกกันว่า “สังคมนิยมที่เป็นวิทยาศาสตร์” เป็นสังคมนิยมที่ประสานกับการปฏิวัติของชนชั้นคนงาน มีการจัดตั้งพรรคการเมือง องค์กรแนวร่วม กำหนดการทางการเมืองของตน เพื่อการสร้างสังคมสังคมนิยม และก้าวไปสู่สังคมที่ไม่มีชนชั้นไม่มีรัฐในที่สุด

มาร์กซ์ได้โจมตีประชาธิปไตยแบบทุนนิยมไว้ว่า “อำนาจของรัฐสมัยใหม่เป็นแต่เพียงคณะกรรมการจัดการธุรกิจร่วมกันของชนชั้นนายทุนทั้งชนชั้นเท่านั้น” (แถลงการณ์พรรคคอมมิวนิสต์ 1948 ฉบับพากษ์ไทย)

พลังของลัทธิมาร์กซ์มีส่วนก่อการเคลื่อนไหวของชนชั้นคนงานอย่างครึกโครม

จนเกิด “คอมมูนปารีส” (1871) และการปฏิวัติสังคมนิยม สร้างประเทศสังคมนิยมขึ้นเป็นครั้งแรกที่รัสเซียในปี 1917 ช่วงสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง

ซึ่งเป็นห้วงเวลาที่ตะวันตกเผชิญวิกฤติร้ายแรงเป็นครั้งแรก เป็นจุดที่นักวิเคราะห์หลายคนเห็นว่า เป็นการเสื่อมถอยของอารยธรรมตะวันตก

อย่างไรก็ตาม หลังการขับเคี่ยวเป็นเวลาหลายสิบปี กลายเป็นว่าระบบสังคมนิยมที่มีสหภาพโซเวียตเป็นแกน กลับเป็นฝ่ายล่มสลายลงก่อน และหันมาเดินหนทางทุนนิยมเต็มตัว

ระบบสังคมนิยมในประเทศที่เหลือเกือบทั้งหมดเดินหนทางทุนนิยมในระดับต่างๆ กัน

3)

เป็นการต่อสู้ภายในระบบทุนนิยมหรือระบบเสรีประชาธิปไตยเอง

อดัม สมิธ ผู้ได้ชื่อว่าเป็นบิดาแห่งระบบทุนนิยม ได้เขียนถึงความขัดแย้งระหว่างกลุ่มนายทุนกับสาธารณชนในงานเอกของเขาชื่อ “ความมั่งคั่งของประชาชาติ” (1776) ความตอนหนึ่งว่า

“อย่างไรก็ตาม ผลประโยชน์ของผู้ประกอบการค้า (หมายถึงเจ้าของหลักทรัพย์ เจ้าของโรงงานอุตสาหกรรมและพ่อค้านักธุรกิจ) ในบางสาขาการค้าและการผลิตมักต่างกัน กระทั่งอยู่ตรงข้ามกับผลประโยชน์ของสาธารณะ การขยายตลาดและการลดการแข่งขันจะเกิดประโยชน์แก่ผู้ประกอบการค้าเสมอ ขณะที่การขยายตลาดอาจพอสอดคล้องกับผลประโยชน์ของสาธารณะได้บ้าง แต่การลดการแข่งขันจะขัดกับผลประโยชน์ของสาธารณะเสมอ มันมีประโยชน์เพียงทำให้ผู้ประกอบการค้าสามารถเพิ่มกำไรได้มากกว่าที่ควรเป็น สามารถบังคับให้เพื่อนร่วมชาติของเขาต้องแบกรับภาษีที่ไร้เหตุผลนี้ไว้”

ความตอนนี้อธิบายได้ว่า การผูกขาดจะทำลายระบบทุน ก่อให้เกิดไม่ไว้วางใจต่อพ่อค้านักธุรกิจ

เกิดการขูดรีดคนงานอย่างหนัก

การผูกขาดยังนำมาสู่การควบคุมรัฐบาลในการออกกฎระเบียบที่เอื้อต่อนายทุน เช่น การลดภาษีคนรวย รีดภาษีคนจน (ดูบทความชื่อ Adam Smith on the Crisis of Capitalism ใน machineofpolitics.wordpress.com 04.01.2014)

สิ่งที่สังเกตเห็นในสายตาของนักวิชาการอย่างเช่นอดัม สมิธ ก็ได้สังเกตเห็นในอเมริกาตามสายตาของนัก บริหารอย่างเช่น จอห์น อดัมส์ (มีชีวิตระหว่าง 1735-1826) ด้วยเช่นกัน

อดัมส์เป็นบิดาผู้ก่อตั้งสหรัฐคนหนึ่ง เขาเป็นประธานาธิบดีคนที่สองต่อจากจอร์จ วอชิงตัน (1797-1801) และดำรงตำแหน่งรองประธานาธิบดีในสมัยวอชิงตันด้วย (1789-1797)

อดัมส์เชื่อว่า ความมั่งคั่งเป็นอำนาจทางการเมืองที่ทรงพลังในสังคมสมัยใหม่ ไม่ใช่เพียงเพราะว่าเงินสามารถซื้ออิทธิพลได้ หากยังเกิดจากพลเมืองทั้งหลายมักชื่นชม กระทั่งเข้าข้างกับคนรวย

เขาเห็นว่าความมั่งคั่งมีอิทธิพลคล้ายกับความงามหรู มันทำให้ผู้เป็นเจ้าของโดดเด่นออกมา ก่อให้เกิดความชื่นชอบและความเลื่อมใส

พลเมืองทั้งหลายมักเลือกและเข้าข้างคนรวย ไม่ใช่เพราะอย่างที่กล่าวกันว่า ผู้คนเหล่านี้ต้องการอยากรวยบ้างในวันหนึ่งข้างหน้า แต่เป็นเพราะพวกเขานับถือคนรวยและยอมรับความปรารถนาของเศรษฐีเหล่านี้

กล่าวอีกอย่างหนึ่งคือ “ความมั่งคั่งอันยิ่งใหญ่ ได้เข้าเกาะกุมจิตใจของมนุษย์”

ดังนั้น ชนชั้นคนกลุ่มน้อยนี้ก็จะขึ้นมาคุมอำนาจของประเทศ เขาเรียกพวกนี้ว่า “คนหมู่น้อย” “พวกตระกูลสูง” “พวกงามหรู” และ “พวกเศรษฐี”

อดัมส์เห็นว่าพวกนักปฏิวัติประชาธิปไตยยังมองข้ามประเด็นนี้ไปว่า “อำนาจของอภิสิทธิ์ชนได้หยั่งรากลึก และสามารถดำรงอยู่ต่อไปได้อีกในสาธารณรัฐประชาธิปไตย (ในอเมริกา)” (ดูงานศึกษาชื่อ John Adams and the Fear of American Oligarchy ของนักวิชาการรุ่นใหม่ คือ Luke Mayville เผยแพร่ครั้งแรกปี 2016 เป็นต้น)

เห็นได้ว่าชนกลุ่มน้อยที่จอห์น อดัมส์ กล่าวถึง ก็ตรงกับพวก “ร้อยละหนึ่ง” ที่ขบวนการยึดครองวอลล์สตรีต กล่าวถึงในปี 2011 แต่ด้วยคำอธิบายรายละเอียดที่ต่างกันออกไปบ้าง

จอห์น อดัมส์ ได้กล่าวถึงความเป็นไปของระบอบประชาธิปไตยเหมือนเป็นคำทำนาย โดยใช้ประสบการณ์จากสงครามปฏิวัติอเมริกาที่นองเลือด และความขัดแย้งระหว่างคนหมู่น้อยกับสาธารณชนที่คุกรุ่นอย่างน่ากลัวว่า

“ประชาธิปไตยขณะที่ยังดำรงอยู่…จะนองเลือดยิ่งกว่าการปกครองของชนชั้นสูงหรือระบบกษัตริย์ จงจำไว้ว่าประชาธิปไตยไม่ได้ดำรงอยู่นาน ไม่ช้ามันจะผุพัง หมดพลัง และฆ่าตัวตาย ไม่มีประชาธิปไตยที่ไหนไม่ฆ่าตัวตาย”

คําทำนายของอดัมส์มีด้านที่เป็นจริง

นั่นคือเสรีประชาธิปไตยและระบบทุนมีด้านที่โจเซฟ ชุมปีเตอร์ (1883-1950) นักเศรษฐศาสตร์สหรัฐเชื้อสายออสเตรีย เรียกอย่างไพเราะในภายหลังว่า “การทำลายเชิงสร้างสรรค์”

อธิบายว่า “คือกระบวนการผ่าเหล่าทางอุตสาหกรรมที่เร่งการปฏิวัติโครงสร้างทางเศรษฐกิจจากภายใน เร่งทำลายการผลิตแบบเก่า และเร่งสร้างการผลิตแบบใหม่”

ตัวอย่างการทำลายเชิงสร้างสรรค์ในระบบทุน เช่น การทำลายการผลิตแบบเกษตรดั้งเดิมด้วยการผลิตแบบอุตสาหกรรม

การทำลายชนบทด้วยการเป็นเมืองการทำลายครอบครัวขยายด้วยครอบครัวเดี่ยว และทำลายครอบครัวเดี่ยวด้วยครอบครัวตัวคนเดียวหรือแม่-พ่อเดี่ยว

ทำลายสื่ออะนาล็อกด้วยสื่อดิจิตอล

และการทำลายแรงงานมนุษย์หรือการทำงานอย่างมีความหมายของมนุษย์ด้วยหุ่นยนต์และปัญญาประดิษฐ์

นับวันการทำลายเชิงสร้างสรรค์ก็ยิ่งดุเดือดรุนแรงขึ้นทุกที (ลัทธิมาร์กซ์อธิบายปรากฏการณ์นี้ว่าเป็นกระบวนการสะสมและทำลายล้าง ความมั่งคั่งภายในระบบทุนนิยม)

พิจารณาเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์ พบว่าการสถาปนาประชาธิปไตยในยุโรป คละคลุ้งด้วยคาวเลือดในช่วงยุคแห่งความสยดสยองในการปฏิวัติฝรั่งเศส และสงครามนโปเลียน

การแผ่ประชาธิปไตยของตะวันตกไปทั่วโลกได้ก่อสงครามและปฏิวัติขึ้นนับไม่ถ้วน จนถึงขณะนี้ก็ยังปรากฏทั่วไป ในตะวันตกเองก็ส่งผลให้เกิดสงครามโลกถึงสองครั้ง ทำลายชีวิตและและทรัพย์สินของผู้คนยิ่งกว่าสงครามครั้งใดๆ

แต่มีส่วนที่ทำนายผิดก็คือ ระบอบเสรีประชาธิปไตยและระบบทุนมีความคงทนกว่าที่คาดมาก มีการฆ่าตัวตายหลายครั้ง ด้วยการทำสงครามระหว่างหมู่นายทุนด้วยกันเอง แต่ก็รอดฟื้นชีวิตขึ้นมาได้

ตัวอย่างความขัดแย้งในหมู่นายทุนที่ปะทุขึ้นเป็นสงครามที่จะกล่าวถึงได้แก่ สงครามกลางเมืองสหรัฐ (1861-1865) ระหว่างทุนเกษตรกรรมที่ต้องการรักษาสังคมแบบเกษตรกรรมและธำรงระบบทาสไว้ ต้องการระบบปกครองแบบสมาพันธรัฐ

กับทุนอุตสาหกรรมที่ต้องการสร้างอารยธรรมเมืองทันสมัยและแรงงานเสรี ต้องการระบบปกครองแบบสหพันธรัฐ

ผลปรากฏทุนอุตสาหกรรมชนะ ประธานาธิบดีลินคอล์นที่อยู่ฝ่ายสหพันธรัฐประกาศชัยในสุนทรพจน์เกตตีสเบิร์ก (1863) ปลุกเร้าว่า “เป็นหน้าที่ของเราผู้ยังมีชีวิตอยู่ ที่จะสานต่องานที่ยังไม่เสร็จสมบูรณ์ของวีรชนของเรา ผู้ได้ต่อสู้และสร้างผลงานไว้อย่างสง่างาม”

เพื่อที่ว่า “รัฐบาลของประชาชน โดยประชาชน และเพื่อประชาชน จะยังคงอยู่บนโลกต่อไป”

แต่ไม่ช้าลินคอล์นได้เห็นว่า หลังสงครามกลางเมือง ชัยชนะที่แท้จริงตกเป็นของบรรษัทใหญ่และทุนการเงิน ในปี 1913 กลุ่มทุนการเงินสหรัฐได้สามารถจัดตั้งธนาคารกลางสหรัฐขึ้นได้อย่างมั่นคง และมีอำนาจทางการเมืองเพิ่มขึ้นทุกที อย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

ตัวอย่างการต่อสู้ระหว่างกลุ่มทุนครั้งสำคัญอีกครั้งได้แก่ ช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง

เป็นการต่อสู้ระหว่างกลุ่มทุนแห่งรัฐ เรียกกันว่าลัทธิฟาสซิสต์และลัทธินาซี มีเยอรมนีและอิตาลีเป็นแกน

กับกลุ่มทุนเสรี มีสหรัฐ-อังกฤษ-ฝรั่งเศสเป็นแกน

ปรากฏว่ากลุ่มทุนเสรีเป็นฝ่ายมีชัย ส่วนสำคัญเกิดจากมีสหภาพโซเวียตเป็นพันธมิตรใหญ่ กลุ่มนาซีที่เป็นทุนนิยมปีกหนึ่งถือสหภาพโซเวียตที่เป็นสังคมนิยมเป็นเป้าหมายที่ต้องทำลาย และส่งทหารหลายล้านคนเข้าโจมตีในปฏิบัติการบาร์รารอสซา (มิถุนายน 1941-ธันวาคม 1941) และพ่ายแพ้อย่างยับเยิน

แต่ลัทธิฟาสซิสต์และลัทธินาซีไม่ได้ตายไปสิ้นเชิง กลับมาเกิดใหม่เรียกว่าลัทธินาซีใหม่ เพ่งเล็งกันว่ากำลังเกิดที่สหรัฐ

ลัทธิฟาสซิสต์หรือลัทธินาซีใหม่ในศตวรรษที่ 21 ตามที่ปฏิบัติมีลักษณะเด่นดังนี้ คือ

ก) การลดภาษีให้แก่คนรวย นั่นคือยังคงสนับสนุนกลุ่มทุนข้ามชาติ

ข) เพิ่มงบประมาณทางทหารสูงลิ่ว เพื่อรักษาการครองความเป็นใหญ่ในอดีตของตนไว้ เชิดชูลัทธิทหารและลัทธิชาตินิยม

ค) สร้างความหวาดระแวงและหวาดกลัวต่อคนต่างชาติโดยเฉพาะผู้อพยพลี้ภัย ว่าเข้ามาแย่งอาชีพและก่ออาชญากรรม

ง) ในด้านตรงข้าม ได้เข้าจัดตั้งประชาชนคนงานที่ได้เปรียบ เช่น คนงานผิวขาวในประเทศพัฒนาแล้ว และชนชั้นกลางในประเทศกำลังพัฒนา เดินนโยบายประชานิยมเชิงเชื้อชาติ

จ) การฟื้นฟูค่านิยมเก่า เพื่อแสดงความเหนือกว่าทางสังคมและวัฒนธรรม

จากที่กล่าวมาจะเห็นได้ว่า ระบอบเสรีประชาชาธิปไตยต้องกรำศึกต่อสู้อยู่เสมอ และมันก็ถูกอธิบายไปต่างๆ ตามลักษณะทางชนชั้นและอำนาจ ความคงทนของระบอบประชาธิปไตยที่สามารถเอาชนะศึกเหนือระบบและลัทธิต่างๆ มาได้หลายครั้ง

ทำให้เชื่อกันว่าระบอบประชาธิปไตยจะต้องมีจุดแข็งและข้อดีในตัวมันเองหลายประการ

เหตุปัจจัยหลักของวิกฤติประชาธิปไตยและทุนนิยม น่าจะเกิดขึ้นจากจุดอ่อนของระบบทุนเองเป็นสำคัญ ที่ไม่สามารถแก้ไขด้วยตัวเองได้

ดังที่นักคิดนักวิชาการและนักบริหารของระบบทุนเองหลายคนได้กล่าวเตือนไว้ วิกฤติยังเพิ่มความร้ายแรงขึ้นอีก เมื่อยังไม่มีระบบอื่นที่แสดงตัวให้เป็นที่ยอมรับชัดเจนว่าดีกว่าเข้ามาแทนที่

ฉบับต่อไปจะกล่าวถึงสถานการณ์วิกฤติประชาธิปไตยในปัจจุบัน