สถานการณ์ “สุดสายป่าน” ไม่ง่ายที่ พล.อ.ประยุทธ์จะ “คัมแบ๊ก” เว้นเกิดปาฏิหาริย์ทางการเมือง

“ชูศักดิ์ ศิรินิล” ชี้สถานการณ์ “สุดสายป่าน” แต่ไม่ง่ายที่ พล.อ.ประยุทธ์จะ “คัมแบ๊ก” เว้นเกิดปาฏิหาริย์ทางการเมือง

ชูศักดิ์ ศิรินิล ประธานฝ่ายกฎหมายพรรคเพื่อไทย บอกถึงเหตุผล 2-3 ประการ ที่ว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะไม่ได้มาเป็นนายกฯ หลังเลือกตั้งได้ง่ายดาย

ประการที่หนึ่ง ในรัฐสภาเบื้องต้น อันดับแรก “ต้องโหวตเลือกนายกฯ ตามบัญชีพรรคการเมืองก่อน” โดยพรรคใหญ่พรรคเพื่อไทยเสนอไป 3 ชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ส่งไป 3 ชื่อ ตกลงกันว่าจะเอาอย่างไร ซึ่งก็เดาว่า พล.อ.ประยุทธ์หากจะเข้ามาคงจะไม่เข้ามาอยู่ในรายชื่อของบัญชีพรรคการเมืองใหญ่ แต่อาจจะมีพรรคที่เขาเตรียมการเอาไว้ ซึ่งตรงนี้มันไม่มีความแน่ชัดว่าพรรคนั้นๆ จะได้เสียงสักเท่าไหร่ ความชอบธรรมจุดนี้ในวิธีนี้ยังไม่มี

ประการต่อมา หากโหวตไม่ได้เขาก็จะให้เสนอญัตติว่าจะเอานายกฯ คนนอก หรือภาษาที่เขาเรียกว่านายกฯ นอกบัญชีพรรคการเมือง

ญัตตินี้จะถูกเสนอโดย ส.ส. หรือ ส.ว. ก็ได้ แล้วต้องมีเสียงรับรองเกินกว่า 2 ใน 3 แปลว่า 2 ใน 3 ของ 750 เสียง หรือ 500 เสียง (กรณีที่มี ส.ว. อยู่แล้ว 250 เสียง)

แปลว่าถ้าคุณจะรับรองญัตตินี้ได้ จะต้องมีเสียง ส.ส. เข้าไปเห็นด้วยกับญัตตินี้จำนวน 250 คน รวมกับ ส.ว. ให้ได้ 500 คน ถึงจะสามารถโหวตได้

ผมมองว่ายากก็คือ 250 เสียงนี้คุณจะเอามาจากไหน?

ผมมองว่าพรรคใหญ่ 2 พรรคคือพรรคเพื่อไทยและพรรคประชาธิปัตย์ ทั้ง 2 พรรคนี้ ผมมั่นใจว่าเสียงรวมกันแล้วจะมากกว่า 250 (อดีตที่ผ่านมาเพื่อไทยได้ 200 กว่าเสียง พรรคประชาธิปัตย์ 100 กว่าเสียง รวมกัน 300 กว่าเสียง)

ซึ่งทั้ง 2 พรรคใหญ่นี้มีแนวทางจะไม่เอานายกฯ คนนอก พรรคเพื่อไทยประกาศชัดเจนมาตลอดอยู่แล้วว่าไม่เอานายกฯ คนนอกแน่นอน เพราะไม่ใช่แนวทางของประชาธิปไตย

ส่วนพรรคประชาธิปัตย์เองผมก็ฟังๆ ดูเท่าที่ผ่านมา ก็ไปในทางเดียวกัน

คำถามคือแล้ว 250 เสียงจะถึงได้อย่างไร?

ใครจะไปรับรองญัตติดังกล่าวก็แปลว่านายกฯ คนนอกเข้ามาไม่ได้เป็นไม่ได้

หรือหากจะมองอีกแบบคือไม่เอาถึง 250 เสียงก็ได้เอาร้อยกว่าเสียง ให้เกินครึ่งของ 250 อย่างนี้คุณอาจจะเข้ามาเป็นนายกฯ เป็นรัฐบาลเสียงข้างน้อย

คุณอย่าลืมว่า สภาและรัฐบาลเข้ามาบริหาร ผ่านกฎหมายต่างๆ จะต้องผ่านสภาผู้แทนราษฎร กฎหมายคุณก็จะไม่ผ่าน เสียงไม่ถึง 250 ก็จบไปไม่รอด คุณโดนญัตติไม่ไว้วางใจก็ไปไม่รอด

เพราะฉะนั้น ผมจึงมองว่าแม้จะมีการปูทางกันไว้ขนาดนี้ แต่ด้วยบริบทอื่นๆ และดูทิศทางการเมือง ตามข้อเท็จจริงทางการเมืองในขณะนี้

ผมเชื่อว่าไม่ใช่เรื่องง่ายที่ พล.อ.ประยุทธ์จะเข้ามาในครั้งหน้า

ต่อให้คุณจะไปรวมเสียงกับพรรคเล็กพรรคน้อย ผมเชื่อว่าเป็นสิ่งที่ยากลำบากในการที่จะเข้ามาเป็นนายกรัฐมนตรี

: ปรากฎการณ์ดึง-ดูดอดีต ส.ส. และแกนนำจังหวัดต่างๆ

ต้องวิเคราะห์ว่าพรรคการเมืองเหล่านั้นที่เขาพยายามจะไปเอามา

ผมก็ไม่แน่ใจว่าไปเอาพรรคอะไรมาบ้าง อย่างล่าสุดที่เหมือนว่าจะนำเอาพรรคพลังชล หรือจะพรรคท้องถิ่นในจังหวัดไหนก็สุดแท้แต่ ก็ต้องมาวิเคราะห์กันว่าท้ายที่สุดแล้วพรรคเหล่านั้นจะได้เสียงข้างมากหรือไม่?

จะมี ส.ส. เข้ามาในสภาสักเท่าไร?

จริงอยู่ว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้ดูเหมือนว่าพรรคเล็กๆ กลางๆ อาจจะได้เปรียบ

แต่อย่าลืมว่าความได้เปรียบทั้งหลาย คุณก็ต้องส่งสมาชิกลงสมัครอย่างเต็มที่เต็มพิกัด เช่น มีอยู่ 350 เขตคุณก็ต้องส่งอย่างน้อย 300-350 เพราะว่าถ้าคุณไม่ส่งเขตก็จะไม่มีคะแนนที่จะไปคิดเป็นบัญชีรายชื่อ

เช่น คุณมีพรรคระดับกลางๆ แต่คุณส่งแค่ 100 เขตคุณก็จะได้แค่นั้นในกลุ่มนั้น ฉะนั้น โอกาสที่พรรคของคุณจะทะลุไปถึงขั้นมีเสียงเป็นร้อยเสียงผมว่าเป็นเรื่องที่จะต้องวิเคราะห์กันให้ดี

แต่ใจผมมองว่าเป็นเรื่องที่ยากลำบาก เช่น พรรคการเมืองพรรคหนึ่งถ้าไม่มีเครือข่าย ท้ายที่สุดคุณไม่สามารถที่จะไปเสาะแสวงหาตัวบุคคลเพื่อจะมาลงสมัครรับเลือกตั้งให้ได้ครบถ้วนตามเขตต่างๆ ที่มีถึง 350 เขต มันก็เป็นการยากลำบาก

ยิ่งระบบแบบนี้ ถ้าคุณอยากจะส่งคนรับเลือกตั้งเพียงแค่อยากจะส่งแค่นั้นมันไม่เพียงพอ สิ่งสำคัญที่สุดคือคนที่คุณส่งเข้าไปต้องได้คะแนน เพราะถ้าไม่มีคะแนนก็ไม่มีความหมายอะไร

ผมเองก็พยายามคิดอยู่ว่าการเลือกตั้งครั้งหน้า คะแนนเขตที่จะสามารถไปคิดเป็นปาร์ตี้ลิสต์ได้ อย่างน้อยก็ต้องประมาณ 65,000-70,000 ถึงจะได้ปาร์ตี้ลิสต์ 1 คน

ต่อให้คุณสักแต่ว่าส่งไปให้ครบถ้วน 350 แต่ในจังหวัดอื่นคุณไม่มีคะแนนก็เป็นเรื่องที่เปล่าประโยชน์

เพราะฉะนั้น แม้จะไปเสาะแสวงหาตรงไหนมาก็ตามผมคงยังเชื่อมั่นว่าในท้ายที่สุดแล้วพักใหญ่ 2 พรรคจะยังคงยืนอยู่บนถนนการเมือง และจะได้เสียงมากพอสมควร เกินกว่าพรรคอื่นๆ

การที่จะไปรวมพรรคเล็กพรรคน้อยหรือพรรคอะไรก็ตาม ผมก็ยังคิดว่าเป็นความพยายาม ที่ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะทำให้คุณจะได้เสียงเกิน 250 ในสภาผู้แทนราษฎรและสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้อย่างราบรื่น

: พรรคประชาธิปัตย์คือจุดเปลี่ยนสำคัญหลังเลือกตั้ง?

ต้องบอกอย่างตรงไปตรงมาว่า ท่าทีในระยะหลังๆ ของประชาธิปัตย์ ออกไปในทางตรงข้ามกับฝ่ายทหาร

จากคำพูดของใครหลายๆ คนในพรรคเขาก็ชัดเจนว่าจะไม่เอานายกฯ คนนอก

แต่คนอาจจะมองว่าในอดีตที่ผ่านมาอาจจะมีเหตุการณ์บางอย่างที่ทำให้เราคิดหนักไปได้เหมือนกัน

เช่น กรณีการตั้งนายกฯ ในค่ายทหาร

แต่ส่วนตัวผมก็ยังเชื่อว่าประชาธิปัตย์จะเอานายกฯ ตามวิถีทางประชาธิปไตย เท่าที่ฟังดูก็เป็นไปในทำนองนี้

: คนมองว่า “เพื่อไทยเป็นฝ่ายค้าน” – ส่วนที่เหลือรวมกันตั้งรัฐบาล

นั่นเท่ากับว่า มีพรรคใหญ่กลับคำพูดตัวเอง แล้วก็เกิดปาฏิหาริย์ทางการเมืองเกิดขึ้น

ที่ผ่านมาเขามีปาฏิหาริย์ทางกฎหมายแล้ว คนก็คิดว่าอาจจะมีปาฏิหาริย์ทางการเมืองเกิดขึ้นก็ได้

ซึ่งผมก็ไม่รู้จะทำอย่างไร แต่ผมเชื่อว่าไม่น่าจะเป็นอย่างนั้น

และขอยืนยันว่าในที่สุดแล้ว 2 พรรคใหญ่เสียงรวมกันจะเกิน 250 เสียง

ถ้าทั้ง 2 พรรคใหญ่ปฏิเสธไม่เอานายกฯ คนนอก นายกฯ คนนอกก็จะมาไม่ได้!

พล.อ.ประยุทธ์จะนอนมาก็ต่อเมื่อต้องดูว่ามีพรรคการเมืองพรรคใหญ่หันเหไปสนับสนุนหรือไม่

อันนั้นประชาชนจะได้เห็นเลยว่า อ๋อ นักการเมืองเป็นแบบนี้เอง ท้ายที่สุดเป็นการสมคบคิด

ปากคนไหนที่ประกาศว่าไม่เอาเผด็จการ ถึงเวลาไปจับมือกับเขา

อันนั้นถ้ามีขึ้นเราชอบเลย ประชาชนเขาจะได้รับรู้

: คนหลายคนตั้งคำถามว่า พรรคเพื่อไทยไม่พร้อมชก?

จริงๆ ต้องบอกว่าเหตุผลสำคัญอันหนึ่งเกิดจากกติกา และคำสั่งที่คณะรัฐประหารวางไว้ เราจะไปเคลื่อนไหวอะไรต่างๆ มีคำสั่งที่ 3/2558 ประกาศที่ 57/2557 สังเกตดูที่ผ่านมาพรรคเพื่อไทยทำอะไรก็ตามมักจะเป็นเรื่องทุกที เดี๋ยวคนนั้นถูกเรียกเข้าไปปรับทัศนคติ คนนั้นถูกควบคุมตัว 7 วัน อีกคนถูกเรียก ข้อจำกัดเหล่านี้ต้องเรียนอย่างตรงไปตรงมาว่าเป็นข้อจำกัดของเราพอสมควร เราจะประชุมหารือต่างๆ ก็กลายเป็นประเด็นทางการเมือง

https://www.facebook.com/matichonweekly/videos/2091595067534495/

แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าเราจะอยู่เฉย เราก็พยายามทำอะไรของเราไปเงียบๆ พูดคุยปรึกษาหารือกัน นานๆ เจอกันทีในงาน เราพยายามทำอย่างระมัดระวังไม่โฉ่งฉ่าง ให้เข้าเงื่อนไขที่เขาวางเอาไว้ พูดตรงๆ คือพรรคเพื่อไทยทำอะไรก็เป็นประเด็นหมด อย่างเมื่อไม่กี่วันก่อน มีไปตีกอล์ฟ คุณคิดดูแล้วกันว่าตีกอล์ฟมันจะผิดกฎหมายหรือไม่ มันก็ตลกดีนะบ้านเมืองนี้

หากเกิดความไม่เชื่อมั่นจากประชาชน เราก็ต้องพยายามอธิบาย-ชี้แจงทำความเข้าใจไปว่า เรายึดมั่นในอุดมการณ์ประชาธิปไตย อำนาจอธิปไตยของประชาชน ยืนยันที่จะเคียงข้างประชาชน ยึดมั่นในผลประโยชน์ของประชาชน แต่ขอความเห็นใจ บางคนอาจจะใช้คำพูดว่าเราไม่กล้าหรือไม่แน่จริง ผมอยากให้มองดูว่า หากเราไปทำอะไรจนตกหลุมที่เขาขุดเอาไว้ ในหลุมยังมีหอกอีก ตกลงไปก็ตายทันที

แต่หลังจากพบปะประชาชนมากมาย เราก็พยายามสื่อสารว่าไม่ได้อยู่เฉย ก็พยายามทำหรือเตรียมการไว้ในอนาคต เราจะทำอะไรก็ต้องระมัดระวังอย่างสูง

พูดง่ายๆ คือ ไม่ว่าจะเป็นรัฐประหารครั้งใด พรรคเพื่อไทยคือเป้าหมายในการทำลายล้าง เรารับรู้เรื่องนี้ดีตลอด 2549 ก็เป็นเช่นนั้น แต่เราก็สู้จนสามารถเป็นเสียงข้างมากในสภาได้

ครั้งนี้ผมมองว่าเป้าหมายก็ยังอยู่ที่พรรคเพื่อไทยเหมือนเดิม เราจึงต้องเดินด้วยความระมัดระวังและรอบคอบ

: ยังคิดว่ามีเลือกตั้ง ในปี “62?

ก็เป็นไปได้ ถึงขนาดนี้แล้ว ด้วยรัฐธรรมนูญ ด้วยคำประกาศของนายกรัฐมนตรี และด้วยกระแส และความเป็นไปที่เป็นอยู่ในขณะนี้ ผมเชื่อว่ามันจะต้องมีการเลือกตั้ง

ซึ่งอาจจะมีคนมองว่าอาจจะเป็นไปไม่ได้ก็ได้นะ

ต้องถามว่าเขาไม่เชื่อเพราะอะไร ก็ต้องบอกว่าเพราะคุณเลื่อนแล้วเลื่อนอีก ทำไมจะเลื่อนอีกสักครั้งจะไม่ได้ 4-5 รอบ คุณก็จะหาเหตุผลอีก เช่น กฎหมายที่ศาลรัฐธรรมนูญ กฎหมาย ส.ส. ส.ว. ต่างๆ ผมก็เชื่อว่าถ้ามันจะขัดข้องอะไร ก็จะเลื่อนไปไม่มาก จะถึงขนาดที่ว่าเลื่อนยาว

ส่วนตัวผมคิดว่า นี่มัน “สุดสายป่านแล้ว”

สุดแล้วจริงๆ จนไม่รู้จะไปต่อยังไง

โปรดระวังเชือกมันจะขาด แล้วว่าจะลำบาก!

รายงานพิเศษ โดย พิชญ์เดช แสงแก่นเพ็ชร์