ดับฝัน…ตั้ง “กระทรวงอุดมฯ” ต้องรอลุ้น…รัฐบาลหน้า (อีกแล้ว)

ทําเอาชาวอุดมศึกษาดีใจเก้อ ภายหลัง “พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ออกมา “ดับฝัน” เรื่องการปรับโครงสร้าง ศธ.ใหม่ ที่จะให้แยก “สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.)” ออกจาก ศธ. และจัดตั้งเป็นหน่วยงานใหม่ ซึ่งอาจตั้งเป็นหน่วยงานใหม่

โดย พล.อ.ดาว์พงษ์ ให้เหตุผลว่า “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกรัฐมนตรี มีนโยบายเกี่ยวกับการปรับโครงสร้างกระทรวงต่างๆ ว่าถ้าเป็นปรับปรุงการบริหารงานเล็กๆ น้อยๆ ก็ทำได้เลย หรือหากจำเป็นก็ขอใช้อำนาจหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) แต่หากจะปรับโครงสร้างใหญ่ ก็ให้เป็นไปตามกระบวนการ ซึ่งการแยก สกอ. จาก ศธ. ถือเป็นการปรับโครงสร้างใหญ่

ดังนั้น ในรัฐบาลนี้ จะเป็นเพียงแค่การศึกษา และวางตุ๊กตา เพื่อให้รัฐบาลหน้าดำเนินการต่อ…

ความจริงแนวคิดเรื่องการแยก สกอ. ออกจาก ศธ. เพื่อจัดตั้งเป็นกระทรวง หรือทบวง ไม่ใช่เรื่องใหม่ หรือเพิ่งเกิดขึ้นครั้งแรกในรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ เพราะภายหลังทบวงมหาวิทยาลัยถูกเปลี่ยนเป็น สกอ. และอยู่ภายใต้โครงการสร้าง ศธ.ใหม่ ซึ่งมีองค์กรหลัก 5 แห่ง และผู้บริหารสูงสุดของแต่ละแท่งเป็นผู้บริหารระดับ (ซี) 11 ในรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกฯ ในขณะนั้นได้ไม่นาน

บรรดาผู้บริหาร และประชาคมมหาวิทยาลัย ต่างออกมาเรียกร้องให้แยก สกอ. ออกจาก ศธ. อีกครั้ง เพราะเห็นว่าการรวมกันภายใต้ ศธ.ใหม่ เพื่อให้เกิดเอกภาพเชิงนโยบายในด้านการศึกษา ดูเหมือนจะ “ล้มเหลว” อย่างสิ้นเชิง เพราะงานการศึกษาในระดับอุดมศึกษา แตกต่างจากการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน

แต่ดูเหมือนจะไม่ได้รับการตอบรับ…

อย่างไรก็ตาม แม้ข้อเรียกร้องให้แยก สกอ. ออกจาก ศธ. จะไม่ได้รับการตอบรับ เพราะรัฐบาลในขณะนั้นมองว่าโครงสร้าง ศธ.ใหม่เพิ่งจะเกิดได้ไม่นาน แต่ดูเหมือนผู้บริหารมหาวิทยาลัยจะไม่ยอมแพ้ ยังคงมีการเคลื่อนไหวเพื่อยื่นข้อเสนอต่อรัฐบาลเป็นระยะๆ แม้จะมีการเปลี่ยนรัฐบาลหลายครั้งหลายครา จนมาถึงรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ และ “พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย” เป็นรัฐมนตรีว่าการ ศธ. ในขณะนั้น

เหล่าอธิการบดีก็เริ่มเคลื่อนไหวให้แยก สกอ. ออกจาก ศธ. อีกครั้ง โดยได้ยื่นผลการศึกษาวิจัยหลายครั้ง และได้ข้อสรุปว่าการรวมอยู่ภายใต้ ศธ. ทำให้อุดมศึกษาไทยไม่พัฒนาเท่าที่ควร และไม่สามารถแข่งขันในเวทีโลกได้

ดูเหมือนการเคลื่อนไหวครั้งนี้จะได้รับการตอบรับค่อนข้างดีจากรัฐมนตรีว่าการ ศธ. ในขณะนั้น แต่เนื่องจากรัฐบาลมีนโยบายเน้นผลักดันการปฏิรูปการศึกษาในทุกๆ ด้านก่อน จึงให้ชะลอการปฏิรูปในส่วนของโครงสร้างไว้ก่อน!!

กระทั่งเกิดความคึกคักขึ้นมาอีกครั้ง เมื่อ พล.อ.ดาว์พงษ์ ไปกล่าวในการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อมอบนโยบายการปฏิรูปการศึกษาให้แก่ผู้บริหารระดับสูงของสถาบันอุดมศึกษาทั่วประเทศ เมื่อเร็วๆ นี้ โดยระบุว่าได้มอบให้ “นพ.กำจร ตติยกวี” ปลัด ศธ. และ “นายสุภัทร จำปาทอง” รองปลัด ศธ. และว่าที่เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษาคนใหม่ ไปดูเรื่องการปรับโครงสร้างของอุดมศึกษา ตามที่มีข้อเสนอให้แยก สกอ. ออกจาก ศธ. และหากได้ข้อสรุปที่ชัดเจน จะต้องเร่งยกร่างกฎหมายที่เกี่ยวข้องให้เสร็จก่อนร่างรัฐธรรมนูญประกาศใช้ภายในเดือนพฤศจิกายนนี้

ซึ่งได้รับการเสียงตอบรับอย่างล้นหลามจากชาวอุดมศึกษา ที่รอรัฐบาลส่ง “สัญญาณ” ในเรื่องนี้อยู่แล้ว…

ส่วนจะจัดตั้งเป็นกระทรวง หรือทบวง ยังไม่ชัดเจน…

ทั้งนี้ ที่ผ่านมา มีการศึกษา และเสนอรูปแบบการแยก สกอ. ออกจาก ศธ. ใน 3 รูปแบบ คือ ทบวง กระทรวงการอุดมศึกษา และกระทรวงการอุดมศึกษาและวิจัย

สำหรับแนวทางที่เหมาะสมคือ กระทรวงการอุดมศึกษา เพื่อให้มีอำนาจในการกำกับดูแลมหาวิทยาลัย และเข้าไปดูแลกำกับติดตามการจัดการศึกษาให้มีคุณภาพ รวมถึง ต้องผนวกอำนาจตามคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 39/2559 เรื่องการจัดระเบียบและแก้ไขปัญหาธรรมาภิบาลในสถาบันอุดมศึกษาไว้ด้วย

ส่วนการแยก สกอ. ออกจาก ศธ. นั้น นพ.กำจร ระบุว่ามี 3 วิธี คือ

1. ดำเนินการเช่นเดียวกับการตั้งกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ยกร่าง พ.ร.บ.กระทรวงการอุดมศึกษา เสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้ความเห็นชอบ เข้าสู่การพิจารณาของกฤษฎีกา และกลับเข้า ครม. เพื่อรับร่าง พ.ร.บ.กระทรวงการอุดมศึกษา และเสนอให้สภานิติบัญญัติ (สนช.) พิจารณา ซึ่งขั้นตอนทั้งหมดจะใช้เวลาประมาณ 1 ปีก่อนประกาศใช้ ข้อดีคือมีตัวอย่างต้นแบบในการดำเนินการอยู่แล้ว แต่มีข้อกังวลคือการพิจารณาแต่ละขั้นตอนอาจเกิดความล่าช้าไม่ทันรัฐบาลนี้ และหากรอรัฐบาลหน้าก็จะเป็นปัญหาอีก

วิธีที่ 2 พ.ร.บ. นี้เคยยกร่าง และสอบถามความคิดเห็นบ้างแล้ว ส่วนใหญ่เห็นด้วย เพียงแต่ผนวกคำสั่งของหัวหน้า คสช. ที่ 39/2559 เข้าไป และขอใช้อำนาจหัวหน้า คสช. ตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 ให้ สกอ. ทำหน้าที่เป็นกระทรวงการอุดมศึกษาไปพลางก่อน และให้รัฐมนตรีว่าการ ศธ. รักษาการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษาอีกตำแหน่ง ระหว่างนี้ยกร่าง พ.ร.บ.กระทรวงการอุดมศึกษาไปด้วย ข้อดีคือค่อนข้างแน่นอนว่าจะจัดตั้งกระทรวง ระหว่างทดลองมีข้อสรุปว่าไม่ดีกว่าเดิมก็ยกเลิกได้เช่นกัน

และวิธีที่ 3 ยังไม่ต้องยกร่าง พ.ร.บ. แต่ใช้คำสั่งตามมาตรา 44 ให้ สกอ. มีอำนาจเป็นเอกเทศ มีอำนาจบริหารงานเช่นเดียวกับกระทรวง เช่นเดียวกับวิธีที่ 2 ให้เวลาประเมินการดำเนินการ หากไม่ดีก็ยกเลิกได้ทันที

ขณะที่ฝากฝั่งอธิการบดี และนักวิชาการทั้งหลาย ต่างก็ออกมาสนับสนุนเต็มที่

อย่าง “นายวันชัย ศิริชนะ” อธิการบดีมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง กล่าวว่า เมื่อรัฐบาลส่งสัญญาณให้แยกอุดมศึกษาออกจาก ศธ. คิดว่ามหาวิทยาลัยส่วนใหญ่ยินดี เพราะ 10 กว่าปีที่อยู่รวมกับ ศธ. ไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่ามีพัฒนาไปในทางที่ดีขึ้น ซึ่งที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) ได้รวบรวมข้อดีข้อเสียตั้งแต่อยู่ภายใต้ทบวงมหาวิทยาลัย กระทั่งมาอยู่ภายใต้ ศธ. พบว่าช่วงที่ในกำกับทบวงมหาวิทยาลัย มีการบริหารงานที่คล่องตัวกว่า การตัดสินใจแก้ปัญหาของรัฐมนตรีทำได้รวดเร็ว อีกทั้ง การบริหารงานของอุดมศึกษา และการศึกษาขั้นพื้นฐาน แตกต่างกันชัดเจน

“นายกิตติชัย ไตรรัตนศิริชัย”
อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น และคณะกรรมาธิการการศึกษาและการกีฬา ของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ระบุว่า การแยกอุดมศึกษาออกจาก ศธ. ควรดำเนินการให้เรียบร้อยภายในรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ เพื่อให้การวางทิศทาง และงานวิจัยในการพัฒนาประเทศมีความชัดเจนขึ้น

“นายอดิศร เนาวนนท์” คณบดีบัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา เห็นด้วยที่จะแยกอุดมศึกษาออกจาก ศธ. แต่ไม่อยากให้ควบคุมมหาวิทยาลัยมากเกินไป ควรมีหน้าที่ดูแลปัญหาธรรมาภิบาล กำหนดนโยบายให้มหาวิทยาลัยจัดการศึกษาตามทิศทางการพัฒนาประเทศ ไม่ใช่เข้ามาล้วงลูกอิสระทางวิชาการ

ปิดท้ายที่ “พระเมธีธรรมาจารย์ (ประสาร จนฺทสาโร)” รองอธิการบดีฝ่ายประชาสัมพันธ์และเผยแผ่ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (มจร) กล่าวว่า มองว่า สกอ. ควรแยกออกมาเป็นกระทรวงการอุดมศึกษา เพราะงานด้านอุดมศึกษาเป็นงานใหญ่ ทั้งนี้ การศึกษาระดับอุดมศึกษายังเป็นรากฐานที่สำคัญในการส่งคนเข้าสู่สังคม หาก สกอ. ผันตัวเป็นกระทรวงแล้ว อาตมามองว่า มจร ก็ต้องอยู่กับกระทรวงใหม่ แต่อาจพัฒนาเป็นมหาวิทยาลัยที่มีนิสิตเชี่ยวชาญด้านศาสนาเพิ่มมากขึ้น

ล่าสุด บรรดาอธิการบดี และชาวอุดมศึกษาทั้งหลาย มีอันต้อง “อกหัก” เพราะ พล.อ.ดาว์พงษ์ ยืนยันว่าในรัฐบาลนี้ จะเป็นเพียงแค่การศึกษา และวางตุ๊กตา เพื่อให้รัฐบาลหน้าดำเนินการต่อ…!!