นงนุช สิงหเดชะ/เมื่ออดีต ปธน.เกาหลีใต้ “ติดคุก” รัวๆ

บทความพิเศษ/นงนุช สิงหเดชะ

เมื่ออดีต ปธน.เกาหลีใต้ “ติดคุก” รัวๆ

ต้องปักหมุดกันไว้เสียหน่อยสำหรับการติดคุกรัวๆ ของอดีตผู้นำเกาหลีใต้ เพราะตั้งแต่ต้นเดือนมีนาคม จนถึงต้นเดือนเมษายนปีนี้ เกาหลีใต้ไม่เคยร้างลาจากข่าวใหญ่ที่เกี่ยวกับการดำเนินคดีอาญาอดีตประธานาธิบดีถึง 2 คน คือ นายลี เมียง บัก และ นางสาวปาร์ก กึน เฮ

สำหรับกรณีของปาร์ก กึน เฮ นั้น ผู้คนทั่วโลกทราบข่าวคราวมาเป็นระยะตั้งแต่เดือนมีนาคมปีที่แล้ว หลังจากเธอถูกศาลรัฐธรรมนูญถอดถอนออกจากตำแหน่งและต่อมาถูกศาลออกหมายจับในคดีทุจริตร้ายแรง ประพฤติมิชอบ แพร่งพรายความลับของชาติ ซึ่งหลังจากนั้นก็อยู่ระหว่างรอคำพิพากษาลงโทษจากศาล

แต่ระหว่างรอนี้เธอต้องถูกคุมขังอยู่ที่ศูนย์ควบคุมตัวของสำนักงานอัยการมาโดยตลอด นับจนถึงวันพิพากษาก็ราว 1 ปี (ไม่ต่างจากติดคุกจริง) ไม่ได้ออกมาร่อนเฉิดฉายนอกห้องขังเหมือนนักการเมืองไทย

คดีนี้อัยการมีความเห็นสั่งฟ้องเธอ 18 ข้อหา เสนอลงโทษจำคุก 30 ปี และปรับอีก 1.185 แสนล้านวอน (ราว 3,400 ล้านบาท) ล่าสุด 6 เมษายน ที่ผ่านมา ศาลกรุงโซลมีคำพิพากษาจำคุกปาร์ก กึน เฮ เป็นเวลา 24 ปี ปรับอีก 1.8 หมื่นล้านวอน (ราว 500 ล้านบาท) เป็นการปิดฉากอดีตประธานาธิบดีหญิงคนแรกวัย 66 ปีของแดนกิมจิอย่างน่าเศร้า

สิ่งที่ควรย้ำในที่นี้ก็คือกระบวนการยุติธรรมของเกาหลีใต้ในการเอาผิดนักการเมืองที่ประพฤติทุจริตนั้น ไม่ล่าช้า ไม่อืดอาดและคาดหวัง-พึ่งพาได้เสมอ

เนื่องจากเบ็ดเสร็จแล้วกินเวลาเพียงประมาณ 1 ปี

ส่วนชเว ซุน-ซิล เพื่อนสนิทที่เป็นคู่หูของปาร์ก กึน เฮ ซึ่งเป็นต้นตอให้เธอประสบชะตากรรมเลวร้ายครั้งใหญ่เพราะไว้ใจกันมากไป ถูกลงโทษจำคุกเป็นเวลา 20 ปีไปแล้วเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ปีนี้ เช่นเดียวกับทายาทซัมซุง ซึ่งเป็นผู้ให้สินบน

ก่อนหน้าที่ศาลจะมีคำพิพากษาลงโทษจำคุกปาร์ก กึน เฮ ราว 3 สัปดาห์ ก็มีข่าวเซอร์ไพรส์เกี่ยวกับอดีตผู้นำเกาหลีใต้ปรากฏขึ้นมา

นั่นก็คือ นายลี เมียง บัก วัย 76 ปี อดีตประธานาธิบดีซึ่งปกครองประเทศระหว่างปี ค.ศ.2008-2013 (ก่อนปาร์ก กึน เฮ) เมื่ออัยการเกาหลีใต้เรียกตัวนายลี เมียง บัก ไปสอบปากคำในคดีที่ต้องสงสัยว่าธุรกิจชิ้นส่วนยานยนต์ของครอบครัวนายลี รับเงินสนับสนุนจากบริษัทซัมซุง อิเล็กทรอนิกส์ ขณะดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี เป็นเงินประมาณ 1.1 หมื่นล้านวอน (ประมาณ 300 กว่าล้านบาท) อันเข้าข่ายรับสินบน

จากนั้นเพียงไม่กี่วัน อัยการเกาหลีใต้ได้ขออนุมัติจากศาลออกหมายจับนายลีและศาลได้อนุมัติ ส่งผลให้นายลีถูกคุมขังทันที ต่อมาวันที่ 9 เมษายน อัยการแถลงคำฟ้องนายลีเกือบ 20 ข้อหา ทั้งรับสินบน ยักยอกทรัพย์ เลี่ยงภาษีและใช้อำนาจมิชอบ ซึ่งหากผิดจริง นายลีอาจถูกจำคุกถึง 45 ปี

คงไม่เกินจริงหากจะกล่าวว่า อดีตผู้นำทั้งสองคนติดคุกรัวๆ เพราะ 3 วันหลังจากศาลสั่งจำคุกนางสาวปาร์ก กึน เฮ และต้องเข้าไปอยู่ในเรือนจำ ก็มาถึงคิวนายลี ที่แม้ไม่ได้อยู่ในคุก แต่ก็ต้องอยู่ในห้องขัง หมดสิ้นอิสรภาพ

เรียกได้ว่า “ต่อแถว” เข้าคุกกันเลยทีเดียว แม้ว่าจะสลับกันบ้างเล็กน้อยก็ตาม เพราะปาร์ก กึน เฮ มาดำรงตำแหน่งทีหลังต่อจากนายลีแต่กลับติดคุกก่อน

นอกจากนี้ ยังน่าสังเกตว่าทั้งสองคนพัวพันกับการรับสินบนจากซัมซุง บริษัทยักษ์ใหญ่ของเกาหลี ซึ่งใหญ่ขนาดที่อาจเรียกได้ว่าเป็น “รัฐบาลภาคเอกชน” เพราะขยายธุรกิจไปกว้างไกลหลากหลายราวกับหนวดปลาหมึกยักษ์ ตั้งแต่ไม้จิ้มฟันยันเรือรบ และมีอิทธิพลมากมาย

ส่วนนายลีเองนั้น ก่อนจะเข้าสู่สนามการเมือง ก็เคยเป็นซีอีโอของบริษัทฮุนไดวิศวกรรมและก่อสร้าง ซึ่งเป็นหนึ่งในกลุ่มแชโบลของเกาหลีใต้

หากมองย้อนกลับไป พวกบริษัทยักษ์ใหญ่หรือ “แชโบล” อย่างซัมซุง-ฮุนไดนี้ ว่าไปแล้วก็กำเนิดมาจากฝีมือของปัก จุง ฮี บิดาของปาร์ก กึน เฮ ซึ่งดำรงตำแหน่งผู้นำนาน 18 ปี ระหว่าง ค.ศ.1961-1979 แม้จะได้ชื่อว่าเป็นผู้นำที่มาจากการยึดอำนาจ แต่ก็ได้รับการยกย่องว่าเป็นผู้นำพาเศรษฐกิจเกาหลีใต้ไปสู่ประเทศอุตสาหกรรมแถวหน้าของโลกกระทั่งรุ่งเรืองอย่างก้าวกระโดดจนถึงทุกวันนี้ ภายใต้นโยบายที่ใช้การส่งออกผลักดันเศรษฐกิจ ซึ่ง “แชโบล” ก็เกิดขึ้นมาด้วยวัตถุประสงค์นี้

จากโรห์ มู เฮียน มาถึงลี เมียง บัก มาถึงปาร์ก กึน เฮ ดูเหมือนผู้นำทั้ง 3 คนประสบชะตากรรมเดียวกันจากปัญหาคอร์รัปชั่น ซึ่งในรายของโรห์ มู เฮียน ที่ดำรงตำแหน่งผู้นำก่อนหน้านายลี ก็ถูกสอบสวนและตั้งข้อหาหลังจากพ้นตำแหน่งไปแล้วประมาณ 1 ปี หรืออยู่ในช่วงที่นายลีดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีพอดี

แต่ขณะที่ทางการกำลังสืบสวนอยู่นั้น นายโรห์ได้ชิงกระโดดหน้าผาฆ่าตัวตายเสียก่อนขณะมีอายุ 62 ปี หลังจากภรรยาของเขาถูกอัยการเรียกไปให้ปากคำด้วยข้อกล่าวหารับสินบนจากนักธุรกิจขณะนายมูเฮียนดำรงตำแหน่งผู้นำ ซึ่งระหว่างที่เรื่องอื้อฉาวอยู่นั้นนายโรห์ยืนยันว่าไม่ได้ทำอะไรผิด แต่ก็ยอมออกมาขอโทษที่ทำให้หลายฝ่ายประสบความยากลำบาก ทำให้หลายคนผิดหวัง จึงรู้สึกละอายต่อเพื่อนร่วมชาติ

สำหรับนายลีนั้น หลังจากถูกออกหมายจับ อย่างน้อยเขาก็แสดงสปิริตสำนึกผิดด้วยการเขียนแถลงการณ์สั้นๆ ผ่านเฟซบุ๊กว่า “ทั้งหมดนี้เป็นความผิดของผม และผมรู้สึกผิด”

เกาหลีใต้อาจเป็นประเทศอุตสาหกรรม-ประชาธิปไตย เพียงชาติเดียว ที่มีข่าวคราวดำเนินคดีกับคนใหญ่โตระดับผู้นำประเทศบ่อยที่สุดเมื่อเทียบกับประเทศอื่นที่มีระดับความเจริญเท่ากัน

ซึ่งอาจเป็นเพราะ

1. นักการเมืองเกาหลีโกงมากกว่าประเทศอื่น

หรือ 2. กระบวนการยุติธรรมและผู้มีหน้าที่ของเกาหลีเอาจริงเอาจังกับการปราบคอร์รัปชั่นมากกว่า

หรือ 3. ประเทศอื่นๆ ที่มีระดับความเจริญเทียบเท่าเกาหลีอาจมีนักการเมืองโกงพอๆ กับเกาหลี

แต่กระบวนการยุติธรรมไม่เอาจริงเอาจัง