ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 30 กันยายน - 6 ตุลาคม 2559 |
---|---|
คอลัมน์ | เศรษฐกิจ |
เผยแพร่ |
หากจับอาการของรัฐบาลชุดนี้จะพบว่า มีความพยายามกระทุ้งภาคเอกชนให้ลงทุนอย่างต่อเนื่อง เพื่อเป็นเครื่องยนต์หลักในการกระตุ้นเศรษฐกิจ นอกเหนือจากการลงทุนของภาครัฐเอง
โดยเฉพาะบทบาทของ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เป็นหัวหน้าทีมเศรษฐกิจ ที่เชิญชวนเอกชนให้ลงทุนในทุกเวทีสัมมนา และการประชุมเศรษฐกิจคณะต่างๆ
นอกจากนี้ รัฐบาลเองมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยเฉพาะการกำหนดอุตสาหกรรมเป้าหมายในอนาคต 10 กลุ่มที่พ่วงสิทธิประโยชน์ต่างๆ แบบจัดเต็ม
รวมทั้งมาตรการเร่งรัดกำหนดเวลาลงทุนภายในปีนี้ และเริ่มเดินเครื่องผลิตปี 2560 ก็เป็นเครื่องมือยืนยันต่อเอกชนว่า การลงทุนของเอกชนในเวลานี้
“จะมีแต่ได้กับได้” แน่นอน
ล่าสุดมีการปรับแก้พระราชบัญญัติส่งเสริมการลงทุน (พ.ร.บ.บีโอไอ) ที่จะให้สิทธิประโยชน์ด้านภาษีเพิ่มจาก 8 ปี เป็น 13 ปี การออก พ.ร.บ. เพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย วงเงิน 10,000 ล้านบาท จัดเตรียมพื้นที่ลงทุนในรูปแบบ “เขตเศรษฐกิจชายแดน” เฟสแรก 5 จังหวัด การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) จะมีการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมชายแดนขึ้นใน 3 จังหวัด คือ สระแก้ว ตาก และสงขลา ขณะที่ตราด และมุกดาหาร จะดำเนินการโดยเอกชน
นอกจากนี้ ยังจัดเตรียมพื้นที่ลงทุนครั้งสำคัญ เป็นเฟส 2 ต่อจากยุคโชติช่วงชัชวาลสมัย พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ เป็นนายกรัฐมนตรี ที่จัดตั้งอีสเทิร์น ซีบอร์ด แต่ยุคนี้ อีสเทิร์น ซีบอร์ด จะอยู่ในรูปแบบ “เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก” หรืออีสเทิร์น อีโคโนมิก คอริดอร์ (อีอีซี)
เบื้องต้นจะดำเนินการใน 3 จังหวัดคือ ระยอง ชลบุรี และฉะเชิงเทรา รัฐบาลวางเป้าหมายให้การลงทุนเป็นรูปแบบเมืองใหม่ทั้งอุตสาหกรรม การค้า และบริการ ท่องเที่ยว คาดว่าจะมีการลงทุนในพื้นที่อย่างน้อย 1.5 ล้านล้านบาท ภายในปี 2564 ปัจจุบันกำลังออก พ.ร.บ. ขึ้นมารองรับเพื่อให้การดำเนินการคล่องตัวขึ้น
แต่เมื่อเศรษฐกิจเดินไปกว่าครึ่งทาง แม้ตัวเลขรวมของผลิตภัณฑ์มวลรวมประเทศ (จีดีพี) ปีนี้ จะมีทิศทางสดใสตามเป้าหมายคือ 3-3.5% แต่หากพิจารณาตัวเลขเศรษฐกิจที่เป็นองค์ประกอบสำคัญจะพบว่า การเติบโตมาจากการลงทุนของภาครัฐที่ทั้งลงทุนโครงการขนาดใหญ่ และมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากจนกำลังซื้อเริ่มฟื้น แต่ตัวเลขการลงทุนของเอกชนกลับหม่นหมอง ขยายน้อยมาก
ซึ่งรัฐบาลก็เริ่มถอดใจ เพราะทำอะไรไม่ได้
ข้อมูลที่ยืนยันว่าเอกชนลงทุนแผ่ว เริ่มจาก สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ที่รายงาน เศรษฐกิจไทยไตรมาส 2/2559 ว่า การลงทุนโดยรวมอยู่ที่ 2.7% มาจากการลงทุนภาครัฐขยายตัว 10.4% แต่การลงทุนภาคเอกชนเติบโตเพียง 0.1% ซึ่งเป็นการขยายตัวแบบชะลอลงจากไตรมาสก่อนหน้าที่ขยายตัว 13.3% และ 2.1% ตามลำดับ
ขณะที่สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) รายงานตัวเลขการใช้ปูนซีเมนต์ว่า ช่วงไตรมาสแรกปริมาณการใช้ซีเมนต์เติบโต โดยเดือนมกราคม ขยายตัว 2% เดือนกุมภาพันธ์ ขยายตัว 7.9% และเดือนมีนาคม ขยายตัว 3.9% เพราะเป็นช่วงที่โครงการขนาดใหญ่ของรัฐเริ่มก่อสร้าง
แต่เมื่อเข้าสู่ไตรมาส 2 พบว่าปริมาณการใช้ลดลง โดยเดือนเมษายน ติดลบ 3.8% เดือนพฤษภาคม บวก 0% และเดือนมิถุนายน ติดลบ 2.8% คาดว่าเป็นเพราะโครงการเริ่มก่อสร้างไปพอสมควร ขณะที่ไตรมาส 3 ตัวเลขเดือนกรกฎาคมออกมาแล้ว พบว่าลดกว่าเดิม เพราะติดลบไปถึง 3.8%
นอกจากนี้ ยังมีตัวเลขมูลค่าการก่อสร้างของภาคเอกชน ไตรมาสแรก มูลค่าก่อสร้างอยู่ที่ 1.39 แสนล้านบาท ไตรมาส 2 มีมูลค่าลดลงจากไตรมาสแรก อยู่ที่ 1.30 แสนล้านบาท
ประเด็นนี้ นายจักรพร อุ่นจิตต์ ผู้อำนวยการสถาบันการก่อสร้างแห่งประเทศไทย แสดงความเห็นว่า ได้ประเมินภาพรวมมูลค่าอุตสาหกรรมก่อสร้างปีนี้เติบโต 10% อยู่ที่ 1.25 ล้านล้านบาท จากปีก่อนมีมูลค่า 1.16 ล้านล้านบาท โดยปีนี้มีปัจจัยขับเคลื่อนจากการลงทุนภาครัฐเป็นหลัก
ขณะที่การลงทุนภาคเอกชนค่อยๆ ปรับตัวตามมา เพราะส่วนใหญ่ยังไม่มั่นใจในการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในประเทศมากนัก
ล่าสุดกลางสัปดาห์ที่ผ่านมา นายศุภชัย พานิชภักดิ์ อดีตเลขาธิการการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนาหรืออังค์ถัด ออกมาแสดงความเห็นต่อเอกชนไทยว่า บริษัทใหญ่ของไทยในเวลานี้มีพฤติกรรมที่ไม่ยอมลงทุน
ทั้งที่รัฐบาลดึงมาตรการต่างๆ มาช่วยกระตุ้นและทำให้บริษัทใหญ่ได้กำไรมากขึ้น
โดยสาเหตุที่ทำให้บริษัทใหญ่ไม่ยอมลงทุน มาจากการประกอบธุรกิจสมัยใหม่อยู่ในลักษณะเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่แทนที่จะเป็นเจ้าของ จึงห่วงผู้ถือหุ้นมากยิ่งขึ้น ไม่เน้นการลงทุน แต่เน้นจ่ายเงินปันผลให้แก่ผู้ถือหุ้น
โดนจัดหนักเต็มๆ แบบนี้ นายเจน นำชัยศิริ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) จึงตั้งคำถามกลับว่า เอกชนผิดตรงไหน ในเมื่อเป็นธุรกิจที่ดำเนินการถูกต้อง
“อยากให้เข้าใจว่าการลงทุนต้องมาจากความคุ้มค่าจากผลตอบแทน กำไร และการลงทุนส่วนใหญ่ของเอกชนก็เพื่อส่งออกและขายในประเทศ แต่ขณะนี้เศรษฐกิจโลกยังไม่ฟื้นตัว และการบริโภคในประเทศยังไม่ชัดเจนนัก ดังนั้น การจะตัดสินใจลงทุนจึงต้องใช้เวลา ไม่สามารถตัดสินใจได้เร็ว หากลงทุนและผลิตขายแต่ไม่มีคนซื้อจะทำอย่างไร ความเสียหายจะมากแค่ไหน”
ขณะที่ นายวัลลภ วิตนาการ รองประธาน ส.อ.ท. และรองประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) ชี้ว่า ปัจจุบันเอกชนไม่มีความมั่นใจต่อเศรษฐกิจโลก และการผลิตของเอกชนไทยในปัจจุบันส่วนใหญ่เป็นการผลิตเพื่อส่งออก ขณะที่การผลิตเพื่อขายในประเทศก็เพียงพอ ไม่ได้เติบโตไปกว่านี้มาก ภาพรวมของเอกชนมีอัตราการใช้กำลังผลิตอยู่ที่ 62% ยังเหลือกำลังผลิตอีกพอสมควร การขยายกำลังผลิตจึงเป็นไปได้ยาก
สอดคล้องกับความเห็นของ ว่าที่ ร.อ.จิตร์ ศิรธรานนท์ ประธานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจพื้นที่ภาคกลาง สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การที่ภาคเอกชนไม่ยอมลงทุน ยอมรับว่าเป็นเรื่องจริง เพราะขณะนี้บรรยากาศและสภาวะเศรษฐกิจโลกไม่ดี มองออกไปอีก 2-3 ปีข้างหน้าก็ยังไม่เห็นอนาคต ถ้าเป็นนักลงทุนคงไม่มีใครจะกล้าลงทุน เพราะลงทุนไปอาจขาดทุนได้ อาทิ จะลงทุนเพื่อการส่งออก แต่ตลาดโลกขณะนี้ยังไม่ดี เป็นใครก็ไม่กล้าลงทุนทั้งนั้น
เป็นความขยาดเศรษฐกิจโลกที่เอกชนเองก็ไม่เสี่ยง แม้รัฐจะปรนเปรอสิทธิประโยชน์มากเพียงไหนก็ตาม…