ในจีน แค่เสียงแตรดังก็รู้ว่าใครกด

จิตต์สุภา ฉินFacebook.com/JitsupaChin

ไหนๆ ช่วงนี้การมาเยือนของแจ๊ก หม่า ที่นำไปสู่การขายทุเรียนไทยบนโลกออนไลน์ได้แปดหมื่นลูกภายในหนึ่งนาทีก็ได้กลายเป็นทอล์ด ออฟ เดอะ ทาวน์ ไปแล้วเรียบร้อย

วันนี้ซู่ชิงก็เลยคิดว่าเรามาอัพเดตความทันสมัยทางด้านเทคโนโลยีและไอเดียแหวกแนวของการนำเทคโนโลยีเหล่านั้นมาใช้ในประเทศจีนกันเพิ่มเติมสักหน่อยดีกว่าค่ะ

ในบทความครั้งก่อนๆ ซู่ชิงเคยเล่าให้ฟังถึงการที่ตอนนี้จีนนำเอาเทคโนโลยีการรู้จำใบหน้ามาใช้เพื่อระบุตัวตนของประชาชน

อย่างเช่น การให้ตำรวจสวมแว่นกันแดดอัจฉริยะตามจุดตรวจ เพื่อที่จะให้ตัวแว่นระบุใบหน้าของคนที่ผ่านไปผ่านมาได้ว่าใช่คนที่ทางการกำลังต้องการตัวหรือไม่

หรือการใช้เทคโนโลยีแบบเดียวกันในการระบุตัวตนของคนข้ามถนนผิดกฎหมาย

ทั้งหมดนี้จีนสามารถทำได้โดยไม่ต้องคำนึงถึงความเป็นส่วนตัวของพลเมืองแต่อย่างใด

ทำให้สามารถใช้เทคโนโลยีได้ตามจินตนาการชนิดไร้ขอบเขตจำกัด

 

ล่าสุด ทางการจีนที่พยายามต่อสู้กับปัญหารถติดในกรุงปักกิ่งมาโดยตลอด ก็เล็งเห็นปัญหาอีกประการหนึ่งที่ผุดขึ้นมา นอกเหนือจากการที่รถกว่าห้าล้านคันไม่สามารถสัญจรได้ในความเร็วที่เหมาะสม อีกทั้งยังทำให้เกิดมลภาวะทางอากาศแล้ว

อีกหนึ่งปัญหาที่น่าหนักใจคือมลภาวะทาง “เสียง” อันเกิดจากการกดแตรไม่อั้น ยิ่งรถติดก็ยิ่งเครียด ยิ่งเครียดก็ยิ่งกด

จนทำให้ปักกิ่งกลายเป็นเมืองที่ “หนวกหู” ที่สุดอันดับหก จากการจัดอันดับเมื่อปีที่แล้ว (เพื่อความสบายใจจึงเรียนให้ทราบว่าไม่มีเมืองไหนของประเทศไทยติดอันดับนี้เลยค่ะ ห้าอันดับแรกประกอบไปด้วย เมืองกว่างโจวของจีน เดลีของอินเดีย ไคโรของอียิปต์ มุมไบของอินเดีย และอิสตันบูลของตุรกี)

ก่อนหน้านี้ปักกิ่งเคยเผยแผนที่เสียงการจราจรชิ้นแรกออกมาให้ประชาชนได้เห็นว่าพื้นที่ต่างๆ ภายในเมือง ได้รับผลกระทบจากมลภาวะทางเสียงแตกต่างกันมากน้อยแค่ไหน

โดยเก็บข้อมูลจากเขตไห่เตี้ยนที่ครอบคลุมพื้นที่ทั้งหมด 12.7 ตารางกิโลเมตร

แล้วนำมาแสดงผลด้วยการแบ่งเป็นสีๆ ว่าบริเวณไหนมีเสียงกี่เดซิเบล และยิ่งอยู่ไกลจากถนนสัญจรแค่ไหน ระดับเสียงก็จะยิ่งลดลงแค่นั้น

ซึ่งการขยายเมืองปักกิ่งอย่างรวดเร็วส่งผลให้เมืองทั้งเมืองเต็มไปด้วยถนนที่กำลังอยู่ในระหว่างก่อสร้าง ก็ยิ่งทำให้มลภาวะทางเสียงถีบตัวสูงขึ้นเป็นเงาตามตัว

คนที่ได้รับผลกระทบหนักหนาที่สุดก็เห็นจะเป็นคนที่อยู่อาศัยอยู่ตามตึก ตามอาคาร ที่สร้างอยู่ใกล้ถนนหรือทางด่วน ที่ต้องนั่งนอนทนฟังเสียงเครื่องยนต์เคล้าซิมโฟนีแตรรถกันทั้งวัน

แล้วจะทำอย่างไรให้เสียงที่ดังหนวกหูเหล่านี้ลดระดับลงได้ล่ะ จะห้ามประชาขนให้ไม่กดแตร ก็ดูจะเป็นการห้ามแบบลมๆ แล้งๆ

 

เมื่อปีที่แล้ว หน่วยงานจัดการด้านจราจรในปักกิ่งก็เลยปิ๊งไอเดียทำโครงการนำร่องขึ้นมา ด้วยการติดตั้งกล้องอะคูสติก หรือกล้องระบุแหล่งที่มาของเสียง กว่า 20 ตัว ตามถนนเพื่อตรวจจับเสียงกดแตรเสียเลย

กล้องตรวจจับเสียงเหล่านี้ถูกนำไปติดตั้งไว้ใกล้กับแหล่งโรงเรียนและโรงพยาบาลในกรุงปักกิ่ง

โดยมาพร้อมกับไมโครโฟน 32 ตัว และกล้องระดับเอชดี ที่จะทำหน้าที่ในการบันทึกวิดีโอความยาวสองวินาทีที่จะเล็งไปที่ป้ายทะเบียนรถของรถคันที่กดแตร

ไม่ใช่ว่าพอจับได้ว่าคันไหนกดแตรแล้วจะส่งใบค่าปรับไปถึงบ้านคนขับรถทุกคันนะคะ แต่พอได้ข้อมูลรถที่กดแตรมาแล้ว เจ้าหน้าที่ตำรวจก็จะนำภาพที่ได้มาวิเคราะห์อีกขั้นว่าการกดแตรนั้นสมเหตุสมผลหรือไม่ หากอยู่ในสถานการณ์ที่เห็นสมควรว่ากดแตรได้ก็รอดไป

แต่หากตรวจพบว่าเป็นลูกช่างกด ขับไปกดไปแบบไม่มีเหตุผลอันสมควร ก็จะถูกปรับเงินราวๆ 500 บาท

 

ตอนนี้โครงการใช้กล้องตรวจจับเสียงถูกแผ่ขยายออกไปนอกกรุงปักกิ่งแล้ว

เพราะจากที่เห็นในการจัดอันดับเมืองที่เสียงดังทั้งหมด ปักกิ่งไม่ใช่เมืองเดียวของจีนที่เข้าข่ายมีเสียงหนวกหู

เมืองอื่นๆ อย่างเช่น เสิ่นเจิ้น ตอนนี้ก็เริ่มติดตั้งกล้องประเภทเดียวกันนี้แล้วเหมือนกัน ซึ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจบอกว่าอัตราความแม่นยำของการตรวจจับสูงถึง 92-95 เปอร์เซ็นต์เลยทีเดียว

ในอนาคตเราน่าจะได้เห็นกล้องประเภทเดียวกันนี้ถูกติดตั้งมากขึ้น ครอบคลุมพื้นที่ประเทศมากขึ้น และคงไม่ยากเกินกว่าจะคาดเดาว่าต่อไปเทคโนโลยีการตรวจจับใบหน้าของคนที่อยู่ในรถก็น่าจะถูกนำมาใช้อย่างแพร่หลายในจีนมากขึ้นด้วยเช่นกัน

ทางการจีนดูเหมือนจะทุ่มเททรัพยากรให้กับการเพิ่มความสามารถในการระบุตัวตนของประชากรมากขึ้นเรื่อยๆ

นอกจากตัวอย่างที่กล่าวไปด้านบนแล้ว ตอนนี้เทคโนโลยีการรู้จำใบหน้าในจีนก็ถูกนำไปใช้แล้วในที่ต่างๆ อย่างเช่น ในธนาคารที่ใช้ระบบอัตโนมัติเต็มรูปแบบที่เปิดให้บริการแล้วในเซี่ยงไฮ้

ธนาคาร China Construction Bank สาขาเซี่ยงไฮ้ ที่เพิ่งเปิดให้บริการไม่นานมานี้ เป็นธนาคารที่มีสโลแกนของความเป็นอัติโนมัติอย่างเต็มรูปแบบโดยแทบจะไม่ใช้พนักงานที่เป็นมนุษย์เลย

ภายในธนาคารจะประกอบไปด้วยซอฟต์แวร์ที่ใช้ในการสแกนใบหน้าคนที่เดินเข้ามา ห้องเสมือนจริง เครื่องโฮโลแกรม หุ่นยนต์พูดได้ และอื่นๆ อีกมากมายที่นำมาใช้แทนพนักงานมนุษย์

เพียงแค่เดินผ่านประตูเข้าไป ลูกค้าก็จะผ่านการระบุตัวตนผ่านซอฟต์แวร์เสียง ลูกค้าสามารถรูดบัตรประชาชนเพื่อบ่งบอกตัวตน หรือจะให้อุปกรณ์ของธนาคารสแกนใบหน้าเพื่อดูว่าใครเป็นใครเอาเองก็ได้

จากนั้นก็สามารถทำธุรกรรมทางการเงินได้ด้วยตัวเองผ่านเทคโนโลยีอัตโนมัติไฮเทคทั้งหลาย

 

ถึงแม้จะเป็นที่ถกเถียงกันว่า ลูกค้าต้องการธนาคารไฮเทคแบบนี้จริงหรือ

เพราะคนที่จะเดินทางไปถึงธนาคารก็น่าจะเป็นคนที่ต้องการจัดการธุระอะไรบางอย่างให้สำเร็จเสร็จสิ้นด้วยการพูดคุยกับพนักงานที่เป็นมนุษย์เหมือนกัน มากกว่าจะอยากสื่อสารกับเครื่องจักรกล

ถ้าหากจะทำแบบนั้นสู้นั่งจมโซฟานุ่มๆ อยู่บ้านแล้วทำธุรกรรมทางการเงินผ่านทางออนไลน์เสียดีกว่า

แต่แนวคิดการมีขึ้นมาของธนาคารนี้ก็สะท้อนให้เห็นว่าระบบสถาบันการเงินแบบดั้งเดิมกำลังปรับตัวครั้งใหญ่เพื่อสู้กับภาคเอกชนที่นำเทคโนโลยีมาใช้อย่างไม่หยุดหย่อน

และจีนที่สามารถเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงได้ตามใจคิด ก็จะเป็นหนึ่งในประเทศแรกๆ ที่มีเทคโนโลยีล้ำสมัยมาปรับเปลี่ยนรูปแบบการใช้ชีวิตของประชากรได้โดยไม่ต้องสะดุดเสียงคัดค้านเรื่องความเป็นส่วนตัวของข้อมูล แต่ประชาชนจะต้องอยู่ภายใต้การจับตาของทางการอย่างใกล้ชิดชนิดกระดุกกระดิกไปไหนไม่ได้อีกแล้ว

ได้แต่หวังว่าประเทศไทยที่ผู้บริหารประเทศคิดว่าข้อมูลบัตรประชาชนรั่วไหลเป็นเรื่องจิ๊บๆ จะไม่คิดว่านี่เป็นความเท่ที่น่าเดินรอยตาม