คำ ผกา : เพื่อความเข้าใจ (ผิด)

คำ ผกา

“คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) …ดำเนินนโยบายปฏิรูปประเทศ ปฏิรูปการเมืองให้เป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริง ขจัดฉ้อราษฎร์บังหลวง และใช้หลักคุณธรรม เพื่อนำประเทศให้เป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริง”

ข้างต้นคือ ข้อความจากหนังสือ “ประวัติศาสตร์ชาติไทย” ซึ่งจัดพิมพ์โดยกรมศิลปากร

ตามข่าวบอกว่าพิมพ์ทั้งหมด 13,000 เล่ม จัดส่งให้วัฒนธรรมจังหวัด 77 จังหวัด จังหวัดละ 100 เล่ม

ดังนั้น จะเหลือจัดจำหน่ายสำหรับประชาชนไม่มากนัก

สำหรับผู้สนใจอยากอ่านหนังสือเล่มนี้ ก็สามารถอ่านในเวอร์ชั่นที่เป็นหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ได้ โดยไม่จำเป็นต้องเสียเงินไปหาซื้อแต่อย่างใด

ข้อความที่ยกมาข้างต้นนั้น แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า คณะผู้จัดหนังสือเล่มนี้ ไม่ได้มีความเข้าใจ หรือความรู้เรื่องประชาธิปไตยในความหมายเดียวกันกับที่สากลโลกเขาเข้าใจกัน ประชาธิปไตยที่สากลโลกเขาเข้าใจกันคือ

1. ประชาธิปไตย แปลว่า อำนาจเป็นของประชาชน และประชาชนใช้อำนาจนั้นในการปกครองตนเอง

2. ประชาธิปไตยระบบตัวแทน ต้องมีการเลือกตั้ง และผู้นำประเทศต้องมาจากการเลือกตั้ง

3. การรัฐประหารยึดอำนาจจากรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง การทำลายรัฐธรรมนูญ การออกกฎหมายพิเศษเพื่อจำกัดสิทธิเสรีภาพของพลเมือง ถือว่าเป็นการทำลายประชาธิปไตย

ทว่า อ้างอิงตามข้อความของหนังสือเล่มนี้ เราจะพบว่า คณะผู้จัดทำมีความเข้าใจความหมายของประชาธิปไตยที่เป็นแบบ “ไทยๆ” นั่นคือ เชื่อว่า

1. การรัฐประหารคือการกอบกู้ประเทศให้พ้นจากความพินาศ

2. ประชาธิปไตย คือ การปกครองที่สร้างด้วย “คุณธรรม” และไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกับอำนาจของประชาชน

3. การรัฐประหารเท่ากับการรักษาประชาธิปไตย

4. เชื่อว่าการขจัดฉ้อราษฎร์บังหลวงทำได้ด้วยการมีผู้นำที่รับปากว่าจะขจัดฉ้อราษฏร์บังหลวง โดยไม่จำเป็นต้องมีกลไกการตรวจสอบ ถ่วงดุล

ในขณะที่สากลโลกเชื่อว่า การคืนอำนาจการเลือกผู้แทนฯ ของตนเองไปบริหารประเทศคือการปฏิรูปประเทศไปสู่ประชาธิปไตย แต่คณะผู้จัดทำหนังสือเล่มนี้เชื่อว่า “การปฏิรูปประเทศด้วยหลักคุณธรรมจะนำประเทศไปสู่ประชาธิปไตยที่แท้จริง”

(อันที่จริงคำว่าประชาธิปไตยนั้น จบความด้วยตัวของมันเองโดยมิจำเป็นต้องมีคำว่า “ที่แท้จริง” ประเทศไหนที่ใช้คำว่าประชาธิปไตยแล้วต่อด้วยคำว่า “ที่แท้จริง” นั้นสะท้อนด้วยตัวของมันเองว่า ณ ที่แห่งนั้นมีประชาธิปไตยดำรงอยู่หรือไม่

แต่ในความ “คลาดเคลื่อน” เกี่ยวกับความหมายและความเข้าใจเกี่ยวกับประชาธิปไตยและการรัฐประหารในหนังสือเล่มนี้ คำถามที่สำคัญกว่านั้นคือ – เราควรอ่านหนังสือประวัติศาสตร์อย่างไร?

และเอาเข้าจริงๆ เราควรสอนวิชา “วิธีอ่านหนังสือประวัติศาสตร์” ให้แก่นักเรียนชั้นมัธยมศึกษา เป็นวิชาพื้นฐาน

เพราะวิชานี้สำคัญกว่าวิชาประวัติศาสตร์เสียอีก

สําหรับฉัน หนังสือประวัติศาสตร์ น่าจะแบ่งออกเป็น 3 ประเภทใหญ่ๆ คือหนังสือประวัติศาสตร์แบบวิชาก๊าน วิชาการ โดยมากเขียนและอ่านกันในหมู่นักวิชาการ มีตั้งแต่ประวัติศาสตร์ยุคคลาสสิคมาจนถึงประวัติศาสตร์ร่วมสมัย มีทั้งประวัติศาสตร์เศรษฐกิจ ประวัติศาสตร์การเมือง ประวัติศาสตร์สังคม ประวัติศาสตร์อารมณ์ ประวัติศาสตร์ความรัก เซ็กซ์ อาหาร ประวัติศาสตร์บุคคล ประวัติศาสตร์หนังโป๊ ประวัติศาสตร์ของวิทยาศาสตร์ ประวัติศาสตร์การแพทย์ และอีกหลายพันหมื่นเรื่องราวที่สามารถศึกษา วิจัย และผลิตออกมาเป็นงานประวัติศาสตร์ที่ซีเรียส จริงจังได้

หนังสือประวัติศาสตร์เหล่านี้จะเกี่ยวข้องกับชีวิตของชาวบ้านร้านตลาดอย่างพวกเราค่อนข้างน้อย โดยมาก อ่าน ถกเถียง ด่าทอ วิจารณ์ แคะ แกะ เกา จับผิด จับถูกกันในหมู่นักวิชาการประวัติศาสตร์ด้วยกัน และการแคะ แกะ เกา ด่าทอ หาที่ผิด หาจุดบกพร่อง เขียนใหม่ วิจัยใหม่ ศึกษาใหม่

มันคือส่วนหนึ่งของอาชีพนักประวัติศาสตร์นั่นเอง

เมื่อไหร่ก็ตามที่ประวัติศาสตร์มันได้ข้อยุติว่าถูกแล้ว ชอบแล้ว ได้ข้อยุติแล้ว เมื่อนั้นนักประวัติศาสตร์ก็ตกงานและอาจต้องหันไปขายเต้าฮวยกันไปตามๆ กัน

หนังสือประวัติศาสตร์ประเภทที่ 2 คือ หนังสือจำพวก “เกร็ดประวัติศาสตร์” ถ้าของไทยก็อาจนึกถึงงานของศันสนีย์ วีระศิลป์ชัย งานของ ม.ล.เนื่อง นิลรัตน์ งานบางชิ้นของ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ฯลฯ

หรืองานบันทึกความจำของบุคคลต่างๆ ที่อาจเขียนเล่าถึงครอบครัวตนเอง ตระกูลตนเอง หรือเรื่องราวที่ได้เคยอ่านเคยฟังคนเก่าคนแก่เล่าให้ฟังบ้าง หรือเกิดจากการค้นคว้าจากความสนใจส่วนตัว

งานเหล่านี้ เป็นได้ทั้งความรู้ และปกิณกะบันเทิง แต่ไม่ได้ตั้งใจเขียนให้เป็นงานวิชาการทางประวัติศาสตร์แน่ๆ เพราะคนอ่านก็อ่านในฐานะที่เป็น “เกร็ด”

หนังสือประวัติศาสตร์ประเภทที่ 3 คือ หนังสือที่จัดพิมพ์โดยหน่วยงานราชการในยุคที่ชาติเพิ่งถือกำเนิดขึ้น โดยเฉพาะในหมู่ประเทศเกิดใหม่และเพิ่งได้รับเอกราช ชาติกับประวัติศาสตร์ “ชาติ” นั้นเป็นของคู่กัน เพราะชาติก่อร่างสร้างตัวขึ้นมาได้ก็โดยอาศัยการเขียน “นิยาย” ว่าด้วยประวัติศาสตร์ชาติ เช่น ประวัติศาสตร์ชาติไทยเวอร์ชั่นขุนวิจิตรมาตรา

นอกจากประวัติศาสตร์แล้ว พิพิธภัณฑ์ ก็เป็นเครื่องมืออีกอย่างหนึ่งของการสร้างนิยายว่าด้วยกำเนิดและตัวตนของชาติ

เมื่อผ่านพ้นยุคสร้างชาติไปสัก 50 ปี ชาติเริ่มมีตัวตน จับต้องได้ ลงหลักปักฐานมั่นคง ชาติและพลเมืองของชาติ ก็ไม่จำเป็นต้องอาศัย “นิยาย” ในประวัติศาสตร์แห่งชาติมายืนยันการมีอยู่ของตัวตน อัตลักษณ์ของชาติ กันอีกต่อไปแล้ว

เช่น คนไทยปัจจุบัน ก็ชิลๆ ดีกับการที่รู้ว่า อ๋อ คนไทย ก็คือกลุ่มคนเลือดผสมจำนวนมากที่อพยพมาจากที่ต่างๆ

และในหลายกรณี ก็เพิ่งโล้สำเภากันมาเมื่อสักร้อยปีนี่เอง

ดังนั้น พวกเราจึงไม่ได้เดินเท้ามาจากเทือกเขาอัลไตหรอกนะ และการที่เรารู้ว่าเราเป็นลูกจีนที่เพิ่งโล้สำเภามา ก็ไม่ได้ทำให้ความเป็นไทยของเราสั่นคลอนแต่อย่างใด เพราะมันก็ไม่ได้ต่างจากลูกจีนในมาเลเซีย ในสิงคโปร์ ในฟิลิปปินส์ หรือที่ไหนๆ ในโลกเลย การเป็นคนไทย ไม่ได้แปลว่าต้องมีบรรพบุรุษเดินเท้ามาจากอัลไต รบพม่า หรืออะไรๆ สักนิด

เมื่อเป็นเช่นนี้แล้วในทุกประเทศที่ความเป็น “ชาติ” ลงหลักปักฐานมั่นคง ไม่มีข้อสงสัยว่าชาติเรามีจริงหรือไม่ ความเป็นไทย ความเป็นสิงคโปร์ ความเป็นฝรั่งเศส เยอรมัน ญี่ปุ่นของเรามีจริงหรือไม่ ประวัติศาสตร์ “ชาติ” ก็ลดความสำคัญลงไป

ลดความสำคัญลงไปจนกระทั่งแบบเรียนประวัติศาสตร์ที่ใช้กันในโรงเรียน ก็สามารถเป็นเวอร์ชั่นใดก็ได้ แล้วแต่ แต่ละโรงเรียนจะคัดสรร หรือออกแบบหลักสูตรประวัติศาสตร์ให้นักเรียนค้นคว้าหาความรู้ด้วยตนเองมากกว่าจะเชื่อว่า “ประวัติศาสตร์แห่งชาติ” มีจริง

พูดให้สั้นที่สุดก็คือ ในศตวรรษที่ 21 นี้ สิ่งที่เรียกว่า “ประวัติศาสตร์ชาติ” เป็นสิ่งที่พ้นยุค ตกสมัยไปโดยสิ้นเชิง

ยังไม่นับว่า นับตั้งแต่ปลายศตวรรษที่ 20 สิ่งที่ถูกศึกษามากที่สุดคือ ศึกษาประวัติศาสตร์การเขียนประวัติศาสตร์แห่งชาติ!!

งานพิพิธภัณฑ์ งานของกรมศิลปากร งานของกระทรวงวัฒนธรรมของประเทศที่พัฒนาแล้ว คือการทำงานร่วมกับนักประวัติศาสตร์ที่เป็น pure academics เพื่อนำงานของคนเหล่านั้นมาผลิตกิจกรรมทางวัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ที่ก้าวพ้นจากประวัติศาสตร์ยุคสร้างชาติ คลั่งชาติ หลงชาติ มาสู่การทำความเข้าใจ “ชาติ” ของตนเองอย่างที่มันเป็น เช่น ชาติเราเผชิญกับวิกฤตทางการเมือง ทางอัตลักษณ์ และแม้กระทั่งวิกฤตการหลง “ตัวเอง” มาอย่างไร เรามีประวัติศาสตร์แห่งการกดขี่บีฑาคนในชาติมาอย่างไร เรามีประวัติศาสตร์ของการต่อสู้ของคนธรรมดาสามัญ ชาวนา กรรมกรอย่างไร เราผ่านเหตุการณ์ที่คนไทยลุกขึ้นมาเกลียดชังฟาดฟันกันเองอย่างไร ฯลฯ ในแต่ละจุดเปลี่ยนผ่านของวิกฤตการเมืองภายในของชาติ แต่ละฝ่ายต่างมีเรื่องเล่า หรือ “ประวัติศาสตร์” ในเวอร์ชั่นของตนเองอย่างไร ฯลฯ

หากเราสามารถสนทนากับอดีตของตนเองได้เช่นนี้ สิ่งที่จะเกิดขึ้นกับสังคมไทยคือ เราจะเติบจากอดีตของเรา เราจะมีความรู้ ความเข้าใจในตนเองอย่างไม่บิดเบี้ยวจนนำไปสู่การหลงตัวเองอย่างผิดๆ

บนการสนทนากับอดีต อย่างซื่อตรงและไม่หลอกตัวเองเท่านั้นที่เราจะสร้างสังคมที่ก้าวพ้นความผิดพลาดในอดีตไปได้ เพราะคนเยอรมันเผชิญหน้ากับประวัติศาสตร์ยุคนาซีที่จับคนยิวรมก๊าซเป็นล้านๆ คน ได้อย่างซื่อตรง ชาติเยอรมันในปัจจุบันจึงมีฉันทามติร่วมกันอย่างเป็นแม่นมั่นที่จะไม่ปล่อยให้เหตุการณ์เช่นนั้นเกิดซ้ำรอยอีก

รัฐบาลฝ่ายขวาของญี่ปุ่นแม้อยากจะผลักดันให้ญี่ปุ่นได้กลับมามีกองทัพเป็นของตัวเองมากแค่ไหน ก็ทำได้ยากเย็นเหลือเกิน เพราะยังเผชิญกับเสียงคัดค้านในสังคมอย่างหนักหน่วง ก็เพราะพลังของการเขียนประวัติศาสตร์ที่ตอกย้ำว่าญี่ปุ่นผิดพลาดอย่างไรกับการอยู่ในลัทธิทหารนิยมก่อนเข้าสู่สงครามโลกครั้งที่ 2

หันกลับมามองประเทศไทย ดูเหมือนว่า ทั้งรัฐบาลและราชการของเรายังจมปลักอยู่กับการเขียนประวัติแห่งชาติในยุคสร้างชาติของต้นศตวรรษที่ 19

และในท่ามกลางความขัดแย้ง และวิกฤตการณ์ทางการเมืองนับครั้งไม่ถ้วนในประวัติศาสตร์ร่วมสมัยของไทย คนไทยยังไม่มี “ประวัติศาสตร์” ที่จะทำให้เราได้เผชิญกับความอัปลักษณ์ของตัวเราเอง อันจะทำให้เราได้เรียนรู้ เติบโต มีวุฒิภาวะ

ประวัติศาสตร์ที่เรามีอยู่ตอนนี้ จึงมีแค่ประวัติศาสตร์เกร็ดพงศาวดาร ประวัติศาสตร์คอสเพลย์แต่งตัว ถ่ายรูป และประวัติศาสตร์แห่งชาติฉบับผลิตโดยราชการเพื่อความเข้าใจตนเองอย่างผิดๆ ต่อไป