“99919” วัดพระราม 9 กาญจนาภิเษก ตั้งอยู่บนถนนพระราม 9 ซอย 19 เลขที่ 999

ถ่ายโดย ศุภวัฒน์ หิรัญธนวิวัฒน์

มองบ้านมองเมือง
ปริญญา ตรีน้อยใส

99919

คงเป็นเรื่องเล่าขานกันได้ไม่รู้จบ ถึงพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เกี่ยวกับการดำเนินชีวิตอย่างพอเพียง และการพัฒนาเศรษฐกิจแบบพอเพียง โดยมีประจักษ์พยานมากมายให้คนไทยได้เรียนรู้และเข้าใจ
รวมทั้งวัดเล็กๆ แห่งหนึ่ง ที่ตั้งอยู่กลางกรุงเทพมหานคร แต่อาจไม่เป็นที่รู้จัก และไม่น่าเชื่อว่า วัดเล็กๆ แห่งนี้ ที่แวดล้อมด้วยความแออัดวุ่นวาย ทั้งรถยนต์ อาคาร และผู้คน กลับสงบ นิ่ง มีพื้นที่ให้ผู้คนปฏิบัติธรรมอย่างพอเพียง
วัดพระราม 9 กาญจนาภิเษก ตั้งอยู่บนถนนพระราม 9 ซอย 19 เลขที่ 999 ในเขตห้วยขวาง เนื่องจากการสร้างแล้วเสร็จในปีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ พ.ศ.2542 จึงมีพระบรมราชานุญาตยกฐานะเป็นพระอารามหลวงเป็นกรณีพิเศษ
อีกทั้งพระราชทานตราพระราชลัญจกร ประจำรัชกาล ประดิษฐานตรงกลางหน้าบันของพระอุโบสถ

ความเป็นมาของวัดนั้น เริ่มมาจากการเจริญเติบโตอย่างรวดเร็วของกรุงเทพมหานคร ได้นำมาซึ่งความเสื่อมโทรมของสภาพแวดล้อม โดยเฉพาะปัญหาน้ำเสีย ด้วยแหล่งน้ำธรรมชาติที่มีอยู่เดิม ไม่ว่าจะเป็นแม่น้ำ ลำคลอง หนอง บึง กลายเป็นพื้นที่รองรับน้ำเสียจากอาคารบ้านเรือน
จึงมีพระราชดำริให้หาทางแก้ไข โดยพระราชทานที่ดินร้อยกว่าไร่ของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ที่ติดกับคลองลาดพร้าว ทางด้านทิศตะวันตก และคลองแสนแสบ ทางด้านทิศใต้ เป็นพื้นที่รองรับน้ำเสีย
ทรงแนะวิธีบำบัดน้ำเสีย โดยการเติมอากาศลงไปในน้ำ ปล่อยให้ของเสียตกตะกอน และอาศัยจังหวะขึ้นลงของน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา หมุนเวียนน้ำดีเข้ามา ไล่น้ำเสียออกไป
ผลการดำเนินงานดังกล่าว ที่เริ่มมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2531 ประสบความสำเร็จ นอกจากสภาพน้ำจะดีขึ้น สภาพแวดล้อม โดยเฉพาะชุมชนและประชาชนที่อยู่ใกล้เคียงมีความเป็นอยู่ดีขึ้น
จึงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างวัด เพื่อเสริมสร้างจิตสำนึก

ในเบื้องแรกนั้น แผนงานการก่อสร้างวัดเฉลิมพระเกียรติ กำหนดงบประมาณไว้กว่า ร้อยล้านบาท
แต่เมื่อนำความกราบบังคมทูล กลับมีพระราชกระแสให้ลดงบประมาณลงเหลือแค่ สิบล้านบาท
และมีพระราชประสงค์ให้เป็นเพียงวัดเล็กๆ มีโบสถ์เล็กๆ มีกุฏิเล็กๆ ให้ผู้ออกแบบ คือ น.อ.อาวุธ เชิดชูกลิ่น บูรศิลปินยึดหลัก ประหยัด เรียบง่าย และประโยชน์สูงสุด เพื่อเป็นแบบอย่างของการสร้างวัดอื่นๆ ต่อไป
วัดพระราม 9 กาญจนาภิเษก จึงปรากฏพร้อมด้วย พระอุโบสถขนาดเล็ก ที่สามารถใช้เป็นศาลาอเนกประสงค์ และมีเพียงกุฏิพระ หอระฆัง โรงครัว และอื่นๆ อีกเล็กน้อย
พระอุโบสถนั้น เป็นอาคารทรงไทย รูปทรงสี่เหลี่ยมตรงไปตรงมา เรียบง่าย การตกแต่งหรือลวดลายมีเพียงเล็กน้อย เสารูปสี่เหลี่ยมธรรมดา ตกแต่งเฉพาะหัวเสาและฐานเสา วงกบประตูหน้าต่างเป็นอะลูมิเนียม กรุกระจกแบบสมัยใหม่ มีกรอบและซุ้มบัวปูนแบบเรียบง่ายโดยรอบ หลังคาจั่วชั้นเดียว มุงด้วยแผ่นเหล็กดัดขึ้นลอนสีขาว มีกันสาดโดยรอบ เฉพาะมุขด้านหน้าที่ยื่นออกมา ประดับด้วยช่อฟ้าใบระกา หน้าบันตกแต่งด้วยปูนปั้นสด ลวดลายดอกพุดตาน ไม่ปิดทองหรือประดับกระจกเหมือนวัดทั่วไป
แต่ก็ทำให้พระราชลัญจกรประจำพระองค์ที่ลงสีดูเด่นชัดสวยงาม
ภายในพระอุโบสถประดิษฐานพระพุทธรูปประธานปางมารวิชัย ผนังหลังองค์พระและด้านอื่นล้วนฉาบปูนเรียบทาสีขาว
บรรยากาศในอาคารจึงดูเรียบง่าย สะอาด และสงบ

เช่นเดียวกับบรรยากาศภายในวัด ที่แปลกต่างไปจากวัดอื่นในกรุงเทพฯ ด้วยจำนวนและขนาดของอาคารและสิ่งก่อสร้างที่ตกแต่งเพียงเล็กน้อย ตั้งอยู่ท่ามกลางสวน ตกแต่งด้วยไม้พุ่มสวยงาม สมกับเป็นศาสนสถานแห่งความสงบ
รูปแบบพระอุโบสถ วัดพระราม 9 กาญจนาภิเษก
แนวเส้นทางการสัญจร ถนนพระราม 9
และการพัฒนาคุณภาพสิ่งแวดล้อม บึงพระราม 9 ล้วนเป็นประจักษ์พยานแห่งแนวพระราชดำริของ ธ ผู้เป็นพลังแผ่นดิน
ผู้นำในการแก้ปัญหาบ้านและเมือง ปัญหาร่างกายและจิตใจตลอดไป