โลกร้อนเพราะมือเรา ตอนที่ 125 “รีไซคลิ่ง” อังกฤษ

ทวีศักดิ์ บุตรตัน

“อังกฤษ” เป็นหนึ่งใน 7 ประเทศที่กรมควบคุมมลพิษยกมาเป็นกรณีตัวอย่างในด้านการจัดการบริหารรีไซเคิลขยะนำกลับมาใช้อีกอย่างมีประสิทธิภาพ

จากข้อมูลล่าสุดช่วงระหว่างปี 2559-2560 อังกฤษเก็บขยะนำไปรีไซเคิลได้ 43.7 เปอร์เซ็นต์

เมื่อปีที่แล้วอังกฤษมีขยะครัวเรือนทั้งหมด 23.6 ล้านตัน หรือเฉลี่ย 411 กิโลกรัมต่อคนต่อปี นำมารีไซเคิลได้ 10.3 ล้านตัน

กระบวนการรีไซเคิลมีประสิทธิภาพเพราะอังกฤษใช้กฎหมายว่าด้วยการรีไซเคิลขยะครัวเรือน ในปี 2546 ทำให้ทุกครัวเรือนต้องแยกขยะก่อนทิ้ง

ย้อนกลับไปเมื่อปี 2543 กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอังกฤษ ลุกขึ้นมาเรียกร้องให้รัฐสภาออกกฎหมายในการแยกขยะเพราะเห็นว่ามีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ทั้งสิ้นเปลืองทรัพยากร กองขยะสร้างมลพิษ ปนเปื้อนในดินแหล่งน้ำ ส่งกลิ่นเหม็นและยังเป็นแหล่งก๊าซมีเทน ตัวการทำโลกร้อน

กลุ่มอนุรักษ์ต้องการให้รัฐบาลอังกฤษขับเคลื่อนเศรษฐกิจขยะเป็นศูนย์ หรือ zero waste economy

 

ในที่นี้เศรษฐกิจขยะเป็นศูนย์หมายถึงการนำขยะกลับมาใช้เป็นประโยชน์อย่างสูงสุดด้วยกระบวนการ 3R (reduce, reuse, recycle)

หลังการออกกฎหมายฉบับดังกล่าวแล้ววางแผนปฏิบัติการลดขยะอย่างเป็นขั้นเป็นตอน

เริ่มตั้งแต่การสนับสนุนให้กลุ่มธุรกิจอุตสาหกรรม ตระหนักถึงเรื่องเศรษฐกิจยั่งยืน เช่น การออกแบบผลิตภัณฑ์ บรรจุภัณฑ์ให้มีประสิทธิภาพ ใช้งานได้ดี ใช้วัตถุดิบที่สามารถนำไปรีไซเคิลได้หรือใช้งานได้นานทนทาน ถ้าแตกพังซ่อมแซมได้ใหม่และปริมาณการใช้วัตถุดิบต่ำกว่าในอดีต

เปิดโครงการตั้งกองทุนนวัตกรรมเพื่อป้องกันการเกิดขยะ กระทรวงสิ่งแวดล้อมอาหารและกิจการชนบทสหราชอาณาจักร หรือเดฟรา (Defra) มอบรางวัลให้ผู้มีความคิดสร้างสรรค์ สามารถคิดประดิษฐ์ออกแบบจัดการสินค้าใหม่ๆ ที่เป็นมิตรสิ่งแวดล้อม มีขยะน้อยและใช้งานได้อย่างยอดเยี่ยม

ปรับปรุงระบบการจัดเก็บขยะรีไซเคิลให้มีคุณภาพ ประสิทธิภาพ พร้อมๆ กับการปรับปรุงมาตรฐานสินค้ารีไซเคิลให้ใช้งานได้ดี ราคาถูก

ผู้ผลิตสินค้าบรรจุภัณฑ์ แบตเตอรี่ เครื่องไฟฟ้า อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์และรถยนต์จะต้องรับผิดชอบในกระบวนการรีไซเคิลสินค้านั้นๆ พร้อมกับลดขั้นตอนในการอนุมัติให้ยุ่งยากน้อยที่สุด อำนวยความสะดวกให้กับนักธุรกิจเจ้าของผลิตภัณฑ์มากที่สุด

 

อังกฤษเน้นเรื่องของการควบคุมปริมาณถุงพลาสติกซึ่งเป็นปัญหาใหญ่เพราะชาวบ้านยังนิยมใช้ถุงพลาสติก

เมื่อปี 2556 ซูเปอร์มาร์เก็ตในอังกฤษใช้ถุงพลาสติกใส่สินค้าให้กับผู้บริโภคกว่า 8,000 ล้านใบ หรือเฉลี่ย 130 ใบต่อคน แต่ละคนใช้ถุงเหล่านี้เพียงครั้งเดียว ตลอดทั้งปีอังกฤษมีขยะถุงพลาสติกราว 57,000 ตัน

กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม เรียกร้องให้รัฐบาลอังกฤษเร่งกำจัดขยะพลาสติกเพราะว่าทำให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างมาก สัตว์ในทะเลเสียชีวิตหรือเจ็บป่วยเพราะกลืนกินขยะถุงพลาสติก

เดือนตุลาคม 2558 รัฐบาลอังกฤษประกาศเก็บค่าธรรมเนียมถุงพลาสติกประเภทใช้ครั้งเดียวทิ้งถุงละ 5 เพนนี ราว 2 บาท และชักชวนร้านค้าใช้ถุงพลาสติกย่อยสลายได้ง่าย (biodegradable plastic bag) จะได้รับการยกเว้นค่าธรรมเนียม 5 เพนนี

 

สํานักข่าวบีบีซีรายงานว่า หลังการออกมาตรการเก็บค่าธรรมเนียมแล้วปรากฏว่าเมื่อปีที่แล้วร้านค้าปลีกใหญ่ๆ ในอังกฤษยังคงใช้ถุงพลาสติกมากถึง 2,100 ล้านใบ

อย่างไรก็ตาม ซูเปอร์มาร์เก็ตดังๆ ราว 10 แห่ง พยายามปรับปรุงแผนลดการใช้พลาสติกเพื่อตอบสนองนโยบายรัฐบาล

เช่น ซูเปอร์มาร์เก็ตเทสโก้ วางเป้าหมายว่าในปี 2568 จะใช้แพ็กเกจจิ้งที่รีไซเคิลหรือย่อยสลายได้ ปริมาณขยะจะลดลงครึ่งหนึ่งเมื่อเทียบกับปี 2550 ประกาศเลิกใช้โฟมโพลีสไตรีนในแพ็กเกจปลา และแพ็กเกจใหม่ที่นำมาใช้จะรีไซเคิลได้มากกว่า 78%

เซนส์เบอรี่ซูเปอร์มาร์เก็ตตั้งเป้าหมายลดการใช้บรรจุภัณฑ์ห่อหุ้มสินค้าลงให้ได้ครึ่งหนึ่งในปี 2563 เมื่อเทียบกับปี 2548 และประกาศว่าจะไม่ขายไม้แคะหูหรือคอตตอนบัดที่ก้านทำด้วยพลาสติกเพราะเป็นตัวการหลักทำลายสิ่งแวดล้อมในทะเล นอกจากนี้ ยังรณรงค์ลดการใช้ถุงพลาสติกรีไซเคิลได้ถึง 33% และออกแบบขวดใส่นมสดใหม่ลดการใช้พลาสติกลง 580 ตัน

ซูเปอร์มาร์เก็ตแอสด้า คุยว่าลดการใช้พลาสติกราว 27% ใช้พลาสติกใสที่มีความบางห่อสินค้าประเภทเนื้อสัตว์ ประหยัดการใช้พลาสติก 82 ตัน

ร้านมอร์ริสสัน ลดการใช้กล่องโฟม ลดปริมาณขยะลงได้ 95% ทดลองยกเลิกถุงหิ้วประเภทใช้ครั้งเดียวและมีแผนเลิกใช้หลอดดูดเครื่องดื่มในร้านกาแฟ

ร้านอัลดี ประกาศว่าในปี 2563 สั่งนำเข้าบรรจุภัณฑ์กระดาษผ่านการรับรองแหล่งปลูกต้นไม้และลดวัตถุดิบที่นำมาหุ้มห่อลง 11% ส่วนกล่องกระดาษหรือพลาสติกนำไปรีไซเคิล 100%

ร้านโค-ออป ตั้งเป้าว่าในปี 2563 บรรจุภัณฑ์ห่อหุ้มใช้ในร้าน 80% นำไปรีไซเคิลได้ ส่วนถาดรองพิซซ่าใช้กระดาษแทนโฟม ใส่เนื้อสัตว์ในถุงพลาสติกใช้ครั้งเดียว

ซูเปอร์มาร์เก็ตเวตโรส ใช้ถุงพลาสติกประเภทบางใสใส่สลัดและลดการใช้แพ็กเกจจิ้งห่อปลาแซลมอนรมควัน 50% เก็บค่าถุงพลาสติกใส่สินค้า 30-40 เพนนี ถึงกระนั้น ในปีที่แล้วร้านเวตโรสใช้ถุงพลาสติกทุกสาขาทั่วอังกฤษ 63 ล้านใบ

ซูเปอร์มาร์เก็ตลิเดิล มาจากเยอรมนีคุยว่าเก็บค่าธรรมเนียมถุงพลาสติกกับผู้บริโภคมานาน 24 ปีแล้ว และเลิกขายถุงพลาสติกประเภทใช้ครั้งเดียวตั้งแต่ปีที่แล้ว ส่วนคอตตอนบัดใช้ก้านที่เป็นพลาสติกย่อยสลายได้ง่าย

มาร์กส์แอนด์สเปนเซอร์ ประกาศใช้บรรจุภัณฑ์ห่อหุ้มที่เป็นพลาสติกมากกว่า 90% และใช้กล่องโฟมไม่ถึง 1% ขณะนี้กำลังทดลองใช้วัสดุใหม่แทนกล่องพลาสติกสีดำประเภท CPET (crystal-line Polyethylene terephthalate)

 

นอกจากแผนลดขยะพลาสติกแล้ว รัฐบาลยังให้ทุนศึกษาวิจัยกับบริษัทที่คิดค้นนวัตกรรมใหม่ๆ ด้านวัสดุสำหรับผลิตถุงใส่สินค้า และวิธีการแยกชนิดพลาสติกง่ายต่อการรีไซเคิล รวมถึงการให้เงินสนับสนุนผู้บริหารท้องถิ่นที่คิดโครงการกำจัดขยะและรีไซเคิลได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ขณะเดียวกัน บังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มข้น กำหนดโทษปรับกับผู้ที่ทิ้งขยะไม่เป็นที่เป็นทางหรือดูแลบริหารกองขยะไม่ดีปล่อยให้เกิดผลกระทบกับชุมชนสิ่งแวดล้อม

และหากบริษัทใดส่งออกขยะผิดกฎหมายถือว่าเป็นการก่ออาชญากรรม